ช้างป่าร่วมทำ KM กับชาวบ้านที่กุยบุรี
วันที่ 10 - 12 ต.ค.48 ไปร่วมประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT (brt.biotec.or.th) ที่ขอนแก่น ได้ความรู้มากมายและมีปิติสุขที่ได้เห็นความสำเร็จของโครงการที่เริ่มต้นในปี 2538 สมัยผมเป็น ผอ.สกว.
ยิ่งมีความสุขเมื่อได้เห็นลู่ทางที่จะเอา KM เข้าไปเสริมกิจการของโครงการ BRT
ที่จริงสามารถนำ KM ไปใช้เสริมความเข้มแข็งของโครงการ BRT ได้เป็นร้อยแบบ เนื่องจากโครงการ BRT (Biodiversity Research & Training) ไม่ใช่แค่ส่งเสริมการวิจัย แต่ส่งเสริมการสร้างคนพัฒนาคนที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งที่เป็นนักวิจัย นักอนุรักษ์และนักนำไปใช้ประโยชน์ เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการสร้างความรู้ขึ้นใช้ในบริบทของท้องถิ่นหรือของชาวบ้านเองด้วย
คุณสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และเป็นกรรมการคนหนึ่งของโครงการ BRT (www.wildlifefund.or.th) เล่าให้ผมฟังเรื่องการจัดการความรู้ของชาวบ้านในเรื่องของสัตว์ป่า คือช้างป่าที่กุยบุรี จ.ประจวบฯ ที่เข้ามากินสัปปะรดและทำลายไร่ของชาวบ้าน เดิมชาวบ้านใช้กระบวนทัศน์เกี่ยวกับช้างว่า ช้างไม่มีความรู้และความคิด ทางมูลนิธิฯ ได้ทดลองแนะนำชาวบ้านให้ทดลองทำ 3 อย่าง
1. เปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับช้าง เป็นคิดว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความรู้และความคิดเกี่ยวกับคน เราสามารถบอกให้ช้างค่อย ๆ เรียนรู้ได้ว่า
เราไม่อยากให้เขาทำอะไร
เพื่อไม่ให้เขาเข้ามารบกวนพืชผลในไร่ แต่ต้องค่อย ๆ
ทำให้ช้างเรียนรู้
2.
ชาวบ้านต้องรวมตัวกันดำเนินการเกี่ยวกับช้างและเรียนรู้ร่วมกับช้าง
โดยกลุ่มชาวบ้านเป็นผู้ส่งสัญญาณบอกช้าง
ให้ช้างได้เรียนรู้
3.
เมื่อชาวบ้านในแต่ละพื้นที่รวมกลุ่มกันดำเนินการอย่างไรแล้ว
มีการนัดวันกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการและผลการดำเนินการ
เพื่อเรียนรู้นิสัยของช้าง (การเรียนรู้ของช้าง)
และวิธีส่งสัญญาณให้ช้างรู้ว่าเราไม่ต้องการเข้ามารบกวนตรงไหนบ้าง
เห็นไหมครับ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ใช้ KM ทั้งกับชาวบ้านและกับช้างด้วย
ช้างป่าโดนทำ KM โดยไม่รู้ตัว
คุณสุรพล ดวงแข
วิจารณ์ พานิช
12 ต.ค.48
ขอนแก่น