แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทางธุรกิจ


แนวคิด  ทฤษฎี  ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมทางธุรกิจ

ทฤษฎีการพัฒนาจริยธรรมทางธุรกิจ ตามเเนวทางของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

การแก้ปัญหาด้านจริยธรรม หรือการส่งเสริมให้มีจริยธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเข้าใจในสาเหตุของปัญหาให้ลึกและแก้ไขให้ครบวงจร คือ ต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ไม่ดี ให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่เป็นตัวกำหนดบทบาท เป็นแรงจูงใจให้คนเรากระทำ หรือแสดงออกไป เพราะอะไรทำไมถึงทำอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ทำไมคนไทยจึงทำงานเป็นทีมไม่ได้ ท่านอธิบายว่า ปัญหาการทำงานเป็นทีมไม่ได้ของคนไทยมีความสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยของคนไทย จากคำสอนในอดีตที่ว่า“ให้มีมานะอดทนร่ำเรียนให้สูง ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นผู้มี “มานะ” แปลว่า ความถือตัว ถือตน ดังนั้นตัวที่จูงใจและบงการบทบาทให้คนเกิดความอดทนพากเพียร คือ ตัวมานะเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ในทางพุทธศาสนาถือว่า มานะ เป็นตัวกิเลสใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว คือ ตัณหา มานะ ทิฐิ ซึ่งเป็นตัวกิเลสที่กำหนดบทบาทของคน โดยให้ความหมายของคำทั้ง 3 คำต่อไปนี้

1. ตัณหา คือ ความอยาก ความเห็นแก่ตัว ความอยากจะได้ อยากจะเอาเพื่อตัวเอง

2. มานะ คือ ความต้องการให้ตัวเด่น อยากยิ่งใหญ่ ความสำคัญตน หรือถือตนสำคัญ

3. ทิฐิ คือ ความถือรั้นในความเห็นของตน ยึดติดในความเห็น เอาความเห็นเป็นจริง

ในสังคมไทยได้นำเอากิเลสฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายชั่วนี้ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้จะต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกต้องจึงจะมีประโยชน์ แต่ต้องระมัดระวังผลข้างเคียง เช่น ถ้ามีมานะในการรักษาระเบียบวินัยของคนในสังคม ทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองแล้วเกิดความลำพอง ยกตนข่มท่าน เพราะสำคัญตนว่า ดีกว่า เหนือกว่า ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น แม้เป็นความสำเร็จแต่ไม่ได้เกิดจากเหตุผลที่เห็นด้วยปัญญา แต่เป็นไปด้วยแรงกิเลส จึงกล่าวได้ว่า สิ่งที่ทำนั้นดี แต่คนทำกลับได้ชื่อว่า เป็นคนชั่วดังนั้นเมื่อเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็มาสร้างเสริมจริยธรรมด้วยการบูรณาการวิธีการแก้ปัญหาให้มีความสัมพันธ์กับปัญหาอย่างถูกต้อง คือ จับให้ถูกจุด หมายความว่า จับจริยธรรมตัวแกนหรือตัวนำของเรื่องนั้น ๆ แล้วส่งเสริมจริยธรรมนั้นอันเดียวจะสามารถโยงไปแก้ปัญหาได้หลายอย่าง เช่น ถ้าจะทำงานต้องฝึกตนเองให้มีนิสัยรักงาน เมื่อจะทำงานใดก็จะรักงานที่ทำ แล้วสิ่งที่ตามมา คือ ความขยันหมั่นเพียร ความมีระเบียบวินัย ความอดทน ความตรงต่อเวลา มีสมาธิอยู่กับการงาน ทำให้ทำงานอย่างมีความสุขเมื่อจะพัฒนาจริยธรรมจะต้องมีการฝึกฝนและปฏิบัติด้านจริยธรรมอย่างครบวงจร หรือเรียกว่า ทำอย่างบูรณาการ เช่น ตัวอย่างการแสดงออกโดยเสรีในสังคมไทย ที่มักกล่าวอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย จนเกิดการละเมิดทำให้เกิดความเดือดร้อนและเข้าข่ายดูหมิ่นผู้อื่นให้ได้รับความเสียหายทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สิน ตามที่เป็นข่าวทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอ พฤติกรรมดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการแสดงออกโดยเสรีอย่างขาดจริยธรรม เพราะไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความเสียหายการพัฒนาจริยธรรมในเรื่องนี้ต้องให้การเรียนรู้ที่ถูกต้องถึงเสรีภาพในการแสดงออก คือต้องรู้จุดมุ่งหมายของการแสดงออกเป็นไปเพื่อที่ต้องการแสวงหาความจริง ความถูกต้อง อย่างมีเหตุมีผล จึงต้องรู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นให้ไปสู่ความรู้จริง ได้สิ่งที่ถูกต้องและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีการแสดงออกอย่างเสรีที่ถูกต้อง ก็จะเป็นสังคมที่มีระเบียบวินัย คนในสังคมจึงจะต้องมีการฝึกฝนตนให้มีระเบียบวินัย อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งจะเป็นเครื่องควบคุมกำกับให้รู้จักการยับยั้งช่างใจในขอบเขตของการแสดงออกที่พอดี นอกจากนี้สังคมที่มีการแสดงออกอย่างเสรีทุกคนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองให้มากด้วย มิฉะนั้นก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายบ้านเมือง เมื่อมีการกระทำที่ละเมิดต่อผู้อื่นหรือละเมิดต่อสังคมองค์กรธุรกิจที่ประกอบด้วยเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ประธานบริษัท คณะกรรมการบริษัทผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรธุรกิจทุกระดับ ได้มีความสัมพันธ์ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ที่มีความเป็นมิตร มีความปรารถนาดีต่อกัน ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องมีการเสริมสร้างและพัฒนาทางด้านจริยธรรมองค์กร เพื่อประโยชน์สุขของทุกคนที่อยู่ร่วมกัน การพัฒนาจริยธรรมสามารถนำหลักการและแนวคิดทฤษฎีดังได้กล่าวแล้วข้างต้นมาพัฒนาให้เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของบุคลากรในองค์กร ดังนี้

1. มีการจัดทำข้อประพฤติปฏิบัติทางจริยธรรมของบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งในแต่ละระดับให้มีความเหมาะสม

2. กำหนดเป็นนโยบายและระเบียบข้อบังคับในการประพฤติปฏิบัติของบุคลากรทุกคน

3. จัดตั้งคณะกรรมการในการกำกับดูแล ส่งเสริมและควบคุมการประพฤติปฏิบัติของบุคลากรทุกคนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดทางจริยธรรมขององค์กร

4. จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่บุคลากรภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทุกปี เช่น จัดอบรม สัมมนาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยใช้หลักศาสนาเป็นพื้นฐานและนำทาง

5. มีการตรวจสอบความเหมาะสมของข้อประพฤติปฏิบัติเป็นระยะ ๆ ให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความถูกต้องดีงาม

6. สร้างบรรยากาศความมีจริยธรรมภายในองค์กร โดยผู้บริหารเป็นแกนนำหลักให้ความสำคัญอย่างจริงจังและดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคลากร

7. เชื่อมความสัมพันธ์กับองค์กรภายนอก โดยร่วมมือกันกำหนดและสร้างบรรยากาศการบริหารงานธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรม เช่น จัดประกวดองค์กรธุรกิจที่มีคุณธรรมจริยธรรมเพื่อกระตุ้นและจูงใจให้นักธุรกิจ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจได้ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมจริยธรรม

8. ฟื้นค่านิยมดั้งเดิมของคนไทย “เคารพและยกย่องคนดี” ล้างค่านิยมปัจจุบัน “ยกย่องคนรวย คนมีอำนาจ”

ทฤษฎีเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารที่ดีในองค์กร

สุรศักดิ์ ใจเย็น รองผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคล บริษัทสยามนิสสัน ออโตโมบิล จำกัด ประเทศไทย  ได้กล่าวถึงภาพรวมของหน้าที่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จต้องมีคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการ  ดังนี้

1. การมีพันธะผูกพันต่องาน (Commitment) หมายถึง ผู้บริหารที่ดีต้องมีความมุ่งมั่นสามารถผูกประสานตัวเองให้เข้ากับงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองได้เป็นเบื้องแรก โดยการมีพันธะผูกพันต่องานนี้ประกอบไปด้วย ความผูกพันกับเป้าหมายของตนเอง หน่วยงาน หัวหน้าลูกน้อง หน้าที่การงาน องค์กร เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า สังคมรอบข้างและประเทศชาติ

2. ความสม่ำเสมอในการแสดงตน (Consistency) หมายถึง ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของทีมงาน คนในองค์กรมักจะแยกไม่ออกระหว่างภาพขององค์กรกับภาพของตัวผู้บริหารดังนั้นหากจะให้คนในองค์กรมีความเชื่อมั่นกับองค์กร ผู้นำ หรือผู้บริหารองค์กรต้องสร้างความมั่นใจและศรัทธากับทีมงานก่อนเป็นลำดับแรก ความมั่นคงและแน่วแน่ของผู้บริหารต้องแสดงออกได้ทั้งในด้านสติและสัมปชัญญะ

3. ความสามารถในการเผชิญกับสถานการณ์ (Complexity) หมายถึง เมื่อผู้บริหารที่ดีต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ จะต้องสามารถเป็นผู้นำหลักขององค์กรที่จะชี้นำทิศทางของทีมงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้นำที่ดีสามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ความสามารถที่สำคัญในแง่นี้ขององค์กรคือ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญของงาน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายที่จะทำให้คนในองค์กรสามารถปฏิบัติงานได้สอดคล้องกับสภาวการณ์จริง

4. ความเชื่อถือได้ (Creditability) หมายถึง การแสดงออกของผู้บริหาร ทั้งการกระทำและคำพูดจะต้องตรงกัน เช่น อดีตผู้นำประเทศ คือ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเมื่อครั้งเรืองอำนาจ ได้กล่าว อมตวลีว่า “ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด หลังพูดคำพูดจะเป็นนายเรา” วลีนี้ได้สร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ให้กับคนหลายคน เพราะความเป็นผู้บริหาร หรือผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่มีบารมี การที่บารมีจะเกิดขึ้นในแต่ละบุคคล คือ การเป็นคนที่เชื่อถือได้ ดังมีตัวอย่างสำคัญในสมัยหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นบุคคลหนึ่งในคณะ(รสช.) ได้เคยประกาศไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง แต่แล้วกลับเข้ารับตำแหน่งจนเป็นที่มาของวาทะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”


หมายเลขบันทึก: 535914เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 18:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท