เวลาเราประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง เราจะพบว่ามันมีเส้นทางของมันอยู่เสมอ เมื่อได้ย้อนเวลากลับไปดู ก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า ความสำเร็จที่งดงามนั้น มีส่วนประกอบสำคัญใดบ้าง ที่จะนำมาเป็นบทเรียน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทั้งความสำเร็จและล้มเหลวปนๆกันไปอย่างเลือกไม่ได้ มาศึกษาข้อคิดจากกีฬากระโดดเชือกหมู่กันค่ะ
วันนี้ผู้เขียนและเพื่อนชาวสาธารณสุขศรีราชา กำลังซ้อมกีฬา และกองเชียร์ เพื่อจะแข่งขันในงานกีฬาสาธารณสุขชลบุรีประจำปี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2556นี้ หนึ่งในนั้น มีกีฬามหาสนุก กระโดดเชือกหมู่
ผู้เขียนไม่ได้กระโดดหรอกค่ะ แต่เป็นคนแกว่งเชือกให้ ขณะที่แกว่งเชือกไป ก็มองเห็นอุปสรรค และความสำเร็จในแต่ละเที่ยวของการซ้อมนั้น กว่าคนจะเข้ามาครบทีม 10 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยที่ไม่มีใครผิดจังหวะทำให้เกิดการสะดุด จนเชือกแกว่งต่อไม่ได้ กว่าจะชนะก็ล้มลุกคลุกคลานไปหลายตลบ แต่ที่สุดก็ทำได้ค่ะ
จำไม่ได้ว่าแกว่งเชือกไป วิเคราะห์ไปสักกี่เที่ยว รู้แต่ว่าเป็นชั่วโมง เห็นคนที่วิ่งเข้ามาเป็นคนแรก มักกระโดดด้วยความสุขใจ กี่ครั้งกี่ครั้งเชือกก็ผ่านเท้าไปด้วยดีเสมอ
ดูเบาสบาย คนแกว่งที่เปรียบเสมือนพี่เลี้ยงก็แกว่งตามช้าเร็วตามสบายไม่ได้ลุ้นอะไร แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เกม เพราะกติกาคือ เราต้องกระโดดเชือกไปพร้อมๆกันถึงสิบคนเกมจึงจะจบ เมื่อมีคนที่สอง สาม ..เข้ามา ความวุ่นวายก็เกิดขึ้น บางทีคนลำดับต่อไปมัวละล้าละลังเข้ามาช้า คนแรกก็โดดรอจนหมดแรง สุดท้ายเกมก็ไปไม่รอด
หรืออีกรอบหนึ่ง ทุกคนต่างรี่เข้ามากระโดดในเวลาไล่เรี่ยกัน เพราะกลัวเพื่อนจะรอนาน กระโดดรอจนขาอ่อนเหมือนรอบแรก แต่ความผลีผลาม ทำให้เกมนี้ล้มเหลวอีกครั้ง เพราะต่างคนต่างก็กระโดด ไม่มีจังหวะ กระโดดเข้ามาโดยไม่พิจารณาองศาของเชือก กระโดดก่อนบ้าง ช้าบ้าง จนเกิดการเหยียบเชือกที่ฟาดลงมา เกมก็สะดุดอีกเช่นเคย
รอบที่ดีที่สุดของวันนี้คือ มีการพูดคุยกัน วางแผนการกระโดดเชือกอย่างเป็นระบบ ทุกคนจะเตรียมตัวกระโดดเข้าไปอย่างมีความพร้อม ไม่ต้องกังวลลุกลี้ลุกลน บางครั้งเข้าครั้งละสองคนด้วยซ้ำ เริ่มต้นจากคนแรกทำแบบสบายๆช้าๆ แล้วเขยิบขึ้นข้างหน้าไปเรื่อยๆ คนที่สองรอจังหวะแล้วเข้าไปให้ทันรอบเชือกต่อไปซึ่งจะรู้ได้ด้วยตนเอง แล้วก็ทำเหมือนคนแรก คือเขยิบไปข้างหน้า เพื่อเว้นที่ให้คนต่อไปเข้ามาต่อหลัง ไม่นานทั้งทีมก็ทะยอยผลุบเข้าในวงเชือกเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่สำคัญ คนแกว่งเชือกทั้งสองฝั่ง ต้องใช้สติปัญญาตลอดเวลา มีบางคนเหมือนจะโดดออกเส้นทาง ก็ต้องผ่อนเชือก และปรับทิศทาง ให้พวกเขา อยู่ในระนาบเดียวกันให้ได้ ทำให้คนแกว่งเชือกต้องขยับไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ตามสถานการณ์ เพื่อต้อนทีมให้เข้ามาอยู่ในวงเดียวกัน ทุกคนหาความพอดีจนเจอ กระโดดด้วยความสนุก สังเกตแต่ตนเองว่าจะยกเท้าให้เชือกผ่านเมื่อใด ไม่กังวลข้างหน้าข้างหลังจนเสียสมาธิ ใจอยู่ที่เท้า กับเส้นเชือกเท่านั้น เป็นอิสระทางใจ ที่พบเสรีกำลังพาเราโบยบินไปเรื่อยๆ
แม้ภาพที่เห็นจะกระโดดกันต่างสไตน์ แต่เราก็พากันไปเป็นทีมอย่างรู้หน้าที่จนได้
บางทีความลงตัว ก็เริ่มจากการไม่ฝืนธรรมชาติของตนเองเสียก่อน แล้วเพื่อนร่วมทีมก็จะประคับประคองให้พากันผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้เอง
เหมือนการกระโดดเชือกหมู่ในวันนี้
สวัสดีค่ะคุณTuknarak
ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม
พี่เลี้ยงแกว่งเชือกจนมือระบมเลยค่ะ
โดดหลายคนคงยากนะครับพี่รุ่ง แต่เป็นการทำงานเป็นทีมจริงๆครับ
เยี่ยมเลยครับ...
เห็นแล้วน่าสนุก แต่ผมคงโดดไม่ไหวแน่ๆ...
ขอเป็นกำลังใจก็แล้วกันครับ
สวัสดีค่ะคุณBright. Lilly
ใช่แล้วค่ะต้องไม่โดด( เชือก)เดี่ยว
กติกาทำให้เหมือนสร้างความยากลำบากขึ้น
แต่ที่จริงแล้วกติกาเป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดปัญญา
และเกิดความรักสามัคคีกัน
แต่ถ้ากติกาอันไหนสร้างความเห็นแก่ตัว
เราไม่ควรเคารพกติกานั้นนะคะ
สวัสดีค่ะคุณอ.ขจิต
การทำงานเป็นทีมต้องมีการสื่อสารเป็นสำคัญ
ทำให้ทั้งเกิดความเข้าใจ พลังใจ และต่อสู้
เหมือนทีมงานในgotoknow สามารถทำให้สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกครั้งไป
ขอชื่นชมทุกท่านที่ทำให้เราเข้าไปอยู่ในแต่ละทีมและหลายๆทีมแบบธรรมชาติจริงๆค่ะ
สวัสดีค่ะคุณBonnei
ขอบคุณนะคะกับคำจำกัดความของทีม
มีความขัดแย้งเหมือนกันเวลาใครทำพลาดทำให้เกมจบ
เช่นเหยียบเชือกโดดจะมีสายตาตำหนิเล็กๆส่งไปเสมอ
แต่ไม่นานคนตำหนิก็ทำให้เกมจบเหมือนกัน
ที่สุดก็ได้ยินเขาพูดกันเองเวลาสะดุุดว่า เอ้า. เอ้า ไม่ว่ากัน เริ่มใหม่
สุดยอดนะคะ นี่คือการเรียนรู้กว่าจะจบเกมค่ะ
สวัสดีค่ะคุณ พ.แจ่มจำรัส
ได้ค่ะไม่ต้องกระโดดแล้ว
นึกถึงในวัยเด็กนะคะ
ทำไมเราทำอะไรได้เยอะมาก กระโดดเชือก กระโดดยาง. ฯลฯ
ดูมันเบาสบาย ทำได้อีก ได้อีก
และทำงานเป็นทีมนั้นเราทำกันได้ดีตั้งแต่สมัยเด็กๆแล้ว
โดยเรียนรู้จากการทดลอง การปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ
และที่สำคัญเราสนุกกับทุกเกม แพ้ก็สนุกไม่เครียด
แต่ทำไมโตขึ้นมาเป็นผู่ใหญ่กลับไปทำใจอย่างเด็กๆยากจัง
จริงไหมคะคุณ พ.