การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองได้ตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน


กฎหมายส่งเสริมการลงทุนบัญญัติให้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศได้ตามจำนวนและระยะเวลาตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นสมควร
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 25 ได้บัญญัติให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับอนุญาตให้นำช่างฝีมือ หรือผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยได้ตามจำนวน และกำหนดระยะเวลาให้อยู่ภายในประเทศเท่าที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรรวมตลอดถึงคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ แม้ว่าจะเกินอัตราจำนวนคนเข้าเมือง หรือระยะเวลาให้อยู่ภายในประเทศตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง บทบัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว เป็นบทบัญญัติยกเว้นกฎหมายหลัก คือ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งหลักการให้สิทธิประโยชน์ได้มีมาตั้งแต่กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับเก่า ๆ แล้ว ผู้ที่จะได้รับสิทธิตามกฎหมายนี้คือ ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ที่จะร้องขอเพื่อนำบุคคลต่างประเทศที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของตน ไม่ใช่เป็นสิทธิของบุคคลต่างด้าวที่จะเข้าเมือง สำหรับบุคคลต่างประเทศที่ผู้ได้รับการส่งเสริมมีสิทธิจะนำเข้ามาได้ กฎหมายระบุว่าจะต้องเป็น “ช่างฝีมือ” หรือ “ผู้ชำนาญการ” คำว่า “ช่างฝีมือ” หมายถึง วิศวกร ช่างเทคนิค ฯลฯ แต่ไม่หมายรวมถึง ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบริการ หรือฝ่ายการเงิน ส่วนคำว่า “ผู้ชำนาญการ” เป็นคำกว้างและมิได้บัญญัติว่าชำนาญการด้านใด ซึ่งอาจหมายถึงชำนาญการด้านจัดการ บริหาร การเงิน หรือ การตลาดก็ได้ ดังนั้น ผู้ได้รับการส่งเสริมจะมีสิทธินำเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบริการ หรือฝ่ายการเงิน เข้ามาได้ ตามความหมายของคำว่าผู้ชำนาญการ แต่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หรือเจ้าของเงินทุนที่เป็นบุคคลต่างด้าวจะขอรับสิทธิเข้าประเทศโดยอาศัยความในมาตรา 25 นี้ ไม่ได้ เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้นำเข้าได้เฉพาะ “ช่างฝีมือ หรือ ผู้ชำนาญการ” ฉะนั้นจึงไม่อาจหมายถึงเจ้าของเงินทุนต่างประเทศได้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่เจ้าของเงินทุนนั้น จะเป็นผู้ชำนาญการทางการเงิน การตลาด หรือด้านอื่น ซึ่งจะอยู่ในข่ายที่จะตีความว่าเป็น “ช่างฝีมือ หรือผู้ชำนาญการ” นอกจากบุคคลดังกล่าว คือช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการแล้ว กฎหมายยังให้คลุมไปถึง คู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และบุคคลต่างด้าวที่จะเข้ามา เพราะถ้าจะอนุญาตให้เข้ามาได้แต่เฉพาะตัวช่างฝีมือและผู้ชำนาญการ แต่ไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้ามาด้วย อาจทำให้ช่างเทคนิค หรือผู้ชำนาญการนั้นไม่เต็มใจจะเข้ามา ซึ่งจะทำให้เป็นภาระแก่ผู้ลงทุนในการเสาะหาช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการอื่นอีก จากที่ได้กล่าวข้างต้น ทำให้มีปัญหาว่า คำว่า “บุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว” จะมีความหมายแค่ไหน ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการจะขอนำเอาพ่อแม่ หรือคนขับรถเข้ามา โดยอ้างว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในความอุปการะของตนจะได้หรือไม่ เนื่องจากในพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน ไม่ไดให้คำนิยามของคำว่า บุคคลซึ่งอยู่ในความอุปการะไว้ ในกรณีดังกล่าว ควรจะต้องถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งวางหลักในเรื่องอุปการะเลี้ยงดูไว้ว่า “ บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา และบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรในระหว่างเป็นผู้เยาว้และบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้” ดังนั้น คำว่าบุคคลที่อยู่ในอุปการะเลี้ยงดู ในกฎหมายลงทุนนี้ จึงมีความหมายเฉพาะบิดา มารดา หรือบุตร ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว ไม่รวมถึงหลาน หรือคนรับใช้ หรือคนขับรถ ซึ่งในกฎหมายลงทุนของบางประเทศระบุไว้ชัดเจนว่า ให้นำเข้าได้เฉพาะคู่สมรส หรือบุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปี และยังไม่แต่งงาน ส่วนจำนวนคนที่จะเข้ามาและกำหนดเวลาที่จะอยู่ในประเทศ กฎหมายกำหนดให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งคณะกรรมการสามารถใช้ดุลพินิจว่าจะอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้าเมืองได้จำนวนเท่าใด ระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะอนุญาตให้อยู่ได้ภายในเวลาจำกัด คือระยะเวลา 2 หรือ 3 ปี ซึ่งหากไม่มีการต่ออายุ คนต่างด้าวนั้นก็จะต้องเดินทางกลับออกไป ในทางปฏิบัติการจะขอนำเข้าช่างฝีมือ หรือผู้ชำนาญการ เข้ามาในประเทศ จะต้องเป็นไปตามระเบียบและวิธีการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้วางเอาไว้ คือ ขั้นตอนแรกต้องยื่นคำขออนุมัติ จำนวนและตำแหน่งหน้าที่ที่จำต้องใช้บุคคลต่างด้าวต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อน เมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นว่า ตำแหน่งหน้าที่ใด และจำนวนเท่าใด ควรให้คนต่างด้าวทำ ก็จะพิจารณาอนุมัติเรียกว่า อนุมัติตำแหน่ง หลังจากอนุมัติตำแหน่งแล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะต้องกรอกแบบฟอร์มรายละเอียด เกี่ยวกับช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการแต่ละคน เพื่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติในการนำบุคคลเข้ามา สิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการเข้าเมืองและการทำงานของบุคคลต่างประเทศในด้านสิทธิการเข้าเมือง กฎหมายส่งเสริมการลงทุนบัญญัติให้ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถนำช่างฝีมือ หรือผู้ชำนาญการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศได้ตามจำนวนและระยะเวลาตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นสมควร ถึงแม้ว่าจะเกินจำนวนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นก็ตาม
หมายเลขบันทึก: 53295เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท