การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขสู่ท้องถิ่น ตอนที่ ๑


ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในทุกภาคส่วน นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 โดยในส่วนของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพนับตั้งแต่มีการประกาศใช้นโยบาย Health for All 2000 ในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รวมถึงประเทศไทย ก็ได้นำแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของประชาชนมาเป็นกลยุทธในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขมูลฐาน (Bossert, 2000; Lieberman, et al., u.d.; and Mill, et al., 1990) และเริ่มมีการนำแนวคิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพมาใช้เช่นกัน โดยการกระจายอำนาจดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ การจัดตั้งหน่วยคู่สัญญาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และการถ่ายโอนสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งในส่วนของการถ่ายโอนสถานีอนามัยนั้นได้มีโครงการนำร่องในปี พ.ศ.2551 โดยถ่ายโอน  สถานีอนามัยจำนวน 35 แห่งไปยังเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) (Promasatayaporn et al., 2012) ซึ่งแผนการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ครอบคลุมถึงงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ โดยกระทรวงสาธารณสุขกำหนดการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุข จำนวน 34 ภารกิจ ให้กับ อปท. และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ซึ่งการถ่ายโอนดังกล่าวมีความคืบหน้าไประดับหนึ่งแต่การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก เพราะมีนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพตามนโยบายหลักประกันสุขภาพ และการปฏิรูประบบราชการตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. 2545 (ณรงค์  เชื้อบุญช่วย, ปมพ.)

อย่างไรก็ตามในช่วง 5 ปีหลังการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อปท. ยังพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคหลายส่วน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถ่ายโอนเกิดความล่าช้า คือ การขาดความชัดเจนในเชิงนโยบาย ทำให้เกิดผลเชิงคัดค้านของผู้บริหารทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ การตัดขาดหรือลดการสนับสนุนทางวิชาการ และงบประมาณของหน่วยคู่สัญญาบริการปฐมภูมิ (CUP) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในหลายพื้นที่ ขณะที่ปัญหาในด้านกำลังคน คือ ยังไม่มีบุคลากรเข้ามาตามอัตราที่ระบุไว้ตามกรอบอัตรากำลังคน ซึ่งส่วนใหญ่ คือ ทันตาภิบาล และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ในภาพรวมจึงยังคงพบว่า การเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนยังมีปัญหาในเรื่องการจัดการ ทั้งในส่วนของ รพ.สต. และอบต. ส่งผลให้การบริหารจัดการด้านอื่นๆ ได้แก่ การบริหารงานบุคคลที่มาจาก 2 กระทรวง การบริหารการเงินการคลังที่ต้องเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายแบบใหม่ ยังคงมีปัญหา และการมีส่วนร่วมของประชานยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแม้จริง (สวรส., 2555; ลือชัย  ศรีเงินยวง, 2555)

จากที่มาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการทำดุษฏีนิพนธ์ เรื่อง การกระจายอำนาจด้านการจัดบริการสาธารณสุขไปสู่องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีสถานีอนามัยดอนแก้ว เป็นสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปยัง อบต. รุ่นแรกในปี 2551 จึงมุ่งเน้นการศึกษาถึงความสามารถของ อบต. ในการรับการถ่ายโอนสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. เพื่อจัดบริการให้สนองตอบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และเสนอแนะทิศทางการดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจ รวมถึงการจัดบริการสุขภาพให้สนองตอบต่อความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ซึ่งจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 531860เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท