คุ้มครองแรงงานชุมพร
สสค.ชุมพร สสค.ชุมพร สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร สสค.ชุมพร

กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน


กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน คือการรับงานจากนายจ้างมาผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือแปรรูปสิ่งของ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะต้องส่งมอบงานคืนให้กับนายจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้างนำไปขายเอง ดังนั้นกลุ่ม OTOP จึงไม่ใช่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน

        กระทรวงแรงงาน  ได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน  พ.ศ.2547  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่  กันยายน  2547

        ผู้รับงานไปทำที่บ้านคือ

        1.  งานที่ลูกจ้างรับจากนายจ้างไปผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือแปรรูปสิ่งของ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับค่าจ้าง

        2.   การทำงานจะต้องเป็นการทำงานในบ้านของลูกจ้างเอง  หรือเป็นสถานที่อื่นจะต้องไม่ใช่สถานประกอบกิจการของนายจ้าง

        3.   วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตจะต้องเป็นของนายจ้างทั้งหมดหรือบางส่วน

        4.   เมื่อทำงานเสร็จแล้วต้องส่งมอบคืนแก่นายจ้างไม่ใช่ลูกจ้างขายเอง

        ข้อกำหนดตามกฎกระทรวง

         1.   ในการส่งมอบงานให้ลูกจ้างทำจะต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบ

         2.   นายจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีข้อความตรงกัน  2  ฉบับ  มอบให้ลูกจ้าง  1  ฉบับ  ซึ่งสัญญานี้นายจ้างจะต้องพร้อมให้พนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ตรวจสอบได้  โดยในสัญญาจะต้องระบุรายการ  ดังนี้

               2.1.   วันและสถานที่ที่ทำสัญญา

               2.2.   ชื่อตัว ชื่อสกุล อายุ ที่อยู่ของนายจ้างและลูกจ้าง

               2.3.   ที่ตั้งสถานประกอบกิจการของนายจ้างและสถานที่ทำงานของลูกจ้าง

               2.4.   ประเภท ลักษณะและสภาพของงาน และสภาพของงานที่ส่งมอบให้ลูกจ้าง

               2.5.   วันและสถานที่ที่นายจ้างส่งมอบงานให้แก่ลูกจ้าง

               2.6.   อัตราค่าจ้าง

               2.7.   วันและสถานที่ที่นายจ้างรับมอบงานจากลูกจ้าง

               2.8.   วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง

         3.   การจ่ายค่าจ้าง นายจ้างต้องจ่ายให้ถูกต้องตามอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้าง  (ไม่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ)  และต้องจ่ายให้ลูกจ้างภายใน 15  วัน  นับแต่วันที่ลูกจ้างส่งมอบงาน

         4.   ความปลอดภัยในการทำงาน

               4.1.   ห้ามนายจ้างส่งมอบงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย  และความปลอดภัยให้ลูกจ้างทำ ในงานผลิต ประกอบ แปรรูปวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ  (งานทำพลุ งานทำดอกไม้เพลิง)  งานผลิตหรือบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายหรือวัตถุมีพิษ  เช่น  สารไซยาไนต์  สารก่อมะเร็ง เป็นต้น

               4.2.   ให้นายจ้างจัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน  และกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

         5.   กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย  หรือกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชยลูกจ้างสามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ตามที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกำหนด

         6.   กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ก็ได้

         โดยในส่วนของจังหวัดชุมพร  จากการสำรวจกลุ่มต่างๆ  พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นงานของกลุ่ม  OTOP  ซึ่งในกลุ่มของผู้รับงานไปทำที่บ้านจะมีจำนวนน้อย  และงานที่สำรวจพบจะเป็นงานตัดเย็บเสื้อผ้า  ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพรจะได้มีการดำเนินการต่อไป

    

                                                                                        ชุลีรัตน์  กำชัย

            

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกกิจกรรม#km
หมายเลขบันทึก: 5314เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2005 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท