การเรียนรู้ผ่านโครงงานหรือปัญหาเป็นฐานส่วนใหญ่ที่มี กับ PBL ที่ดี ในความคิดผม


ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผมเริ่มเรียนรู้ "การเรียนรู้" ผ่านการดำเนินโครงการ LLEN, PLC, และ SE  ดูเหมือนว่า ทั่วโลกจะยอมรับกันผ่านงานวิจัยและศึกษาด้วยวิธีต่างๆ ว่า....

  1. การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ (Active Learning) คือ เรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by doing)
  2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Callaborative Learning) หรือ การเรียนเป็นทีม นั้น ดีกว่าการเรียนรู้แบบเดี่ยว
  3. การเรียนรู้จากภายใน คือ ปัจจัยของความสุข ความสำเร็จ ของการเรียนรู้   (เช่น การปฏิบัติธรรม เรียนรู้ ดูกาย ดูใจ หรือเรียกว่า ดูจิต หรือ จิตศึกษา หรือจิตตปัญญาศึกษา ฯลฯ)

และดูเหมือนว่า เรากำลังยอมรับว่า การจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งด้าน K (Knowledge ความรู้) P(Process ทักษะ, ทักษะกระบวนการ) และ A(Attitue เจตคติ คุณธรรม จริยธรรม ความดี) นั้น ทำได้โดย....

  1. ครูเรียนรู้จากภายใน และทำงานเป็นทีม เป็น ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC 
  2. นักเรียนเรียนผ่านโครงงานบนฐานปัญหา หรือ PBL (Project-based Learning, Problem-based  Learning)
  3. สังคมช่วยกันสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ หรือ LLEN เพื่อสร้างให้สังคมเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และทุกคนเรียนรู้ตลอดชีวิตของตนเอง 

การตระเวนไปตามโรงเรียนต่างๆ ผมพบว่า PBL ส่วนใหญ่เป็น PBL ที่ไม่ "เข้าท่า" ถึงแม้ว่าจะ "เข้าทาง" ดังนี้ครับ

  1. มีโครงงานประเภท "ลองทำตาม" เยอะมากครับ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำหมักชีวภาพ ปลาประดิษฐ์จากหลอดพลาสติก, น้ำสมุนไพร, ฯลฯ ที่ผมเรียกว่าเป็นประเภท "ลองทำตาม" เพราะ เมื่อลองถามนักเรียนเจ้าของโครงงานแล้ว มักจะไม่รอบรู้ และไม่ลงลึก กับเรื่องที่ทำมากนัก โดยมาก จะทำผลงานเหล่านั้นในระยะสั้น ไม่กี่วัน ด้วยวิธีการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต แล้วมา "ลองทำตาม" ดู
  2. เป็นโครงงานประเภท "ทำตามครูคิด" เกือบทั้งสิ้น ไม่ต่ำกว่า 80% ของการจัดการเรียนรู้เป็นครูคิด ครูออกแบบ ไม่มากก็น้อย ผมเรียกโครงงานแบบนี้ว่า "โครงการ" เช่น
    • การกำหนดให้นักเรียนไปทำโครงงานเรื่อง "การทำอาหารจากกล้วย" นั่นคือ นักเรียนไม่ต้องคิดว่าจะเอาอะไรมาทำอาหารเพราะครูคิดและกำหนดว่าให้ใช้กล้วย  
    • การกำหนดว่า ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มไปหาวิธีการทำกล้วยฉาบในแบบของตัวเอง  โครงการแบบนี้ เหมาะสำหรับการฝึกฝนการทำกล้วยฉาบ และฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้และการแก้ปัญหา ส่วนการฝึกให้คิดสร้างสรรค์นั้น จะเป็นเพียงการฝึกคิดต่อยอด ผมเดาว่า กล้วยของทุกกลุ่มจะถูกเฉือนเป็นแว่นๆ เพราะนักเรียนทุกคนจะไปยึดติดกับคำว่า "ฉาบ" ทั้งๆ ที่ "ฉาบ" ไม่ได้แปลว่าจะต้องเฉือนเป็นแว่นๆ
    • บางทีครูคิดลึกและกำหนดโจทย์ที่ยาก ลึกมาก เกินกว่า ความรู้เดิมหรือศักยภาพของนักเรียน จะสามารถสืบค้นเรียนรู้และทำตามครูได้อย่างเข้าใจ เลยกลายเป็น โครงงานแบบ "โครงสั่ง บอก ออกคำสั่ง" ซึ่งบั่นทอนพลังและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างยิ่ง
    • บางทีครูใช้ตัวอย่าง ครูยึดตัวอย่าง ทำให้นักเรียนยึดทำตามตัวอย่าง เป็นโครงการ "ตามตัวอย่าง" ซึ่งก็ไม่ต่างไปเท่าใดนัก
    • ฯลฯ
  3. เป็นโครงงาน "เน้นวิชา"  อันนี้ก็พบไม่น้อย สาเหตุมาจาก การคิดเชิงแยกส่วน เป็นวิชาๆ แล้วเมื่อจะทำโครงงาน ก็ยึดเนื้อหาที่ได้เรียนรู้จากวิชานั้นเป็นตัวตั้ง แล้วทำการค้นหาหรือส่วนใหญ่จะคิดหา "ปัญหา" ที่เกี่ยวข้อง แล้วพยายามเชื่อมโยง ว่าปัญหานั้นๆ สามารถแก้ไขได้โดยการ "บูรณาการ" เนื้อหาในรายวิชาต่างๆ  ผมคิดว่านักการศึกษาไทยเรียกการบูรณาการแบบนี้ว่า "บูรณาการแบบสหวิทยาการ" สำหรับผมแล้ว วิธีการแบบนี้เกิดจากการคิดแบบแยกส่วนและ "เน้นเนื้อหา" หรือ "เน้นวิชา" ทำให้ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงๆ ที่วิธีแก้ไขอาจไม่ได้เรียนรู้จากรายวิชาใดๆ เลย
  4. เป็นโครงงานแบบ "ติดกรอบโครงงาน" ปัญหาคือ ครูที่สอนโครงงานส่วนใหญ่ มักสอนว่า โครงงานมี 4 ประเภท ได้แก่ โครงงานประดิษฐ์ โครงงานทดลอง โครงงานสำรวจ และโครงงานทฤษฎี  และสอนว่า การทำโครงงานต้องเริ่มจากการ ตั้งปัญหา.............  ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงข้อสรุปของนักการศึกษาเท่านั้น  ความจริง เมื่อเจอปัญหา กระบวนการหาคำตอบใดๆ ที่เป็นเหตุ เป็นผล พิสูจน์ได้ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุป ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นโครงงานได้ทั้งนั้น  และไม่จำเป็นว่าจะเป็นโครงงานประเภทใด โครงงานนั้นอาจต้องทำทั้ง สำรวจ ทดลอง ประดิษฐ์ และพิสูจน์ทางทฤษฎี เพื่อที่จะหาคำตอบของปัญหานั้นๆ.....  การสอนที่ยึดรูปแบบหรือยึดกรอบ ไม่ได้ส่งเสริมทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ที่ว่ามาทั้งหมด ไม่ได้บอกว่า ที่ทำมาไม่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการฝึกทักษะการเรียนรู้และทักษะชีวิตให้ผู้เรียน แต่ สิ่งสำคัญที่ต้องเพิ่มเติมคือ PBL ที่ดี

PBL ที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้ครับ

  1. อยู่บนฐานปัญหาจริงในชีวิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง แต่เน้นตรงที่ เป็นปัญหาที่นักเรียนมีส่วนรับรู้ หรือได้รับผลกระทบนั้นจริงๆ เช่น ปัญหาน้ำเสีย ขยะ สังคม ปัญหาว่าจบแล้วจะเรียนต่อที่ไหนดี ปัญหาการติดเกมส์ ปัญหาเรื่องข้าว มันสัมปะหลัง อ้อย ยางพารา เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ   ปัญหาจริงจะทำให้นัเรียนสามารถเชื่อมโยง(3 เชื่อม) ระหว่างโรงเรียนกับชีวิตได้
  2. นักเรียนได้มีโอกาส  คิด ทำ นำเสนอ และกำหนดปัญหาด้วยตนเอง และได้ คิด ทำ แก้ปัญหา และได้ออกแบบวิธีการสื่อสาร และนำเสนอเผยแพร่ด้วยตนเอง
  3. นักเรียนได้ใช้ทักษะความสามารถและความพยายามของตนเอง เป็นระยะเวลานาน ในการศึกษา เรียนรู้ ออกแบบหาวิธีแก้ปัญหา โดยเฉพาะ "ทักษะในศตวรรษที่ 21"
  4. นักเรียนได้ฝึกฝนการกำกับตนเอง ฝึกตนเองให้มีอุปนิสัยพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รู้รอบ รู้ลึก ศึกษาเรียนรู้องค์รวมความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้อง คิดก่อนทำ ลงมือทำอย่างระมัดระวัง นักเรียนได้ฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน พัฒนาตนเองให้มีระเบียบและความรับผิดชอบ ภูมิใจในตนเองและท้องถิ่น บ่มเพาะความมั่นใจในตนเอง
  5. เป็นโครงงานที่ นักเรียนมีความสุข สนุกที่ได้ทำ ...........  ข้อนี้ไม่ใช่สนุกหรือมีความสุขตลอดเวลา บางตอนนักเรียนอาจต้องผ่านความยากลำบาก.....

ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมหรือเปล่าครับ

อ.ต๋อย มมส.


หมายเลขบันทึก: 532960เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยที่อาจารย์ได้บันทึกทุกประการ พยายามแย้งในใจตลอดเวลานักเรียนคิดทำโครงงาน มักจะมาต่อยอด หรือทำคล้ายๆกันมา  จึงไม่ใช่การทำโครงงานที่แท้จริง  จึงได้เรียนรู้การสอนPLC ที่ใช้รูปแบบ PBL แบบโครงงานที่คิดเชื่อมโยงเอาปัญหาในชีวิตประจำวันมาเป็นประเด็นในการศึกษา และควรเน้นให้ครูใช้รูปแบบการสอน บันได 5 ขั้น เพื่อฝึกการสืบค้นเรียนรู้ในเรื่องใกล้ตัวที่มีปัญหาต่อการดำรงชีวิต ดีใจที่ทำ PBLได้ตรงทั้ง 5 ข้อที่ท่านกล่าวไว้  จึงขออ้างอิงบันทึกนี้ในรายงานวิจัยในชั้นเรียนเรื่องนี้ด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ


ขอบคุณท่านอาจารย์ตุ้มครับ มีกำลังใจขึ้นมากเลยครับ  ยินดีอย่างยิ่งครับที่ท่านอาจารย์จะอ้างอิงถึง หรือนำไปเผยแพร่ต่อ..

อาจารย์ค่ะเปิดเทอมจะให้นักเรียนทำโครงงานแบบที่อาจารย์พูดถึง  จะทำจากเพลงอีสานบ้านเฮาจะทำ 3 วิชาค่ะคือภาษาไทย สังคม และการงาน มีอะไรสนุกเยอะเลยค่ะและจะเป็นช่วงต้นฤดูฝนคงจะมีอะไรที่เด็กๆจะได้เรียนรู้จากของจริงในชุมชนและปู่ยาตายาย และจะให้ทำสมุดเล่มจิ๋วมานำเสนอเสียงตามสายในโรงเรียนและในชุมชน(คิดไว้ถ้าทำแล้วจะแจ้งผลให้ทราบค่ะ)

ขอคุณครูตุ๋มที่มาให้กำลังใจครับ จะคอยติดตามผลงานท่านอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท