เนื้อหานิทรรศการ "ก้าวพอดีที่เพลินพัฒนา" : ๑๐ปี กับการพัฒนากลุ่มวิชาประยุกต์ของช่วงชั้นที่ ๒ (๒)


ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๓ ปีหลังของการพัฒนาหน่วยวิชา


 การปรับเปลี่ยนกระบวนวิธีในการเรียนรู้โดยใช้แผนโครงสร้างแบบบูรณาการที่ใช้เนื้อหาและกระบวนการที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงและมีความเป็นองค์รวมนี้ ทำให้ผู้เรียนไม่ต้องแยกส่วนความรู้ เนื้อหาที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์สามารถเรียนรู้ควบคู่กันไปได้ เช่น การเรียนเรื่องข้าว ก็สามารถเรียนรู้ในแง่มุมของการเจริญเติบโตของต้นข้าวที่ใช้มุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษา ในขณะเดียวกันก็ใช้มุมมองทางด้านสังคมศาสตร์มาศึกษาในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าว รวมถึงได้ศึกษาลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวด้วย


ดังนั้น การเรียนรู้โดยใช้แผนโครงสร้างแบบบูรณาการนี้จึงช่วยให้ผู้เรียนไม่ต้องเรียนรู้เนื้อหามากมายอย่างแยกส่วน อีกทั้งการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้อย่างบูรณาการด้วย 

 

สำหรับการบ้านเชิงโครงงานที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงไปสู่การทำโครงงานชิ้นสุดท้ายนี้ มีส่วนทำให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนทักษะในการสืบค้น ค้นคว้า ทดลอง อ่านข้อมูลต่างๆ เพื่อคัดสรรข้อมูลลงในตาราง แผนผัง และแผนภาพความคิดต่างๆ  เมื่อเริ่มต้นทำในระยะแรกผู้เรียนอาจจะสรุปข้อมูลในลักษณะคัดลอกเท่านั้น แต่เมื่อฝึกฝนทักษะไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งมีคุณครูคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำ ผู้เรียนก็จะสามารถอ่าน วิเคราะห์ และสรุปข้อมูลโดยสังเคราะห์ออกมาเป็นภาษาของตนเองได้มากขึ้น ดังนั้น การที่ผู้เรียนมีโอกาสได้ทำการบ้านเชิงโครงงานถึง ๓ ชิ้นใน ๑ ภาคการศึกษา ได้ช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในการทำงานและการเรียนรู้ด้วยตนเองขึ้นมาได้ในที่สุด


สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ การนำเสนองานสำหรับโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ ก็มีการพัฒนาความสามารถในการนำเสนอในเชิงวิชาการได้มากขึ้นตามลำดับพัฒนาการของผู้เรียน ซึ่งผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะในการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการนำเสนออย่างสร้างสรรค์  


·  ระดับชั้น ๔ จะมีรูปแบบในการนำเสนอแบบสาระบันเทิง กล่าวคือ มีทั้งความบันเทิงและสาระอยู่ร่วมกัน

·  ระดับชั้น ๕ จะมีรูปแบบในการนำเสนอแบบกึ่งวิชาการ

·  ระดับชั้น ๖ จะมีรูปแบบในการนำเสนอแบบเสวนาทางวิชาการ


การใช้กระบวนการวิธีการที่เข้มข้นขึ้น มีการบูรณาการ เชื่อมโยงกันผ่านการเรียนรู้เชิงชั้นเรียน การบ้านเชิงโครงงาน การเรียนรู้ภาคสนามเข้ากับโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ในลักษณะดังกล่าว ได้ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่สำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้และการทำงาน  รวมถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา และการอยู่ร่วมกันไปบนความแตกต่างหลากหลายได้อย่างสร้างสรรค์


เรียบเรียงโดย

คุณครูเล็ก ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์

๕๐๒๓๗

หัวหน้าช่วงชั้นที่ ๒ 




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท