กรณีศึกษา : ครอบครัวอาโบ คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีครอบครัวอาโบ คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขาอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

ข้อเท็จจริง

---------------------------------

ในระหว่างการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแม่น้ำโขง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ นายบัญชา อาโบเข้าหารือปัญหากฎหมายต่อศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขอให้ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เขา พี่ชายและน้องชาย รวม ๓ คน

นายบัญชาได้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวของเขาต่อนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเป็นทนายความอาสาของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

นายบัญชา มีบิดาชื่อ นายอรรถชา อาโบ มารดาชื่อ นางเบญจวรรณ อาโบ ทั้งบิดาและมารดาเป็นคนชาวเขาเชื้อสายอาข่า หรืออีก้อ ทั้งสองคนเกิดในประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่บ้านแสนสนุก หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย บิดาและมารดาอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย และมีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๔ คน คือ นายสมพงษ์ โปเก นายบัญชา อาโบ นายขวัญฟ้า อาโบ และนายเอกลักษณ์ อาโบ ตามลำดับ

ครอบครัวในรุ่นตายายของนายบัญชา อาศัยและเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวนอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาและยายของนายบัญชา มีบุตรด้วยกัน ๗ คน แต่เสียชีวิตเมื่อยังเล็ก ๒ คน จึงเหลือบุตรเพียง ๕ คน ทุกคนเกิดที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนางเบญจพร อากอง เป็นบุตรคนโต และมารดาของนายบัญชาเป็นบุตรคนที่สี่ของครอบครัว

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๘ มารดาของนายบัญชาและพี่น้องได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย เนื่องจากญาติ ๆ ที่เดินทางมาก่อนแนะนำว่าหากย้ายมาอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อยจะมีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า และมีที่ดินทำกินเพียงพอสำหรับทุกคน มารดาของนายบัญชาพร้อมพี่น้องจึงได้ตัดสินใจเดินทางมาอาศัยและเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกข่า ทำการเกษตรเพื่อยังชีพเช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่

บิดาและมารดาของนายบัญชาแม้ว่าเกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองทางทะเบียนราษฎรไทย จนกระทั่งสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ทำการสำรวจและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๓๔ บิดาและมารดาจึงได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ตามเอกสารระบุว่าทั้งสองเกิดและเคยอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง เป็นเวลา ๑๙ ปี จากนั้นจึงมาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย ขณะนั้นนับเป็นเวลาได้ ๖ ปี โดยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๙/พ หมู่ที่ ๖ หมู่บ้านแสนสบาย ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านห้วยแก้ว การบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติดังกล่าวจึงเป็นการรับรองตัวบุคคลของบิดาและมารดาของนายบัญชาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ นางเบญจพร อากอง พี่สาวของมารดานายบัญชา เล่าให้ครอบครัวของนายบัญชาฟังว่า ตนและสามีซึ่งเป็นอดีตพ่อหลวงของหมู่บ้าน ได้พาครอบครัวได้ไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอ เพื่อขอลงรายการในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งหากปรากฏหลักฐานว่าเป็นบุคคลผู้เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ และได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง จะได้รับการบันทึกทางทะเบียนในสถานะคนสัญชาติไทย และได้บัตรประจำตัวประชาชน บิดาและมารดาของนายบัญชาจึงตัดสินใจไปดำเนินการขอหนังสือรับรองการเกิดเพื่อเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้ทรงสิทธิตามระเบียบข้างต้น

ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ บิดาและมารดาของนายบัญชา จึงเดินทางไปยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิดต่อที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าตนเกิดในประเทศไทย ในการร้องขอหนังสือรับรองการเกิด บิดาและมารดาของนายบัญชายื่นพยานเอกสารคนละ ๔ ฉบับ คือ สำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ท.ร. ๑๔/๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๔) ของพยานบุคคล รวมถึงยื่นพยานบุคคลคนละ ๓ ปาก ซึ่งหลังจากพิจารณาพยานเอกสารและสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ในวันเดียวกันนั้น ปลัดอำเภอ ผู้รักษาการแทนนายอำเภอแม่สะเรียง เชื่อว่าบิดาและมารดาของนายบัญชา เกิดที่บ้านแสนสนุก หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย จริง สำนักทะเบียนอำเภอแม่สะเรียงจึงพิจารณาออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่บุคคลทั้งสอง

ต่อมาวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ บิดาและมารดาของนายบัญชา จึงยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร(สัญชาติไทย) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓

คำร้องของนายอรรถชา บิดาของนายบัญชา อ้างพยานเอกสาร ๓ ฉบับ คือ สำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สำเนาทะเบียนประวัติ และสำเนาหนังสือรับรอบการเกิด รวมถึงอ้างพยานบุคคล ๔ ปาก ซึ่งหลังจากพิจารณาพยานเอกสารและสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ นายอำเภอแม่ลาน้อย มีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๕

คำร้องของนางเบญจวรรณ มารดาของนายบัญชา อ้างพยานเอกสาร ๔ ฉบับ คือ สำเนาบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สำเนาทะเบียนประวัติ สำเนาหนังสือรับรอบการเกิด และแบบรับรองการทะเบียนคนเกิดของเด็กชายขวัญชัย อาโบ ซึ่งเป็นบุตรคนที่สามไปพร้อมด้วย รวมถึงอ้างพยานบุคคล ๔ ปาก ซึ่งหลังจากพิจารณาพยานเอกสารและสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ นายอำเภอแม่ลาน้อย มีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ทั้งนี้ นายขวัญฟ้า ก็ได้รับการพิจารณาอนุมัติไปพร้อมกันกับมารดา

นายบัญชาได้เล่าถึงสาเหตุที่ตนและพี่น้องอีกสองคนตกหล่นจากการยื่นขอลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) ซึ่งควรต้องได้รับการบันทึกพร้อมกันกับมารดาและนายขวัญฟ้าว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงอีกครั้ง ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ขณะที่มารดากำลังอุ้มเลี้ยงดูนายขวัญฟ้าอยู่ ทราบว่ามีการสำรวจทำแบบพิมพ์ประวัติดังกล่าวในพื้นที่ จึงเข้าไปขอแจ้งชื่อของนายขวัญฟ้าไว้ก่อน และแม้ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าตนยังมีบุตรอีก ๓ คน แต่เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าในการบันทึกชื่อต้องนำบุตรคนที่ต้องการแจ้งชื่อมาพร้อมด้วย และหากวันนี้บุตรไม่ได้มา ก็ยังสามารถมาขอแจ้งชื่อภายหลังได้ ในวันนั้นมารดาของนายบัญชาจึงแจ้งชื่อของนายขวัญฟ้าไว้ได้เพียงคนเดียว และภายหลังก็ไม่ได้ไปดำเนินการแจ้งชื่อบุตรคนที่เหลือ เนื่องจากไม่ได้ตระหนักว่าการบันทึกชื่อดังกล่าวจะส่งผลถึงสิทธิในสัญชาติไทยของบุตรในอนาคต

ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ ซึ่งบิดาและมารดาของนายบัญชาไปยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) จึงปรากฏว่าในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงได้การบันทึกชื่อนายขวัญฟ้า เป็นบุตรเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏชื่อของบุตรอีก ๓ คน คือ นายสมพงษ์ นายบัญชา และนายเอกลักษณ์ เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องของมารดาจึงบันทึกตามเอกสารว่า นางเบญจวรรณ มีบุตรจำนวน ๑ คน คือ นายขวัญฟ้า อาโบ ประกอบกับการที่บิดาและมารดาของนายบัญชาไม่รู้กฎหมาย ไม่สามารถสื่อสาร อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ จึงไม่ได้ท้วงติงการบันทึกดังกล่าว

ปัจจุบัน นายบัญชาและพี่น้อง รวม ๓ คน จึงประสบปัญหาสถานะบุคคล เนื่องจากตกเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งบุคคลทั้งสาม มีข้อมูลส่วนตัวดังนี้

นายสมพงษ์ โปเก เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บ้านห้วยน้ำกืน ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ ๗-๕๗๑๐-๐๐๐๓๓-xx-x ปรากฏรายละเอียดตามสูติบัตร (ท.ร. ๑ ตอน ๑) แต่ตามเอกสารปรากฏว่าชื่อของบิดามารดาที่บันทึกในสูติบัตรนั้น ไม่ตรงกับชื่อบิดามารดาของตน

เนื่องจากตอนที่นายสมพงษ์เกิด บิดาและมารดาสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ กลัวการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ และไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจดทะเบียนการเกิดของบุตร เมื่อเพื่อนบ้านในหมู่บ้านแสนสบายแนะนำเรื่องการแจ้งเกิดบุตร บิดาและมารดาของนายบัญชาจึงขอให้เพื่อนบ้านช่วยดำเนินการติดต่อแจ้งเกิดของนายสมพงษ์ต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย แต่ปรากฏว่าเพื่อนบ้านนั้นได้แจ้งชื่อตนและภรรยาเป็นบิดาและมารดาของนายสมพงษ์แทน ซึ่งแม้บิดาและมารดาของนายบัญชาทราบในภายหลัง แต่ก็ไม่ได้ไปดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง เนื่องจากไม่ทราบกระบวนการ รวมถึงเกรงว่าตนกับเพื่อนบ้านจะมีความผิดที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตามข้อเท็จจริง  

นายบัญชา อาโบ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ในบ้านเลขที่ ๑๗๔ หมู่ ๑๑ ตำบลห้วยหอม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ ๗-๕๗๑๐-๐๐๐๓๗-xx-x รายละเอียดปรากฏตามบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) แต่ไม่ปรากฏเอกสารรับรองการเกิดใด ๆ จึงยังไม่มีเอกสารยืนยันว่านายบัญชาเกิดในประเทศไทย และเป็นบุตรของนายอรรถชา (บิดา) และนางเบญจวรรณ (มารดา) จริง

ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางเบญจพร อากอง ป้าของนายบัญชา เป็นผู้ทำคลอดให้กับนายบัญชา และนายขวัญฟ้า เนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นหมอตำแยในหมู่บ้านไม่อยู่ นางเบญจพร จึงทำหน้าที่เป็นหมอตำแยเฉพาะการณ์ ทำคลอดให้กับนางเบญจวรรณ ผู้เป็นน้องสาว ซึ่งในขณะทำคลอดนั้น มีชาวบ้านมาเป็นผู้ช่วยทำคลอด และการทำคลอดต้องมีการประกอบพิธีกรรมตามความชื่อ จึงมีชาวบ้านรับรู้การเกิดของนายบัญชา ดังนั้น นางเบญจพร ผู้ช่วยทำคลอด และชาวบ้านในหมู่บ้าน จึงสามารถมาเป็นพยานบุคคลรับรองการเกิดของนายบัญชาได้

นายเอกลักษณ์ อาโบ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ ในบ้านเลขที่ ๕ หมู่ ๑๑ ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ ๗-๕๐๑๐-๐๑๐๕๒-xx-x รายละเอียดตามบัตรสูติบัตร ซึ่งตามเอกสารนั้นระบุชื่อบิดาและมารดาถูกต้อง ดังนั้น นายเอกลักษณ์ จึงมีเอกสารยืนยันว่าเกิดในประเทศไทย และเป็นบุตรของนายอรรถชา (บิดา) และนางเบญจวรรณ (มารดา) จริง

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

จากข้อเท็จจริงของครอบครัวนายบัญชา การดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานะบุคคลของนายบัญชา นายสมพงษ์ และนายเอกลักษณ์ มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประเด็นที่ ๑ นายบัญชา นายสมพงษ์ และนายเอกลักษณ์ เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๒ นายบัญชา นายสมพงษ์ และนายเอกลักษณ์ เป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๓ กรณีสูติบัตร ของนายสมพงษ์ การแจ้งชื่อบิดาและมารดาซึ่งไม่ตรงกับความจริงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเกิดนั้น เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ อย่างไร และใครเป็นผู้อาจถูกดำเนินคดีทางอาญาบ้าง

ประเด็นที่ ๔ กรณีสูติบัตร ของนายสมพงษ์ การแจ้งชื่อบิดาและมารดาซึ่งไม่ตรงกับความจริงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเกิดนั้น เป็นความผิดทางปกครองหรือไม่ อย่างไร และใครเป็นผู้อาจถูกดำเนินคดีทางปกครองบ้าง

ประเด็นที่ ๕ การเพิ่มชื่อนายบัญชา นายสมพงษ์ และนายเอกลักษณ์ ในทะเบียนบ้านของบิดามารดาในสถานะคนสัญชาติไทย ทำได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร

ประเด็นที่ ๖ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านายสมพงษ์ เป็นบุตรของนายอรรถชา (บิดา) กับนางเบญจวรรณ (มารดา) และต้องดำเนินการอย่างไร

ประเด็นที่ ๗ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านายบัญชา เกิดในประเทศไทย และต้องดำเนินการอย่างไร

ประเด็นที่ ๘ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านายบัญชา เป็นบุตรของนายอรรถชา (บิดา) กับนางเบญจวรรณ (มารดา) และต้องดำเนินการอย่างไร


หมายเลขบันทึก: 533503เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท