ด.ช.เก่ง ไร้สัญชาติ บุตรบุญธรรมคนไร้สัญชาติ


ด.ช.เก่ง ไร้สัญชาติ บุตรบุญธรรมคนไร้สัญชาติ[1]

โดย ชาติชาย  อมรเลิศวัฒนา[2] เขียนเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๖

 

ด.ช.เก่ง (ไม่มีนามสกุล) เป็นเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ จากแม่ที่ใช้ภาษาพม่าซึ่งในขณะที่เกิดนั้นแม่ไม่มีเอกสารประจำตัวใด ๆ ที่ใช้แสดงตนว่าชื่ออะไร สัญชาติอะไรและ มิได้แจ้งชื่อว่าพ่อของน้องเก่งคือใคร เธอมีแต่ชื่อเล่นที่คนไทยตั้งให้ว่า “กุ้ง”

 

เมื่อเกิดมาด.ช.เก่ง อยู่พร้อมกับแม่ได้เพียง ๑ เดือนเศษเท่านั้น แม่ก็เดินทางไปสุราษฎร์ธานี โดยได้ยกด.ช.เก่ง ให้เป็นบุตรบุญธรรมของคุณสุลต่าน อาเหม็ด ชาวโรฮิงยา ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานกระทั่งได้รับการสำรวจและจัดทำเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน

ด.ช.เก่ง ได้รับการแจ้งเกิดย้อนหลังใน ๓ ปี ต่อมา เมื่อพ่อบุญธรรมได้รับคำแนะนำว่าเขาจะต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายสุลต่านจึงต้องดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่ ขอหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑
จากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่าพ่อแม่ของด.ช.เก่งไม่มีบัตรประจำตัวจึงไม่สามารถที่จะมอบให้ได้

 

นายสุลต่านจึงได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือมายังอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ช่วยเหลือเรื่องการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทางสภาทนายความจึงได้ดำเนิน
กระทั่งทางโรงพยาบาลนพรัตนราชธานียอมออกหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๑/๑ และมอบอำนาจให้หัวหน้างานเวชระเบียนทำหน้าที่เจ้าบ้านไปดำเนินการแจ้งเกิด ณ สำนักงานเขตคันนายาว และตั้งชื่อให้ว่า “ด.ช.เก่ง”โดยได้รับสูติบัตรบุตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนประวัติกลาง ๐/๘๙ แขวง/เขตคันนายาว กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓

 

ทั้งด.ช.เก่ง บุตรบุญธรรม และนายสุลต่าน อาเหม็ด พ่อบุญธรรม จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไร้สัญชาติทั้งคู่

 

เมื่อด.ช.เก่ง เป็นผู้เยาว์การเป็นบุตรบุญธรรมของนายสุลต่านจึงต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ด.ช.เก่ง เสียก่อน เมื่อนายสุลต่านไม่สามารถที่จะตามตัวน.ส.กุ้ง แม่ด.ช.เก่งมาให้ความยินยอมได้เพราะหลังจากที่มอบด.ช.เก่งให้นายสุลต่าน ๔ เดือนแล้วไม่ติดต่อกลับมาเลยอีกทั้งไม่รู้ว่าพ่อของด.ช.เก่งเป็นใคร นายสุลต่าน จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของพ่อแม่ด.ช.เก่ง

 

ซึ่งต่อมาในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของพ่อแม่ด.ช.เก่ง ในการที่นายสุลต่านจะรับด.ช.เก่งเป็นบุตรบุญธรรม

 

เมื่อเอกสารครบถ้วนทางอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ สภาทนายความจึงได้ติดต่อประสานงานกับทางศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมด้วยวาจาก็ได้รับการปฏิเสธที่จะรับคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยอ้างว่าในกรณีนี้ภูมิลำเนาของนายสุลต่านไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๓) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๑๑[3] และข้อ ๑๒[4]

 

ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๕ ทางอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ฯ สภาทนายความ จึงได้นำนายสุลต่าน และด.ช.เก่ง พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ และหนังสืออุทธรณ์คำสั่งหากได้รับการปฏิเสธรับคำขอไปยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเป็นทางการ ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ปรากฏว่าทางศูนย์อำนวยการ ฯ ยอมรับคำร้องและแจ้งว่าเรื่องของนายสุลต่านได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

 

ต่อมาทางศูนย์อำนวยการ ฯ ได้แจ้งไปยังนายสุลต่าน ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งมาแล้วว่ากรณีนายสุลต่านสามารถรับด.ช.เก่ง เป็นบุตรบุญธรรมได้ ขอให้นำนางอาบีน่า แบกล่อล[5] และเอกสารต่าง ๆ[6] ไปดำเนินการต่อไป

 

ปัจจุบันนายสุลต่าน กำลังดำเนินเรื่องเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบว่าในอนาคตจะประสบปัญหาอะไรอีก แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาก็มีไว้ให้แก้ไข จนกว่าการรับด.ช.เก่งเป็นบุตรบุญธรรมจะเสร็จสิ้นแล้วเริ่มต้นปัญหาเรื่องการย้ายทะเบียนประวัติด.ช.เก่งออกจากทะเบียนประวัติกลางเพื่อให้มีภูมิลำเนาเดียวกันกับนายสุลต่าน
ตลอดจนการทำบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนของด.ช.เก่ง

 


 

[1]บทความเพื่อกิจกรรมอบรมองค์ความรู้ที่ ๔: ชุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็กมีรัฐ แต่ไร้สัญชาติ ใน
“โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Training for Hard
Core Team for Knowledge on Right to legal Personality) ของเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งรับผิดชอบโครงการ โดย คณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็กตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

[2]ทนายความ คลินิกกฎหมายด้านสิทธิและสถานะบุคคล ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี, อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

[3]
ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี
ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่น
ให้ยื่นคำขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ณ สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ
โดยให้ยื่นพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
และต้องแนบเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมดังต่อไปนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย...

[4]
ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาในต่างประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และมีระยะเวลาสำหรับการทดลองเลี้ยงดูในประเทศไทยไม่น้อยกว่าหกเดือนให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยให้ยื่นพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและต้องแนบเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมดังต่อไปนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย...

[5]
ภรรยานายสุลต่าน  อาเหม็ด ที่มิได้จดทะเบียนสมรส

[6]
ใบรับรองแพทย์ที่มีผลการทดสอบสภาพจิตตามกระบวนการทดสอบทางจิตวิทยา,ผลการตรวจประวัติอาชญากรรม
(โดยขอให้มารับหนังสือประสานงานสถานีตำรวจที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม,บัตรประจำตัวและหลักฐานทะเบียนประวัติของนางฮาบีน่า แบกล่อล (ฉบับจริงและสำเนา ๑ ชุด), รูปถ่ายขนาด ๔.๕ x ๖ เซนติเมตร
ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกินหกเดือน จำนวน ๒ รูป








หมายเลขบันทึก: 532925เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาตามดูน้องเก่งกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท