โลกาภิวัตน์ :
ควบคุมร้านเน็ต-เกมออนไลน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ได้กล่าวถึงการควบคุมร้านอินเทอร์เน็ตว่า ระหว่างที่รอร่าง พ.ร.บ.
การให้บริการคอมพิวเตอร์ พ.ศ..... มีผลบังคับใช้ ต้องอาศัยอำนาจตาม
พ.ร.บ. ควบคุมกิจการวัสดุเทป และวัสดุโทรทัศน์
ของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัฒนธรรมในการควบคุมทั้งร้าน อินเทอร์เน็ตและเกมออนไลนไปก่อน
“ต่อไปนี้ข้าราชการกระทรวงไอซีทีสามารถเข้าตรวจสอบร้านอินเทอร์เน็ตและดำเนินการตามกฎหมายได้เองโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่”
และจะต้องมีการสุ่มตรวจสอบร้านอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเด็กและเยาวชนที่ห้ามเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี ใช้บริการหลังสี่ทุ่ม
เรื่องปัญหาเด็กติดเกมนี้ก็คงจะเป็น เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีรับลูกมาจากท่านนายกรัฐมนตรีอีกทีหนึ่ง ในคราวที่ท่านได้รับทราบข้อเท็จจริงจากพระพยอม กัลยาโณ และผมเองก็เขียนบทความเป็นห่วงเรื่องนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ก็ขอขอบคุณรัฐบาลที่เป็นห่วงเรื่องปัญหาสังคมวัยรุ่นปัจจุบันที่มีมากจริงถึงขั้นวิกฤติ ก็ว่าได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศของเอเชียเพราะวัยรุ่นเอเชียยับยั้งชั่งใจไม่เก่งเท่าประเทศญี่ปุ่น อเมริกา หรือยุโรป ซึ่งปัญหานี้น้อยกว่า เกมออน ไลน์เมื่อเล่นหรือเสพเข้าไปมากก็จะติด
ที่ประเทศเกาหลีใต้ประมาณไว้ว่า ประชากรคนเล่นเกมที่เสพเกมจนติดมีถึงเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นก็ประมาณเป็นแสนคน ถึงขั้นว่ารัฐบาลต้องมีการสร้างศูนย์คลินิก เพื่อทำการรักษาเด็กติดเกม
และรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้ขอร้องกับบริษัทผู้ผลิตได้ให้ความร่วมมือในการสร้างคำแนะนำเป็นแบนเนอร์ออนไลน์ ติดไว้ตามสื่อสำหรับเล่นเกมต่าง ๆ เพื่อเตือนสติและแนะนำวิธีเล่นเกม อย่างถูกต้อง และก็มีหลายบริษัทให้ความร่วมมือ
ประเทศจีนปัญหาหนักกว่ามาก รัฐบาลถึงขั้นทดลองให้มีการจำกัดการให้คะแนนในการเล่นเกมกันเลยแต่ก็จะกระทบกับธุรกิจเกมออน ไลน์จนเกินไป ทางไต้หวันถึงขั้นมีการประกาศมาตรการบังคับให้ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต้องอยู่ห่างจากโรงเรียนเหมือน ๆ กับกรณีสถานอาบอบนวดของไทย และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะต้องมีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองอยู่ด้วยจึงจะสามารถเข้าไปเล่นเกมได้ และจะต้องมีการติดประกาศให้ผู้เล่นเกมหลัง จากเล่นเกมไประยะหนึ่งแล้ว ต้องมีการหยุดเพื่อพักผ่อนสายตาและยืดแข้งยืดขา
แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น กลับไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ทั้ง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมผลิต เกมสมัยใหม่ออกสู่ตลาดโลกจำนวนมากและคนญี่ปุ่นมักจะเล่นเกมในบ้านเพื่อความเพลิดเพลินและบันเทิงมากกว่าจะเอาเป็นเอาตายเหมือนการพนัน
ประเทศสิงคโปร์กลับส่งเสริมให้คนเล่นเกมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในประเทศ
ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
สำหรับผมคิดว่าจะต้องมองภาพใหญ่ ๆ การออกมาตรการเพื่อควบคุมร้านเน็ตและการออกตรวจจับเป็นเรื่องปลายเหตุ และการออกกฎเกณฑ์การตรวจจับ เพื่อให้เกิดผลในแง่ดี และไม่เป็นการทำให้การประกอบธุรกิจด้านนี้เสียหายไม่ใช่เรื่องง่าย การส่งเสริมให้เล่นเกมเพื่อเป็นความบันเทิงเท่านั้น ไม่ใช่เล่นเอาเป็นเอาตาย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
ถ้าทำไม่ดี เจ้าพนักงานไอซีทีก็อาจจะมีภาพลักษณ์ที่เหมือนตำรวจ ที่คอยตรวจจับบริการสถานอาบอบนวดก็ได้
การออกมาตรการจึงต้องระวังเป็นพิเศษควบคู่กับการให้ความรู้เจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเรื่องจริยธรรม ศีลธรรมด้วย
การส่งเสริมมาตรการในเชิงบวก โดยการสร้างเครือข่ายสังคมที่อบอุ่น การดึงจริยธรรม ศีลธรรมที่ดีกลับเข้ามาสู่สังคมไทย การสร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีของผู้นำประเทศด้านจริยธรรม ศีลธรรมก็ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่าง การส่งเสริมผู้นำศาสนา ผู้เจริญด้วยศีลธรรมให้มีบทบาทในการสั่งสอนเยาวชนด้วยกลไกของรัฐก็สำคัญ สรุปแล้วประชาชนเจ้าของแผ่นดินก็ต้องช่วยกันด้วย สู้ไม่ถอยครับ.
ผศ.ดร.บุญมาก
ศิริเนาวกุล
[email protected]
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต