เนื้อหานิทรรศการ "ก้าวพอดีที่เพลินพัฒนา" : ๑๐ปี กับการพัฒนากลุ่มวิชาประยุกต์ของช่วงชั้นที่ ๒ (๑)



กลุ่มวิชาประยุกต์ในช่วงชั้นที่ ๒ ประกอบไปด้วยหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษา กับหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา ซึ่งในสองหน่วยวิชานี้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และมีทั้งส่วนของเนื้อหาที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ในขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างกันในลักษณะเฉพาะของธรรมชาติของตัววิชา


กระบวนการและเป้าหมายที่ทั้ง ๒ หน่วยวิชามีร่วมกันคือ  การมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้วิจารณญาณผ่านการประจักษ์ การสังเกต การสืบค้น ทดลอง บันทึก สร้างเหตุผล คาดคะเน ย้ายมุมมอง วิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์และสังเคราะห์


ส่วนข้อแตกต่าง คือ หน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยา (หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อวิชาวิทยาศาสตร์) เน้นไปที่การศึกษาธรรมชาติของสิ่งต่างๆ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่นอกความหมายทางสังคมของมนุษย์ ในขณะที่หน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษาเน้นไปที่การศึกษาธรรมชาติของสิ่งต่างๆ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความหมายทางสังคมของมนุษย์


ยุคก่อกำเนิด (พ.ศ.๒๕๔๗ - พ.ศ. ๒๕๕๒)


การเรียนการสอนในหน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยากับหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษานั้น จะเน้นการ บูรณาการภายในหน่วยวิชาเป็นหลัก ผู้เรียนจะได้เรียนรู้โดยใช้สมรรถนะเฉพาะด้านทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ อีกทั้งในช่วงวัยของเด็กประถมปลายนั้น ถือเป็นวัยที่เริ่มมีความสามารถในการเรียนรู้ที่เป็นนามธรรมมากขึ้น รวมทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ก็มีมากขึ้นด้วย จึงเป็นวัยที่เหมาะแก่การพัฒนาสมรรถนะเฉพาะด้านให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากผู้เรียนได้ผ่านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และการทำโครงงานแบบบูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันมาแล้วในขณะที่เรียนหน่วยวิชามานุษกับโลกของช่วงชั้นที่ ๑  


วัยประถมปลายเป็นวัยที่ชอบการผจญภัย ความท้าทาย อยากออกไปเห็นโลกกว้าง การเรียนรู้ภาคสนามทุกๆ ภาคการศึกษา ที่มีลักษณะเป็นการค้นคว้า ทดลอง ลงมือปฏิบัติกิจกรรม สัมภาษณ์ และสร้างสรรค์ชิ้นงานในแหล่งเรียนรู้หรือชุมชนต่างๆ อาทิเช่น ชุมชนบ้านหนองขาว ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ไร่ทักสม ลำน้ำเพชรบุรี เขื่อนแก่งกระจาน เป็นต้น รวมทั้งสิ้นปีละ  ๔ ครั้ง จึงเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับวัย และช่วยสร้างทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการทำงาน ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในหลายด้านด้วยกัน


คุณครูในกลุ่มวิชาประยุกต์จะมีการเตรียมการในหลายๆ เรื่องก่อนนำผู้เรียนออกไปศึกษาภาคสนาม เช่น ต้องสืบค้นและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าแหล่งเรียนรู้หรือชุมชนแห่งใด ให้ประสบการณ์ที่สอดคล้องกับมโนทัศน์ และเนื้อหาที่เรียนในชั้นปีนั้นๆ  ต้องออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ภาคสนามให้เหมาะสม เพื่อผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องนั้นๆ ได้ครบถ้วน เป็นต้น


ในการสำรวจภาคสนามคุณครูจะต้องดูแล

๑.  ด้านความปลอดภัย

๒.  ด้านการใช้ชีวิต (ที่พักอาศัยและอาหารการกินต่างๆ)

๓.  ด้านการเรียนรู้ (เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นักเรียนจะได้ลงมือสังเกต สืบค้น สัมภาษณ์ และลงมือปฏิบัติกิจกรรมเพื่อนำมาใช้ในการทำโครงงานชื่นใจได้เรียนรู้)

๔.  สมุดภาคสนาม ที่จะต้องประกอบไปด้วยแผนที่ ข้อมูลเบื้องต้นหรือประวัติของสถานที่ที่จะทำการศึกษา กิจกรรมหรือประเด็นคำถามที่จะให้นักเรียนลงมือทำและหาคำตอบด้วยตนเอง พื้นที่สำหรับจดบันทึกความรู้และความเข้าใจ


ยุคสร้างสรรค์ (พ.ศ. ๒๕๕๓ - ปัจจุบัน)


ในเวลา ๓ ปีที่ผ่านมานี้ เป็นยุคที่ทั้ง ๒ หน่วยวิชามีโครงสร้างแผนบูรณาการที่ชัดเจนขึ้น มีการจัดคาบเรียนรวมกันสัปดาห์ละ ๗ คาบ  โดยได้แบ่งเวลาให้หน่วยวิชาธรรมชาติศึกษาและประยุกต์วิทยาเป็นหน่วยวิชาแกนนำในครึ่งปีแรก ซึ่งจะได้เวลา ๔ คาบต่อสัปดาห์  และหน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษาเป็นหน่วยวิชาสนับสนุนได้ ๓ คาบต่อสัปดาห์  เมื่อถึงครึ่งปีหลังจึงสลับให้หน่วยวิชามานุษและสังคมศึกษา ขึ้นมาเป็นหน่วยวิชาแกนนำ


กระบวนการเรียนรู้ในแต่ละช่วงเวลา ประกอบไปด้วย

๑.  การเรียนรู้เชิงชั้นเรียน (เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ ๑ – ๕) เป็นการเรียนรู้แบบ Open Approach เพื่อให้ผู้เรียนได้เผชิญกับสถานการณ์ปัญหา หาแนวทางในการแก้ปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างสรรค์ผลงาน


๒.  การบ้านเชิงโครงงาน เป็นการบ้านที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ ๑ – ๕ ขนานไปกับการเรียนรู้เชิงชั้นเรียน ซึ่งคุณครูจะให้การบ้านที่ผู้เรียนจะได้ค้นคว้า หาข้อมูล ทดลอง สรุป เขียนบันทึกอย่างเป็นระเบียบผ่านตาราง แผนผังความคิด ความเรียง เป็นต้น เพื่อพัฒนาสมรรถนะในการค้นคว้า การอ่าน การเขียน การสรุป วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ด้วยตนเองนอกเวลาเรียน


๓.  การเรียนรู้ภาคสนาม (เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ ๖ หรือ ๗) เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องจากในชั้นเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ไปพบกับสถานที่ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของจริงๆ ที่ได้ทำการศึกษามาก่อนหน้านี้ในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตและการทำงาน ทั้งนี้จุดเด่นของการเรียนรู้ภาคสนามในยุคปัจจุบันนี้จะมีความเชื่อมโยงกันโดยมีกระบวนการและช่วงเวลาที่ชัดเจนดังนี้


·  Pre-Field  คือ ก่อนไปภาคสนามจะต้องทำการสำรวจข้อมูลความรู้เบื้องต้นพร้อมตั้งประเด็น ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน วางแผนการทำงานภาคสนาม และกำหนดกฎ กติกาในการทำงานและการใช้ชีวิตในภาคสนาม

·  Post-Field   คือ เมื่อกลับจากภาคสนามแล้วผู้เรียนจะต้องประมวลสรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลและความรู้ทั้งหมดที่ได้จากภาคสนาม เพื่อที่จะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ก่อนไป จากนั้นทำการประเมินผลว่า ได้อะไร ไม่ได้อะไร เพราะอะไร พร้อมการตั้งประเด็นในการศึกษาต่อยอดต่อไป เพื่อเชื่อมโยงไปสู่โครงงานชื่นใจได้เรียนรู้


๔.  โครงงานชื่นใจได้เรียนรู้ (เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ ๙ – ๑๐) เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนได้นำข้อมูล ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้มารวบรวม และสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำเสนอต่อคุณครู ผู้ปกครอง และบุคคลอื่นๆ ที่สนใจหรือเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ผู้เรียนได้เข้าไปศึกษาชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนที่มีปัญหาเรื่องการทรุดตัวของแผ่นดิน เมื่อกลับมาผู้เรียนได้มานำเสนอโครงงานสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นและแนวทางในการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมีผู้นำในชุมชนมาร่วมฟังการนำเสนอและให้คำแนะนำติชมเพื่อผู้เรียนจะนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไปได้อีก





ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท