คณะเกษตรฯ มข.อบรมกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง วางแผนพัฒนาการเกษตรและการวิจัย


คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝึกอบรม เจ้าหน้าที่สถาบันการศึกษาและกระทรวงเกษตร กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง วิเคราะห์พื้นที่เพื่อวางแผนพัฒนาการเกษตร กำหนดประเด็นวิจัยตามเงื่อนไขของปัญหาได้


        ระหว่างวันที่ 17-23 มีนาคม 2556 ณ ห้องประชุม อาคารAG06 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลักสูตรเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศ.ดร.อนันต์ พลธานี อดีตคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ จัดฝึกอบรม การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อวางแผนพัฒนาการเกษตรประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง( Area Analysis for Agricultural Planning in Mekong sub-Region countries) ครั้งที่ 3 เรื่อง“การวิเคราะห์พื้นที่เพื่อวางแผนพัฒนาการเกษตร” ให้แก่เจ้าหน้าที่จาก สถาบันการศึกษาและกระทรวงเกษตรจาก กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และประเทศไทย เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความสามารถในการวิเคราะห์พื้นที่และสามารถวางแผนพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรรายย่อย ตลอดจนชี้ประเด็นปัญหาและโอกาสสำหรับการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยได้รับเกียติจาก รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิด มี ศ.ดร.อนันต์ พลธานี รศ.ดร.เริงศักดิ์ กตเวทิน รศ.ดร.วิทยา ตรีโลเกศ ดร.ธีรชัย หายทุกข์ ดร.นิสิต คำหล้า และดร.โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วงวุฒิ เป็นวิทยากรฝึกอบรม
        โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 15 คน จากหน่วยงาน National Agriculture and Forestry Research Institute; Planning Unit, Agricultural Section, Champasak province; Agricultural Extension Section, Luangprabang province; Agriculture and Forestry Department, Savannaket province ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 องค์การบริหารส่วนตำบลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี สำนักงานเทศบาลตำบลพระบุ อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
        ศ.ดร.อนันต์ พลธานี กล่าวว่า “ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน สภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับประเทศไทย ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นการเพิ่มรายได้ของประชาชนจะต้องอาศัยการเกษตรเป็นหลัก  การวางแผนพัฒนาการเกษตรมักจะเป็นแบบจากบนลงล่าง (Top down) เมื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจึงมักจะได้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และตามความต้องการของเกษตรกร ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ลักษณะการทำฟาร์มส่วนใหญ่ของประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความคล้ายคลึงกัน เป็นแบบเกษตรกรรายย่อย พื้นที่ถือครองน้อย ทรัพยากรมีจำกัด มีการทำหลายๆ กิจกรรมภายในฟาร์ม การวางแผนพัฒนาการเกษตรและการวิจัยจะต้องทำความเข้าใจพื้นที่ทำการเกษตรและระบบการทำฟาร์มในพื้นที่ก่อน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์  สังเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรที่ตอบสนองตามความต้องการ และมีความเป็นไปได้ตามศักยภาพของพื้นที่ของเกษตรกร”
        “เมื่อผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้และเข้าใจ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์พื้นที่และจัดทำแผนพัฒนาด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่สำหรับชุมชนได้แล้ว ก็จะสามารถกำหนดประเด็นวิจัยตามเงื่อนไขของปัญหาและโอกาส ที่เกิดขึ้นต่อไป” ศ.ดร.อนันต์ กล่าวในที่สุด

         กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่


หมายเลขบันทึก: 532053เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2013 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท