ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม


การทำงานเป็นทีม
      การทำงานเป็นทีมนั้นมีความสำคัญต่อผลของงานมาก ถ้ามีทีมเวิร์คทีดีแล้วก็รับรองว่าการทำงานทุกอย่าง  ทุกขั้นตอนราบรื่นและประสบผลสำเร็จแน่นอน เพราะการทำงานทุกอย่างต้องได้รับการประสานงานและการร่วมมือที่ดีจากทุกคนในกลุ่มงาน ดังนั้นวันนี้เราจึงมีปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม  ที่สำคัญดังนี้

  1. บรรยากาศของการทำงานมีความเป็นกันเอง อบอุ่น มีความกระตือรือร้น และสร้างสรรค์ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างจริงจัง และจริงใจ ไม่มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นถึงความเบื่อหน่าย

  2. ความไว้วางใจกัน (Trust) เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีม สมาชิกทุกคนในทีมควรไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ ซื่อสัตย์ต่อกัน สื่อสารกันอย่างเปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน

  3. มีการมอบหมายงานอย่างชัดเจน สมาชิกทีมงานเข้าใจวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และยอมรับภารกิจหลักของทีมงาน

  4. บทบาท (Role) สมาชิกแต่ละคน เข้าใจและปฏิบัติตามบทบาทของตน และเรียนรู้เข้าใจในบทบาทของผู้อื่นในทีม ทุกบทบาทมีความสำคัญ รวมทั้งบทบาทในการช่วยรักษาความเป็นทีมงานให้มั่นคง เช่น การประนีประนอม การอำนวยความสะดวก การให้กำลังใจ เป็นต้น

  5.  วิธีการทำงาน (Work Procedure) สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา คือ
       5.1  การสื่อความ (Communication) การทำงานเป็นทีมอาศัยบรรยากาศ การสื่อความที่ชัดเจนเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ทุกคนกล้าที่จะเปิดใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนเกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ
       5.2  การตัดสินใจ (Decision Making) การทำงานเป็นทีมต้องใช้การตัดสินใจร่วมกัน เมื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีมแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจแล้ว สมาชิกย่อมเกิดความผูกพันที่จะทำในสิ่งที่ตนเองได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
        5.3  ภาวะผู้นำ (Leadership) คือ บุคคลที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น การทำงานเป็นทีมควรส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนได้มีโอกาสแสดงความเป็นผู้นำ (ไม่ใช่ผลัดกันเป็นหัวหน้า) เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ จะได้รู้สึกว่าการทำงานเป็นทีมนั้นมีความหมาย ปรารถนาที่จะทำอีก
        5.4  การกำหนดกติกา หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อการทำงานร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม ในการกำหนดกติกา หรือกฎเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ร่วมกัน
  
6. การมีส่วนร่วมในการประเมินผลการทำงานของทีม ทีมงานควรมีการประเมินผลการทำงาน เป็นระยะ ในรูปแบบทั้งไม่เป็นทางการ และเป็นทางการ โดยสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการประเมินผลงาน ทำให้สมาชิกได้ทราบความก้าวหน้าของงาน ปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมทั้งพัฒนากระบวนการทำงาน หรือการปรับปรุงแก้ไขร่วมกัน
ซึ่งในที่สุดสมาชิกจะได้ทราบว่าผลงานบรรลุเป้าหมาย และมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด
 
7. การพัฒนาทีมงานให้เข้มแข็ง
      7.1  พัฒนาศักยภาพทีมงาน ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางบวก สมาชิกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการจัดกิจกรรมสร้างพลังทีมงาน เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จ
      7.2  การให้รางวัล ปัจจุบันการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานไม่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม ส่วนใหญ่จะพิจารณาผลการทำงานเป็นรายบุคคล ดังนั้นระบบรางวัลที่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม คือ การที่ทุกคนได้รางวัลอย่างยุติธรรมทุกคน คือ ควรสนับสนุนการให้รางวัลแก่การทำงานเป็นทีมในลักษณะที่ว่างอยู่บนพื้นฐานการให้รางวัลกับกลุ่ม (Group base reward system)

คำสำคัญ (Tags): #ทำงานเป็นทีม
หมายเลขบันทึก: 536080เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันขออนุญาตเปรียบเทียบการทำงานเป็นทีม กับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ขอบคุณค่ะ

 

หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ควรนำไปปฏิบัติ ได้แก่
 

๑. อิทธิบาท ๔
  อิทธิบาท ๔หมายถึง ข้อปฏิบัติให้ถึงความสำเร็จ มี ๔ ประการ คือ
 ๑.๑ ฉันทะ  ความพอใจในงานที่ทำหรือในสิ่งที่จะศึกษาเล่าเรียน
  ๑.๒ วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่อการทำงาน
 ๑.๓ จิตตะ  ความเอาใจใส่ในการทำงาน ตั้งใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ
 ๑.๔ วิมังสา  ความคิดรอบคอบ ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองงานที่ทำว่ามีข้อบกพร่องอะไรที่ควรแก้ไขหรือควรเพิ่มเติมอะไรซึ่งจะทำให้งานนั้นดีขึ้น
  หลักธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นผลกัน นั่นคือ ความพอใจทำให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ซึ่งทำให้เกิดความเอาใจใส่ และมีจิตใจจดจ่อต่อการทำงานนั้นและความเอาใจใส่นี้เองจะทำให้เกิดการพิจารณาไตร่ตรองงานที่ทำไปแล้วว่าดีหรือยัง มีข้อบกพร่องหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องก็สามารถแก้ไขได้ทัน

*การปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ นั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๔ ประการ จึงจะทำให้งานนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จ*


๒. ฆราวาสธรรม ๔

ฆราวาสธรรม ๔ หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ครองเรือนควรปฏิบัติ มี ๔ ประการ คือ
๒.๑ สัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความซื่อตรงต่อกัน
คนที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ควรมีความซื่อสัตย์ต่อกันทั้งกาย วาจาและใจ จะทำให้เกิดความไว้วางใจกัน ร่วมมือกันพัฒนาครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในฐานะที่เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว เราจึงควรแสดงความซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ พี่น้อง และสมาชิกทุกคนในบ้าน เช่น ไม่พูดปด มีความตั้งใจที่จะทำงานตามหน้าที่ด้วยความตั้งใจ เป็นต้น
๒.๒ ทมะ คือ การข่มใจ การฝึกฝนตนเองไม่ให้ประพฤติชั่ว
คนเราเมื่ออยู่ด้วยกัน ย่อมจะมีความขัดแย้งกันบ้าง สิ่งใดที่ไม่ตรงกับความคิดของเรา เราควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่ควรแสดงกิริยาอาการโต้แย้งออกมาทันที ถ้าเราสามารถข่มใจและพิจารณาปัญหาให้เข้าใจแล้ว เราก็สามารถแก้ปัญหานั้นด้วยความสงบเรียบร้อย
๒.๓ ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง ความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ดี อดทนต่อความยากลำบาก
การอดทนต่อความยากลำบากทางกาย อดทนต่อการพูดจาไม่สุภาพ และอดกลั้นจิตใจห้อยู่ในความสงบ ไม่โกรธ ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น ถ้าเรามีขันติในเรื่องต่าง ๆ แล้วจะทำให้เราอยู่ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข
 ๒.๔ จาคะ คือ การเสียสละ การแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้อื่น
เราอยู่ในครอบครัวเดียวกัน ควรสละสิ่งของ แบ่งปันของกินของใช้ให้กันและกันตามสมควรแก่ฐานะ การแบ่งปันกันจะทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ


๓. พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร หมายถึง หลักความประพฤติอันเสริฐมี ๔ ประการ คือ
 ๓.๑ เมตตา  ความรัก ความปรารถนาดีอยากให้ผู้อื่นมีความสุข
 ๓.๒ กรุณา  ความสงสาร คิดช่วยเหลือผู้อิ่นให้พ้นทุกข์
 ๓.๓ มุทิตา  ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีมีความสุข
 ๓.๔ อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง ไม่ลำเอียง โดยพิจารณาว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก  :
เอกรินทร์  สี่มหาศาล  และคณะ . สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ป.5. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์


เรียน on time

   เติมเต็มให้สมบูรณ์ ขอขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท