ธรรมาภิบาล Good Governance


                                                     ธรรมาภิบาล Good Governance

ความเป็นมาของธรรมาภิบาล

            ธรรมาภิบาล( Good Governance ) เริ่มมีใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1989 ในรายงานเรื่อง Sub Sahara Africa : From Crisis to Growth เป็นรายงานที่ธนาคารโลกพยายามวิเคราะห์ถึงความล้มเหลวของรัฐในอัฟริกาในการพัฒนาประเทศ คำว่า Good Governance เริ่มมีบทบาทในแง่ของโลกาภิวัฒน์เพราะธนาคารโลกและกองทุนเงินระหว่างประเทศเชื่อว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะทำไม่ได้เลยหากประเทศนั้นปราศจาก Good Governance ได้มีการผูกโยงคำว่า “การพัฒนา” เข้ากับคำว่า “Good Governance” การกำหนดกลไกอำนาจรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

           ธนาคารโลกได้สร้างลักษณะของธรรมาภิบาลระดับโลกขึ้น เพื่อให้หน่วยงานและเครือข่ายในองค์กรผลักดันให้ประเทศต่างๆ ดำเนินตามแนวทางธรรมาภิบาลซึ่งลักษณะองค์ประกอบที่กว้างขวางนี้ไม่ได้ชี้ชัดว่าประเทศนั้นๆ จะต้องอยู่ภายใต้ระบบการเมืองการปกครองแบบใดแบบหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงและพบว่าในช่วงแรกของการใช้คำนี้ยังมี่ความไม่ลงรอยกันระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ แต่เนื่องจากอิทธิพลของธนาคารโลกที่มีอยู่อย่างมากในไม่ช้าคำว่า “ธรรมาภิบาล” จึงเป็นคำที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2540 ก่อนที่จะลุกลามไปสู่ประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ความหมายของธรรมาภิบาล

            ได้มีผู้ให้นิยามความหมายหรือคำจำกัดความ ซึ่งสามารถประมวลสรุปนิยามคำว่า ธรรมาภิบาล (Good Governance) ได้กล่าวคือ

            พจนานุกรม American Heritage Dictionary (1982) อธิบายว่า Governance หรืออภิบาลว่าหมายถึง 1) The act , process , or power of governing; governance :  2) The state of being governed ซึ่งเมื่อแปลตรงตามตัวอักษร คือการกระทำกระบวนการ หรืออำนาจในการบริหารปกครอง ซึ่งเมื่อมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น มีความหมายครอบคลุมถึงรัฐ (State) และระบบราชการ (Civil Service) และเมื่อมีการนำมาใช้ในองค์กรภาคเอกชน อาจเติมคำว่า corporate governance

            อรพินท์ สพโชคชัย (2541) ได้แปลคำว่า Governance ว่าหมายถึง “กลไกประชารัฐ” ส่วนเมื่อเติมคุณศัพท์ว่า Good แล้วจะกลายเป็น “กลไกประชารัฐ ที่ดี” คำแปลนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่คำที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางคือคำว่า “ธรรมรัฐ”ซึ่งมีการระบุว่าผู้ที่ให้คำบัญญัติศัพท์นี้คือ ชัยรัตน์ สถานนท์ และ ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้ปลุกกระแสคำและแนวคิดนี้ออกสู่สังคม

            ธีรยุทธ บุญมี ได้ให้ความหมายธรรมาภิบาลว่า คือ การบริหารการจัดการประเทศที่ดีในทุกๆด้าน และทุกๆระดับการบริหารจัดการที่ดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีหลักความคิดว่าทั้งประชาชน ข้าราชการบริหารประเทศเป็นหุ้นส่วน (Partnership) กันในการกำหนดชะตากรรมประเทศ  แต่การเป็นหุ้นส่วนไม่ใช่หลักประกันว่าจะเกิดธรรมรัฐ หรือ Good Governance ยังต้องหมายถึงการมีกฎเกณฑ์กติกาที่จะให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ประสิทธิภาพความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมของสังคมที่จะกำหนดนโยบายบริหาร  ตรวจสอบประเมินผลอย่างจริงจัง

            UNDP (United Nation Development Program) หน่วยงานสังกัดองค์การสหประชาชาติ ได้ให้นิยามความหมายของ Good Governance หรือ ธรรมาภิบาล ว่า คือการใช้อำนาจทางการเมือง  การบริหารและเศรษฐกิจในการดำเนินภารกิจ กิจกรรมต่างๆ ของประเทศในทุกระดับโดยมีกลไก  กระบวนการ  สถาบันซึ่งประชาชนและกลุ่มต่างๆ  สามารถแสดงออกถึงความต้องการผลประโยชน์  การใช้สิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย การประสานการประนีประนอมความแตกต่างโดยผ่านกลไก กระบวนการและสถาบันเหล่านั้น

           ทิพาวดี  เมฆสวรรค์ ได้ให้ความหมายธรรมาภิบาลว่า เป็นเรื่องที่ทุกสังคม ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือ พัฒนาแล้วต้องการให้เกิดขึ้นคำว่า Governance เป็นคำเก่าที่มีมานานแล้ว หมายถึงกรอบในการบริหารจัดการองค์กรต่างๆ ในการบริหารระบบบริษัทก็จะเรียกว่า Corporate Good Governance ในราชการก็เรียกว่า Public Governance ซึ่งกรอบการบริหารนี้มีทั้งดีและไม่ดี  ที่ดีเรียกว่า Good Governance ที่ไม่ดีเรียกว่า Bad Governance

            จากความหมายของนักวิชาการที่ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ ธรรมาภิบาล (Good Governance) ดังกล่าวข้างต้น นั้นจะเห็นได้ว่ามีแนวความคิดที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอาจสรุปได้ว่า good Governance จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ

           1.ภาครัฐ (PublicSector ) ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างและปฏิรูปการเมืองกฎหมายและการบริหารราชการ

           2.ภาคเอกชน (Private Sector) ซึ่งจะมีส่วนในการประกอบธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต

และมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง

           3.ภาคประชาชนหรือองค์กรต่างๆ (Civil Society)  จะมีส่วนร่วมในการเกื้อหนุนในการดำเนินการทาง

เศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยการระดมกลุ่มต่างๆให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆและสามารถตรวจสอบทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนให้ตั้งอยู่ในความถูกต้องได้

             กล่าวโดยสรุปแล้ว ธรรมาภิบาล (Good Governance) หมายถึง การบริหารการจัดการทรัพยากรทาง

เศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาของประเทศ โดยมีการเชื่อมโยงองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนของสังคม คือ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจสังคม ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างสมดุล ส่งผลให้สังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนมีการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืน และมีเสถียรภาพ

           ธรรมาภิบาล เป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุเพราะ ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ อาทิ พนักงานต่างทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร ทำให้ผลประกอบการขององค์กรธุรกิจนั้นขยายตัว นอกจากนี้แล้วยังทำให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง ศรัทธาและเชื่อมั่นในองค์กรนั้น ๆ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น องค์กรที่โปร่งใส ย่อมได้รับความไว้วางใจในการร่วมทำธุรกิจ รัฐบาลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประชาชน ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

วันทนา เนืองอนันต์. (2553). หลักธรรมาภิบาล (Good governance).  [Online]. Available: 

             http://br.correct.go.th/eduweb/index.php/eduessay/50-general-essay/118-good- 

             governance.html

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย. หลักการสากลของ ธรรมาภิบาล. [Online]. Available: 

            http://www.thaichamber.org/scripts/detail.asp?nNEWSID=1220


หมายเลขบันทึก: 533042เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท