ระบบอุปถัมภ์ ตอนที่ 2 ประเภท


ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยแบ่งได้เป็น 4  รูปแบบ  คือ

     1.ระบบอุปถัมภ์ในหมู่ญาติ  นับว่าเป็นระบบที่เก่าแก่มากระบบหนึ่งในสังคมไทย ตามวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างญาติอาวุโส  (พี่  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย)  กับญาติผู้น้อง  (น้อง  ลูก  หลาน  เหลน)  เป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์อย่างชัดเจน  และน่าจะเป็นระบบที่คงทนถาวรที่สุดด้วย

     2.ระบบอุปถัมภ์ในหมู่มิตรสหาย  ความเป็นเพื่อนในสังคมไทยปรากฏออกมาได้หลายรูปแบบ  เช่น  เพื่อนเล่น  เพื่อนร่วมรุ่น  เพื่อนร่วมชั้น  เพื่อนสถานศึกษา  และเพื่อนตาย  เป็นต้น  ความคาดหวังระหว่างเพื่อนมีความลึกซึ้งและมากกว่าบางสังคม  เพื่อนในสังคมไทยคาดหวังต่อกันและกันมากกว่า  ความเป็นเพื่อนแท้จึงมักจะวัดกันได้ด้วยพฤติกรรมการช่วย เหลือเกื้อกูลกัน  หรือการที่เพื่อนซึ่งมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่าให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนผู้ด้อยฐานะอย่างสม่ำเสมอ  ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนก็จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจนถึงขั้นกลายเป็นญาติสนิทกันก็ได้  เพื่อนผู้ที่ได้รับความอุปถัมภ์ทางด้านวัตถุก็จะตอบแทนด้วยความจงรักภักดี  การรู้จักบุญคุณ  คอยป้องกันเพื่อนผู้ให้ความอุปถัมภ์ด้วยวิธีการต่างๆ  ตามสติปัญญา  และความสามารถที่ตนมีอยู่  การตอบแทนบุญคุณบางครั้งก็แสดงออกด้วยการนำสิ่งเล็กๆ  น้อยๆ  มาให้ในโอกาสอันควร

     3. ระบบอุปถัมภ์ในองค์กรต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอก ชนก็ตาม  มักจะถูกมองในแง่ลบอยู่ตลอดเวลาว่า  ระบบอุปถัมภ์ทำให้ระบบบริหารขาดประสิทธิภาพ  ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่บ้าง  การใช้ระบบอุปถัมภ์มากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความระส่ำระสาย  เกิดการเสียขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอยู่นอกวงอุปถัมภ์ได้เช่นกัน

    4.ระบบอุปถัมภ์ระหว่างอาชีพ  เป็นระบบอุปถัมภ์ที่น่าจะมีลักษณะคงทนน้อยกว่าแบบอื่นๆ  ที่กล่าวมาแล้ว  แต่ลักษณะอื่นๆ  ของระบบอุปถัมภ์ก็ยังมีครบ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติต่างตอบแทน  ความสูงศักดิ์ของผู้อุปถัมภ์และความจงรักภักดีของผู้รับอุปถัมภ์  สำหรับสังคมไทย  ระบบอุปถัมภ์ระหว่างอาชีพหรือข้ามอาชีพนี้  อาจจำแนกได้เป็น 2  กลุ่มใหญ่ๆ  คือ กลุ่มข้าราชการ  พ่อค้า  กับกลุ่มนักการเมือง  ชาวไร่  ชาวนา  การอุปถัมภ์ระหว่างข้าราชการและพ่อค้าเป็นไปในรูปของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางด้านวัตถุระหว่างกันมากกว่า  คือว่าฝ่ายราชการจะอำนวยสิทธิประโยชน์ให้แก่พ่อค้า  นักธุรกิจ  ซึ่งจะเป็นฝ่ายทดแทนบุญคุณหรือตอบแทนด้วยการให้เงินทองหรือทรัพย์สินมีค่าอย่างอื่น

     จากการศึกษาระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย  แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยสามารถสรุปได้ดังนี้ 

    1.ความสัมพันธ์ตามระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากกระบวนการพัฒนา พูดอย่างง่ายๆก็คือ เจ้าพ่อจะน้อยลง แต่อยู่ในรูปของนักการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น

     2.การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  ซึ่งมีลักษณะหลายด้าน  (More  Differentiation) การเกิดทรัพยากรใหม่ๆ  ทำให้ผู้นำท้องถิ่นสร้างระบบอุปถัมภ์ของตนขึ้นมา  ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์สมัยใหม่จะมีลักษณะเฉพาะด้านมากขึ้น  เช่น  ผู้อุปถัมภ์แต่ละคนจะมีอิทธิพลเฉพาะด้าน  ซึ่งอาจมีอิทธิพลทางด้านการเมือง  หรือการฝากเข้าทำงาน  อิทธิพลในระบบราชการ  ฯลฯ

     3.ระบบอุปถัมภ์ใหม่ๆ  ไม่ค่อยจะมีลักษณะถาวร  มีลักษณะการตัก ตวงการใช้ผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ในช่วงสั้นๆ  มากขึ้น  มีความสัมพันธ์ทางจิตใจน้อยลง

     4.ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบใหม่มีลักษณะเชิงเฉพาะด้าน  มักจะมาจากภายนอกชุมชน  ทำให้ไม่เกิดความผูกพันทางจิตใจ  หรืออารมณ์ความรู้สึกมากนัก  การแลกเปลี่ยนเชิงวัตถุ  หรือการใช้สอย  (Instrumental  Exchange) เป็นหลัก

    5.การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น  ทำให้มีการขยายตัวของเมือง  และของประชาชน  บุคคลสามารถประกอบอาชีพได้โดยอิสระ  หรือไม่ค่อยผูกพันกับระบบอุปถัมภ์มากขึ้น  การมีอยู่ของระบบอุปถัมภ์ในสังคมใหม่ที่พยายามพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยจะเป็นการซ้ำซ้อนของสองค่านิยมซึ่งมีลักษณะที่ขัดแย้งกัน  ดังนั้น  หากสังคมมีการพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมากขึ้น  ระบบอุปถัมภ์ที่มีก็ย่อมจะลดลงไปด้วย

    กล่าวโดยสรุป  ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบหนึ่งที่มีความเป็นมาและพัฒนาการมาอย่างยาวนานร่วมกับสังคมไทยมาตั้งแต่เริ่มแรก  โดยเป็นระบบความสัมพันธ์ของคน 2  ฝ่าย  ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน  ฝ่ายที่อยู่เหนือกว่า  คือ  มีทรัพยากรมากกว่า  หรือสูงศักดิ์  มีอำนาจมากกว่า  จะอยู่ในฐานะอุปถัมภ์  ฝ่ายที่อยู่ต่ำกว่าคือ  ผู้ที่มีทรัพยากรน้อยกว่า  หรือมีอำนาจด้อยกว่าจะ เป็นผู้ใต้อุปถัมภ์  ต่างฝ่ายต่างมีการแสวงหาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในลักษณะต่างตอบแทน  ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคนทั้ง 2  ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพียงเพราะต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์เท่านั้น  แต่ต้องมีอุดมการณ์ที่ช่วยจรรโลงความสัมพันธ์อย่างนี้ เอาไว้  ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยเริ่มมีขึ้นในระบบสังคม  และแพร่กระจายไปสู่ระบบการเมือง  ผ่านทางชนชั้นนำ ทางการเมืองและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ  โดยเป็นการอุปถัมภ์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองด้วยกัน  หรือระหว่างชนชั้นนำทางเศรษฐกิจด้วยกัน  แต่ใน ระยะหลังนี้จะเห็นได้ว่า  มีการพัฒนาของระบบอุปถัมภ์  โดยเป็นการอุปถัมภ์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองกับชนชั้นนำทางเศรษฐกิจด้วย 

     การศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์นี้ถือเป็นแนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจถึงความเป็นมา  พัฒนาการ  รวมไปถึงบทบาทของกลุ่มธุรกิจการเมืองในประเทศไทย  และที่สำคัญคือกระบวนการประสานประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเมืองนั่นเองความสัมพันธ์นี้ยั่งยืนเพราะมีคุณธรรมของผู้ให้ และความภักดีของผู้รับเป็นตัวสนับสนุน นี่เป็นการมองของนักมานุษยวิทยา ซึ่งมองระบบนี้ในความสัมพันธ์ทุกด้านระหว่างบุคคลในสังคม ต่อมาเมื่อมีการซื้อขายสินค้ากันด้วยเงินตราผ่านระบบตลาดในสังคมมากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในระบบอุปถัมภ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในระบบตลาดความสัมพันธ์ไม่ใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่รู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร และมีกฎกติกาที่ชัดเจน เพื่อให้คนที่แปลกหน้ากันสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกันและกันได้

หนังสืออ้างอิง

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ระบบอุปถัมภ์. http://dc401.4shared.com/doc/HqI5aRHM/preview.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. ปัญหาโครงสร้างประเทศไทย: ระบบอุปุถัมภ์. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=art19&date=09-04-2009&group=2&gblog=1 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

ลิขิต ธีรเวคิน. ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย. http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000135236 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

สามหนุ่ม.ปัญหาระบบอุปถัมภ์ (Spoil System) มีผลประทบต่อกเมืองไทย. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=385823 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

Aum Neko. ระบบอุปถัมภ์ : ความสัมพันธ์ในสายงานราชกาการเมืองของคณะรัฐศาสตร์. http://prachatai.com/journal/2012/11/43706 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

อำพัน  ถนอมงาม.ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยhttp://amphuntha.blogspot.com/ เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง.ปฏิรูป ประเทศไทย ปฎิรูปอะไร?.  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=619854 เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2556



หมายเลขบันทึก: 532524เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2013 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2013 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท