พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

4+7 หรือ (4+7)x 5 สูตรสำเร็จเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่คนที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย


4+7 หรือ (4+7)x 5  สูตรสำเร็จเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่คนที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย


ระหว่างการจัดอบรมกลุ่มคนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาฯ ซึ่งทำงานด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย และสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ในโครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย : เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality : For Networks of National Child Protection Committee )[1] มื่อ วันที่ 25-26 เมษายน พ.ศ.2556 อาจารย์แหวว หรือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ของผู้เขียนซึ่งผู้เขียนขออาสามาเป็นผู้ช่วยทางวิชาการเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ท่านได้เสนอ “ทฤษฎีสั้นๆ” แต่ครอบคลุมวิธีการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” และเป็นไปตามหลักการของRule of Law โดยชื่อของทฤษฎีดังกล่าวคือ “ทฤษฎี 4+7[2] เพื่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย”

  อย่างไรก็ตาม วันนี้ระหว่างที่ผู้เขียน และน้องปรางหรือคุณปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล เพื่อนร่วมทีมงาน กำลังพยายามคิดค้น วางแผนสรุปงานครั้งนี้ เราก็พบข้อเสนอว่า บางทีแล้วเพื่อความสมบูรณ์ของการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านให้กับมนุษย์ที่ประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลนั้น ทฤษฎีดังกล่าวควรมีชื่อว่า “ทฤษฎี (4+7) x5” เลข 5 มาจากไหน ??  หมายถึงอะไร ?? ทำไมจึงต้องมี ?? ผู้เขียนจะขออธิบายต่อยอดจากการอธิบายถึงทฤษฎี 4+7 ของอาจารย์แหวว เป็นลำดับดังต่อไปนี้

  เลข 4 หมายถึง“คิดอะไร”

  4 things to think : สี่ประการที่เจ้าของปัญหา คนทำงาน หรือทีมที่ปรึกษาฯ ผู้ให้ความช่วยเหลือ ต้องเริ่มต้นคิดก่อนลงมือแก้ปัญหา

ข้อ 1 คิดถึง “ข้อเท็จจริง”

เป็นการคิดให้ได้เสียก่อนว่า ข้อเท็จจริงใดที่กฎหมายต้องการ เพราะจะได้เริ่มต้นค้นหา ตรวจสอบ และรวบรวม “ข้อเท็จจริงที่เป็นฐานนำไปสู่สิทธิตามกฎหมาย”และในแง่ของการจัดการเราอาจจะเรียกข้อนี้ว่าเป็นการ “จัดการข้อเท็จจริง” ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแรกที่เจ้าของปัญหา คนทำงานไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมายหรือไม่ก็ตามต้องคิดถึง และจัดการให้ได้เสียก่อน

ข้อ 2 คิดถึง “ข้อกฎหมาย”

เป็นการคิดและตรวจดู ข้อกฎหมายที่เป็นบ่อเกิดแห่งสิทธิ หรือก็คือกฎหมายที่รับรองสิทธิ[3] โดยจะต้องเริ่มต้นพิจารณาตั้งแต่กฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย กฎหมายภายใน เป็นการ “จัดการข้อกฎหมาย”

ข้อ 3 “ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมาย”

เป็นลักษณะของการคิดและการให้เหตุผลว่า “ทำไมบุคคลนั้นจึงมีสิทธิ” เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการตรวจสอบอีกครั้งว่า ข้อเท็จจริงที่ค้นพบนั้นครบตามองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนด

ข้อ 4 คิดถึง “การพัฒนาสิทธิ”

เมื่อทราบแล้วว่า “มีสิทธิ” ตามที่กฎหมายกำหนดจริง คำถามต่อไปก็คือ จะทำให้บุคคลนั้น “ใช้สิทธิ” ได้อย่างไร ?? ส่วนนี้เองที่นำไปสู่ เลข 7 (เจ็ดขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อการพัฒนาสิทธิ)

เลข 7 หมายถึง ขั้นตอนที่ต้องทำเพื่อการพัฒนาสิทธิ/ใช้สิทธิ

7 things to do : 7 ขั้นตอนในการลงมือทำเพื่อให้การให้ความช่วยเหลือประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ 1 “รวบรวมพยานหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด”

เป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อยืนยันว่าเรามีสิทธิดังกล่าวจริง

ขั้นตอนที่ 2 “เริ่มต้นใช้สิทธิ”

เป็นการเริ่มต้นเดินไปใช้สิทธิ กับ ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย ที่จะต้องดำเนินการให้ เช่น การเขียนคำร้อง/คำขอ เพื่อใช้สิทธิ

ขั้นตอนที่ 3 “ขอหลักฐานการเริ่มต้นใช้สิทธิ”

ส่วนนี้นับว่าสำคัญมาก เพราะหลักฐาน หรือใบรับคำร้อง หรือสำเนาเอกสารที่ยื่นคำร้อง จะเป็นหลักฐานว่า เราได้มายื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิแล้ว กับ ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องพิจารณาเรื่อง และดำเนินการ และโดยหลักการของกฎหมายทุกเรื่องจะมีกรอบเวลาให้ผู้มีหน้าที่พิจารณาว่าจะอนุญาตให้เราใช้สิทธิหรือไม่ อย่างไร พร้อมแสดงเหตุผล

หลักฐานการใช้สิทธินี้จำเป็น ต่อการทำตามขั้นตอนต่อไปอย่างยิ่ง

ขั้นตอนที่ 4 “ติดตามผลการยื่นคำร้องขอใช้สิทธิ”

หากผู้มีหน้าที่ยอมรับคำร้อง เราก็ต้องติดตามผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ โดยติดตามทวงถามเป็นจดหมาย/หนังสือ เพื่อเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรถึงการติดตามดังกล่าวโดยแนบสำเนาเอกสารหลักฐานการเริ่มต้นใช้สิทธิตามข้อ 3 เพื่อเป็นหลักฐานแจ้งว่าเราได้มาขอใช้สิทธิแล้ว ท่านพิจารณาไปถึงไหน อย่างไร

ขั้นตอนที่ 5 “อุทธรณ์ร้องทุกข์กรณีไม่รับคำร้องขอใช้สิทธิ หรือกรณีพิจารณาล่าช้า หรือกรณีปฏิเสธสิทธิ”

โดยจะต้องศึกษาถึงการทำหนังสืออุทธรณ์ กระบวนการยื่น และยื่นต่อใคร

เป็นลักษณะของกระบวนการอุทธรณ์ภายในตามกระบวนการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ในแต่ละเรื่องเสียก่อน

ขั้นตอนที่ 6 “ฟ้องคดีต่อศาล”

หากการดำเนินการภายในของฝ่ายปกครอง โดยผู้มีหน้าที่ ยังเป็นลักษณะของการที่เราไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ และเราได้ดำเนินการอุทธรณ์ตามระเบียบแล้วนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่รับคำร้อง รับแล้วแต่พิจารณาล่าช้า หรือรับแล้วแต่พิจารณาปฏิเสธ ก็อาจจะนำคดีขึ้นสู่ศาลตามลักษณะของคดีได้

ขั้นตอนที่ 7 “บังคับคดีตามคำพิพากษา”

หากกระบวนการใช้สิทธิ ดำเนินการไปถึงขั้นฟ้องร้องคดี ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งสำคัญมากหลังมีคำพิพากษาว่า “เรามีสิทธิและใช้สิทธิได้” ก็คือ ดังนั้นเพื่อให้การใช้สิทธิ (การพัฒนาสิทธิ) ประสบผลสำเร็จได้จริงจะต้อง บังคับคดีตามคำพิพากษานั้น

แล้วเลข 5 มาจากไหน ?? ทำไมต้องคูณ??

เลข 5 คือ “ปัญหา 5 ชุดสิทธิของมนุษย์”

5 problems to solve : 5 ปัญหาด้านสิทธิ ที่คนซึ่งประสบปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายต้องเผชิญ

จากงานวิจัยจากเรื่องจริง (True story) ที่ปรากฏ พบว่าปัญหาการใช้สิทธิของมนุษย์คนหนึ่งที่อาจจะต้องเผชิญในชีวิต สามารถจำแนกเป็น 5 ชุดสิทธิ ได้คือ

ชุดสิทธิที่ 1 ชุดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายและสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

ชุดสิทธิที่ 2 ชุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิการเดินทางสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว

ชุดสิทธิที่ 3 ชุดสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น สิทธิในการทำงาน

ชุดสิทธิที่ 4 ชุดสิทธิในการมีส่วนร่วม เช่น สิทธิในการร่วมกิจกรรมของเด็ก สิทธิในการเลือกตั้ง

ชุดสิทธิที่ 5 ชุดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา

  • ซึ่งทั้ง 5 ชุดสิทธินี้เองเป็นองค์ความรู้ที่คณะผู้ออกแบบโครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย : เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ได้ออกแบบไว้แต่ตอนต้นว่า ควรอบรมในเนื้อหาของทั้ง 5 ชุดสิทธิเพื่อให้เจ้าของปัญหา คนที่ทำงานและทีมที่ปรึกษาผู้ให้ความช่วยเหลือเจ้าของปัญหาได้ตระหนักบนเรื่องจริงว่า “เด็ก/มนุษย์ที่ประสบปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย และสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อาจต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสิทธิประการอื่นอีกด้วย”
  • ดังนั้น ผู้เขียนในฐานะของส่วนหนึ่งในทีมออกแบบโครงการอบรมดังกล่าว เมื่อกิจกรรมดังกล่าวได้จบลง จึงคิดถึงการพัฒนาสูตรสำเร็จจากทฤษฎีของอาจารย์แหวว เพื่อที่จะเป็น know-how หรือเครื่องมือเพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็ก/มนุษย์ที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยการนำ

“4 สิ่งที่ต้องคิด + 7 ขั้นตอนที่ต้องทำ x 5 ชุดปัญหาที่เจ้าของปัญหาต้องเจอ” = คู่มือเพื่อเจ้าของปัญหา คนทำงาน ทีมที่ปรึกษางานด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายและสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

และขอให้ชื่อทฤษฎีนี้ว่า “(4+7)x5 สูตรสำเร็จเพื่อการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่คนที่มีปัญหาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย"




ภาพโดย รศ.ดรพันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และคุณศิวนุช สร้อยทอง

[1] โครงการนี้ออกแบบโดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเตรียมวิทยานิพนธ์เรื่อง “อดีตคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย” ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทางวิชาการ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร การออกแบบโครงการนี้มี รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร เป็นที่ปรึกษา และมีผู้ช่วยค้นคว้าทางวิชาการ ๒ คน กล่าวคือ (1) นางสาวบงกช นภาอัมพร และ (2) นางสาวศิวนุช สร้อยทอง การออกแบบเริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 และปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2556 โดยโครงการที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในงานของคณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็ก ใน คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25-26 เมษายน พ.ศ.2556

[2] โปรดอ่านเพิ่มเติมได้ใน http://www.facebook.com/siwanoots.soitong?fref=ts

[3] ภาษากฎหมายเราเรียกว่าพิจารณาถึง บ่อเกิดแห่งกฎหมาย (Sources of Law)


หมายเลขบันทึก: 534219เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 02:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท