เรื่องเล่าเร้าพลัง: ปัจจัยความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอกทางการพยาบาล


ทำอย่างไรจึงจบปริญญาเอกทางการพยาบาลได้เร็ว

เรามักได้ยินจากพยาบาลเสมอว่า  ไม่อยากเรียนต่อทางการพยาบาล  เหตุผลสำคัญก็คือ เพราะเรียนยาก  จบยาก  ขณะที่เราก็ได้ยินว่าหากจะก้าวหน้าทางการพยาบาล  ต้องเรียนต่อสายพยาบาล 

มีน้องๆมาปรึกษาดิฉันบ่อยๆ เรื่องการทำวิทยานิพนธ์  ดิฉันพบว่าผู้ที่เรียนต่อปริญญาโท  ปริญญาเอก ที่เรียนไม่จบตามเวลา  ทุกคนมีปัญหาเรื่องการทำวิทยานิพนธ์ด้วยกันทั้งสิ้น  บางคนใช้เวลาถึง 7 ปีก็ยังทำวิทยานิพนธ์ไม่สำเร็จ   จนต้องกลับมาทำงานโดยไม่ได้ปริญญาเอกกลับมา   การทำวิทยานิพนธ์น่าจะเป็นการวัดอะไรบางอย่างได้   

เรื่องที่ดิฉันจะเล่านี้  ดิฉันใช้เวลาคิดอยู่นาน  นานถึง 10 ปี  เพราะเราเชื่อกันว่า  ไม่ควรยกตัวเอง  ไม่ควรอวดใคร  และที่ผ่านมา  ไม่เคยมีใครถามดิฉันว่า  ทำอย่างไรจึงสำเร็จปริญญาเอก  Ph.D (Nursing) International program จากมหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 1  โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี  เดือน  ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกของรุ่นและของหลักสูตรด้วย

ดิฉันเชื่อในประโยชน์ของเรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling)  ว่าสามารถจะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันได้เห็นมุมมองใหม่ๆ  ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าน่าจะเดินอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ  และช่วยเป็นกำลังใจ ให้เป็นพลังสู้ต่อไป   จึงตัดสินใจเล่าประสบการณ์ความสำเร็จในการเรียนปริญญาเอกให้น้องๆ ที่สนใจฟัง

ดิฉันก้าวเข้าสู่ความเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้วยความรู้สึกที่ว่า  เป็นคนที่มีศักยภาพน้อยที่สุดในรุ่น (ไม่ได้คิดเอง  รศ.ดร.ชื่นชม  เจริญยุทธ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้มาบอกทีหลัง)   กล่าวคือ  ดิฉันเพิ่งเข้ามาสู่ความเป็นอาจารย์พยาบาลได้ประมาณ  2 ปี  แทบจะไม่มีความเป็นนักวิชาการพยาบาลเลย  เพราะมาจากงานประเภทบริหารและจัดโครงการของกทม.  พิมพ์งานแทบไม่ได้เพราะมีน้องๆ พิมพ์ให้มาโดยตลอด  แต่ด้วยคำแนะนำและกำลังใจจากอาจารย์ที่ปรึกษา รวมทั้งความตั้งใจ  ไม่ย่อท้อ  จึงทำให้สามารถผ่านการเรียน course work ได้อย่างเฉียดฉิว  แต่ก็ภูมิใจว่า ได้คิดเอง  ทำเอง  พิมพ์เอง ทุกชิ้นตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของการเรียน 

รศ.ดร.ชื่นชม สอนว่า เกรดไม่สำคัญ  ขอให้ผ่านก็พอ  เราจะจบหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิทยานิพนธ์  ก่อนไปเขียน  proposal ที่เมืองนอก   ภาษาอังกฤษก็ผ่านแบบพอดีๆ  ไม่ขาดไม่เกิน  ช่วงเลือกว่าจะไปมหาวิทยาลัยใด  เป็นจังหวะที่มหาวิทยาลัยเชิญ Prof. Dr. Nola Pender มาบรรยาย  จึงได้เข้าไปปรึกษาท่านและขอไปเป็น advisee  แต่เนื่องจากท่านเกษียณแล้ว  ท่านจะช่วยดูให้โดยไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งท่านเป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ  ดิฉันจึงตัดสินใจเลือกไปที่  University of Michigan  ซึ่งท่านก็ได้ให้ความเมตตาเป็นที่ปรึกษาและช่วยตรวจงานให้ตั้งแต่ตัวอักษรแรกจนตัวอักษรสุดท้าย  กล่าวคือ ตั้งแต่หน้าแรกที่เขียน Proposal  จนกระทั่งเขียน manuscript  โดยท่านไม่ได้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาหรือรับอะไรเป็นค่าตอบแทนเลย  และที่สำคัญกรอบแนวคิดในการทำวิทยานิพนธ์ของดิฉัน against บางแนวคิดใน Model ของท่าน  ท่านก็ยังใจกว้างและมีเมตตาหาใดเปรียบไม่

ก้าวแรกที่ไปถึง  เราได้รับการต้อนรับ  การดูแลเอาใจใส่อย่างดีจาก Prof. Dr. Shake’ Ketefian ท่านมอบหมายให้น้องที่เรียนปริญญาเอกมารับและดูแล อำนวยความสะดวกทุกอย่าง  ท่านเองได้ให้ความเมตตากับนักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างมาก  ท่านสอนดิฉันแทบทุกอย่างและแทบตลอดเวลาที่มีโอกาส  ทั้งภาษา  การใช้ชีวิต  มารยาทในสังคม  ดิฉันจำได้ดีว่า ในวันแรกๆที่ไปถึงท่านบอกว่า  “จะสอนให้ดิฉันเป็นอาจารย์ที่ดี”  และวันสุดท้ายก่อนกลับท่านขอให้ดิฉันรับปากว่าจะเป็น “นักวิชาการพยาบาลที่ดีมีจุดยืน”  

Dr. Shake’ สั่งให้ไปพบท่านสัปดาห์ละ  1 วัน  ทุกครั้งก่อนเข้าพบท่านดิฉันจะวิตกกังวลเป็นอย่างมาก  เพราะท่านจะ correct ภาษาแทบทุกคำ ทั้งยังกังวลเรื่องเนื้อหาที่จะคุยกับท่าน  ช่วงนี้เป็นช่วง review literature  ช่วงแรกๆ ดิฉันยังทบทวนได้น้อย  ทำให้การเข้าพบท่านแต่ละครั้งมี progress น้อยมาก เขียนได้สัปดาห์ละ1-2 หน้า  จนท่านบอกว่า ถ้าไม่มีอะไรคืบหน้าก็ยังไม่ต้องมาพบ  หลังจากนั้นดิฉันก็ไม่ได้ไปพบท่านทุกสัปดาห์เหมือนเช่นเคย  แต่ยิ่งหมกมุ่น ตั้งใจ review ให้ได้มากที่สุด  จนกระทั่งวันหนึ่ง  ดิฉันส่งงานให้ท่านตรวจราว 20 กว่าหน้า  ท่านตกใจ/ประหลาดใจ  หลังจากนั้นท่านให้ความไว้วางใจและ respect ดิฉันมากขึ้นและนำไปเล่าให้ใครต่อใครฟัง    เหตุที่ไม่ค่อยมีอะไรคืบหน้าในช่วงแรกๆเพราะยัง review ได้น้อย  ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าสิ่งที่สนใจนั้นคืออะไร  conceptหรือตัวแปรอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง  เกี่ยวข้องอย่างไร  และเราเชื่ออย่างไร   โชคดีที่ดิฉันพักอยู่คนเดียวทำให้ไม่ต้องเกรงใจใคร  สามารถใช้พื้นที่ห้องทั้งหมดละเลง จัดวาง  paper  เป็นหมวดหมู่  เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา   ดังนั้นเมื่อศึกษาจนเข้าใจถ่องแท้แล้ว  ก็สามารถเขียนบทที่ 2 ได้ด้วยภาษาและความเข้าใจของเราเอง ซึ่งตรงจุดนี้มักจะเป็นจุดอ่อนของนักศึกษาหลายคน   เพราะมักไม่ได้เขียนหรือเรียบเรียงออกมาจากใจหรือความเข้าใจของตน  มักจะเอาความรู้ที่มีในตำราหรือpaperมาเรียบเรียงต่อๆกัน 

Dr. Shake’  สอนว่า เมื่อเราเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่องใดแล้ว  แสดงว่าเราพร้อมที่จะเป็น expert ในเรื่องนั้น  เราต้องรู้เรื่องนั้นๆให้มากที่สุด เพราะคนอื่นเขาจะคาดหวังว่าเราต้องรู้เรื่องนั้นๆทั้งหมดรอบด้าน  ท่านจะมีคำถามให้เราคิดเสมอ  เช่น ถ้ามีคนมาถามว่าทำเรื่องอะไร  เราจะตอบอย่างไร  อะไรบ้างที่ใช่และไม่ใช่conceptที่เราศึกษา   และบางครั้งท่านและAssoc. Prof. Dr. Kimberly  Greterbeck  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอีกท่านหนึ่ง จะเรียกให้เข้าไปตอบคำถาม  คล้ายกับ thesis proposal defense  ย่อยๆ ทำให้เราได้ทบทวนความคิดของเราไปด้วย

ปัจจัยเอื้ออำนวยในการเรียนรู้ประการหนึ่งคือ การ facilitate ด้านหนังสือ ตำรา วารสาร  ดิฉันประทับใจบริการของห้องสมุดเป็นอย่างมาก  เพราะไม่เคยได้รับความสะดวกในการค้นหาเอกสารที่ต้องการเช่นนี้จากเมืองไทย   ที่ U of M มีห้องสมุด หลายแห่ง  สามารถเดินเข้าไปใช้ได้ง่ายๆ   หนังสือ – วารสาร  มีครบ  อะไรไม่มีเจ้าหน้าที่จะจัดการหาให้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของอเมริกา  โดยเราไม่ต้องไม่เสียเงินและเขาจัดส่งให้ถึงบ้าน  โดยแค่กรอกแบบฟอร์มผ่านonline   ในห้องสมุดมี computer printer และเครื่องถ่ายเอกสาร  ให้ใช้เองอย่างสะดวก  มีห้องเล็กๆหรือบริเวณให้นั่งอย่างพอเพียง  มีน้ำให้ดื่มฟรี   นักศึกษาสามารถเข้าห้องสมุดได้ทุกวันและตลอดเวลา  แม้ยามค่ำคืน 

ดิฉันได้ยินใครบางคนพูดว่า  อย่ามี adviser  มาก  เพราะจะจบยาก  แต่สำหรับดิฉัน ตรงกันข้าม  ดิฉันมี adviser ที่เมืองไทย  3  ท่าน  ที่อเมริกาก็มี adviser ที่เป็นทางการ 2  ท่าน คือ Dr. Shake’  และ Dr. Kimberly   และไม่เป็นทางการอีก 2 ท่านคือ Dr. Nola  และ   Prof. Dr. Carol Loveland-Cherry   ดิฉันไม่เคย frustrate  หรือเป็นอุปสรรคในการทำงาน  แต่กลับทำให้งานของเราดีและครอบคลุมครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ประเด็นนี้ดิฉันเคยเล่าให้ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช  ฟัง   ซึ่งท่านบอกว่า  “เป็นการบริหาร adviser ที่ดี” 

เทคนิคการทำงานของดิฉันคือ  เราทำวิทยานิพนธ์ของเรา  เราเป็นผู้คิดและreview มากที่สุด  ดังนั้นเราจะเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจงานมากที่สุด  อาจารย์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา แต่เราจะตัดสินใจทำอย่างไร  ขึ้นอยู่กับเรา  เมื่อดิฉันเขียนงานได้ จะส่งไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านตรวจ  เมื่อได้รับ feedback ดิฉันจะนำความเห็นของอาจารย์ทุกท่านมาพิจารณาแล้วเขียนเป็นความคิดของเราเอง  น้องๆ หลายคน suffer กับความเห็นที่ไม่ตรงกันของ adviser  ดิฉันบอกน้องๆเสมอว่า อาจารย์แต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์แตกต่างกัน  ทำให้มีมุมมองที่แตกต่างกัน  ไม่มีใครรู้เรื่องวิทยานิพนธ์ดีไปกว่าเรา  ดังนั้นเราต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าเราแกว่งไปแกว่งมาตาม adviser คนนั้น คนนี้  งานของเราจะไม่เสร็จสักที

นอกจากนั้น  เราต้องเป็น active learner  กล่าวคือ ก้าวไปข้างหน้า  คิด  แล้วเขียน แล้วส่งให้อาจารย์ตรวจ  อย่ารอคำสั่งหรือรอคำแนะนำ   อาจารย์ท่านมีภารกิจมากมาย  ต้องดูแลนักศึกษาหลายคน  แต่เราดูแลงานของเรางานเดียว  เราต้องรีบร่างงานนำไปส่งให้ท่านตรวจ  แล้วคอยติดตาม  สรุปได้ว่าเราต้อง well plan และ ต้องทำให้ตามแผน 

ช่วงทำวิทยานิพนธ์จะต้องทำอย่างจริงจัง  ต้องทำแบบหมกมุ่น  ทุกเวลานาทีคิดถึงแต่เรื่องวิทยานิพนธ์ของเรา  เพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งถามว่่า  ดิฉันทำงานวันละกี่ชั่วโมง  ดิฉันตอบว่า ไม่รู้ซิ  ดิฉันทำงานทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนซึ่งไม่ควรเกินเที่ยงคืน  เวลาที่ดีที่สุดในการทำงานคือช่วงเช้า    ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่อยู่ที่ Ann Arbor  เพื่อนๆทุกคนที่ไปอเมริกาพร้อมๆกัน  ต่างหาเวลาไปท่องเที่ยว เพราะคิดว่าเมื่อมีโอกาสเดินทางมาถึงอเมริกาแล้วก็ควรหาเวลาไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ  ซึ่งก็ถูกต้อง   แต่สำหรับดิฉันกลับคิดตรงกันข้าม  ดิฉันคิดว่าเราอุตส่าห์จากบ้านจากครอบครัวมาแล้ว  ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทุกนาทีเพื่อให้ได้ 3 บท  จึงไม่ไปไหนเลย ยกเว้นการไปบ้านของ Dr. Nola ที่ Chicago ตามคำเชิญของท่าน 2/ ครั้ง และเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งมารับไปนอนที่บ้านเพราะไม่ยอมให้ดิฉันอยู่คนเดียวในวันคริสต์มาส  

และแล้วดิฉันกลับมาเมืองไทยพร้อมกับ 3 บท  หลังจากนั้นก็รีบสอบ Qualify Exam และดำเนินการเก็บข้อมูล  ช่วงนี้ดิฉันได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีกับเพื่อนๆ  พี่ๆ น้องๆ  ที่ทำงานสังกัด กทม. รวมทั้งการมีประสบการณ์ทำงานกับชุมชน  ทำให้ทุกอย่างสะดวก ราบรื่นเป็นอย่างดี  จนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ การ defense thesis  ดิฉันจำได้ดีว่าช่วงที่งานใกล้เสร็จ   จะมี International conference ที่จังหวัดเชียงใหม่ (ซึ่งดิฉันได้รับตอบรับในการ oral presentation วิทยานิพนธ์ด้วย)  ดิฉันจึง email  บอก Dr. Kimberly  ให้มาประชุมและมาสอบดิฉันเลย  ท่านก็ถามว่าแน่ใจหรือว่าจะเสร็จทัน  ดิฉันตอบอย่างมั่นใจว่าทัน  ท่านก็ตกลง  ทำให้เราประหยัดค่าเดินทางมาสอบ  ของ Dr. Kimberly  ได้  ขณะเดียวกันก็รีบนัดวันสอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาท่านอื่นๆ 

ดิฉันได้บทเรียนว่า เราต้องมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง  มีเหตุการณ์หรือมีโอกาสอะไรจะเกิดขึ้นหรือเปล่า  เราจะนำโอกาสนั้นมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง  เราต้องเป็นผู้กำหนดทุกอย่างเอง  เช่น กำหนดว่าจะส่งบทนี้ได้เมื่อไร  กำหนดว่าจะสอบเมื่อไร แล้วรีบทำให้เสร็จตามนั้น

บทเรียนที่สำคัญอีกประการคือ working with advisers  ดิฉันโชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาอย่าง รศ. ดร. ชื่นชม  เจริญยุทธ  Dr. Shake’  Dr. Nola  Dr. Carol และ Dr. Kimberly  ที่นอกจากจะให้คำแนะนำ  ช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่งแล้วท่านยังกรุณา edit ให้ทุกคำ อย่างรวดเร็ว   ทุกท่านให้เวลากับดิฉันอย่างจริงจัง  แม้กระทั่ง Dr. Shake’ ที่ท่านมีภารกิจมากมาย  ยังสามารถสละเวลาให้กับลูกศิษย์ได้อย่างเต็มที่  ท่านจัดเวลาให้พบเป็นเรื่องเป็นราว  นัดเป็นนัด  ที่สำคัญคือเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา  เตรียมข้อมูลให้ครบ  เตรียมคำถามและคำตอบให้ดี  และกลับมาต้องรีบจดสาระที่คุยกับท่านเพื่อไม่ให้ลืม   

หวังว่าเรื่องที่ดิฉันเล่าคงจะช่วยเร้าให้น้องๆ ที่กำลังเรียนหรือคิดจะเรียนต่อได้มีพลังที่จะประสบความสำเร็จโดยเร็ว  เพราะถ้าคนที่ไม่ค่อยมีต้นทุนอย่างดิฉันทำได้  ท่านก็น่าจะทำให้สำเร็จได้ไม่ยากนัก  หากตั้งใจจริง  มุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ  และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็อย่าเขินที่จะเล่าประสบการณ์ดีๆให้คนอื่นๆ ฟัง โดยไม่ต้องรอ “คุณขอมา”


หมายเลขบันทึก: 533027เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณมากครับเป็นกำลังใจที่ดีจริงๆ ครับ 

อาจารย์โชคดีมากค่ะที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่คอยดูแลเอาใจใส่โดยตลอดค่ะ

มาอ่านรอบที่ 3 คะ เป็นแรงกระตุ้นเสริมให้อยากเรียนรู้มากขึ้นและได้เทคนิคการเรียนที่ดีมากคะ 

ขอบคุณอีกครั้งคะอาจารย์

นี่คือ how to & success story ที่ถูกใจผมมากครับอาจารย์


ถ้าได้อ่านนานแล้ว อาจอยากเรียนปริญญาเอกเลยล่ะค่ะ

พรนภาิตั้งสุขสันต์

เป็นความใจกว้างของผู้เขียน ที่แบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักศึกษาและผู้เตรียมที่จะเรียนปริญญาเอก ขอชื่นชมและขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

อ่านแล้วเร้าพลังของการเตรียมตัวเรียนปริญญาเอกเป็นอย่างดีค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ


ขอบพระคุณสำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ดีๆคะอาจารย์ อ่านแล้วรู้สึกพลังงานในตัวเพิ่มมากขึ้นเลยคะ??????

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท