5 เทคนิคการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


จากการเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานบริษัทมาหลายปี ยังไม่เคยมีคลาสไหนที่ผู้ฟังไม่พูดเลยค่ะ

แล้วก็พูดๆๆ แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วม ตอบคำถามกันไม่หยุด มีแซวอาจารย์ด้วย บรรยากาศรื่นรมย์สุดๆ

หลายๆท่านก็ถามมาว่า อ.แอมมี่ ทำยังไงหนอ ให้คลาสสนุกสนานมีส่วนร่วมกันขนาดนี้

วันนี้ ไหนๆ Gotoknow เค้าก็เปิดประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ว่าจะมาแชร์เคล็ดลับ 5 เทคนิค/เคล็ดลับให้ฟังกัน ... เอาหละค่ะ เริ่มเลยนะ

  1. ให้ผู้ฟังได้เริ่มพูดตั้งแต่แรก  คือ พอเริ่มต้น ก็อาจจะถามความคาดหวัง วันนี้อยากไ้ด้รับประโยชน์อะไรจากหลักสูตรนี้ ให้พูดใส่ไมค์ทุกคน ส่งไมค์ไปเรื่อยๆ อ.แอมมี่ก็จดคำตอบลงบนกระดาน 555 หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ฟังก็ต้องคิดคำตอบ ฟังคนอื่น เหมือนเปิดใจ แล้วได้ใช้ชั่วขณะนั้นสำรวจดูเพื่อนๆในคลาสไปด้วย บางวัน บางหลักสูตร เช่นพวกหลักสูตรหัวหน้างาน-ผู้บริหาร บางทีแอมมี่ก็อยากรู้จักคนในคลาสเพิ่มเติม ก็ให้แนะนำตัวเอง ประมาณ 5 เรื่อง เขียนไว้บน powerpoint แต่แอมมี่ก็แนะนำตัวเองให้ฟังคร่าวๆก่อน ผู้ฟังจะได้มีตัวอย่าง แล้วก็เชิญให้ยืนแนะนำตัว ส่งไมค์ให้ แนะนำตัวเดี่ยวมั่ง เป็นทีมมั่ง สลับกันไปแล้วแต่คลาส... คนไทยอะชอบไมโครโฟนกันทุกคน อาจจะตื่นเต้นตอนแรกๆ แต่ที่จริงอะชอบมาก อยากแสดงออกกันอยู่แล้วจริงๆนะคะ พอมีไมค์อยู่ในมือ ได้พูดได้ระบายตั้งแต่ต้นคลาส ตอนนี้หละค่ะ การจะหยุดนั้นเริ่มยากแล้ว อิ อิ
  2. รับฟังความคิดเห็นอย่างตั้งใจ (จริงๆ) เวลาถามความคิดเห็นแล้วมีผู้ตอบ ก็รับฟังอย่างตั้งใจ สบตา พูดทวนด้วย  แล้วก็ชมด้วยค่ะ ... ดีมาก ...เป็นคำตอบที่สุดยอดจริงๆ ...คิดได้ยังไงเนี่ย ...โอ้โห ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ... ใครๆก็ชอบให้ชมต่อหน้าเพื่อนๆ ทั้งนั้นแหละค่ะ ... การชมก็คือการสร้างบรรยากาศดีดี สร้างบรรยากาศแห่งความสบายใจ พอสบายใจ (ว่าไม่โดนว่าโดนด่าโดนเหน็บแนม) ก็จะแสดงออกในสิ่งที่คิด กระตุ้นให้เค้าอยากแชร์ประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ  ... บางกิจกรรม ก็จะถามความเห็นส่วนตัว เช่นในบางคลาสที่เปิดคลิปเด็ดๆให้ดู อยากกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีแง่คิด ก็จะเดินรอบคลาสแล้วถามเลยค่ะ คุณได้อะไรจากคลิปนี้ เทคนิคนี้ ผู้เรียนเค้าจะสนุกที่จะชิงกันพูด คำตอบอะไรก็จะออกมาเรื่อยๆ มีแซวกันบ้างก็ปล่อยไปค่ะ สนุกดีออก คลาสจะสนุกเวลาที่พวกเค้าสนุกค่ะ  ...และเวลาใครต้องการแสดงความเห็นอะไร ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับหัวข้อ ก็รับฟังทั้งนั้นค่ะ อจ.มีหน้าที่เป็นกลาง ไม่ตัดสินใจความคิดเห็น (ยกเว้นที่รุนแรงไป เกี่ยวข้องกับสถาบัน การเมือง ศาสนา อะไรประมาณนี้ ก็ต้องรู้จักเบรค หรือเปลี่ยนเรื่อง)
  3. ทำงานเป็นทีม แสดงออกทั้งทีม - ทุกกิจกรรมที่แอมมี่ออกแบบให้ทำ ก็เน้นการทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วม มากกว่าการคิดคนเดียวค่ะ  เป็นเทคนิคให้ทุกคนกล้าคิด กล้าแสดงออก ประมาณว่า ทำคนเดียวมันจะเขินๆ แต่ถ้าได้คิดร่วมกันก็จะกล้ามากขึ้น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันก็จะสูงขึ้นด้วยค่ะ
  4. อจ.พูดให้น้อยลง ให้ผู้เรียนพูดมากขึ้น - เท่าที่สังเกต อจ.ที่ชอบพูดมากๆ ถ้าอาจารย์พูดเก่ง เป็นนักพูดมืออาชีพ แบบนี้ ผู้เรียนก็จะอยากฟังมากค่ะ ฟังเพลินดี มีมุขให้หัวเราะ ได้แง่คิดนิดนึง แล้วก็กลับบ้านไป ซักพักก็จะลืม จำได้แต่มุขตลกเท่านั้นเอง...  แต่การเรียนรู้แบบใหม่ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเรียนแบบผู้ใหญ่ (Adult Learning) นั้น ผู้เรียนจะจำบทเรียนได้จากการใช้ทักษะมากกว่า 3 อย่าง เช่น ตาดู หูฟัง ได้คิด ได้ลงมือเขียน วิธีนี้ ผู้เรียนจะมีความทรงจำอันยาวนาน (long term memory) และหลายๆคลาส  ผ่านไปปีนึงเค้ายังจำบทเรียนได้อยู่เลย (จากความสนุกของกิจกรรม) และบางคนเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด หรือวิธีมองโลกไปเลยค่ะ  ประเด็นอยู่ที่ อจ.ต้องไม่พูดเยอะ แต่ให้ผู้เรียนได้แสดงออก ได้พูด ได้ถาม ได้ลงมือทำ ... อจ. มีหน้าที่แค่คอยไกด์ความคิดให้อยู่ในประเด็นในหัวข้อ ตอบคำถาม ยกตัวอย่าง ให้แง่คิดไปในขณะเดียวกันกับที่ผู้เรียนทำกิจกรรม  ... หากวันไหน อจ.รู้สึกว่าคลาสเริ่มเซ็งๆ เบื่อๆ หลับๆ ก็หากิจกรรมให้เค้าได้ยืน ได้เดิน ได้พูดเลยค่ะ ... รับรอง ไม่มีหลับ ไม่มีเบื่อซักราย ... ที่ผ่านมา 5-6 ปี ยังไม่มีใครเคยหลับช่วงบ่ายในคลาส อ.แอมมี่เลยนะคะ แม้จะมีคนชอบพูดว่า เป็นช่วงบ่ายประหารก็ตาม
  5. ให้เกียรติกับผู้เรียน/ผู้ฟังทุกท่านเสมอกัน  ซึ่งการรับฟังอย่างตั้งใจ จะต่างกันมากกับการให้เกียรตินะคะ แอมมี่สอนมาแล้วตั้งแต่พนักงานขับรถ (ที่มี HR มากระซิบว่า อจ.ท่านก่อนโดนโห่ไล่มาแล้ว) สอนระดับแม่บ้าน ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ไม่ใช่สอนไม่เลือกนะคะ  แต่ให้เกียรติว่า ทุกคนทุกระดับก็มีประสบการณ์ดีดีทั้งนั้นมาแลกเปลี่ยนกันได้ ใครจะเชื่อว่าพนักงานขับรถมีแนวคิดธุรกิจบางทีดีกว่าพนักงานระดับบริหารอีก บางคนมาขอปรึกษาธุรกิจส่วนตัวต่อ (เช่น ธุรกิจฟาร์มนกกระจอกเทศ โฮมสตย์ หรือรถตู้ให้เช่า แม่บ้านบางคน มีธุรกิจร้านโชว์ห่วยแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง บางคนทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีรายได้พิเศษเดือนละหลายแสน) การให้เกียรรติก็คือ ปฏิบัติต่อผู้เรียนทุกระดับเท่าๆกัน ไม่พูดหยาบ ไม่ด่า ไม่ว่าใคร เป็นกลาง ไม่ตำหนิ ไม่ตัดบท มีมารยาทที่ดีกับทุกคน จำไว้ค่ะว่า การพูดคำหยาบ - การเล่ามุกลามก - ไม่ได้ทำให้คลาสสนุกและแสดงออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมอไป


หวังว่าเทคนิคทั้ง 5 เพื่อนๆ จะได้ลองเอาไปใช้ "กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ทั้งในงานและชีวิตประวันได้ดีขึ้นค่ะ

แอมมี่ ชำนาญกิจ
ณ บ้านปทุมธานี
27 April 2013


หมายเลขบันทึก: 534042เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2013 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2013 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเรียนรู้กับวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขอนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ  คงจะชื่นชอบในตัวเองมากขึ้นค่ะ  แต่ว่าจะได้เหมือนอาจารย์แอมมี่ป่าวนะ  ขอชื่นชอบในความเป็นนักพัฒนาองค์กรที่มีความสามารถค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท