ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม


ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกสงเคราะห์นี้ หลังจากอ่านบันทึกของ วัฒนา คุณประดิษฐ์ ที่ พฤติกรรมศาสตร์ 21 วัน กับ พฤติกรรมศาสตร์วันเดียว

คำถามไม่ใช่ "คนเราเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่" เพราะ "กรรมใหม่" (การกระทำด้วยกาย วาจา ใจ) ทำให้คนเปลี่ยนไปตามกฎของกรรม ตัวอย่างของคนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพราะปรับเปลี่ยนการกระทำ หรือ "กรรม" ของตนเองมีให้เห็นอยู่ทั่วไป  ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า "การเปลี่ยนแปลงตนเอง"

และคำถามก็ไม่ใช่ "คนเราถูกเปลี่ยนแปลงโดยผู้อื่นได้หรือไม่" เพราะ "กรรมเก่า" (สิ่งที่เราสัมผัสด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ล้วนเป็นผลมาจาก "กรรมเก่า") ก็คือปัจจัยสำคัญของ "กรรมใหม่" ด้วย เช่น กัลยาณมิตร สิ่งแวดล้อมรอบตัว ฯลฯ  นี่หมายถึง คนเราไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงได้เพราะผู้อื่น แต่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น (อาจเป็นกัลยาณมิตรหรือคนพาล และสิ่งแวดล้อม เช่น สังคม สิ่งยั่วยุ ฯลฯ) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้าง "กรรมใหม่" ของเรา

หากวิเคราะห์แบบนี้ คำถามคือ "คนเราเปลี่ยนแปลง "กรรมใหม่" ได้อย่างไรบ้าง"

ผมเคยพูดกับใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือ แสดงความเห็นนี้ต่อครูใหญ่คนหนึ่งที่ผมถือเป็นต้นแบบชีวิต (เพื่อฝึกตนเองให้เป็น "ผู้ผลักนำการเปลี่ยนแปลง") ผมขอนำมาบันทึกพร้อม.....

ผมคิดว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้จาก 3 รูปแบบ คือ

  1. เปลี่ยนได้เพราะ "ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว" ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ คนที่มี role model ในใจ และต้องการฝึกฝนตนเองให้เหมือนคนนั้น ฯลฯ คือมี "เป้าหมาย" หรือ "ความอยาก" หรือ ความปรารถนาที่รุนแรง อาจเป็นความ "อยากได้ อยากเป็น" หรือ "ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น" (ไม่อยากเป็นอย่างที่เป็นอยู่)  ปัจจัยของความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง คือการเรียนรู้ฝึกฝนด้วยการลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ (อิธิบาท 4) เป็นเวลานานพอ (อาจจะ 21 วัน) ผมขอเสนอว่า เขาทั้งหลายเปลี่ยนแปลงได้เพราะ "การบังคับใจ"
  2. เปลี่ยนได้เพราะ "ความประทับใจ" (ประทับ คือนั่ง นั่งอยู่ในใจ คือติดตรา ตรึงใจ) หลายคนเปลี่ยนตนเองได้เพราะประทับใจหนังสือ(หรือแม้แต่บางหน้าของหนังสือบางเล่ม) หลายเปลี่ยนไปเพราะประทับใจในความสุขจากการทำความดี  ฯลฯ ผมขอเสนอว่า เขาทั้งหลายเหล่านั้น เปลี่ยนได้เพราะ "ประทับใจ ที่ได้รู้ความจริงของโลกภายนอก" เช่น เอ็ดการ์ มิตเชล เปลี่ยนไปเพราะรู้ประทับในใจเมื่อเห็นโลกทั้งใบตอนบินขึ้นไปบนอวกาศ ฯลฯ
  3. เปลี่ยนได้เพราะ "การรู้ใจตนเอง" หากเทียบกับข้อ 2. คนเราจะเปลี่ยนแปลงได้จาก "เห็นโลกตามความเป็นจริง" โลกในที่นี้คือ  กายกับใจของตนเอง นี่คือสิ่งที่ทางศาสนาพุทธเรียกว่า "มีปัญญา"  ว่ากันว่า พ่อแม่ครูอาจารย์ทางสายวัดป่าท่านหนึ่ง บอกว่า คนเราหมื่นปีก็ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเพียรฝึกตนตามธรรมะของพระพุทธเจ้า ใช้เวลาไม่นาน ก็เปลี่ยนได้ (อาจ 7 วัน 7 เดือน 7 ปี)

จะเห็นว่าทั้ง 3 ข้อ เกี่ยวกับ "ใจ"  ผมจึงสรุปว่า การเดินทางสู่การเป็น "นักผลักนำสู่การเปลี่ยนแปลง" นั้น ผมต้องทำ 3 บทบาท ได้แก่

  1. เป็น "นักขับเคลื่อนแบบกัลยาณมิตร" ให้ผู้เรียน เกิดแรงบันดาลใจที่จะ "บังคับใจ" ในการฝึกฝนปฏิบัติตนเอง และเรียนรู้จนอาจเกิด "ความประทับใจ" ในความจริงที่เขาได้รู้
  2. เป็น "นักวิชาการแบบชำนาญปฏิบัติ" เพื่อ ทำหน้าที่สะท้อน (Reflection) วิเคราะห์ สังเคราะห์ สื่อสาร และเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดี ของเพื่อนครู ผู้เรียน และกัลยาณมิตรอื่นๆ ให้ทุกคนได้ประโยชน์ และได้เรียนรู้ร่วมกัน
  3. เป็น "นักสร้างเครือข่ายแบบหลายมิติ" มองอย่างเป็นองค์รวม ประสานทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าที่สุด โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ว่ามาทั้งหมด โปรดอย่าเชื่อนะครับ เพราะผมเองก็ยังต้องฝึกฝนตนเองต่อไป

หรือท่านว่าไงครับ


คำสำคัญ (Tags): #อ.ต๋อย มหาสารคาม
หมายเลขบันทึก: 532953เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณสำหรับโครงการ LLEN มหาสารคาม ที่ผมได้เรียนรู้ผ่านเพื่อนของผม
แต่ที่น่าเศร้าคือ ในขณะที่ทำกิจกรรม PBL แบบนี้ แล้วยังต้องพานักเรียน
ไปติวเพื่อสอบโอเนต ให้ได้คะแนนสูง ๆ  ควบคู่กันไปด้วย  นักวิชาการ 2
กระบวนทัศน์ที่ไม่อาจไปด้วยกันได้  วิชาการนี้มันลึกลงไปในหลุม (หรือ หอคอย)
ของใครของมันจริง ๆ 


ขอบคุณสำหรับบทความดีๆและมีบริบทของตนเองคือข้อ 2 ค่ะทำหน้าที่ทุกวันนี้อย่างมีความสุขเพราะประทับใจในลูกศิษย์ที่น่ารัก

ผมเองคิดว่า ตนเองพัฒนาชีวิต ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราทั้ง 3 ข้อประกอบกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท