DPP Thailand : สาระของ site visit กลับทาง


การได้ลงมือคัดกรองจริงๆ ทำให้มองเห็นปัญหาและโอกาสของการพัฒนามากมาย

วันที่ 28 เมษายน 2556 

การประชุมติดตามความก้าวหน้าของการทำงานในพื้นที่ 8 จังหวัด ณ ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กรุงเทพฯ ในวันนี้ ทีมผู้รับผิดชอบงานโครงการ 8 จังหวัด มาประชุมจำนวน 13 คน 

ทีมส่วนกลางคือ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ (ที่ปรึกษากรมการแพทย์) พญ.อารยา ทองผิว และนพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 5 อดีตผู้จัดการกองทุนบริหารจัดการโรคเรื้อรัง สละเวลาในวันหยุดมาประชุมกับเราทั้งวัน

หลายคนมาถึงห้องประชุมตั้งแต่ 08 น. และทยอยมาจนได้เวลานัดหมายที่ 09 น. อาจารย์อารยามาพร้อมกับขนมและของว่างอร่อยๆ อีกเช่นเคย



ช่วยกันกรอกข้อมูลผลการคัดกรอง


เราเริ่มการประชุมโดยดิฉันบอกวัตถุประสงค์ของการประชุมวันนี้ รายงานความก้าวหน้าของการทำงานในเชิงการจัดการเรื่องต่างๆ เช่น การรายงานความก้าวหน้าต่อ IDF การส่งมอบงานต่อ สปสช. การส่งบทคัดย่อของงานส่วนแรกๆ ไปยังการประชุม World Diabetes Congress 2013 เป็นต้น

ต่อจากนั้นนำเสนอภาพรวมของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือที่เราเรียกกันว่า Catalog ในระยะ 6 เดือนแรก โดยผู้ออกแบบกิจกรรมค่าย 3 วัน เล่ารายละเอียดของกิจกรรม ที่ประชุมซักถาม ทำความเข้าใจ ให้ข้อคิดเห็นว่าจะต้องปรับแต่งส่วนใดเพิ่มเติมอีกบ้าง เรื่องที่มีการให้ความเห็นกันมากคือกิจกรรม “เส้นทางที่ไม่ย้อนกลับ” มีการกำหนดลักษณะของอาหารว่างและกิจกรรมการออกกำลังกาย ปรับเกณฑ์การให้คะแนน ก่อนเข้าสู่กิจกรรมความพิการ 

หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล ที่รับผิดชอบพื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเริ่ม implement intervention ในเร็วๆ นี้ เล่าให้ที่ประชุมฟังว่าได้วางแผนการทำงานไว้อย่างไรบ้าง จะแบ่งกลุ่มย่อยอย่างไร ใครคือคุณอำนวย ใครคือ Peer 





ผู้เข้าประชุม วันนี้ไม่ค่อยได้หัวเราะกันเท่าไหร่


ใกล้ 11 น. ทีมแต่ละจังหวัดนำเสนอผลการคัดกรองด้วย OGTT 

  • พิษณุโลก คัดกรองจำนวน 632 คน ได้คนที่มี IGT เกือบจะครบแล้ว มีผู้ที่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในกลุ่ม IGT หรือ DM อยู่จำนวน 96 คน 
  • แพร่ มีทุนเดิมดี คัดกรองคนจำนวน 922 คน ได้กลุ่มอาสาสมัคร IGT จำนวน 281 คน ครบแล้ว ที่สามารถคัดกรองได้เร็วเพราะมีประสบการณ์ทำ OGTT มาตั้งแต่ปี 2552 ทำเป็น routine เลือกทำ OGTT ในผู้ที่มี HT+IFG (จากข้อมูลการคัดกรองรายปี) คนที่มี BMI เกิน Cap.BG > 110 mg% คนที่มีประวัติ GDM 
  • นครราชสีมา กลุ่ม intervention ใกล้จะครบจำนวนแล้ว ส่วนกลุ่ม control ใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์น่าจะได้ครบ หมอฝนยังรวมตัวเลขได้ไม่ครบถ้วน
  • นครพนม ใช้วิธีการดึงข้อมูลกลุ่มเสี่ยงมาจากระบบฐานข้อมูล (ข้อมูลการคัดกรองในปีงบประมาณ 2556) คัดกรองไปแล้ว 775 คน ได้ IGT ประมาณ 68% ของเป้าหมาย ในจำนวนนี้ยังไม่ได้แยกว่ามีรายใดที่ PG ก่อนกินกลูโคส เข้าข่ายเบาหวานบ้าง (ซึ่งต้องตัดออก)
  • นครนายก คัดกรองไปแล้ว 931 คน ได้ IGT ประมาณ 47.5% ของเป้าหมาย ใช้วิธีการทำความเข้าใจกับ รพ.สต. แต่ละแห่ง ทุกที่จะรู้ว่าจะดึงคนเข้ามาอย่างไร แต่ละพื้นที่ทำไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ทำการคัดกรองที่ รพ.สต. บางพื้นที่ออกไปทำในหมู่บ้าน แรกๆ ทำตาม protocol แต่ได้กลุ่ม IGT น้อย จึงปรับไปเลือกตามปัจจัยเสี่ยง
  • สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยการลงพื้นที่ประสานงานหลายครั้ง ยังใช้ข้อมูลที่มีบันทึกไว้ได้ไม่มาก ต้องใช้วิธีการสอบถามต่อไปเรื่อยๆ ได้รับความร่วมมือจาก อบต. ในการจัดกิจกรรม (event) ยังคัดกรองได้น้อย
  • นครศรีธรรมราช เริ่มการคัดกรองก่อนใคร แต่ยังได้อาสาสมัครไม่ครบ ภญ.นุชนาฎ ตัสโต บอกว่า “ความมุ่งมั่นยังไม่หมด แต่หาไม่ได้” ทีมออกไปทำ OGTT ในชุมชนในวันหยุดตลอด เริ่มแรกทำตาม protocol  แต่ได้ผู้ที่มี IGT จำนวนน้อย มีปัญหาในการใช้ข้อมูลการคัดกรองปกติหารายที่มี IFG เพราะไม่ค่อยได้ตรวจเลือดแบบ fasting จึงปรับเป็นเชิญชวนคนอ้วน เอวเกิน BMI เกิน ให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.เป็นคนเลือกคนที่คิดว่าเสี่ยงเอง และได้ขยายพื้นที่ เพิ่มจำนวน รพ.สต. ตอนนี้คัดกรองไปแล้ว 1,076 คน ได้ IGT ประมาณ 50% ของเป้าหมาย ในจำนวนนี้ยังไม่ได้แยกว่ามีรายใดที่ PG ก่อนกินกลูโคส เข้าข่ายเบาหวานบ้าง
  • ตรัง เพิ่งเริ่มทำ OGTT จัดตารางเวลาลงพื้นที่ทุกวันต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม (บอกกับ ผอ.โรงพยาบาลว่าขอเวลาในช่วงนี้) คัดกรองไปแล้ว 268 คน พบ IGT=52 คน 

การนำเสนอข้อมูลผลการคัดกรองในวันนี้ เป็นโอกาสดีที่ทุกพื้นที่ได้ทำความเข้าใจเรื่องเกณฑ์การตัดสิน IGT ให้ตรงกัน ว่าจะต้องตัดกรณีใดออกบ้าง หมอนก พญ.ศรัณยา สุคันธไชยวงศ์ จะเป็นผู้ทำ flow chart ให้เห็นชัดเจน 

ในกระบวนการคัดกรองกลุ่ม IGT จะเห็นได้เห็นว่าแต่ละทีมมีความมานะ อุตสาหะ และพยายามอย่างเต็มกำลัง ตอนที่วางแผนโครงการ พวกเราไม่คิดว่างานนี้จะยากและใช้เวลามากขนาดนี้ ดิฉันสัมผัสได้ว่าแต่ละคนทำงานกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่การทำวิจัยเพื่อวิจัย แต่เป็นความพยายามที่จะทำให้การบริการที่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรได้รับ ดีขึ้นกว่าเดิม การได้ลงมือคัดกรองจริงๆ ทำให้มองเห็นปัญหาและโอกาสของการพัฒนามากมาย

พวกเราพักกินอาหารกลางวันเมื่อประมาณ 12.35 น. แล้วกลับเข้าห้องประชุมกันต่อตอน 13 น. กว่าเล็กน้อย

ภาคบ่ายเราช่วยกันพิจารณาแบบฟอร์มการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะในเรื่องการกินอาหาร กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย การปฏิบัติทางด้านสุขภาพจิต รวมทั้งการนอนหลับ ใช้เวลาอภิปรายกันเรื่องการกินอาหารมากหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเราจะเข้าใจและเก็บข้อมูลได้ตรงกัน

15 น. กว่าเราย้อนมาอภิปรายกรณีของจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้ง ช่วยกันคิดหาทางออกเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น น่าประทับใจที่ผู้ใหญ่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น พญ.อารยา ทองผิว นพ.จักรกริช โง้วศิริ นพ.สมเกียรติ โพธิสัตย์ และ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในการประสานงานกับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เรามีแผน 1 แผน 2 เอาไว้แล้ว

ปิดการประชุมเมื่อเกือบ 16.30 น. แต่ละคนแยกย้ายกันเดินทางกลับ พรุ่งนี้ก็ต้องทำงานประจำควบคู่ไปกับงานของโครงการนี้ต่อไป 

DPP Thailand สู้ๆ

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 534217เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2013 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 เมษายน 2013 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท