ระบบอุปถัมภ์ ตอนที่ 3 วิวัฒนาการ


วิวัฒนการของระบบอุปถัมภ์

  ระบบอุปถัมภ์ของไทยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา จนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ในที่นี่แยกวิเคราะห์เป็นสามเรื่องด้วยกันคือ ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั่วๆ ไป ระบบอุปถัมภ์ในวงราชการ และระบบอุปถัมภ์ระหว่างข้าราชการกับนักธุรกิจ

  ในสมัยที่พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจสูงสุดในการปกครอง ระบบอุปถัมภ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม (อันนี้เป็นเฉพาะบางพระองค์)  คือพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งธรรม การให้ยศตำแหน่งหน้าที่แก่ขุนนางจึงควบคู่ไปกับคุณธรรม และมีระบบอุปถัมภ์เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้เพื่อคานกับความโน้มเอียงที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าจะกดขี่ขูดรีดไพร่ผู้อยู่ในอำนาจ`

    นอกจากนี้ระบบสังคมยังเป็นตัวที่ทำให้คนต้องหาผู้ที่มีอำนาจมากกว่าตนมาคอยคุ้มครองตน ระบบนี้มีอยู่ว่าผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองนั้นจะทำให้ผู้อยู่ภายใต้การปกครองกลัว กลัวว่าตนจะไม่ได้รับความปลอดภัยหรือไม่ได้รับประโยชน์ จนต้องทำให้ผู้ใต้ปกครองแสวงหาผู้ปกครองใหญ่แล้ว ผู้ปกครองก็จะทำให้ผู้ใต้ปกครองรู้ว่าไม่มีใครที่จะปกครองพวกตนได้ดีไปกว่าผู้ปกครองเอง จึงทำให้ผู้ใต้ปกครองต้องเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อผู้ปกครองอยากจริงใจ ก็เหมือนกับสภาพสังคมในประเทศ ที่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าย่อมต้องหาผู้ที่มีอำนาจสูกกว่ามาคอยปกป้องคุ้มครอง และอนุเคราะห์แก่ตัว จนเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ติดแน่กับนิสัยของคนในประเทศเราจนในเวลาต่อมา

    ความสัมพันธ์ในระบบราชการ เป็นเรื่องที่ผู้น้อยเอาใจผู้ใหญ่เพราะหวังการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง การได้เงินเดือนที่สูงขึ้น ส่วนเจ้านายหวังการสนับสนุนช่วยเหลือการงานพิเศษและบริการอื่นๆ การที่ต้องเลี้ยงลูกน้องเช่นนี้ทำให้ผู้ให้การอุปถัมภ์ต้องมีรายได้พิเศษ นอกเหนือจากเงินเดือนข้าราชการ ทำให้เกิดคอร์รัปชั่นหรือวิธีการหารายได้แบบอื่นๆ

    ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับนักธุรกิจ ที่รู้จักกันทั่วๆ ไปคือ ในสมัยโบราณ คนจีนอพยพต้องพึ่งความคุ้มครองของขุนนาง ต่อมาในสมัยพัฒนาการเศรษฐกิจ นักธุรกิจต้องพึ่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือในเรื่องสัมปทาน หรือให้ได้งานจากภาครัฐ เช่นการรับเหมาก่อสร้าง นับว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ เพราะมีพื้นฐานอยู่ที่ความเอื้ออาทร และความกตัญญู ข้าราชการผู้ให้การอุปถัมภ์ยังเลือกที่จะรับหรือไม่รับสิ่งที่ผู้รับการอุปถัมภ์หยิบยื่นมาให้

    เมื่อระบบตลาดขยายตัวมากขึ้น นักธุรกิจมีอำนาจทางการเงินสูงขึ้น ความมั่งคั่งเริ่มกลายเป็นที่มาของอำนาจ และถึงเวลานั้นระบบอุปถัมภ์ก็เปลี่ยนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ พ่อค้านักธุรกิจซึ่งเคยเป็นผู้รับการอุปถัมภ์ กลายเป็นผู้อุปถัมภ์ชนชั้นนำในวงราการ และเป็นหัวคะแนนให้ ส.ส.เท่ากับว่าเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย โดยมีข้าราชการและนักการเมืองจำนวนหนึ่งเป็นผู้แทนได้

    ระบบที่อำนาจเงินเป็นอำนาจสูงสุดเช่นนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนแบบตลาดมากกว่าระบบอุปถัมภ์ เพราะความสัมพันธ์ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่ที่คุณธรรม คือความเมตตา และความเอื้ออาทรของฝ่ายผู้ให้ แต่เป็นความโลภ ความต้องการร่ำรวย และการหวังประโยชน์โดยตรงเช่นต้องการความสะดวก ต้องการอำนาจผูกขาด เป็นต้น ส่วนผู้รับก็ไม่ได้มีความความภักดีหรือความกตัญญูตอบแทนให้ แต่ตกอยู่ในภาวะจำยอมด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เช่น ด้วยความจำเป็นด้านการเงิน หรือด้วยความกลัวเป็นต้น

    มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น ในความสัมพันธ์เชิงธุรกิจที่เคลือบมาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่กล่าวมานี้ ถ้าหากว่าผู้รับการอุปถัมภ์ไม่ได้ประพฤติหรือปฏิบัติตนให้ตรงตามข้อตกลง เช่น ลูกไร่บอกว่าไม่กล้าขายผลผลิตให้กับผู้อื่น เพราะกลัวตาย เจ้าพ่อในต่างจังหวัดก็ใช้วิธีรุนแรงเพื่อกำจัดคู่แข่งที่จะเข้ามาแย่งชิงสิ่งที่ตนเคยมีอำนาจและอิทธิพลแต่ผู้เดียว

    ถึงตรงนี้ก็พอจะแยกแยะความแตกต่างระหว่างระบบอุปถัมภ์ ระบบตลาด และระบบอุปถัมภ์แบบนักรัฐศาสตร์ออกจากกันได้ และเมื่อย้อนกลับมามองปรากฏการณ์สังคมในระยะนี้ก็จะเข้าใจมากขึ้น

    นอกจากนี้จะเห็นว่า อำนาจเปลี่ยนมืออีกครั้งจากนายทุนนักธุรกิจที่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์ขุนนางผู้ใหญ่และอยู่เบื้องหลังนักการเมือง กลับมาสู่ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินในยุคประชาธิปไตย คือคณะรัฐบาลอีกครั้ง เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งดังเดิมในอดีตที่ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือผู้น้อย เป็นผู้ให้คุณให้โทษกับผู้น้อยทั้งในระบบราชการและในกลุ่มธุรกิจ

    สังคมการเมืองในปัจจุบัน เป็นระบบอุปถัมภ์แบบรัฐศาสตร์ที่ก้าวไกลยิ่งขึ้น คือผู้ให้การอุปถัมภ์ไม่ได้ให้เฉพาะตำแหน่งหน้าที่แก่ผู้ที่มุ่งหวังให้กระทำการตอบแทนเท่านั้น ผู้อุปถัมภ์ใช้อำนาจที่เนื่องจากตำแหน่งหน้าที่ที่มีอยู่ เช่น การอนุมัติงบประมาณเพื่อกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่ได้ผลประโยชน์ตรงกับกลุ่มคนบางกลุ่มตามที่ประสงค์

    ถ้าหากวิธีการที่ใช้ เลยไปถึงว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกันที่ชัดเจนแบบหมูไปไก่มา และไม่ใช่การแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ปกติมีการซื้อขายกันในท้องตลาด หรือไม่ได้ซื้อขายกันตรงๆ อย่างเปิดเผย ก็คงจะต้องเรียกว่าเป็นระบบอุปถัมภ์แต่เปลือกหรือระบบนายทุนที่แฝงมาในคราบของระบบอุปถัมภ์มากกว่า

    นายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นเจ้านาย ขุนนางหรือผู้อุปถัมภ์แบบพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณที่ปกครองโดยธรรมก็ได้ หรือนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็น "เจ้าพ่อ" ในความหมายของระบบอุปถัมภ์ยุคเริ่มเบี่ยงเบน คือเจ้าพ่อซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพลทุกประการทั้งในที่ลับที่แจ้ง ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง เพื่อเรียกร้องความภักดีต่อหน้า(คือความกลัวที่ถูกเคลือบแฝงไว้) เพื่อรักษาและสร้างสถานะแห่งความเป็นเจ้าพ่อผู้มีอำนาจผูกขาด ไม่มีเจ้าพ่ออื่นเป็นคู่แข่งหรือเข้ามาเทียบรัศมีการเป็นเจ้าพ่อ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานแห่งศีลธรรมและแรงจูงใจที่กระทำ

    ปัญหาระบบอุปถัมภ์ส่งผลต่อการเมืองไทยในแง่ของการที่ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันขึ้นมาแล้วก่อให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน อีกประการการที่ข้าราชการและนักการเมืองอุปถัมภ์กันและกันทำให้ตำแหน่งบางตำแหน่งถูกนักการเมืองสามารถใช้อำนาจมาให้คุณให้โทษ แต่งตั้งพรรคพวกตนมาอยู่ในตำแหน่ง หรือจะเอาคนที่ไม่เห็นด้วยกับตนเองออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้ การทำงานของนักการเมืองเป็นไปในรูปของอำนาจที่แทบจะเรียกได้ว่าเบ็ดเสร็จเด็จขาดทั้งๆที่ระบบการเมืองยังเรียกตัวเองว่า ประชาธิปไตยอยู่หาใช่เผด็จการไม่

    ถ้าจะพิจารณาในสมัยของนายกรัฐมนตรีที่มีการโยกย้ายข้าราชการประจำ เลื่อนขึ้นเลื่อนตำแหน่ง แต่งตั้ง ข้าราชการประจำมากๆนั้น ที่สุดแล้วมักจะตามมาด้วยปัญหาคอร์รัปชั่นเสมอๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้มีตำแหน่งสูงๆที่มีอำนาจดังกล่าวกระทำดังนั้น แม้นช่วงแรกจะมีผู้ต่อต้าน แต่ก็หาสามารถต่อต้านได้ เพราะ นักการเมืองได้เขียนกฎหมายให้ตนเองสามารถมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการได้อย่างเต็มที่ ในที่สุดข้าราชการก็ต้องกระทำตามคำสั่งและตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพล และสำหรับผู้ที่ไม่ยอมเข้าเป็นพวกแล้ว ก็อาจถูกโยกย้าย แล้วก็แต่ตั้งผู้ที่อยู่ในกลุ่มหรือพวกเดียวกันเข้ามาแทน ดังที่เคยเห็นในสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา การที่เอาคนที่เคยถูกสั่งย้ายกลับมาในตำแหน่งเดิม หรือแต่งตั้งพวกหรือพรรคพวกตนเองเข้ามามีตำแหน่งในรัฐบาล ก็คือส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์อีกนั่นเอง การที่นำเอาพวกพ้องตนเองเข้ามาทำงานด้วยเยอะๆนั้น ในที่สุดก็จะส่งผลให้เกิดลู่ทางแห่งการโกงกินเพิ่มขึ้น การคอรัปชั่นต่างๆก็จึงตามมา 

    นอกจากการที่ระบบอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการแล้ว การอุปถัมภ์ระหว่างนักธุรกิจกับนักการเมืองและข้าราชการประจำก็ส่งผลกระทบต่อประเทศด้วย เพราะไม่ว่านักธุรกิจจะเป็นผู้อุปถัมภ์หรือถูกอุปถัมภ์ก็ตาม นักธุรกิจก็จะต้องทำงาน งานของนักธุรกิจส่วนใหญ่ก็คือการกระทำอย่างไรก็ได้เพื่อเพิ่มผลผลิตและกำไร ผลกำไรเป็นสิ่งสำคัญ แม้นนักธุรกิจบางคนจะมีคุณธรรมก็ตาม แต่ไม่ว่าอย่างไรผลกำไรก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อนักธุรกิจอยู่ดี ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนก็ต้องมีการถอนทุนเป็นธรรมดา ปัญหาการฮั้วประมูลต่างๆ จึงตามมา ส่งผลต่อบ้านเมืองที่ต้องสูญเสียเงินงบประมาณต่างๆมากกว่าปรกติ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นผลมาจากระบบอุปถัมภ์

     แต่ในที่นี้ผู้เขียนก็มีความคิดที่ว่า หากระบบอุปถัมภ์ประกอบไปด้วยแนวทางที่สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม ก็น่าจะนำมาสู่การพัฒนาของบ้านเมืองได้เพราะ การที่พวกเดียวกันมาทำงานด้วยกันย่อมง่ายต่อการประสานงานและ สั่งการ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระบบคุณธรรมของตัวบุคคลด้วย คนที่อุปถัมภ์ผู้อื่นก็ต้องมีคุณธรรมและเห็นผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง รับคนดีเข้ามาในตำแหน่งที่เหมาะสมไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากไปกว่าประโยชน์ส่วนรวม หากเป็นดังนี้ผู้เขียนคิดว่าแม้นเป็นระบบอุปถัมภ์ก็จะไม่ส่งผลกระทบในแง่ที่ไม่ดีต่อประเทศชาติทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม(เดี๋ยวค่อยมาวิจารณ์เรื่องเศรษฐศาสตร์ของการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันนะครับ) 

หนังสืออ้างอิง

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ระบบอุปถัมภ์. http://dc401.4shared.com/doc/HqI5aRHM/preview.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ปัญหาโครงสร้างประเทศไทย: ระบบอุปุถัมภ์. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=art19&date=09-04-2009&group=2&gblog=1 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

ลิขิต ธีรเวคิน. ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135236 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

สามหนุ่ม.ปัญหาระบบอุปถัมภ์ (Spoil System) มีผลประทบต่อกเมืองไทย. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=385823 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

Aum Neko. ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชกาการเมืองของคณะรัฐศาสตร์. http://prachatai.com/journal/2012/11/43706 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

อำพัน  ถนอมงาม.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยhttp://amphuntha.blogspot.com/ เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.ปฏิรูป ประเทศไทย ปฎิรูปอะไร?.  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=619854 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556


หมายเลขบันทึก: 532526เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2013 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2013 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท