สิรินธรคัพ อำเภอหนองบัว


ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน"สิรินธรคัพ" หนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

 

   

 

การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน  สิรินธรคัพ”

      แนวความคิดในการจัดแข่งขันฟุตบอลเกิดจากได้เห็นว่าหน้าที่ว่าการอำเภอเป็นสนามกว้างเหมาะที่จะปรับปรุงเป็นสนามฟุตบอลได้ สภาพเดิมก่อนปรับปรุงสนามแย่มาก พื้นสนามเหมือนพื้นทุ่งนาไม่ราบเรียบ ในฤดูฝนน้ำจะไหลมารวมกัน ขังอยู่เป็นเวลานาน เป็นที่หาปลา กบ เขียด ของชาวบ้าน ช่วงกลางรั้วหน้าอำเภอมีประตูเปิดตรงมายังเสาธงหน้าอำเภอ เวลาข้าราชการนั่งรถเมล์มาจากท่าตะโกหรือนครสรรค์ จะลงรถเมล์แล้วเดินลัดสนามมาที่ว่าการอำเภอ เกิดแนวความคิดว่าน่าจะปรับปรุงเป็นสนามฟุตบอลปิดทางเข้าด้านหน้า
แล้วเปิดถนนด้านตะวันออกข้างสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ

         ขณะเดียวกันนั้นกำลังมองหากีฬาที่จะเป็นนันทนาการที่คนเล่นลงเล่นได้หลายคน คนดูจำนวนมากสามารถดูได้อย่างสนุกสนาน ในสนามกว้าง ก็เห็นว่ากีฬาฟุตบอลเหมาะสมดี จะพูดไปว่าขณะนั้นยาบ้าในหนองบัวยังไม่มี คนหนองบัวยังไม่รู้จัก

         ประกอบกับประสบความสำเร็จในการจัดการแข่งขันฟุตบอลประเพณีชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มาแล้วที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ชาวอำเภอราษีไศลให้นามถ้วยว่า ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ”

         ในประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2524 ได้ปรึกษากับคุณละม่อม ชัยโย ผู้ช่วยศึกษาธิการ อำเภอหนองบัว
มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงประชุมปรึกษาหารือ หัวหน้าส่วนราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนพ่อค้าซึ่งขณะนั้นมีชมรมพ่อค้าเรียกว่า
ชมรมร่วมใจชาวหนองบัว” ทั้งหมดเห็นดีด้วย

         กำหนดการแข่งขันนั้นที่ประชุมเห็นว่าน่าเป็นฤดูที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป เห็นว่าต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 เหมาะที่จะจัดการแข่งขัน  การแข่งขันรอบสุดท้ายจะไปหมดระยะการแข่งขันต้นเดือนมกราคม 2525

         ปัจจัยจำเป็นที่ใช้ในการจัดการแข่งขัน  คือ เงิน ทีมฟุตบอล ถ้วยรางวัล

          - เงินวางแผนขอความร่วมมือจากพ่อค้าในตลาด โรงสีข้าว ข้าราชการ โดยเฉพาะนายอำเภอต้องเป็นผู้นำบริจาค เพื่อให้เกิดการบริจาคตาม  ผู้บริจาคจะดูผู้นำก่อนว่าบริจาคมากน้อยแค่ไหน

           - ทีมฟุตบอล ได้ขอร้องให้ทุกตำบลส่งทีมฟุตบอลลงแข่งขันตำบลละ 1 ทีม เป็นลักษณะการแข่งขันปิด ให้นักกีฬาฟุตบอลเป็นครูข้าราชการ หรือนักศึกษาประชาชนในหมู่บ้านสำหรับระดับอำเภอมีทีมที่ว่าการอำเภอ ตำรวจ
โรงเรียนมัธยม ทีมพ่อค้า ทีมโรงพยาบาล รวมทั้งหมดประมาณ 10-12 ทีม  แข่งขันแบ่งสายพบกันทุกทีม

            - ถ้วยรางวัล ขอถ้วยรางวัลจากนายสนอง  รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสรรค์ขณะนั้น เหตุที่ไม่ขอถ้วยพระราชทานในครั้งแรก  เพราะต้องการจัดดูผลงานว่าการแข่งขันจะได้รับความนิยมจากประชาชนหรือไม่
หากประชาชนไม่นิยมสนับสนุน การจัดขอถ้วยพระราชทานมาแล้ว จะเลิกจัดก็เลิกไม่ได้ จะจัดต่อไปหากจัดไม่ดีจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติ อาจถูกตำหนิ และไม่เป็นมงคลแก่ตนเอง ซึ่งตามหลักแล้วไม่นิยมกระทำกัน และจะไม่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานจึงต้องมีการแข่งขันกีฬานั้นให้เป็นผลงานก่อนทดสอบจัดดูเห็นว่าพร้อม ควรเก็บภาพผลงานประกอบเสนอขอพระราชทาน

               การแข่งขันได้เริ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2524 มาสิ้นสุดในประมาณต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2525 การจัดการแข่งขันได้รับความนิยม ความสนใจ และความร่วมมือ จากข้าราชการพ่อค้าประชาชน เป็นอย่างดียิ่ง
มีคนนิยมมาดูการแข่งขันมากมายทุกนัด ทั้งที่สนามครั้งแรกยังเป็นสนามวิบาก เพราะพื้นสนามดีกว่าทุ่งนาเล็กน้อยไม่มีรถเกรดปรับ เกณฑ์นักเรียนมาใช้จอบปรับพื้นได้ผลเพียงพอใช้ได้ วันปิดการแข่งขันในต้นปี พ.ศ. 2525 นายสวัสดิ์ คำประกอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์มาร่วมพิธีปิดจึงมอบให้เป็นประธานมอบถ้วยการแข่งขัน

                เมื่อมีผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ จึงวางแผนรวบรวมภาพและผลงานนำขึ้นกราบบังคบทูลขอพระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันจาก   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ผ่านราชเลขาธิการในองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถไม่นานนักก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานลงมาประมาณปลายปี 2525 ยังความปลื้มปิติให้แก่พสกนิกรชาวอำเภอหนองบัวทั้งมวลเป็นอย่างยิ่ง เป็นขวัญและกำลังใจแก่ชาวอำเภอหนองบัว ซึ่งอยู่ในแดนทุรกันดารและห่างไกลแต่บารมีของพระองค์แผ่ไพศาลมาปกเกล้าปกกระหม่อมชาวหนองบัวทั่วหน้ากัน

               ฉะนั้นคณะกรรมการจัดงาน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน จึงต้องมีการวางแผนดำเนินการจัดงานรับถ้วยพระราชทาน และจัดการแข่งขันให้สมพระเกียรติ จึงได้วางแผนดำเนินการดังนี้

              - การรับถ้วยพระราชทาน ได้นำถ้วยพระราชทานมาตั้งประดิษฐานไว้ที่ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์
แล้วจัดขบวนข้าราชการแต่งชุดปกติขาวพร้อมประชาชนกลุ่มแม่บ้าน และทีมฟุตบอล จัดขบวนรถตกแต่งไปรับถ้วยพระราชทานจากจังหวัด แห่รอบตลาดนครสวรรค์ เดินทางตามเส้นทางสายนครสวรรค์ท่าตะโก มาถึงอำเภอหนองบัว นำแห่วนรอบตลาดหนองบัว เสร็จแล้วนำมาตั้งประดิษฐานไว้บนที่ว่าการอำเภอ จนถึงวันพิธีเปิดการแข่งขันในต้นปี พ.ศ. 2526 เป็นปีแรกของการแข่งชิงถ้วยพระราชทานซึ่งเป็นปีที่ 2 ของการแข่งขันทั่วไปของฟุตบอลประจำปีอำเภอหนองบัว ปีพ.ศ. 2526 ในการชิงถ้วยพระราชทานอำเภอมีเวลาเตรียมงานมาก

                 -การจัดหาเงิน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2526 สุขาภิบาลหนองบัวได้ตั้งงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนประเพณีท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งขอความร่วมมือจากพ่อค้า ประชาชนโรงสีข้าว พร้อมกับจัดทำเสื้อยืดคอเชิ้ต และเสื้อยืดคอกลมมีข้อความภาษาไทย และภาษาอังกฤษเป็นข้อความสนับสนุนการแข่งขัน ออกจำหน่ายรวมเงินสนับสนุนการจัดงาน

                - สนามฟุตบอล  ขอความร่วมมือบริษัทรับเหมาสร้างทางหนองบัว-ชุมแสง มาถมดินและได้ดินบางส่วนจากการขุดลอกเกาะลอยมาถม เกรดบดอัดสนามให้เรียบ มอบให้คุณละม่อม ชัยโย ปลูกหญ้าแพรกตามตำรานายอำเภอสมหมาย โดยขอแรงนักเรียนมัธยมหนองบัวมาช่วยปลูก

                 - จัดทำศาลาตั้งถ้วยพระราชทานหน้าอำเภอ ปีแรกไม่มีงบประมาณขอความร่วมมือจากกำนันผู้ใหญ่ตำบลหนองบัว หนองกลับ มาจัดทำศาลาไม้ชั่วคราวหลังคามุงแฝก ยกพื้นเป็นศาลาประดิษฐานถ้วยพระราชทาน ปีต่อมาได้ตั้งงบประมาณสุขาภิบาลมาสนับสนุนสร้างอาคารดังในรูปแบบปัจจุบัน

                   - โดดร่มในพิธีเปิดสนาม ติดต่อประสานงานกับเพื่อนซึ่งเป็นนายทหารอยู่ในศูนย์สงครามพิเศษ
ขอเอ่ยนามเพื่อเป็นเกียรติ ขณะนี้เกษียณอายุราชการแล้ว คือ พลตรีชัยฤทธิ์  บัวชุลี โดยมีคุณละม่อม ชัยโย เป็นผู้ประสานงาน สามารถนำพลร่มมาโดดได้ในพิธีเปิดการแข่งขัน นับว่าเป็นพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของสถาบันกษัตริย์ไทย    เกิดความบังเอิญที่เป็นโอกาสเดียวกับที่  กองพลพลร่มลพบุรี
จะจัดให้มีการโดดร่มในวันเดียวกันที่จังหวัดพิษณุโลกในช่วงสายของวันเปิดการแข่งขัน จึงมีเวลาขึ้นเครื่องบินผ่านมาโดดร่มให้อำเภอหนองบัวในภาคบ่าย ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันพอดี

                    จึงเป็นผลให้งานเปิดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสิรินธรคัพให้จัดเป็นประเพณีสืบต่อมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 จนถึงปัจจุบันนี้ ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนห้วงเวลาการแข่งขัน จำนวนทีมและกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ก็เป็นการพัฒนา การกีฬาฟุตบอลของอำเภอหนองบัวให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของผู้ปกครองอำเภอและประชาชนหนองบัวทุกคนจะต้องเทิดทูนและรักษาเกียรติยศนี้ไว้ให้เป็นประเพณีคู่อำเภอหนองบัวสืบไป

   วิเคราะห์เชิงอรรถ

                    การจัดการแข่งขันฟุตบอลเป็นประเพณีสืบมาเป็นเวลา 28 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่การคิดริเริ่มจัดหากแต่แรกได้รับความร่วมมือน้อยต่อไปก็จัดไม่ได้ ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนายอำเภอมา 7 อำเภอ พยายามจัดการแข่งขันทำนองเดียวกันมาทุกอำเภอประสพความสำเร็จเพียง 2 อำเภอ คือ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ และอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น นอกนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จนั้นอยู่กับ คน พื้นที่ ความร่วมมือ ความสามัคคี เป็นปัจจัยสำคัญแต่ที่อำเภอหนองบัวจัดได้ และมีทั่วประเทศไทยจัดได้อย่างนี้เพียงไม่กี่แห่ง ชาวอำเภอหนองบัวควรจะภาคภูมิใจอย่างยิ่งและขอให้รักษาประเพณีนี้สืบไป ความสำเร็จทั้งมวลมิได้เป็นของผู้ใด หากมีแต่ความตั้งใจของนายอำเภอสมหมายผู้เดียว แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวอำเภอหนองบัว ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ที่นำมาเล่าขานเพื่อให้ประชาชนรุ่นหลังได้รับรู้ การทำงานของบรรพชนในอดีต   มีความภาคภูมิใจว่าความสำเร็จทั้งมวลเป็นของบรรพชนและพวกเราชาวหนองบัวทุกคนจะต้องสืบทอดเจตนารมณ์นี้ต่อไป

      


   

หมายเลขบันทึก: 534334เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2013 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท