ชีวิตที่พอเพียง : ๑๘๙๔. ธัมมิกเศรษฐศาสตร์



          ธัมมิกเศรษฐศาสตร์  เขียนโดย ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์  ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ คือ ๒๕ ปี มาแล้ว     จัดพิมพ์เนื่องในวาระ   “ ๗๒ ปี อาจารย์ป๋วย ”   อ่านแล้วเห็นได้ชัดเจนว่า แรงบันดาลใจมาจาก ปราชญ์ ๒ท่าน ให้เกิดหนังสือเล่มนี้  คือ ดร. ป๋วย  อึ๊งภากรณ์ (“ระบบเศรษฐกิจต้องมีธรรมะเป็นหลักนำ”)   และท่านพุทธทาสภิกขุ  (“ระบบเศรษฐกิจแบบธัมมิก”)

          ในบทนำผู้เขียนบอกว่าต้องการเสนอเศรษฐศาสตร์แนวใหม่ซึ่งอาจเรียกว่า“เศรษฐศาสตร์สังคม”  อ่านแล้วผมสรุปปะติดปะต่อว่า “เศรษฐศาสตร์3L” คือLife – Love – Light   ที่ประกอบเอา “เศรษฐศาสตร์แห่งสุญญตา” และ “เศรษฐกิจแบบธัมมิกสังคมนิยม” เข้าด้วยกัน

          ผมตีความ (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่า  พุทธธรรมที่นำมาใช้ในหนังสือเล่มนี้เป็นเถรวาท  เน้นที่บุคคลเป็นรายคน  ผมตีความว่าในประเทศสแกนดิเนเวีย และอีกหลายประเทศในยุโรป (เช่นสวิส) เขาถือหลักนี้ในระดับทั้งสังคม หรือในระดับการจัดระบบสังคม   จึงคล้ายกับยึดเศรษฐกิจธัมมิกสังคมนิยมแบบมหายาน โดยที่เขาไม่รู้จักคำนี้   ในประเทศเหล่านี้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีน้อย  ไม่มีชนชั้นคือเป็นชนชั้นกลางเหมือนกันหมด 

          ผมเคยได้ยินว่า ในเดนมาร์คคนขับรถเมล์เงินเดือนเท่าๆกันกับหมอ  ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ 

          ผมชอบข้อความในหน้า ๒๐๗ ที่กล่าวว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะบรรลุได้ มีอยู่ ๔ ประการ

-  ความสุข

-  ความเต็มเปี่ยมของความเป็นมนุษย์

-  หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่หน้าที่

-  ความรักอันกว้างใหญ่ไพศาล” 


          และในหน้า ๒๑๙ “…สุญญตาซึ่งเป็นโลกุตรธรรม  ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระหรือนักบวชชั้นสูงเท่านั้น   หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสโดยตรงด้วย” 

          ผมสังเกตจากการไปสวิสครั้งแรกและไปญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อกว่า๓๐ปีมาแล้ว  ว่าคนของสองประเทศนี้ไม่มีท่าทางที่แสดงความโลภหรือกิเลสตัณหาออกมานอกหน้า  แตกต่างจากในหลายประเทศที่ผมเคยเดินทางไปรวมทั้งในประเทศไทย 

          ผมจึงคิดว่าการจัดระบบสังคมน่าจะมีส่วนให้ผมสัมผัสความรู้สึกเช่นนั้น  ธัมมิกเศรษฐศาสตร์จึงน่าจะนำมาใช้ในระดับภาพใหญ่ของสังคม  ไม่ใช่เพียงระดับภาพย่อยหรือส่วนบุคคล 

          ตอนสองของหนังสือเป็นเรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม- ระบบเศรษฐกิจแบบพุทธ”  ผมชอบหัวข้อนี้มาก  แต่อ่านสาระแล้วพบว่ามีแต่สาระเชิงทฤษฎี  ผมจึงเกิดแนวคิดเชิงปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในสังคมไทยอย่างแท้จริง  โดยไปศึกษาของจริงจากประเทศที่เขาเข้าสู่สภาพที่เราอยากเห็นอยากเป็น  ผมได้ยกตัวอย่างไว้แล้ว๒ประเทศคือสวิตเซอร์แลนด์กับญี่ปุ่น  เราน่าจะขอความร่วมมือขอศึกษาเชิงระบบ (ที่เป็นจริง) จากแนวคิดธัมมิกสังคมนิยมของเรา  ว่าในทางปฏิบัติเขาทำอย่างไร  สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับหลักธัมมิกสังคมนิยมอย่างไรบ้าง  ผมเชื่อว่าเขาน่าจะยินดีให้ความร่วมมือ 

          มองเช่นนี้ประเทศที่เราไม่ควรเอาอย่างอย่างยิ่งคือสหรัฐอเมริกา  แต่จะเห็นว่าในความเป็นจริงเราถูกดึงดูด (และดูจะยินยอมพร้อมใจเองด้วย) เข้าไปดำเนินรอยระบบเศรษฐกิจตามอย่างสหรัฐอเมริกาจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นลูกสมุน   

          แม้ว่าในหน้า ๒๘๘ - ๒๙๑จะได้เสนอ “หลักปฏิบัติสำหรับการจัดองค์กร”  แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม  ยังไม่เสนอจากผลมาหาเหตุ  ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้  ผมเชื่อว่าต้องมีการดำเนินการจากผลมาหาเหตุ หรือ Backward Design จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง  ข้อเสนอให้ศึกษาจากสวิส และญี่ปุ่น คือยุทธศาสตร์ดำเนินการจากผลมาหาเหตุ 

          ผมชอบชื่อภาคห้า “หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์แห่งการพัฒนา”  ซึ่งข้อความในหนังสือที่เขียนเมื่อ ๒๕ ปีมาแล้ว  กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมันสวนทางกัน  คือสังคมของเรายิ่งเป็นวัตถุนิยมยิ่งขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น  แสดงว่าวิธีการทางวิชาการที่ผ่านมาไม่ได้ผล  

          ผมมองว่าต้องใช้หลายวิธี  ที่เป็นการวางรากฐาน  คือต้องวางจากระบบ  โดยเฉพาะระบบสำคัญๆของประเทศ  ต้องถามหาโอกาสเท่าเทียมกันของคนในสังคมแบบที่คนฟินแลนด์เขาทำ 

          ระบบหนึ่งที่เป็นรากฐานของรากฐานคือคน  หรือระบบการศึกษา  ผมเชื่อว่าระบบการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑  คือระบบสร้างคนสู่ธัมมิกสังคมนิยม


วิจารณ์  พานิช

๒๔ ก.พ. ๕๖


   


หมายเลขบันทึก: 533567เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2013 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2013 08:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท