ป่าชายหาดแห่งสงขลา


การพัฒนาต้องมาพร้อมกับการอนุรักษ์

 

 

 

ป่าสันทรายชายหาดแห่งสงขลา

( Songkhla Coastal Sand Dune Forest )

 

พญ.รัชนี บุญโสภณ

กลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา

 

๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘

 

.....ที่สำคัญ ป่าที่เหลือแม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็เป็นป่าชายหาดหรือเรียกให้เต็มที่ว่า ป่าสันทรายชายหาด (Coastal sand dune forest) ที่นักวิชาการให้ความเห็นว่าเป็น ป่าปฐมภูมิ แม้บางส่วนจะถูกทำลายลงแล้วในอดีต แต่ก็ฟื้นคืนได้ดีพอสมควร.....

คณะสำรวจป่าสันทรายชายหาด อ.จะนะ จ.สงขลา

 

 

ป่าสันทรายชายหาดแห่งสงขลา สันทรายเก่าแก่และป่าปฐมภูมิ

หลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย ๖ จังหวัดอันดามันจากแผ่นดิน ไหวครั้งใหญ่และมีสึนามิตามมาเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้มีการกล่าวถึง คุณประโยชน์ของป่าชายเลนและป่าชายหาดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของการเป็นกันชนทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ในการจะรับแรงปะทะของคลื่นที่ถาโถมเข้ากระแทกฝั่ง และความมีประสิทธิภาพนี้ ก็เป็นปฏิภาคทางตรงกับความหนาแน่นของพรรณไม้ที่นั่น และน่าจะรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ไม่ใช่หาดที่มีแต่ต้นสนอย่างเดียว หรือดงมะพร้าวอย่างเดียว

 ความหลากหลายในป่าโดยเฉพาะป่าชายหาด หมายถึง การมีพรรณไม้หลายระดับนับจากไม้คลุมดิน (หรือทราย) ไม้พุ่มเตี้ย พุ่มกลาง และไม้เรือนยอด รวมถึงไม้เลื้อยไม้เถา ที่เกาะเกี่ยวไม้พุ่มและไม้ใหญ่ ทำให้ทั้งหมดรวมกันเป็นเสมือนตาข่าย ขนาดตาถี่ห่างต่างๆทางธรรมชาติ และถ้านับรวมเขตทะเลที่ลึกไม่เกิน ๖ เมตร อันเป็นขอบเขตของพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งด้วยแล้ว ก็เป็นที่ทราบกันว่าหญ้าทะเลและปะการังน้ำตื้น (อันเป็นความหลากหลายทางชีวภาพด้วย) มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดแรงปะทะของคลื่น

 มีการกล่าวถึงป่าชายเลนในเหตุการณ์สึนามิ ค่อนข้างมากกว่าป่าชายหาด น่าจะเป็นเพราะป่าชายเลนหลงเหลือให้เห็นมากกว่า และที่ยังสมบูรณ์ก็มีอยู่มากกว่า ขณะที่ป่าชายหาดที่มีความหลากหลายของพรรณไม้หลายขนาด หลายระดับความสูง หลากหลายพันธุ์และชนิด ที่อิงอาศัยเกื้อกูลกันและกัน หาได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน หากป่าชายเลนและป่าชายหาดยังสมบูรณ์ ก็คงจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากแรงกระแทก จากทั้งคลื่นและลมพายุขนาดใหญ่ได้มากพอสมควร แต่ปัจจุบันเราใช้ชายฝั่งทะเลทำกิจกรรมมากมาย จนเหลือพื้นที่ปลอดภัยน้อยเต็มที ยังมีพื้นที่พิเศษชายทะเลที่น่าเอ่ยถึงก็คือ สันทรายชายทะเล

สันทรายลูกอ่อน (Embryo dune)

กำเนิดสันทราย

สันทรายจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยที่พร้อมมูลหลายอย่าง นอกจากจะต้องมีแหล่งทราย ที่จะมาทับถมกันเป็นชายหาด ธรรมดาแล้วสันทรายที่สูงใหญ่ และมีหลายแนวขนานไปกับหน้าทะเล จะต้องมีแหล่งทรายที่จะมาพอกพูนมากกว่าหลายเท่า ภูมิประเทศที่เหมาะมากก็คือหาดที่อยู่ไม่ไกลปากแม่น้ำ เพราะแม่น้ำจะนำทรายมหาศาลจากเทือกเขาลงมาให้ เม็ดทรายต้องมีขนาดพอเหมาะ (๐.๑ – ๒.๐ ม.ม. แล้วแต่การศึกษา) ให้ลมสามารถพัดพาขึ้นไปกองสูงขึ้นไปได้ การเคลื่อนที่ของเม็ดทรายแบบที่จะทำให้เกิดสันทรายสูงและเป็นแนว (sand bar) ที่ค่อนข้างมีระเบียบได้นั้น ต้องเป็นไปในลักษณะกระโดด (saltation – ซาลเทชั่น) ของทรายจากแรงลม พัดทรายให้กระโดดไปในทิศทางแนวเดียวกัน และเมื่อกระโดดขึ้นไปแล้วก็ไปกระแทกกัน กระโดดปลิวไปกระแทกกันไป เหมือนเต้นระบำ

 ส่วนการเคลื่อนแบบกลิ้งตามพื้น (surface creeping) ไม่สามารถยกตัวให้สูงขึ้นได้ อาจเป็นเพราะเม็ดทรายมีขนาดใหญ่เกินไป หรือพื้นที่ไม่เหมาะ มีการศึกษาถึงความเร็วลมที่พอเหมาะ ที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ข้างต้นแล้วว่า ต้องอยู่ระหว่าง ๑๕-๔๕ ไมล์/ชั่วโมง และต้องพัดนานเป็นฤดูกาลอยู่หลายๆเดือน

 ชายหาดที่จะเหมาะกับการเกิดสันทรายสูงได้ ต้องกว้างพอที่เมื่อน้ำลงแล้ว ทรายจะแห้งให้ลมพัดทรายขึ้นไปได้ ในฤดูแล้งน้ำทะเลลดลงไปจนหาดกว้าง และฤดูนี้ที่คลื่นเดิ่งจะพัดสันดอนทรายใต้ทะเล ที่เมื่อฤดูมรสุมน้ำทะเลกัดเซาะทรายชายฝั่ง ลงไปกองในทะเลให้กลับมาไว้บนฝั่ง ปล่อยให้แห้งแล้วลมก็พัดขึ้นไปเป็นสันทรายลูกอ่อน (Embryo dune) อยู่ด้านหน้า ซ่อมแซมสันทรายเดิมจนถึงฤดูมรสุมครั้งต่อไป คลื่นใหญ่ก็ซัดทรายกลับลงไป เป็นสันดอนทรายใต้ทะเลอีกครั้ง สันดอนทรายใต้ทะเลนี้มีประโยชน์ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของคลื่นด้วย (สันทรายลูกอ่อนอาจพัฒนาเป็นสันทรายหน้า (Front dune) ได้ หรือยังไม่ทันพัฒนาก็ตายเสียก่อน หากฤดูมรสุมถัดมาแรงมาก จนถูกน้ำทะเลกัดเซาะกลับลงไปในทะเล)

 การพอกพูนของกองทราย ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากทรายล้วนๆ โดยที่แรกเริ่มจะต้องมี “ขยะทะเล” ที่คลื่นซัดมากองตามแนวบนสุดของน้ำขึ้น ขยะทะเลนี้เป็นกับดักแรกที่จะดักจับทรายที่ถูกพัดตกลงมา แล้วตัวขยะทะเลที่เป็นซากพืชซากสัตว์ใต้ทะเล ก็กลายเป็นอาหาร เป็นปุ๋ย ให้พืชจำพวกหญ้าชายทะเลงอกงาม แล้วพืชคลุมทรายเหล่านี้ก็ตรึงทรายเอาไว้อีกทีหนึ่ง หญ้าทะเลเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ ทนทานแดด ลมไอน้ำเค็ม และแรงเสียดสีของเม็ดทราย โตเร็ว พยายามงอกพ้นทรายตลอดเวลา มีรากยาวลึกและเหง้าที่แผ่ออกไปข้างๆ ทำให้สันทรายนอกจากจะสูงขึ้น ยังกว้างออกไปข้างๆด้วย บางชนิดถึงขนาดที่ถ้าหาดทรายทับถมมันไม่ทัน มันกลับเฉาตายเสียอย่างนั้น หญ้าเหล่านี้ต้องเป็นชนิดที่มีอายุยืนยาวเป็นปีๆ ที่จะช่วยตรึงทรายให้สันทรายสูงได้มากๆ เมื่อร่วมกับปัจจัยอื่นๆดังกล่าวข้างต้น บางสันทรายจึงสูงได้นับสิบเมตร บางแห่ง (ในโลก) อาจถึง ๓๐ เมตร ที่บางเบิด จังหวัดชุมพร สันทรายสูงถึง ๒๐ เมตร หน้าทะเลก็มีความสำคัญ ถ้าเป็นหน้าทะเลเปิดกว้าง ไม่มีเกาะแก่งกำบัง ลม พายุ และคลื่น ก็ทำหน้าที่ได้เต็มที่ ที่จะสร้างสันทรายให้สูงใหญ่ร่วมกับปัจจัยอื่นๆข้างต้น

 

การกำเนิดสันทรายชายฝั่ง (Coastal sand dune) โดยกระบวนการพัดพาของลม

 

สันทรายเคลื่อนตัว

เมื่อเกิดสันทรายแรกแล้ว ลมพัดเม็ดทรายให้ปลิวต่อและตกไปข้างหลังไปเรื่อยๆ ทำให้กองสันทรายแรกค่อยๆเคลื่อนลึกเข้าไปๆ ทรายใหม่ข้างหน้าก็ถูกพัดมากองใหม่ข้างหน้า เป็นสันทรายหน้า (Front dune) ลูกใหม่ และขบวนการนี้ดำเนินต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่สันทรายแรกก็เคลื่อนลึกเข้าไป จนในที่สุดเป็นสันทรายที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ กระทั่งหมดฤทธิ์ แรงลมยิ่งเคลื่อนลึกเข้าไป สันทรายที่เคยใหม่สดเมื่อหลายพันหลายหมื่นปีก่อน ก็เก่าคร่ำคร่า แบนราบลง เตี้ยลง จากการกระทำของธรรมชาติเอง น้ำฝน น้ำหลาก การทับถมของซากพืช ซากสัตว์ และการเคลื่อนเข้ามาของผู้คนในช่วงหลัง เป็นสันทรายสีคล้ำ ( Gray dune )

 เมื่อมีพรรณไม้เติบโตมากขึ้นบนสันทราย รวมทั้งแรงลมในแต่ละฤดูกาลเป็นไปตามวัฎจักร ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แนวสันทรายก็มีเสถียรภาพพอสมควร การเคลื่อนตัวช้าลงๆ นอกจากบางแห่งที่ต้นไม้ถูกทำลายลง หรือผู้คนและสัตว์เหยียบย่ำขึ้นลง หรือขุดสันทรายออก ธรรมชาติของคลื่น ลม พายุ ก็ทำให้สันทรายต้องมีการปรับตัว ให้เข้าสู่สมดุลใหม่ อาจไม่คงรูปร่างแบบเดิม และความสามารถในการเป็นปราการ เครื่องป้องกันคลื่นลมให้กับพื้นที่หลังสันทราย จะลดลงหรือเสียหายไปจนไม่อาจกลับคืน

 ขบวนการเกิดสันทรายหรือแนวสันทรายชายหาดนี้ ใช้เวลานับพันนับหมื่นปี ว่ากันตามธรณีวิทยาที่ว่า ภาคใต้เรามามีรูปร่างใกล้เคียงปัจจุบันนี้ก็เมื่อราว ๔๐ ล้านปีก่อน และกว่าที่น้ำทะเลจะถอยออกไปจากแผ่นดินครั้งสุดท้าย ก็เมื่อประมาณ ๕ หมื่นปีที่ผ่านมา สันทรายชายหาดที่เรารู้จักก็ต้องวิวัฒนาการมา ไม่หลังจากนั้นมากนัก การทำลายสันทรายใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากการตัดสินใจของคนที่มีช่วงอายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี ซ้ำยังไม่ได้ศึกษาให้รู้อะไรอย่างลึกซี้ง

กายภาพของสันทรายชายหาด

เมื่อสันทรายแรกเคลื่อนเข้าไป สันทรายใหม่เกิดขึ้นข้างหน้าระหว่างสันทรายเป็นร่อง เรียก ลำราง (Trough) ทางวิชาการเรียกสันทรายหน้า (ใหม่) ว่า สันทรายแรก (เก่า) กลับเรียกว่าสันทรายที่สอง หรือกลายเป็นสาม สี่ ไปเรื่อยๆ และเมื่อนานปีไป ทั้งแนวสันทรายและร่องลำราง ก็ไม่ได้วางตัวเป็นระเบียบมากนัก อาจเหลือให้เห็นเป็น ช่วงๆ บางลำรางหักเลี้ยวออกสู่ชายฝั่ง ถ้าหากสันทรายถูกรบกวนจนแหว่ง เป็นจุดอ่อนให้น้ำในลำรางในฤดูมรสุมแทงทะลุออกไปได้

กำเนิดป่าสันทรายชายหาด

จากหญ้าชายหาดที่คลุมสันทราย พรรณไม้คลุมดินอื่นๆ รวมทั้งไม้พุ่มเตี้ยที่ทนทานก็ตามมา พืชเหล่านี้มีใบเป็นมันบ้างหรือมีขนบ้าง มีความแข็งแรงและแพร่พันธุ์ได้ดีและรวดเร็ว ในฤดูมรสุม พวกที่ขึ้นหน้าทะเลกิ่งก้านด้านนอกจะดูแห้งไร้ใบ เหมือนต้นไม้ตายเพราะถูกทั้งแรงลม ไอน้ำเค็ม และทรายซัดเสียดสี แต่ก็กลายเป็นเครื่องกำบังที่แข็งแรง ให้ส่วนที่อยู่ถัดเข้าไปเติบโตอย่างปกติ และอยู่รอดต่อไปได้ เมื่อหมดฤดูมรสุมก็แตกกิ่งก้านแตกใบ ติดดอก ออกผล กันใหม่

 ด้วยแรงลม ลำต้น กิ่งก้าน ของพรรณไม้ด้านหน้าจะลู่ไปด้านในและหงิกงอเหมือนไม้ดัด นานวันนานปี เมื่อดินอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น จากการทับถมของซากใบไม้ กิ่งไม้ ของพรรณไม้บุกเบิกทั้งหลาย เพิ่มความชื้นให้พื้นดิน พรรณไม้สูงและใหญ่ก็ตามมามากชนิดขึ้น หลายขนาดขึ้น ทำให้ซากพืชที่ตายทับถมมีมากขึ้น ความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้น จำนวนของพรรณไม้ก็ยิ่งมีมาก และหนาแน่นมากขึ้นทุกทีจนกลายเป็นป่า ยิ่งลึกไปจากชายฝั่งอิทธิพลของลม ไอน้ำเค็ม ไปไม่ถึง ไม้ใหญ่ก็ยืนต้นตรงไม่เอียงลู่และหงิกงอ กลายเป็นป่าสูงใหญ่

 ส่วนในร่องลำรางที่ชื้นและอับลม บางแห่งมีน้ำขัง อาจมีน้ำขังในบางฤดูหรือตลอดปี สังคมพืชที่นี่จะต่างจากสังคมพืชบนสันทราย เป็นพรรณไม้น้ำหรือพรรณไม้ในพรุ ขบวนการเปลี่ยนแปลงจากหญ้านานาชนิด เป็นป่าขนาดเล็กจนเป็นป่าใหญ่ เรียกว่า ขบวนการทดแทน (Process of Succession) เมื่อมีป่า สัตว์ป่าก็ตามมา ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมทั้งนก มีทั้งนักล่าและผู้ถูกล่า

 เมื่อมีป่าปกคลุมบนสันทราย ในลำรางและในพรุ แผ่นดินลักษณะนี้จึงเป็นแหล่งเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่จากฝนฟ้า (ฝน หมอก และน้ำค้าง) ซึมไว้ใต้ดินเป็นน้ำสะอาด เพราะผ่านการกรองจากทรายและการดูดซับสิ่งมีพิษบางอย่าง หรือโลหะหนักบางอย่าง (ที่อาจจะมี) โดยพืชน้ำ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารจากพืชและสัตว์ เป็นแหล่งยา (สมุนไพร) ยิ่งมีน้ำมาก ป่ายิ่งอุดมสมบูรณ์และงดงาม ให้น้ำ ดูดซับคาร์บอน และปลดปล่อยอ็อกซิเจนให้แก่มวลมนุษยชาติ

 

 

ป่าสันทรายชายหาดที่จะนะ

 

หาดทรายและสันทรายชายฝั่งบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

 

ทั้งสันทราย แนวสันทราย ลำราง พรุ ป่าสันทรายชายหาด และป่าพรุ ที่บ้านในไร่ ต.ตลิ่งชัน และบ้านโคกสัก ต.สะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก่อนการบุกรุกเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่ (และจะมีอีกหลายโครงการตามเข้ามาอีก) เป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบตรงตามตำราทุกประการ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ระหว่างคลองนาทับทางเหนือ และคลองสะกอมทางใต้ ที่เป็นแหล่งพาเอาทรายลงมาป้อนให้ชายหาด ตั้งอยู่บนชายหาดทะเลเปิดกว้าง และรับลมพายุจากตะวันออกเฉียงเหนือ จากทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้ ผ่านแหลมญวนพุ่งตรงเข้ามาพอดิบพอดี ขนาดเม็ดทรายและกำลังลมก็น่าจะพอดี จนเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสันทรายสูงใหญ่ได้ ที่จะนะสันทรายชายหาดช่วงที่สูงที่สุดอยู่ที่บ้านในไร่ ต.ตลิ่งชัน สูง ๕-๖ เมตร และบางจุดสูงถึง ๘ เมตร ที่สำคัญ ป่าที่เหลือแม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็เป็นป่าชายหาด หรือเรียกให้เต็มที่ว่า ป่าสันทรายชายหาด (Coastal sand dune forest) ที่นักวิชาการให้ความเห็นว่าเป็น ป่าปฐมภูมิ แม้บางส่วนจะถูกทำลายลงแล้วในอดีต แต่ก็ฟื้นคืนได้ดีพอสมควร

 ส่วนที่เพิ่งฟื้นตัวใหม่ๆ พืชที่ขึ้นใหม่เป็นพวกพืชบุกเบิก มีลักษณะเฉพาะ ทำให้แยกจากป่าเก่า หรือป่าฟื้นตัวเก่าแก่แล้วได้ไม่ยากนัก ป่าใหญ่ที่จะนะนี้เป็นป่าดิบแล้ง สลับป่าพรุในลำรางขนาดเล็ก จนถึงลำรางขนาดใหญ่ยาว เช่น ลำรางสุดท้ายหลังแนวสันทรายสุดท้าย (อาจเป็นแนวที่ ๔ หรือ ๕) ที่ชาวบ้านเรียกว่า “พรุยน” เป็น ลำรางที่กว้างถึง ๘๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๕-๑๖ กิโลเมตร เกือบเป็นเส้นตรงเชื่อมคลองนาทับ-คลองสะกอม

 ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับที่คาบสมุทรสทิงพระ ที่มีแนวสันทรายขนานไปกับชายฝั่ง และมีลำรางยาวตลอดคาบสมุทรที่เรียกว่า “แควกลาง” ที่ปัจจุบันเหลือแต่ร่องรอยพอให้สังเกตเท่านั้น แต่ที่จะนะทั้งป่าและลำรางยาวใหญ่นี้ยังเห็นได้ และยังมีผู้คนใช้ประโยชน์นานาประการได้อยู่ จนเมื่อปีสองปีนี้ที่โครงการใหญ่เข้ามาไถสันทราย ถมพรุเล็กพรุน้อย รวมทั้งบางส่วนของลำรางหรือพรุยนใหญ่ของพี่น้อง จนน้ำตาตก

 

 

พรรณไม้และสัตว์ป่า

เนื่องจากเป็นป่าเก่าป่าใหญ่ (ชาวบ้านเรียก “ป่าแก่”) ความหลากหลายของพรรณพืชมีมาก ตั้งแต่ มอส ไลเค่น เห็ด รา เฟิน กาฝาก ไปจนถึงไม้สูงใหญ่ จนมีแนวป่าดงยาง (Dipterocarpus Forest) เกิดขึ้นชัดเจน เฉพาะเฟินมีนับสิบชนิด ที่ทนแล้ง เช่น กระแตไต่ไม้ และเฟินยายแพก ขึ้นอยู่ชิดหน้าทะเลไปจนถึงเฟินในพรุ อย่าง โชน ก้างปลา ลำเทง ลิเพา และมีเฟินโบราณคือ ตานกิ่ง (Schizaea dichotoma) ขึ้นบนสันทรายอยู่ทั่วไป

 

 

 

เฟินโบราณ ตานกิ่ง (Schizaea dichotoma)

 

 กล้วยไม้หลายชนิดมีทั้งอยู่บนคาคบ และอยู่บนดิน ทั้งกล้วยไม้อากาศและกล้วยไม้ดิน ที่พบแล้วประมาณ ๕ - ๖ ชนิด คิดว่าน่าจะพบอีกถ้าขยันเดินเข้าไปหา

 หญ้ามีมาก ออกดอกสวยงามตามฤดูกาล จนคาดไม่ถึงว่าจะมีดอกหญ้าที่สวยงามและมากชนิด ไม่แพ้ดอกหญ้าบนภูสูง

 ไม้ใหญ่เก่าแก่บางต้นมี กระแตไต่ไม้ (เฟิน) คืบคลานครอบคลุมจากพื้นจนเกือบถึงยอด บางต้นคลุมด้วยเฟินเกล็ดนาคราช เหมือนสวมเสื้อกันหนาว และบางต้นนอกจากมีเฟินชนิดต่างๆเกาะแล้ว ยังแซมด้วยกอกล้วยไม้ มีกล้วยไม้บางชนิด เช่น เอื้องนกกระยาง เกาะเกี่ยวกันด้วย รากและกิ่งก้านเห็นเป็นกองใหญ่กลางพื้นทราย ดูคล้ายไม้พุ่ม

 นมตำเรียหลากสีและมีกลิ่นหอม ห้อยแขวนระโยงระยางไปทั่วป่าร่วมกับไม้เถาอื่นๆ บางฤดูจะเห็นบุหรง ไม้หายากตระกูลสายหยุด นมแมวออกดอกมีทั้งสีขาวนวลและสีส้มชมพู

ดอกนมตำเรีย

 ยังมีไม้พุ่มเล็กกิ่งก้านยาว มีดอกเล็กๆสีเหลืองกระจัดกระจายตามก้าน ออกดอกในฤดูมรสุมต่อฤดูแล้ง ชาวบ้านบอกว่าชื่อต้น “ตีเมืองบ่อยาง” ผู้เขียนคิดถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติกับประวัติศาสตร์ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากปัจจุบัน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ต่อต้นปี พ.ศ. ๒๓๘๒ สมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงการรบกับเมืองไทรบุรี กองทัพเมืองจะนะเอาใจออกห่างเมืองสงขลา ไปเข้ากับกองทัพจากเมืองไทร ที่ยกจากไทรบุรีผ่านทางสะบ้าเพน ( สะบ้าย้อย? ) มาตีสงขลา ช่วงนั้น พรรณไม้ต้นนี้คงบานเต็มป่าจะนะ คนจะนะที่จะไปรบสงขลาคงชื่นชมและถือเป็นฤกษ์ดี ตั้งชื่อ “ตีเมืองบ่อยาง” เอาฤกษ์เอาชัยเสียเลย

 ในป่ามักมีลานโล่งๆ พื้นทรายขาวสะอาดเม็ดละเอียด มีหญ้าหรอมแหรม ล้อมรอบด้วยไม้ต่างขนาดต่างชนิด ไม้ดอกสวยและไม้ดอกหอม บางต้นติดผลรูปร่างแปลกๆ มีกล้วยไม้อย่างเอื้องม้าวิ่งและเฟิน นานาชนิดรวมทั้งนาคราชที่สง่างาม สอดแซมอยู่ขอบล่างของดงไม้รอบๆลาน ทำให้ลานโล่งนี้เสมือนเป็นห้องที่ตบแต่งผนังอย่างหรูหรา มีท้องฟ้าเป็นเพดาน และมีเสียงนกร้องเพลง ชาวบ้านเรียกลานเหล่านี้ว่า “ลานผีเต้น” (ฟังดูให้บรรยากาศของความสุขเคลิบเคลิ้มและศักดิ์สิทธิ์)

เอื้องม้าวิ่ง

 หากเข้าป่าไปเงียบๆ จะได้ยินเสียงคลื่นไม่ห่างนัก ได้ยินเสียงลมพัดใบไม้ทั้งกรูเกรียวและกระซิบกระซาบ อย่างจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาแต่หนหลังให้เราฟัง เสียงนกนานาชนิด เสียงไก่ป่าขัน และเสียงเคลื่อนไหวของสัตว์ป่าเล็กๆ น่าจะบอกกล่าวถึง การมีส่วนเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินนี้ร่วมกับเราอย่างเท่าเทียม (สัตว์ใหญ่ขนาดเสือและสมเส็จ เคยมีเมื่อหลายสิบปีก่อน)

 ป่าสันทรายชายหาดแห่งนี้จึงเป็นที่พักกาย พักใจ ได้อย่างดีเยี่ยมยามเหน็ดเหนื่อย จากการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรที่มีค่าแห่งนี้ ไม่ให้ถูกทำลาย

 นักธรณีวิทยาที่เชียวชาญเรื่องแผ่นดินไหว เคยตั้งคำถามชวนให้คิดว่า อ่าวไทยตอนล่างจะปลอดภัยจากสึนามิไหม หากมีแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ที่อยู่บนแผ่นเปลือกโลกที่กำลังเคลื่อนอย่างมีชีวิตชีวาอยู่ และเป็นแนวเดียวกับที่เกิดขึ้นแถวสุมาตราเร็วๆนี้

 คงต้องคิดถึงปัจจัยประกอบอีกหลายอย่างก่อนตอบ แต่ถ้าป่าสันทรายชายหาดแห่งนี้ยังอยู่สมบูรณ์ พี่น้องเราที่ชายทะเลจะนะน่าจะปลอดภัย o

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 535369เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณบทความที่ให้ความรู้อย่างครบถ้วนเลยค่ะ

คิดถึงทุกภาพที่นี่ค่ะ ตอนเป็นนิสิตก็มาโดนรับน้องที่นี่ค่ะ 

คนสงขลามารักทราบความรู้ที่ควรรู้ครับ

เช่นเดียวกันกับคน nobita ค่ะอาจารย์

ถึงแม้ไม่ใช่คนสงขลา  แต่ก็มีทะเล  มีหาดทราย  รักทะเล  รักหาดทรายจ้ะ

คนโบราณกล่าวไว้ว่า จงอย่าเก็บเงินทองให้ลูกหลาน แต่จงเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้เป็นมรดกสืบๆไป หลายอย่างที่ไม่มีให้ลูกหลานเห็นแล้ว น่าเสียใจจริงๆ 

  ชื่นใจที่ได้อ่านบทความค่ะ   ขอบคุณผู้ที่ร่วมช่วยคงไว้ความงามของธรรมชาติทั้ง  ด้านกายภาพ

เผยแผ่ความงามด้านจิต/จิตวิญญาณ

ข้อความการแก้ใช่ครับต้องเอาพืชที่อยู่เดิมกลับมาทั้งหมด. การนำหินประถมจะไม่ช่วยอะไรจะได้ผลลัพธ์ตรงข้ามทันทีนั่นคือหายนะ. เพราะนายทุนต้องการทรัพยากรและเบิกเงินแผ่นดิน=ยิงนกนัดเดียวได้สัตว์หลายตัว. มีวิธีที่บรรพบุรุษทำเอาไว้ครับที่ถูกลบออกไปและนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนึกไม่ถึงคาดไม่ถึงผมพอรู้ครับ. พอติดต่อดอกเตอร์ได้ทางไหนบ้างครับ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท