กรณีศึกษา : ณีครอบครัวนางบุษบา อาหมื่น คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีครอบครัวนางบุษบา อาหมื่น คนชาวเขาเชื้อสายอาข่า ซึ่งบุตรเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขาอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

ข้อเท็จจริง

---------------------------------

ในระหว่างการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความด้อยโอกาสของประชาชนในพื้นที่ของหมู่บ้านแก้วจำปา อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ นางบุษบา อาหมื่น เข้าหารือปัญหากฎหมายต่อศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขอให้ศูนย์ฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ตน และบุตร รวม ๔ คน

นางบุษบาได้เล่าถึงความเป็นมาของครอบครัวของตนต่อนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท ซึ่งเป็นทนายความอาสาของศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

นางบุษบา มีบิดาชื่อ นายอาชา อาหมื่น มารดาชื่อ นางวาสนา อาหมื่น ทั้งบิดาและมารดาเป็นคนชาวเขาเชื้อสายอาข่า หรืออีก้อ ทั้งสองคนเกิดในประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๔๙๗ และปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ตามลำดับ ที่บ้านแม่น้ำฟ้า หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย บิดาและมารดาอยู่กินกันฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย และมีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๒ คน คือ นางบุษบา อาหมื่น และนางสาวดอกไม้ อาหมื่น ตามลำดับ

ครอบครัวในรุ่นปู่ย่าตายายของนางบุษบา เกิดและอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ทำสวน ปู่และย่าของนางบุษบา มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ทุกคนเกิดที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีบิดานางบุษบา เป็นบุตรคนที่สอง และนางลดา อาบู่ เป็นบุตรคนที่สี่

ปัจจุบันบิดานางบุษบาและพี่น้องทุกคนได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยและถือบัตรประจำตัวประชาชนในสถานะคนสัญชาติไทย เว้นแต่ นางลดา อาบู่ ซึ่งได้รับการบันทึกทางทะเบียนผิดพลาด เพราะปรากฏว่าได้รับการบันทึกในทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

บิดาและมารดาของนางบุษบาได้รับการบันทึกในแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ผู้ใหญ่บ้านกรอกคำร้องให้บิดาและมารดาของนางบุษบา และยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร(สัญชาติไทย) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓

คำร้องของบิดาและมารดาของนางบุษบา อ้างพยานเอกสาร ๓ ฉบับ คือ ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน และบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง รวมถึงอ้างพยานบุคคล ๔ ปาก ซึ่งหลังจากพิจารณาพยานเอกสารและสอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายอำเภอแม่ลาน้อย มีคำสั่งอนุมัติให้ลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) และออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔

ในคำร้องบิดาและมารดาของนางบุษบา ได้ระบุว่าทั้งสอง มีบุตรจำนวน ๑ คน คือ นางสาวดอกไม้ อาหมื่น เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๕ ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดังนั้น นางสาวดอกไม้ จึงได้รับการพิจารณาอนุมัติไปพร้อมกันกับบิดาและมารดา

นางบุษบาได้เล่าถึงสาเหตุที่ตนตกหล่นจากการยื่นขอลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) ซึ่งควรต้องได้รับการบันทึกพร้อมกันกับบิดามารดาและนางสาวดอกไม้ ว่าในช่วงที่ครอบครัวดำเนินการเรื่องการยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อย เพื่อขอลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎร (สัญชาติไทย) ตนได้อยู่กินกันฉันสามีภรรยากับนายบรรจง อาหมื่น และย้ายออกมาตั้งบ้านและครอบครัวต่างหากจากบิดามารดาแล้ว ตนจึงไม่ได้ติดต่อกับบิดามารดา และไม่ทราบเรื่องการขอลงรายการสถานะในทะเบียนราษฎรดังกล่าว ประกอบกับการดำเนินการทั้งหมดต้องทำผ่านผู้ใหญ่บ้าน การที่บิดาและมารดาของนางบุษบาไม่รู้กฎหมาย ไม่สามารถสื่อสาร อ่าน เขียนภาษาไทยได้ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญให้ชื่อของนางบุษบาตกหล่นจากการสำรวจครั้งนี้

จนกระทั่งสำนักงานทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มอบให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทำการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) ในพื้นที่ ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ นางบุษบาจึงได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนดังกล่าว ตามเอกสารระบุรายละเอียดดังนี้

- นางบุษบา อาหมื่น เกิดวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๐ เพศหญิง สถานะโสด เกิดในบ้านที่บ้านแสนสวย หมู่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย ประเทศไทย

- นางบุษบามีบิดาชื่อ นายอาชา อาหมื่น เลขประจำตัวประชาชน ๘-๕๗๑๐-๘๔๑๐๓-xx-x เกิดวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๗ สัญชาติไทย อาชีพเกษตรกรรม อยู่บ้านเลขที่ ๘๐ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย ประเทศไทย ซึ่งรายละเอียดนั้นตรงกับข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนของบิดานางบุษบา

- นางบุษบามีมารดาชื่อ หมี่โย อาหมื่น เลขประจำตัวประชาชน ๘-๕๗๑๐-๘๔๑๐๓-xx-x เกิดวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ สัญชาติไทย อาชีพเกษตรกรรม อยู่บ้านเลขที่ ๘๐ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย ประเทศไทย ซึ่งรายละเอียดนั้นตรงกับข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนของมารดานางบุษบา

จากการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (แบบ ๘๙) ข้างต้น นายทะเบียนอำเภอแม่ลาน้อยพิจารณาพยานหลักฐานของนางบุษบาและอนุมัติให้จัดทำทะเบียนประวัติ กลุ่มบุคคลประเภท “บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ” และให้กรอกเลขประจำตัวประชาชนที่จัดทำทะเบียนประวัติ ซึ่งปัจจุบันนางบุษบาถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๑๙-xx-x

ต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งว่านางบุษบาสามารถตรวจ DNA เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นบุตรของนายอาชาและนางวาสนา และสามารถนำหลักฐานนี้ไปยื่นต่ออำเภอเพื่อแสดงตนว่านางบุษบาเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยได้ นางบุษบาจึงตัดสินใจตรวจ DNA ของตนกับนายอาชา ผู้เป็นบิดา ทั้งนี้ การดำเนินการตรวจ DNA เป็นไปโดยผ่านผู้ใหญ่บ้านโดยตลอด

ในประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ ผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งว่าผล DNA ระบุว่านางบุษบาเป็นบุตรของนายอาชา จริง (ปัจจุบันนี้นางบุษบามีเพียงเอกสารแสดงใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ ระบุรายการค่าตรวจห้องปฏิบัติการและพยาธิ (L๑) จำนวน ๗,๐๐๐ บาท และค่าบริการผู้ป่วยนอก (๕๕๐๒๐) จำนวน ๕๐ บาท โดยระบุว่านายอาชา อาหมื่น เป็นผู้ชำระเงิน ทั้งนี้ เอกสารอื่น ๆ นางบุษบามอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้านไปทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านไปยื่นต่ออำเภอแม่ลาน้อย และไม่ได้ทำสำเนาเอกสารเก็บไว้กับตน)

นางบุษบาทราบว่าผู้ใหญ่บ้านนำเอกสารแสดงผล DNA ดังกล่าวไปให้แก่อำเภอแม่ลาน้อย และภายหลังผู้ใหญ่บ้านพานางบุษบาไปที่ว่าการอำเภอแม่ลาน้อยเพื่อถ่ายรูปและปั้มลายนิ้วมือ เนื่องด้วยนางบุษบาไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ และผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้แจ้งตนว่าการถ่ายรูปพร้อมปั้มลายนิ้วมือนั้นเป็นการดำเนินการอะไร ขั้นตอนใด ตนทราบเพียงว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ตนได้บัตรประชาชนในสถานะคนสัญชาติไทยเท่านั้น อย่างไรก็ดี จนกระทั่งวันนี้ นับเป็นเวลากว่า ๓ ปี ตนก็ยังไม่ได้รับการแจ้งผลใด ๆ จากผู้ใหญ่บ้านและอำเภอแม่ลาน้อย เมื่อสอบถามทางผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับคำตอบเพียงว่าต้องรอเรียกตามลำดับ เพราะมีคนยื่นเอกสารไปที่อำเภอแม่ลาน้อยจำนวนมาก และขณะนี้ยังไม่ถึงลำดับของนางบุษบา

นางบุษบา อยู่กินกันฉันสามีภรรยากับ นายบรรจง อาหมื่น ชายชาวเขาเชื้อสายอาข่า หรืออีก้อ ซึ่งเกิดปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๒๗-xx-x นางบุษบา และนายบรรจง มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ นายสุขศักดิ์ อาหมื่น เด็กหญิงสุขศรี อาหมื่น และเด็กชายสุขสันต์ อาหมื่น

การที่นางบุษบายังคงประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้สัญชาติ ส่งผลต่อสถานะบุคคลของบุตรทั้งสามคนด้วย ดังนี้

 นายสุขศักดิ์ อาหมื่น เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๒๘-xx-x ซึ่งประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้สัญชาติ

เด็กหญิงสุขศรี อาหมื่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ ๐-๕๗๑๐-๘๙๐๐๔-xx-x ซึ่งประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้สัญชาติ

เด็กชายสุขสันต์ อาหมื่น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนแม่น้ำฟ้า นางบุษบาเล่าว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนแม่น้ำฟ้าได้ทำการสำรวจเด็กชายสุขสันต์เพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับเอกสารใด ๆ กลับมา จึงกล่าวได้ว่าเด็กชายสุขสันต์ประสบปัญหาสถานะบุคคล และตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

---------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณา

---------------------------------

จากข้อเท็จจริงของครอบครัวนางบุษบา การดำเนินการเพื่อพัฒนาสถานะบุคคลของนางบุษบา และบุตรทั้งสามคน มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังนี้

ประเด็นที่ ๑ นางบุษบา และบุตรทั้งสามคน เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๒ นางบุษบา และบุตรทั้งสามคน ตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๓ นางบุษบา และบุตรทั้งสามคน เป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๔ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านางบุษบา เป็นบุตรของนายอาชา และนางวาสนา จริง

ประเด็นที่ ๕ การติดตามผลการตรวจ DNA ของนางบุษบา และนายอาชา สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นที่ ๖ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านางบุษบา เกิดในประเทศไทย และต้องดำเนินการอย่างไร

ประเด็นที่ ๗ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านายสุขศักดิ์ เด็กหญิงสุขศรี และเด็กชายสุขสันต์ เป็นบุตรของนางบุษบา จริง

ประเด็นที่ ๘ ต้องใช้พยานหลักฐานใดในการยืนยันว่านายสุขศักดิ์ เด็กหญิงสุขศรี และเด็กชายสุขสันต์ เกิดในประเทศไทย และต้องดำเนินการอย่างไร


หมายเลขบันทึก: 533505เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท