กรณีศึกษา : อดีตเด็กชายเอ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีอาญากรณีสวมชื่อในสูติบัตร


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

: กรณีอดีตเด็กชายเอ เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ และตกเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีอาญากรณีสวมชื่อในสูติบัตร

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่  13 เมษายน 2556

(บันทึกนี้ใช้ชื่อบุคคลสมมติและสถานที่สมมติ เพื่อรักษาข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของปัญหา)

---------------------------------

"กรณีศึกษามาจากเรื่องจริงซึ่งมีผู้ขอหารือมายังบางกอกคลินิกภายใต้โครงการศึกษาวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ชื่อบุคคลถูกสมมติขึ้น มิใช่ชื่อจริง ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลในกรณีศึกษา และบางกอกคลินิกกำลังรอให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่บุคคลในกรณีศึกษาที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องต่อไป”[1]

---------------------------------

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 เวลา 16.28 น. รศ. ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคำขอปรึกษาทางกฎหมายผ่าน Facebook[2] ซึ่งเป็นเว็ปไซต์เครือข่ายสังคม (Social Networking Website) โดยข้อความขอคำปรึกษานั้นมีรายละเอียดว่า

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

ดิฉันมีกรณีขอรบกวนปรึกษาอาจารย์ค่ะ รายละเอียด คือ วันหนึ่งมีคนนำ เด็กชายเอ อายุ2ขวบ มาฝากให้คุณยายเลี้ยง พร้อมกับสำเนาสูติบัตรเพียงใบเดียว ครอบครัวของคุณยายเลี้ยงเด็กชายเอ ด้วยความรักตลอดมา ส่งเสียให้เล่าเรียน โดยใช้สำเนาสูติบัตรที่ติดตัวมาตอนแรก จนกระทั่งเมื่อเด็กชายเอ อายุได้ 9 ขวบ คุณยายก็เสียชีวิตลง ครอบครัวของคุณยายก็เลี้ยงดูเด็กชายเอ ต่อมาเมื่อเด็กชายเอ อายุได้ 15 ปี จึงไปแจ้งขอทำบัตรประจำตัวประชาชนที่สำนักงานเขต โดยใช้สำเนาสูติบัตรฉบับดังกล่าว และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ได้ขอเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการยื่นสมัครเรียน และดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้เด็กชายเอ

ต่อมาเมื่อเด็กชายเอ อายุได้ 17 ปีเศษ กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เด็กชายเอ ถูกแจ้งข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน เหตุเนื่องมาจาก มีผู้แจ้งขอทำบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล เดียวกับเด็กชายเอ โดยมีสูติบัตรฉบับตัวจริง และบิดามารดาตามสูติบัตร มีตัวตนจริงและยังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้เด็กชายเอ กลายเป็นชายไม่มีชื่อ ไม่มีนามสกุล ดิฉันควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยให้เด็กชายเอ ได้มีชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน และได้มีอนาคตในการศึกษาต่อไป  ขอบพระคุณอย่างสูง”

จากข้อเท็จจริงข้างต้น พบว่า เด็กชายเอนั้น เป็นเด็กที่ถูกบุพารีทอดทิ้ง และปรากฏว่าสูติบัตรที่เด็กชายเอถืออยู่นั้น เป็นเอกสารปลอม ซึ่งสูติบัตรนี้เป็นเอกสารฉบับเดียวที่ได้บันทึกตัวตนของเด็กชายเอทางทะเบียนราษฎรไทย เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเอ ไม่ใช่บุคคลตามสูติบัตร จึงเป็นการปฏิเสธตัวตนของเด็กชายเออย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กลายเป็นว่าเด็กชายเอผู้นี้ ไม่เคยได้รับการบันทึกตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ดังนั้น เด็กชายเอ ย่อมตกอยู่ในสภาวะคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ บุคคลซึ่งน่าจะรู้ประวัติความเป็นมาของเด็กชายเอ และครอบครัวได้ดีที่สุด คือ คุณยายผู้เลี้ยงดูเด็กชายเอ ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่เด็กชายเออายุเพียง 9 ปี จึงไม่สามารถสืบหาประวัติ ความเป็นมาของครอบครัว และสืบหาตัวบุพการีของเด็กชายเอได้เลย ดังนั้น เด็กชายเอ ย่อมตกอยู่ในสถานะเด็กไร้รากเหง้า (rootless child) อีกด้วย

เมื่อพิจารณาสถานะบุคคลของเด็กชายเอแล้วนั้น ปรากฏว่าเด็กชายเอประสบปัญหาสถานะบุคคลอย่างร้ายแรง กล่าวคือ เด็กชายเอไม่เพียงตกหล่นจากการบันทึกทางทะเบียนราษฎร แต่เมื่อไม่อาจทราบข้อเท็จจริงว่าบุพการีของเด็กชายเอเป็นใคร และเด็กชายเอเกิดที่ใด จึงไม่อาจพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดทั้งตามหลักสืบสายโลหิตและหลักดินแดนของเด็กชายเอกับรัฐใดได้เลย ซึ่งหากเด็กขายเอยังตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ต่อไป เด็กชายเอย่อมเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิ และหากต่อมาเด็กชายเอมีครอบครัว บุตรของเด็กชายเอ ย่อมเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสภาวะคนไร้รัฐไร้สัญชาติเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณากรณีเด็กชายเอถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ และข้อหาใช้เอกสารปลอม จากข้อเท็จจริงน่าพิจารณาได้ว่า คุณยายผู้เลี้ยงดูเด็กชายเอ ได้รับมอบสูติบัตรมาจากคนที่นำเด็กชาเอมามอบให้ตน คุณยายจึงอาจเข้าใจว่าสูติบัตรฉบับนี้เป็นเอกสารระบุตนทางทะเบียนราษฎรของเด็กชายเอมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อคุณยายเสียชีวิต เด็กชายเอจึงใช้สูติบัตรปลอมดังกล่าวในการแสดงตน โดยอาจเข้าใจว่าเป็นเอกสารของตนเอง จนกระทั่ง เมื่อเด็กชายเอ อายุได้ 15 ปี ก็ได้ไปดำเนินการตามกฎหมายทางทะเบียนราษฎรไทย กล่าวคือ ไปแจ้งนายทะเบียนอำเภอเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชน โดยใช้สูติบัตรปลอมฉบับนี้ ต่อมาภายหลัง เด็กชายเอ จึงถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ และใช้เอกสารปลอม เนื่องจากการแจ้งขอทำบัตรประชาชนโดยสูติบัตรปลอมฉบับดังกล่าว ส่งผลให้เด็กชายเอต้องตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกฎหมายอาญาอีกด้วย

จากการข้อเท็จจริงข้างต้น มีประเด็นทั้งปัญหาสถานะบุคคล และปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กชายเอ ดังนี้

ประการแรก การตกอยู่ในสถานะเด็กไร้รากเหง้า ซึ่งประสบปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็กชายเอนั้น จะมีหนทางให้ความช่วยเหลืออย่างไร เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเอไม่มีข้อเท็จจริงอันสามารถพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดจากประเทศใดบนโลกได้เลย

ประการที่สอง การถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญาแก่เด็กชายเอนั้น ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่  อย่างไร

ประการที่สาม ความผิดฐานแจ้งความเท็จ และความผิดฐานใช้เอกสารปลอมของเด็กชายเอนั้น มีข้อพิจารณาอย่างไร

ประการที่สี่ เด็กชายเอตกเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ และเจ้าหน้าที่สามารถผลักดันเด็กชายเอส่งออกนอกประเทศไทยหรือไม่

ประการที่ห้า หน่วยงานใดมีหน้าที่ต้องเข้ามาจัดการปัญหาสถานะบุคคลของเด็กชายเอ และคุ้มครองสิทธิของเด็กชายเอตามกฎหมาย



[1] กรณีศึกษานี้ได้ใช้ในการนำเสนอเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าอบรมภายใต้ “โครงการอบรมทีมที่ปรึกษางานองค์ความรู้ด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย เพื่อเครือข่ายการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ (Training of Hard Core Team on knowledge of the Right to legal Personality : For Networks of National Child Protection Committee)” ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25– 26 เมษายน 2556 ณ โรงแรมปริ๊นส์ตั้น พาร์ค สวีท‏ ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร

[2] http://www.facebook.com


หมายเลขบันทึก: 532824เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2013 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2013 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท