มีโรงเรียนไปทำไม : 1. ยุคความรู้หาง่าย นำสู่ความตายของ “ผู้ชราอายุยืน ๑๕๐ ปี”


ทำไมต้องมีโรงเรียน ทำไมต้องไปโรงเรียน ในเมื่อโรงเรียนจัดการศึกษาผิดๆ และไม่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างแท้จริง

มีโรงเรียนไปทำไม  : 1. ยุคความรู้หาง่าย  นำสู่ความตายของ “ผู้ชราอายุยืน ๑๕๐ ปี”

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson  บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เหตุผลคือ ยุคนี้ความรู้หาง่าย   และคนเราขวนขวายเพื่อการเรียนรู้ได้ง่าย

การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ใช่การรับถ่ายทอดความรู้  แต่เป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากการปฏิบัติ  แล้วเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตน  ยิ่งสิ่งที่ลงมือทำยิ่งท้าทายและสนุก และต้องค้นคว้ามาก ปรึกษาหรือร่วมมือกับคนอื่นมาก การเรียนรู้จะยิ่งลึกและกว้างขวาง  และเราสามารถเรียนรู้ได้กับคนทุกซีกโลก ผ่านทางระบบ อินเทอร์เน็ต

กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้กันในระบบการศึกษาปัจจุบัน เน้นการถ่ายทอดความรู้  เน้นเนื้อหาวิชา  ซึ่งเป็นวิธีที่ล้าหลัง และไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง   การเรียนเนื้อหาวิชานั้น สมัยนี้หาได้ทั่วไปทั้งจากหนังสือ และจาก อินเทอร์เน็ต  หากโรงเรียนมีประโยชน์เพียงเป็นที่ถ่ายทอดเนื้อความรู้  ยุคนี้เรามีเครื่องมืออื่นที่ทำได้ดีกว่า สะดวกกว่า และสิ้นเปลืองน้อยกว่า

 การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา ร่วมกับใครก็ได้ที่เราชอบ  ไม่ใช่ร่วมกับครู และเพื่อนร่วมชั้นที่อายุเท่าๆ กัน ในห้องเรียน ในช่วงเวลาที่โรงเรียนเปิดเทอม เท่านั้น  และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเราอยากเรียน ต่อสิ่งที่เราอยากรู้  ไม่ใช่เรียนตามที่มีคนอื่นมาบอกให้เราเรียน 

หนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีโรงเรียน ทำไมต้องไปโรงเรียน  ในเมื่อโรงเรียนจัดการศึกษาผิดๆ  และไม่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างแท้จริง

โรงเรียนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีมาแล้ว ๑๕๐ ปี  คล้ายๆ กับว่า หลักการและรูปแบบการศึกษาคงที่ ๑๕๐ ปี  แต่โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  บัดนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียน  หากโรงเรียนจะดำรงอยู่ ก็ต้องไม่เป็นแบบเดิมๆ อีกต่อไป  

โรงเรียนในปัจจุบัน เน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กสอบผ่าน  นี่คือความผิดพลาด  การสอบผ่านกับการได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนรอบด้าน บูรณาการ และรู้จริง เป็นคนละเรื่องกัน

ดังนั้น การดำเนินการปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว  ต้องดำเนินการยกเครื่องโรงเรียน  ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง  ไม่ใช่ improvement  แต่เป็น doing differently  คือกิจกรรมที่โรงเรียนต้องไม่ใช่กิจกรรมแบบเดิม  ที่เช้าชึ้นมา นักเรียนมาโรงเรียน  ระฆังเข้าแถว  ชักธงชาติ  ครูอบรมหน้าเสาธง (นักเรียนตากแดดร้อน และไม่ได้ฟัง)  เดินแถวเข้าห้อง  สวดมนตร์ไหว้พระ (ยังมีอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ)  ครูบอกว่าวันนี้จะเรียนอะไร  ฯลฯ  กิจกรรมแบบ “หลักสูตรกำหนด”  “ครูกำหนด”  เหล่านี้ต้องเลิก  เปลี่ยนไปเป็นกิจกรรมที่ “นักเรียนกำหนด”  

ความอุดมของความรู้ มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด

“ความรู้หาง่ายอยู่ที่ปลายนิ้ว” เป็นคำที่พูดกันทั่วไป คือเรามีช่องทางต่อ อินเทอร์เน็ต ก็ค้นโดยใช้ กูเกิ้ล ได้  หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปี ๒๕๕๕ บอกว่ามีคน ๒ พันล้านคนในโลก ที่เชื่อมต่อกันด้วย อินเทอร์เน็ต  (ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น ๕ พันล้านในปี ๒๕๖๓)  เรามีเว็บเพจ ๑ ล้านล้านเว็บ  แต่ละวันมีคนเอาวิดีทัศน์ขึ้น YouTube ยาวเท่ากับเวลา ๘ ปี  วิกิพีเดียในภาคภาษาอังกฤษมี ๔ ล้านรายการ ฯลฯ 

นอกจากความรู้หาง่ายแล้ว คนจำนวนมากก็เข้าถึงด้วย  ดังผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ ๙๕ ของเด็กอายุ ๑๒ - ๑๗ ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ  ในจำนวนนี้ร้อยละ ๗๖ ใช้ โซเชี่ยล มีเดีย  ร้อยละ ๗๗ มีโทรศัพท์มือถือ  สองตัวเลขหลังในคนอายุ ๑๘ - ๒๙ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๔ และ ๙๗ ตามลำดับ  ข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทยอาจไม่สูงเท่า และแตกต่างไปตามกลุ่มตามระดับเศรษฐสังคม  แต่ก็มีแนวโน้มเดียวกัน คือความรู้มีมากและหาง่าย  ไม่จำเป็นต้องไปรับที่โรงเรียนก็ได้

เปรียบเทียบกับโลกสมัยเรายังเด็ก แตกต่างราวฟ้ากับดิน  สมัยโน้นโรงเรียนคือแหล่งความรู้ ที่หาที่อื่นได้ยาก

  เขาอ้าง Michael Welsch ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส สเตท ว่า “มีคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วไป, มีสารสนเทศอยู่ทุกหนทุกแห่ง, มีเครือข่ายอยู่ทุกหนทุกแห่ง, มีความเร็วไม่จำกัด, เกี่ยวกับทุกสิ่ง, ทุกที่, ที่เครื่องมือทุกชนิด ที่ทำให้การติดต่อ จัดการ และเปลี่ยน ร่วมมือ และเผยแพร่”  นี่คือแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่ใช่โรงเรียน 

สำรวจนอกโรงเรียน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนยุค (disruption) เต็มไปหมด  แต่โรงเรียนยังเหมือนเดิม  (ถึงตรงนี้ผมขอแถมว่า รวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วย)  

และเพิ่มเติมได้อีกว่า โทรทัศน์มีหลายร้อยช่อง ดูด้วยโทรศัพท์มือถือก็ได้  เช่นเดียวกันกับวิทยุ

ข้อจำกัดคือ เราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้ไม่เป็น  คนไทยเอาไว้เล่นและบันเทิงมากกว่าเพื่อเรียนรู้ หลายเท่านัก   รวมทั้งใช้ไปในทางเสื่อมเสีย แทนที่จะใช้ในทางสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้พัฒนาตน   นั่นคือสิ่งที่เราต้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของเรามีทักษะ (และฉันทะ)  เพื่อให้เขา “มีการศึกษา” ในนิยามใหม่ ที่จะกล่าวในหัวข้อข้างล่าง

ผู้เขียนบอกว่า โลกยุคนี้เป็นโลกของการเชื่อมต่อ (connection)  ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อทาง อินเทอร์เน็ต  คนยุคนี้ต้องฝึกใช้ประโยชน์ของการเชื่อมต่อนี้  และฝึกให้เข้มแข็งรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของหการเชื่อมต่อ 

ต้องรู้จักเข้าถึงการเชื่อมต่อ  ใช้เครื่องมือเพื่อเชื่อมต่อเป็น  เชื่อมต่อแล้วเข้าถึงความรู้หรือสารสนเทศที่ต้องการเป็น  ไม่มัวเสียเวลากับความรู้หรือสารสนเทศที่เขาเอามาล่อ  รู้จักแยกแยะระหว่างความรู้/สารสนเทศที่ดีกับที่ไม่ดี  รู้จักเลือกและใช้ประโยชน์ความรู้/สารสนเทศที่ดี/เหมาะสม ที่สุด  รู้จักเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับผู้อื่น ออนไลน์  ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง  และรู้จักแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้/สารสนเทศ กับคนอื่น (อย่างสร้างสรรค์) 

เด็กของเรา “ไม่รู้หนังสือ” ในนิยามใหม่

คำว่า “รู้หนังสือ” (literacy) ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องนิยามใหม่   ว่าไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น เท่านั้น อีกต่อไป  ต้องขยายไปสู่ความสามารถในการใช้ประโยชน์ของ ICT และการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของตน

NCTE ของสหรัฐอเมริกา ได้นิยาม 21st Century Literacies ไว้ ที่นี่  ซึ่งจะเห็นว่า คำว่าเรียนเพื่อ “รู้หนังสือ” ไม่เพียงพอเสียแล้ว  หรือหากกล่าวแรงๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด ใช้ไม่ได้อีกต่อไป  การศึกษาเพื่อรู้หนังสือเป็นวิธีคิดของเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว  ใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบันที่โลกมันเปิดและเชื่อมต่อ ถึงกันหมด  คนในสมัยนี้ต้องรู้วิธีเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ทั่วโลก  และมีทักษะในการสร้างความรู้  และทักษะ(และฉันทะ) ในการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคนที่แตกต่างจากเราในด้านต่างๆ ทั่วโลก   และเนื่องจากการเรียนรู้ในสมัยนี้กับการทำงานเป็นสิ่งเดียวกัน  คนสมัยนี้จึงต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่อาจจะมีความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ แตกต่างจากตัวเราโดยสิ้นเชิง 


ข้อกำหนดของ NCTE : A New Set of 21st Century Competencies

การมีการศึกษา (Literacy)  เป็นชุดข้อปฏิบัติทางวัฒนธรรมและการสื่อสารของสมาชิก ของคนในสังคมกลุ่มหนึ่ง

เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยน นิยามของคำว่า “มีการศึกษา” (literacy) ก็ต้องเปลี่ยนด้วย  เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ทำให้สภาพแวดล้อมของการศึกษา ทวีความเข้มข้น และซับซ้อน  โลกในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเรียกร้องให้ผู้มีการศึกษาต้องมีความสามารถ และสมรรถนะที่กว้างขวางมาก  คือมีชุดการศึกษาหลายชุด (many literacies)  ชุดการศึกษาเหล่านี้มีลักษณะ ซับซ้อน เป็นพลวัต ปรับตัวได้ และเชื่อมโยงผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์ โอกาสในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของบุคคลและกลุ่มคน  บุคคลที่จะมีชีวิตที่ดีในสังคมโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องมีความสามารถ 

·  พัฒนาความสามารถ และความคล่องแคล่ว ในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี

·  สร้างความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับผู้อื่น  ลงมือเสนอ

  และร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาความคิดอิสระของตน

·  ออกแบบและแลกเปลี่ยนสารสนเทศ ต่อชุมชนโลก เพื่อเป้าหมายที่หลากหลาย

·  นำสารสนเทศจากหลากหลายทางในเวลาเดียวกัน มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ

จัดการ

·  สร้าง วิพากษ์ วิเคราะห์ และประเมิน สื่อผสม (multimedia)

·  เอาใจใส่ความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนนี้


ดังนั้น เราต้องสร้างคำใหม่ในภาษาไทย เพื่อสื่อคำว่า literacy ในภาษาอังกฤษ  เดิมเราใช้คำว่า “รู้หนังสือ”  ผมขอเสนอคำว่า “มีทักษะ”  โดยคำเต็มคือ “มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”  การศึกษาสมัยใหม่มีเป้าหมายเพื่อให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และการจะพัฒนาทักษะชุดนี้ขึ้นในตัวได้  ผู้เรียนต้องมีความรู้แกน และความรู้หลักสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เป็นฐานสำหรับงอกงามทักษะ  ซึ่งความรู้ชุดนี้ต้องเรียนไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาทักษะ

ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่เดิมอาจสื่อคุณค่าที่ไม่ตรงกับคุณค่าแห่งยุคสมัย  เช่นคำว่า “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  เราต้องตีความคำว่า “รู้วิชา” เสียใหม่ ว่าหมายถึง “มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” 

ในนิยามใหม่นี้ เด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับของไทยส่วนใหญ่ ยัง “ไร้การศึกษา” (illiterate)

วิจารณ์ พานิช

๑๑ เม.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 532753เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2013 02:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2013 02:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

...Will Richardson  บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ...

He has a point -- a very strong point!

There is no need to develop children to "one same model" -- if Nature lessons are learned, "varieties" are a better strategy for improvement (evolution).

สำหรับเรา. (นอกเมือง) แม้แต่ คำว่า "อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น" ในความหมายเดิม ยังคงเป็นปัญหาครับ .... ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ ยิ่งต้องแตกต่าง และต้องช่วยกันพัฒนากันเอง ......

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ขอบคุณครับอาจารย์ ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามที่หนังสือและอาจารย์กล่าวมาครับ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ กำลังจะจัดการระดมความคิดของคนทุกภาคส่วน ให้แสดงความคิดของแต่ละท่านว่าเราอยากให้ประเทศไทยมีประชาชนเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อจะได้วางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ได้ตามที่ต้องการ อยากเชิญอาจารย์เข้าร่วมแสดงความคิดด้วยครับ ไม่ทราบอาจารย์สนใจไหมครับ


สนใจครับ   ถ้าเป็นช่วงที่ไม่ติดนัดอื่นจะไปร่วมครับ

วิจารณ์

ในนิยามใหม่นี้ เชื่อว่าแม้แต่ตัวผมเองก็อาจจะยังเป็นคน “ไร้การศึกษา” และอาจรวมไปถึงผู้ที่กำหนดหลักสูตรการศึกษาของไทยด้วยเช่นกัน
ยังไงก็ตามผมไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกระบบโรงเรียนนะครับ เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามที่ว่า ก็ผมเชื่อว่าการไปโรงเรียนยังมีความสำคัญ การถ่ายทอดความรู้จากคนสู้คนโดยตรง และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ยังเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งจุดหมายของการศึกษาก็ไม่ควรมีเพียงเพื่อให้คนเรียนจบมาทำงานประกอบอาชีพเท่านั้น
หากเราเรียนหนังสือเพียงเพื่อจะต้องการใบปริญญาไปทำงานหาเงินเท่านั้นแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องพบกับปัญหาว่าจะต้องเรียนหนังสือ และใช้เวลากับพลังงานที่มากมายเพื่อเล่าเรียนเลย
ผมคิดว่าการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างหนักนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงเพื่อมีชีวิตที่สุขสบาย แต่เพื่อเป็นการขัดเกลาชีวิตของเรา เพื่อการปลูกฝังจิตใจและความคิดอีกด้วย หรือก็คือเพื่อการพัฒนาคุณภาพของชีวิตนั้นเอง และโรงเรียนก็คือสถานที่ที่สามารถจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของคุณสมบัติเช่นนี้ได้ แน่นอนครับว่าการเลือกไม่ไปโรงเรียนก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ผิด หากคนๆ นั้นรู้สึกว่าเส้นทางที่เขาเลือกเดินเพื่อไปถึงจุดหมายของตัวเขาเองนั้นเป็นเส้นทางที่ทอดตัวอยู่นอกรั่วโรงเรียนแล้วละก็ นั้นก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับคนๆ นั้นแล้วเช่นกัน แม้แต่บิล เกต, สตีฟ จ็อบ และมาร์ค ซัคเกอเบิร์ค ก็ตัดสินใจออกจากโรงเรียนเช่นกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท