กรณีศึกษา : ครอบครัวนางลดา อาบู่ คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีครอบครัวนางลดา อาบู่ คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขาอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

ข้อเท็จจริง

---------------------------------

ในระหว่างการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแก้วจำปา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ นางลดา อาบู่ เข้าหารือปัญหากฎหมายต่อศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขอให้ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ตน และบุตร รวม ๘ คน

นางลดาได้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวของตนต่อนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเป็นทนายความอาสาของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

นางลดา มีบิดาชื่อ นายอุทัย อาหมื่น มารดาชื่อ นางลีลา อาหมื่น ทั้งบิดาและมารดาเป็นคนชาวเขาเชื้อสายอาข่า หรืออีก้อ ทั้งสองคนเกิดและอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวน บิดาและมารดาอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย และมีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๔ คน โดยมีนายอาชา อาหมื่น เป็นบุตรคนที่สอง และนางลดา อาบู่ เป็นบุตรคนที่สี่

ปัจจุบันพี่น้องของนางลดาทุกคนได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยและถือบัตรประจำตัวประชาชนในสถานะคนสัญชาติไทย เว้นแต่ นางลดา อาบู่ ซึ่งได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาด เพราะปรากฏว่าได้รับการบันทึกในทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๑๙-xx-x

นายอาชา พี่ชายของนางลดา ได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ใหญ่บ้านกรอกคำร้องให้นายอาชาและภรรยา แล้วยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร(สัญชาติไทย) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓

คำร้องของนายอาชา พี่ชายของนางลดา อ้างพยานเอกสาร ๓ ฉบับ คือ ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน และบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงอ้างพยานบุคคล ๔ ปาก ซึ่งหลังจากพิจารณาพยานเอกสารและสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายอำเภอแม่ลาน้อย มีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ แต่นางลดาไม่ได้ไปดำเนินการทางทะเบียนใด ๆ จึงไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลทางทะเบียนราษฎรไทยเช่นเดียวกับพี่ชาย

จนกระทั่งสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) ในพื้นที่ นางลดาจึงได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนดังกล่าว และได้รับบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งระบุรายละเอียดดังนี้

- นางลดา อาบู่ เกิดวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ ที่อยู่ ๘๐ หมู่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย ประเทศไทย บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๑๙-xx-x

นางลดาเล่าว่า ตามความจริงแล้วนั้น ตนชื่อ นางลดา อาหมื่น แต่ตอนที่ตนได้รับการสำรวจนั้น ตนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เจ้าหน้าที่จึงเข้าใจผิดและบันทึกนามสกุลเป็นอาบู่ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นชื่อที่พ้องกับชื่อของสามี (นายอุทิศ อาเชอ) ไม่ใช่นามสกุลของตน ทั้งนี้ ภายหลังชาวบ้านที่อ่านภาษาไทยได้บอกว่าชื่อสกุลของตนไม่ถูกต้อง ตนจึงมาทราบภายหลังว่ามีการบันทึกผิดพลาด

ต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งว่านางนางลดาสามารถตรวจ DNA เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นพี่น้องกับนายอาชา และสามารถนำหลักฐานนี้ไปยื่นต่ออำเภอเพื่อแสดงตนว่านางลดาเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยเช่นเดียวกับนายอาชาได้ นางลดาจึงตัดสินใจตรวจ DNA ของตนกับนายอาชา พี่ชายร่วมบิดามารดา ทั้งนี้ การดำเนินการตรวจ DNA เป็นไปโดยผ่านผู้ใหญ่บ้านโดยตลอด

ในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งว่าผล DNA ระบุว่านางบุษบาเป็นบุตรของนายอาชา จริง (ปัจจุบันนี้นางลดามีเพียงเอกสารแสดงใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ ระบุรายการค่าตรวจห้องปฏิบัติการและพยาธิ (L๑) จำนวน ๗,๐๐๐ บาท และค่าบริการผู้ป่วยนอก (๕๕๐๒๐) จำนวน ๕๐ บาท โดยมีเอกสาร ๒ ฉบับ ซึ่งฉบับแรกระบุว่านางลดา อาบู่ เป็นผู้ชำระเงิน และฉบับที่สองระบุว่านายอาชา อาหมื่น เป็นผู้ชำระเงิน ทั้งนี้ เอกสารอื่น ๆ นางลดามอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้านไปทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านไปยื่นต่ออำเภอแม่ลาน้อย และไม่ได้ทำสำเนาเอกสารเก็บไว้กับตน)

ต่อมาผู้ใหญ่บ้านพานางลดาไปยื่นคำร้องทำหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. ๒๐/๑) ที่สำนักทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย โดยได้ยื่นพยานเอกสาร ๒ ฉบับ คือ รายงานผลการตรวจพิสูจน์หมู่เลือดและดีเอ็นเอ และแบบสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) รวมถึงยื่นพยานบุคคล ๓ ปาก ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งนายทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อยได้ออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่นางลดา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

- นางลดา อาบู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๐๙ ที่บ้านแสนสวย หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- นางลดา เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำนวน ๔ คน

- นางลดา ปัจจุบันอยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๐ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

- นางลดา มีบิดาชื่อ นายอุทัย อาหมื่น (เสียชีวิต)

- นางลดา มีมารดาชื่อ นางลีลา อาหมื่น (เสียชีวิต)

หนังสือรับรองการเกิดฉบับนี้จึงเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่านางลดาเกิดในประเทศไทย รวมถึงเป็นบุตรของนายอุทัยและนางลีลา ชาวเขาดั้งเดิมเผ่าอาข่า หรืออีก้อ ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวอันนำมาซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยของนางลดา

นางลดา อยู่กินกันฉันสามีภรรยากับ นายอุทิศ อาเชอ ชายชาวเขาเชื้อสายอาข่า หรืออีก้อ ซึ่งเกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๒๗-xx-x นางลดา และนายอุทิศ มีบุตรด้วยกัน ๗ คน ซึ่งบุตรทุกคนเกิดที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวคือ

บุตรจำนวน ๔ คน ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน คือ นายสมุทร อาเชอ นายสมัคร อาเชอ เด็กหญิงสายธาร อาเชอ และเด็กชายสง่า อาเชอ ซึ่งบุตรทั้ง ๔ คน ประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้สัญชาติ

บุตรจำนวน ๓ คน ยังไม่มีเอกสารระบุตัวบุคคลใด ๆ คือ เด็กชายสงบ อาเชอ เด็กหญิงสมัย อาเชอ และเด็กหญิงสไบ อาเชอ ทั้งสามเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ปีที่ ๔ และปีที่ ๑ ตามลำดับ ที่โรงเรียนแม่น้ำฟ้า นางลดาเล่าว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนแม่น้ำฟ้าได้ทำการสำรวจบุตรทั้งสามคนเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเอกสารใด ๆ กลับมา จึงกล่าวได้ว่าบุตรทั้งสามคนประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

ในการสัมภาษณ์นั้น นางลดาได้แสดงเอกสารประจำตัวของบุตร ๒ คน ดังนี้

 นายสมุทร อาเชอ เกิดเมื่อปี ๒๕๓๑ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๒๗-xx-x

เด็กหญิงสายธาร อาเชอ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๙ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๐๔-xx-x ซึ่งประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้สัญชาติ

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

จากข้อเท็จจริงของครอบครัวนางลดา การดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานะบุคคลของนางลดา และบุตรทั้งเจ็ดคน มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประเด็นที่ ๑ นางลดา และบุตรทั้งเจ็ดคน เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๒ นางลดา และบุตรทั้งเจ็ดคน ตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๓ นางลดา และบุตรทั้งเจ็ดคน เป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๔ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่าบุตรทั้งเจ็ดคน เป็นบุตรของนางบุษบา จริง

ประเด็นที่ ๕ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่าบุตรทั้งเจ็ดคนของนางลดา เกิดในประเทศไทย และต้องดำเนินการอย่างไร


หมายเลขบันทึก: 533507เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สรุป 22 apr 2013.

นางลดา เกิด พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับผลกระทบจาก ปว.๓๓๗

(นางลดา เกิดปี ๒๕๐๙ เกิดในประเทศไทย และเกิดก่อนการบังคับใช้ ปว.๓๓๗ นางลดาจึงได้สัญชาติไทย โดยการเกิดตามมาตรา ๗(๓) แห่งพรบ.สัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ ต่อมาเมื่อมี ปว.๓๓๗ นางลดาจะถูกถอนสัญชาติไทยตั้งแต่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๕ เนื่องจากมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย นางลดาจึงเป็นบุคคลที่จะได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓)

เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑

บุตรคนที่ ๑ (นายสมุทร อาเซอ เกิด พ.ศ. ๒๕๓๑) และบุตรคนที่ ๒ (นายสมัคร อาเชอ ไม่ทราบปีเกิด แต่เดาว่า น่าจะเกิดก่อนปี พ.ศ.๒๕๓๕) ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗(๒) (เกิดในราชอาณาจักร) ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑

บุตรคนที่ ๓ - ๗ (เกิดตั้งแต่ ๒๖ กพ.๓๕ และก่อน ๒๘ กพ.๕๑) เข้าเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติไทยตาม มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท