เขตไทผู้ซึ่งรัฐไทยรับรองสัญชาติพม่า บุตรบุญธรรมคนสัญชาติไทย


เขตไทผู้ซึ่งรัฐไทยรับรองสัญชาติพม่า บุตรบุญธรรมคนสัญชาติไทย[1] 

โดย ชาติชาย  อมรเลิศวัฒนา[2]

เขียนเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๖

 

นายเขตไท (ไม่มีนามสกุล) เป็นเด็กที่เกิดในโรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ แต่ได้รับการแจ้งเกิดย้อนไปเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นั้นหมายความว่ามีการแจ้งเกิดย้อนหลังถึง ๑๓ ปี
และเป็นการแจ้งเกิดที่พิจารณาสถานะการเข้าเมือง และหลักฐานของพ่อแม่ในขณะที่มีการแจ้งเกิด มิใช่พิจารณาสถานะของพ่อแม่ในขณะที่นายเขตไทเกิด การแจ้งเกิดและมอบสูติบัตรให้แก่นายเขตไทจึงผิดไปจากกฎหมาย[3]
และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมใช้ดุลยพินิจผิดไป


กลายเป็นกรณีพิพาทเนื่องจากการไม่มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้แก่ผู้รับบุตรบุญธรรมเพื่อสิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
 

กล่าวคือนายเขตไท ได้รับการแจ้งเกิดโดยเทศบาลเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี ให้ได้รับสูติบัตรบุตรบุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ ท.ร.๐๓ ได้รับหมายเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วย ๐๐ แต่ทว่าในปี ๒๕๓๙ ยังมิได้มีการจัดทำหรือการกำหนดเรื่องแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษท.ร.๓๘/๑[4] พ่อแม่ของนายเขตไทจึงไม่อาจมีทะเบียนประวัติในขณะที่เกิดนายเขตไทได้ นายจะเร พ่อ และนางเอ๋ แม่ จึงไม่มีเอกสารแสดงตัวบุคคลแต่ประการใด จึงเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ดังนั้นการแจ้งเกิดย้อนหลังที่ถูกต้อง นายทะเบียนเทศบาลเมืองปทุมธานีจะต้องออกสูติบัตรบุตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร.๐๓๑ และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย “๐”

 

ผลของการที่ออกสูติบัตรผิดไปก็คือนายเขตไทกลายเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่เกิดในประเทศไทย แทนที่จะเป็นบุตรของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่เกิดในประเทศไทย แม้ว่าสูติบัตรทั้ง ๒ ประเภท คือ ท.ร.๐๓ และ ท.ร.๐๓๑ จะไม่ได้ระบุสัญชาติเอาไว้ แต่ในช่องรายการสัญชาติของพ่อแม่ในสูติบัตร .   ท.ร.๐๓ ที่นายเขตไทถืออยู่ในปัจจุบันกับถูกระบุว่ามีสัญชาติพม่า เมื่อนายเขตไทได้รับการบันทึกเข้าไปในทะเบียนประวัติ ท.ร.๓๘ รายการสัญชาติของนายเขตไทจึงปรากฏขึ้นว่ามีสัญชาติพม่า โดยหาได้พิจารณาจากเอกสารแสดงตัวบุคคลที่ออกโดยประเทศพม่าแต่อย่างใด

 

สัญชาติพม่าดังกล่าวนั้นได้มาโดยอัตโนมัติ หรือกล่าวคือได้มาจากการรับรองของรัฐไทยว่ามีสัญชาติพม่าโดยอนุมานเอาจากสัญชาติที่ปรากฏในรายการของพ่อแม่และเมื่อนายเขตไทเข้ารับการถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ
เพื่อระบุตัวตนในแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ ท.ร.๓๘/๑ แล้ว รายการสัญชาติพม่าของนายเขตไทจึงปรากฎให้เห็นเด่นชัด

 

นายเขตไทได้รับการยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทย โดยนางเอ๋ แม่ของนายเขตไทได้ทำหนังสือยินยอมเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการยื่นคำขอรับบุตรบุญธรรม ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

 

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๔ คนสัญชาติไทยที่มีอาชีพเป็นคนงานของพระเจ้า มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ
ได้ยื่นคำขอรับนายเขตไทเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมเอกสารต่างๆ ทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านทั้งของผู้รับและภรรยา, สูติบัตร ท.ร.๓๘ และท.ร.๓๘/๑ ของนายเขตไท, ท.ร.๓๘/๑ ของพ่อแม่นายเขตไท,
แบบคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บธ.๔, แบบแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอม แบบบธ.๖[5]

 

นับจากวันที่ยื่นถึงปัจจุบัน ผู้รับบุตรบุญธรรมและภรรยา นายเขตไท นายจะเร นางเอ๋ พ่อแม่นายเขตไทก็ยังมิได้รับการติดต่อจากศูนย์รับบุตรบุญธรรม และไม่เคยมีคำสั่งว่าจะให้ผู้รับนำนายเขตไทไปทดลองเลี้ยงดูหรือไม่[6]

 

กระบวนการกฎหมายในการรับนายเขตไทเป็นบุตรบุญธรรมให้เสร็จสิ้นจึงสะดุดลงมิอาจดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีคำสั่งให้หรือไม่ให้ทดลองเลี้ยงดู ถ้าไม่ให้ทดลองเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายใน ๖๐ วัน[7] ถ้าให้ทดลองเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรมก็จะต้องนำไปทดลองเลี้ยงดูหกเดือน[8] หากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอนุมัติให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ให้ดำเนินตามกฎหมายต่อไป หากคณะกรรมการดังกล่าวไม่อนุมัติให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลภายใน ๓๐ วัน[9]
 

เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อให้กระบวนการในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก้าวไปข้างหน้าผู้รับบุตรบุญธรรมจึงได้ขอความช่วยเหลือมายังอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ช่วยดำเนินการยื่นฟ้องศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควรเพื่อยืนยันสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวตามกฎหมายระหว่างประเทศหลายๆ ฉบับ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งว่าจะให้ทดลองเลี้ยงดูหรือไม่ ถ้าไม่ผู้รับบุตรบุญธรรมจะได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้กระบวนการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเสร็จสิ้นไป



[1]บทความเพื่อกิจกรรมอบรมองค์ความรู้ที่ ๔: ชุดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็กมีรัฐ แต่ไร้สัญชาติ ใน
“โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Training for Hard
Core Team for Knowledge on Right to legal Personality) ของเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ” ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ เมษายน ๒๕๕๖ ซึ่งรับผิดชอบโครงการ โดย คณะอนุกรรมการติดตามการให้สถานะบุคคลแก่เด็กตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ

[2]ทนายความ คลินิกกฎหมายด้านสิทธิและสถานะบุคคล ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี, อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์

[3]
หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท ๐๓๐๙.๑/ว ๘ เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ลว.๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ข้อ ก(๒) กรณีการแจ้งการเกิดเกินกำหนดของเด็กที่เป็นบุตรของคนต่างด้าว นายทะเบียนผู้รับแจ้งสามารถรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้ได้โดยปฏิบัติตามข้อ ๕๘ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร             พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งกำหนดให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ ๕๗ โดยนายทะเบียนจะต้องพิจารณาสถานะของบิดามารดาของเด็กที่แจ้งเกิดว่าในขณะที่เด็กเกิด บิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวกลุ่มใด ประเภทใด แล้วออกสูติบัตรให้ตามสถานะของบิดามารดาในขณะนั้นเช่นเดียวกับการแจ้งการเกิดในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ บิดามีสถานะปัจจุบันเป็นคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่มีเลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลประเภท ๘ มารดาเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นบุคคลประเภท ๐ แต่ปรากฏว่าในขณะที่บุตรเกิดบิดามีสถานะเป็นผู้ที่ได้รับการสำรวจบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นบุคคลประเภท ๐ ฉะนั้น การรับแจ้งการเกิดเกินกำหนดสำหรับกรณีนี้นายทะเบียนผู้รับแจ้งต้องออกสูติบัตรท.ร.๐๓๑ กำหนดเลขประจำตัวประชาชนประเภท ๐ เป็นต้น ทั้งนี้ การแจ้งการเกิดเกินกำหนดตามข้อนี้ให้หมายรวมถึงกรณีบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักรก่อนพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ใช้บังคับด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าเด็กที่ขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดจะต้องเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและไม่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก

[4]
การจัดทำแบบเริ่มต้นปี ๒๕๔๗ ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗
[5]
กฎกระทรวงฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๓) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๑๑
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอต่ออธิบดี
ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่น
ให้ยื่นคำขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ณ สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ว่าการอำเภอ หรือที่ว่าการกิ่งอำเภอ
โดยให้ยื่นพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
และต้องแนบเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมดังต่อไปนี้มาประกอบการพิจารณาด้วย...

[6]

พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี
ได้พิจารณารายงานการสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริง หรือเอกสารแสดงข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๐ และ มาตรา ๒๑
แล้วให้พิจารณาว่าจะควรให้ผู้ขอรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูต่อไปหรือไม่

          ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งว่าไม่ควรให้นำเด็กไปทดลองเลี้ยงดู ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด  

[7]
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ วรรค ๒

[8]
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๓ เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ทดลองเลี้ยงดูแล้ว ให้ผู้ขอรับเด็กรับมอบเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมไปทดลองเลี้ยงดูได้ 

          การทดลองเลี้ยงดูต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน

[9]
พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๘ เมื่อได้มีการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว ปรากฎว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่เหมาะสมที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และคณะกรรมการสั่งไม่อนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี สั่งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีเช่นนี้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมอบเด็กคืน และให้นำความในมาตรา ๒๔ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม 
          ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว...








 

หมายเลขบันทึก: 532923เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 11:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2013 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

                                    สุขสันต์วันสงกรานต์ประสานสุข

                                    นิราศทุกข์โรคภัยห่างไกลหาย

                                    สุขภาพสมบูรณ์เกื้อกูลกาย

                                    สิ่งใดหมายให้สมหวังประดังมา


เพื่อน้องเขตไทด้วยค่ะ เรามาลุยกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท