สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทางเลือกพลังงานที่ดีของเกษตรกร


          ร้อนๆๆๆ ไปทางใดได้ยินแต่เสียงบ่นว่าร้อนๆๆ ผู้เขียนคว้ารถจักรยานยนต์คู่ใจฝ่าเปลวแดดไปด้วยความเซ็งกับสมองที่คิดงานไม่ออก จึงตัดสินใจออกไปดูสถานการณ์ปลูกพืชฤดูแล้ง พลันสายตาที่มองไปสู่ทุ่งนาที่สลับหลากสีด้วยสภาพการใช้พื้นนาที่ต่างกันบางส่วนปล่อยว่าง เผาตอซัง ไม่เผาทิ้งไว้ในผุไปเอง ข้าวกำลังแตกกอ บางส่วนกำลังจะเก็บเกี่ยว และที่น่าเป็นห่วงคือผู้ที่กำลังสูบน้ำทำเทือกเพื่อการปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เมื่อลงไปดูเครื่องยนต์สูบน้ำเข้านาของเกษตรกรที่ทำงานอย่างหนักเคียงคู่กับเกษตรกรที่ทนต่อแสงแดดที่แผดเผา แต่ความร้อนบนผิวกายก็คงไม่ร้อนเท่าหัวใจที่ร้อนรุ่มด้วยความกังวลต่อสถานการณ์น้ำที่เหือดแห้ง อีกทั้งระดับน้ำใต้ดินซึ่งมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับราคาน้ำมันไม่มีแววที่จะลงราคาเลย เกษตรกรกล่าวให้ผู้เขียนฟังอย่างเจ็บปวดใจว่า “รู้ถึงต้นทุนที่สูงจากการทำนาปรังครั้งที่สอง แต่ถ้าไม่ทำเจ้าของนาที่ให้เช่าก็จะให้เกษตรกรรายอื่นทำ และฤดูต่อไปก็จะไม่มีนาทำอีก” จะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จหรือไม่ คงไม่ง่ายนักที่จะสอบถามแล้วได้คำตอบที่แท้จริง แต่คงไม่เลวร้ายนักเพราะจากที่สำรวจข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ปีการผลิตนาปรัง 2556 มีไม่มากนัก  แต่สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรส่วนหนึ่งของจังหวัดชัยนาทช่วยคิด เพื่อลดต้นทุนการเกษตร พร้อมทั้งแสวงหาพลังงานทดแทน

                        จากปัญหาน้ำมันแพง และจะหมดไปในอนาคต กิจกรรมส่วนหนึ่งของกองทุนหมู่บ้านเพื่อการเกษตรหนองแซง คือ การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากราคาน้ำมันที่แพง แต่พลังงานแสงอาทิตย์นั้นได้เปล่า เพียงลงทุนเพื่อการจัดหาอุปกรณ์ เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนคิดไปด้วยความกังวลว่า เมืองไทยจะมี 2 ฤดู หรือเผล่า คือ “ฤดูร้อน และร้อนที่สุด”  


                 จ่าเอกสมบัติ  วิสูตรพันธุ์  ผู้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากนักดนตรีประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ เป็นเกษตรกรวัย 46 ปี บ้านเลขที่ 121 หมู่ 1 ต.หนองแซง อ.หันคา จ.ชัยนาท ได้ร่วมกับนายชลอ ม้าทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ประจำตำบลหนองแซง และสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเพื่อการเกษตรหนองแซงจำนวน 65 คน ในการพัฒนาระบบการผลิตการเกษตร ภายใต้การดูแลของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองแซง กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน ตั้งแต่การผลิตอาหารดินกลับคืนครัวอาหารให้แก่นาข้าวเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินให้ข้าวแข็งแรงต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว จะช่วยลดต้นทุนการผลิต พลิกท้องนากลับคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวแข็งแรงอย่างธรรมชาติ ต้านทานโรค-แมลง ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอหันคาเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น  การทำการเกษตรผสมผสาน การทำเกษตรอินทรีย์  การทำน้ำหมักชีวภาพ  การทำเครื่องผลิตปุ๋ย การผลิตอาหารดิน  การทำน้ำดื่ม ผลิตถ่านอัดแท่ง ไบโอดีเซล ผลิตแก๊สจากขยะ/เศษอาหาร (แก๊สชีวภาพ) 

               และการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์  ด้วยแนวคิดที่จะลดลดต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร  จึงใช้พื้นที่ส่วนตัว ที่ปัจจุบันอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ทำเป็นแปลงเกษตรผสมผสาน พื้นที่ 44 ไร่1 งาน 66 ตารางวา และ เป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยเปิดให้มีการศึกษาดูงานและฝึกอบรม โดยยึดหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง "ทำกินเอง เหลือจึงขาย" ทุกชุมชนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ยึดทาง สายกลางเป็นหลัก นำพาความสำเร็จ อีกทั้งพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ปลอดสารเคมี และช่วยให้คนที่  ทำกินมีสุขภาพที่แข็งแรง ปลอดจากสารเคมีตกค้าง สร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับชุมชน ต่อไป

                  จ่าเอกสมบัติ  วิสูตรพันธุ์   กล่าวถึงวิธีการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับทำนาว่า น้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นทุนในการทำนา ซึ่งนับวันมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น แนวทางที่น่าสนใจคือ การใช้พลังงานจากธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำ และไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ดังนั้นศูนย์เรียนรู้กลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท  จึงคิดวิธีการสูบน้ำสำหรับทำนา ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนค่าอุปกรณ์พอๆ กับราคาเครื่องยนต์ดีเซล แต่มีข้อดีกว่าคือไม่ต้องเสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำ อุปกรณ์ต่างที่จะต้องจัดหาคือ แผ่นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ ขนาด 40 วัตต์ จำนวน 10-12 แผ่น ต่อการสูบน้ำเข้าที่นา 10 ไร่ ซึ่งจะมีต้นทุนราคาแผ่นละประมาณ 3,800 บาท ใช้สายไฟเชื่อมต่อแผ่นโซล่าเซลล์ทั้งหมด เข้าไปยังแบตเตอรี่ 12 ลูก เพื่อเป็นแหล่งเก็บพลังงาน ขอแนะนำให้ใช้แบตเตอรี่มือสอง ที่ยังใช้งานได้ เพราะมีราคาถูกกว่า เพียงนำมาล้างและบรรจุน้ำกลั่นใหม่ จากนั้นให้ทำแผงควบคุมสำหรับเปิด-ปิดปั๊มน้ำได้เชื่อมต่อกับปั๊มน้ำขนาด 2 แรงม้า และใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ต่อไปยังแปลงนา แต่ไม่ควรยาวเกิน 100 เมตร และสูงกว่าปั๊มไม่เกิน 4 เมตร เพื่อให้ปั๊มมีแรงดันพอที่จะส่งน้ำ  

                       

กระแสไฟจากโซล่าเซลล์ที่ผลิตได้ทั้งหมด มีพลังงาน 120 โวลต์ หากยังไม่นำไปใช้สูบน้ำทันที กระแสไฟจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อไว้ใช้ในเวลาที่ต้องการ หรือช่วยเพิ่มแรงดันไฟฟ้าขณะสูบน้ำให้แรงขึ้น ปริมาตรน้ำที่สูบได้ประมาณชั่วโมงละ 6,000 ลิตร เนื่องจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีข้อจำกัดอยู่ที่แสงอาทิตย์ ดังนั้นฤดูฝนอาจมีแสงไม่เพียงพอ อีกทั้งช่วงของการเตรียมดินอาจต้องใช้ปริมาณน้ำมากจึงจำเป็นต้องใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าช่วย ปกติแล้วการทำนาในพื้นที่ 1 ไร่ จนถึงเก็บเกี่ยว จะเสียค่าน้ำมันดีเซล 400 – 600 บาท แต่ถ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จะเสียค่าสูบน้ำน้อยกว่าถึง 70 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดไม่รวมค่าท่อส่งน้ำ จะมีต้นทุนอยู่ที่ชุดละ 70,000 บาท เทียบกันแล้วจะมีราคาเท่าๆ กับเครื่องยนต์ดีเซลทั่วไป แต่มีข้อได้เปรียบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์สึกหรอน้อยกว่า และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม นับเป็นต้นแบบการทำนาในอนาคต ซึ่งกลุ่มร่วมทุนวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองแซง จะได้ทำการพัฒนา เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร ต่อไป สอบถามข้อมูลต่างๆ ของกลุ่ม หรือการศึกษาดูงานได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-5640-5009 หรือ 08-7209-8138 , 08-6200-4136 ยินดีต้อนรับและให้ข้อมูล


หมายเลขบันทึก: 533189เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2013 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท