มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ตอนที่ 7 ความแปลกแยก Alienation


ความแปลกแยก

คาร์ล มาร์กซ์ อธิบายสภาวะแปลกแยกว่าเป็นความเหินห่าง เหลื่อมล้ำ แตกต่างกันของมนุษย์  เป็นความขัดแย้งทั้งภายในตัวเองและระหว่างคนสองชนชั้น คือทุนกับแรงงานในสังคมทุนนิยม  และความแปลกแยกนี้เป็น “ความผิดพลาด/จุดอ่อน” ของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่ส่งผลต่อมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งตัวของนายทุนและผู้ใช้แรงงาน แต่ผู้ใช้แรงงานจะได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของระบบนี้รุนแรงกว่านายทุน แล้วแต่ว่าอยู่ในตำแหน่งใดและมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร การที่ผู้ใช้แรงงานทุกข์ทรมานกับความแปลกแยกนั้นมาจากกิจกรรมการผลิตที่ผู้ผลิต (ผู้ใช้ความสามารถในการทำงาน-labor power) ไม่ได้เป็นเจ้าของผลผลิต (labor) นั้น แต่กลับไปเป็นของนายทุนแทบทั้งหมด โดยได้รับเพียงค่าจ้าง/เงินเดือนตอบแทนความสามารถในการทำงานของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้พลัง (power) ของมนุษย์ที่แสดงออกมาผ่านกิจกรรมเพื่อการยังชีพหรือการผลิตของตนนั้นมิได้เป็นไปเพื่อพัฒนาตัวเขาอย่างเต็มที่ แม้ความ ต้องการ (need) หรือการเกี่ยวข้องกับสิ่งธรรมชาติอื่น ๆ นั้นก็เป็นไปอย่างมีอุปสรรค กรรมกรหรือผู้ที่เสียเปรียบต้องดิ้นรนเป็นทวีคูณเพื่อขจัดความทุกข์ (suffering) ที่บั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเขา 

   ดังนั้น สิ่งที่จะเข้าไปดูคือ ความสัมพันธ์ทางการผลิตในระบบทุนนิยม ระบบที่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อแลกเปลี่ยน สะสมทุน ความมั่งคั่ง แต่มองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์และการเคารพซึ่งกันและกัน  ในที่สุดเป็นระบบที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แตกหักกันระหว่างแรงงานกับทุน โดยมีรัฐทุนนิยมเป็นตัวสร้างความแตกแยกของคนในสังคมทุนนิยมให้แหลมคมมากขึ้น  ระบบทุนสร้างสภาวะแปลกแยกของทั้งสองชนชั้น อธิบายได้ดังนี้

 สภาวะแปลกแยกของแรงงาน

1.มนุษย์แปลกแยกจากตัวเอง (alienation from self) 
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบทุนนิยมไม่ใช่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แต่เป็นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างไม่ใช่ในฐานะของมนุษย์แต่เป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ที่สร้างความร่ำรวยแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางวัฒนธรรมและระบบการศึกษาที่มีอยู่ในสังคมได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นมนุษย์ แต่เขาก็แปลกแยกจากตัวเอง มองตัวเองอย่างไร้เกียรติและไม่มีศักดิ์ศรีจนไม่สามารถเข้าใจว่าตัวเองนั้นคือมนุษย์เช่นเดียวกันกับมนุษย์ทั่วไป 
 2. มนุษย์แปลกแยกจากแรงงาน (alienation from labour) 
ลูกจ้างได้สร้างความร่ำรวยแก่นายจ้าง โดยได้รับค่าจ้างในระดับพอยังชีพเป็นสิ่งตอบแทน ยิ่งผลิตได้มากลูกจ้างยิ่งจนลง ยิ่งขายสินค้าได้ราคาดี ลูกจ้างยิ่งเป็นสินค้าที่ราคาต่ำ แรงงานไม่ได้มีส่วนพัฒนาลูกจ้างแม้แต่น้อย สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขานับวันจะแย่ลงทุกวัน จะรู้สึกปลอดโปร่งเหมือนได้อยู่บ้านก็เฉพาะเวลาว่างจากงาน แต่ที่โรงงานแล้วทำให้รู้สึกหดหู่ว้าเหว่เหมือนคนไม่มีบ้าน การใช้แรงงานของลูกจ้างไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ แต่มาจากสภาพถูกบังคับ ลูกจ้างจะถ่วงงานหรือเลี่ยงงานทันทีที่ได้โอกาส เพราะไม่มีความภาคภูมิใจในงานที่กำลังทำอยู่ 

3. มนุษย์แปลกแยกจากสิ่งผลิต (alienation from product) 
แรงงานที่ลูกจ้างทุ่มเทลงไปในการผลิตได้แปรสภาพเป็นสิ่งของ (objectification of labour) แต่สิ่งของหรือผลผลิตนั้น แทนที่จะตกเป็นของผู้ผลิต แต่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นเจ้าของ และต่อต้านผู้ผลิตเอง ยิ่งทุ่มเทแรงงานผลิตมากเท่าใด ยิ่งไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของสิ่งผลิตแม้แต่น้อย และทำให้ลูกจ้างต้องตกไปอยู่ใต้อำนาจของสิ่งหนึ่งที่งอกเงยมาจากแรงงานของเขา นั่นคือ มูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value) ซึ่งเป็นค่าแรงงานที่ไม่ได้จ่ายแก่ลูกจ้าง (unpaid labour) ที่เรียกว่า “ทุน” มากขึ้นเท่านั้น 

 4. มนุษย์แปลกแยกจากเพื่อนมนุษย์ (alienation from fellow beings) 
ในระบบทุนนิยม สภาพการทำงานมีการแบ่งงานกันทำเป็นแผนก ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างจึงมีน้อย พวกเขาถูกโดดเดี่ยวจากกันและกันโดยลักษณะของงานที่ส่งเสริมการเห็นแก่ตัว นายจ้างใช้วิธีการให้ลูกจ้างต้องแข่งขันกัน เพื่อผลของงานจะตกแก่นายจ้าง บรรยากาศการทำงานจึงเป็นไปอย่างขาดมิตรภาพระหว่างผู้ทำงานด้วยกัน นอกจากนั้น ลูกจ้างยังไม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมทั้งมวล ไม่เหมือนในสังคมกรีกโบราณซึ่งไม่มีการแบ่งแยกคนจากกิจกรรมทางสังคม ในสมัยนั้นผู้คนต่างมีเสรีภาพและเป็นสมาชิกของสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน ด้วยการมีส่วนร่วมใน กิจกรรมทางการเมืองอย่างเสมอหน้า ตรงกันข้ามกับสภาพสังคมในระบบทุนนิยม การเมืองไม่ใช่ กิจกรรมของคนทั้งหมด แต่เป็นของคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ฉะนั้น สังคม (ประชาชน) กับการเมืองจึงแปลกแยกจากกัน

ด้วยเหตุนี้ ในทัศนะของปรัชญามาร์กซ์ ลูกจ้างไม่มีสถานภาพพอจะกล่าวได้ว่าเป็นมนุษย์ภายใต้ระบบทุนนิยม แต่เป็นเหมือนวัตถุชนิดหนึ่ง อุดมการทางสังคมที่ดำรงอยู่ (social ideology) ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรม หลักปรัชญา ระบบการศึกษา กฎหมาย และการปกครอง เป็นต้น ล้วนกระหน่ำซ้ำเติมลูกจ้างให้จมปลักอยู่ในห้วงความทุกข์ยากยิ่งขึ้น จนขาดจิตสำนึกที่จะยืนหยัดลุกขึ้นปกป้องสถานภาพการเป็นมนุษย์ของตัวเอง

สภาวะแปลกแยกของนายทุน

   นายทุนอยู่ในสภาพแปลกแยกเหินห่างจากความเป็นมนุษย์ เนื่องจากดังที่กล่าวมาแล้วว่า แรงงานไม่สามารถจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาได้ อันเนื่องจากอยู่ในสภาวะไร้อำนาจการเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุมสิ่งที่ตัวเองผลิตและปัจจัยการผลิตสำหรับใช้พัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องได้  นายทุนเป็นเจ้าของผลผลิต ตัดสินใจการผลิต ความสัมพันธ์ของนายทุนกับแรงงานคือการที่เขาอยู่ในตำแหน่งที่เอารัดเอาเปรียบนั่นเอง  กิจกรรมการผลิตที่เน้นแต่ผลิตเพื่อขาย ทำกำไร เพิกเฉยว่าอะไรที่จำเป็นจริงๆที่ต้องใช้หรือใครจะเป็นผู้ใช้สอย นายทุนถูกกระทำโดยสภาพเงื่อนไขทางสังคมที่กำหนดว่าจะผลิตอะไร แลกเปลี่ยนอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด การแข่งขันระหว่างนายทุน  หรือความพึงพอใจในฐานะผู้บริโภค ก็ต้องหามาด้วยการซื้อขาย ให้รู้สึกว่าแตกต่างจากผู้อื่น การปฏิบัติต่อคนงานในลักษณะกดขี่ข่มเหงคนงาน ก็เป็นความแปลกแยกของนายทุนที่กระทำกับคนเยี่ยงวัตถุปัจจัยในการผลิต ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างไม่ลงรอยกัน

อีกลักษณะหนึ่งของความแปลกแยกคือ ความโลภ ความโหดร้ายและความเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย ความโลภดูจะเป็นแรงจูงใจของการกระทำของทุนมากที่สุด ซึ่งมาจากการต้องแข่งขัน บริหารจัดการกับลูกค้าและลูกจ้าง  ความโลภอยากได้เงินของนายทุนมีไว้เพื่อซื้อได้ทุกอย่าง และสะสมให้มากขึ้น ความโหดร้าย การคุกคามของทุนเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างแข็งขืน ต่อต้าน ต่อรองขอแบ่งปันผลกำไร (ซึ่งเป็นการลดทอนระบบกรรมสิทธิ์เอกชน) ความเจ้าเล่ห์ ดีแต่ปากเป็นเหมือนหน้ากากที่นายทุนสวมใส่เพื่อเก็บซ่อนแรงจูงใจและชั้นเชิงของตัวเอง

   มาร์กซ์มีเจตนาให้เราคำนึงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่เพลิดเพลินไปกับสินค้า รสนิยม การบริโภคจนไปทำลายศักดิ์ศรีของคนทำงาน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนงาน ปล่อยให้คนงานอยู่ในสภาพที่ดิ้นรนอยู่ไปวันๆ ขาดแรงจูงใจ ขาดพลังการคิดการใฝ่ฝันแสวงหาโลกใหม่ที่ดีกว่า  และการนำทฤษฎีความแปลกแยกมาใช้นั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างทุนกับแรงงาน และเป็นเครื่องมือทำการศึกษาระบบทุนนิยมให้ลึกซึ้งขึ้น

หนังสืออ้างอิง

พจนา วลัย. Alienation: การสร้างสภาวะแปลกแยกโดยระบบทุนนิยม (ตอนที่ 1). http://prachatai.com/journal/2013/02/45514 เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

วิทยา ศักยาภินันท์.มนุษย์กับภาวะแปลกแยก.http://www.baanjomyut.com/library_2/humanism_in%20the_philosophy%20of_marxism/04.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2556


หมายเลขบันทึก: 535362เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2013 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท