สีสันสันสกฤต


คุณ pattana pinyoboon สอบถามเรื่องศัพท์ภาษาสันสกฤตมาหลายคำ ที่สั้นๆ ตอบไปบ้างแล้ว เหลือแต่เรื่องสี เห็นว่ายาวพอสมควร และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านอื่นๆ จึงนำมาเขียนไว้ที่นี่


เริ่มที่คำว่า สี

ในภาษาสันสกฤต ศัพท์ที่หมายถึง สี ได้แก่ วรรณะ (วรฺณ) ราค และรงค์ (รํค)

คำเหล่านี้มีใช้ในภาษาไทยเราเช่นกัน เช่น สีสันวรรณะ ทางศิลปะยังเรียกสีว่า วรรณะร้อน วรรณะเย็น ชื่อคนไทยก็มีมาก เช่น อรวรรณ เบญจวรรณ คำว่า สุวรรณ หมายถึง สีที่ดี ผิวที่ดี หรือหมายถึง สีทอง ก็ได้

วรรณะยังหมายถึงสีผิวได้ด้วย คำว่าผิวพรรณ ก็แผลงมาจาก วรรณะ นี้แล อนึ่ง วรรณะที่หมายถึง ชนชั้นในอินเดีย ก็ใช้ศัพท์นี้

แต่คำว่า ราค หรือ ราคะ ดูเหมือนไม่ค่อยนิยมใช้ (มี ราค ที่หมายถึง ความรัก หรือความปรารถนา)

ส่วน รงค์ นั้นเราใช้มาก เช่น ไตรรงค์ หมายถึงธงชาติของเรา (ธงชาติอินเดียก็ไตรรงค์เหมือนกัน แต่เขาเรียกว่า ติรังค หมายถึง สามสี) เบญจรงค์ ก็คือเครื่องถ้วยห้าสี ยังมีศัพท์วิชาการ เรียก เอกรงค์ พหุรงค์

สีอื่นๆ เท่าที่ค้นหาได้ มีดังนี้

แดงรักตะ โลหิต โอณ อรุณ ลากษา(แดงครั่ง)

ดำ กฤษณะ ศยาม กาล นีล (นีล หมายถึง น้ำเงินเข้มก็ได้)

ขาว ศุกล เศวต ธวล ศุภร สิต เคาร อรชุน

น้ำเงิน นีล ศยาม

เหลือง ปาณฑุ ปีต ปีฏล หริ หริทฺราภ เคารเสราล (เหลืองอ่อน)

ชมพู ปาฏละ

แสด ปิจฉิล เกาสุมภะ นารังคะ

เขียว หริต หริท ปลาศปีตนีล ศาทวละ

น้ำตาล กปิศ ปิงคละ

เทา ธูมระ (สีควัน) กาโปต (สีนกเขา)วิธูสระ

สีทอง สุวรรณ ไหม เหมัน มย หิรัณยะ ชามพูนท (ทั้งหมดนี้แปลว่าทองก็ได้)

สีเงิน รชต ศเวต รูปยะ

ดูๆ แล้ว ภาษาสันสกฤตไม่ค่อยมีสีสันหลากหลายมากมายนัก สู้ภาษาไทยเราไม่ได้ นอกจากนี้บางศัพท์ก็แปลได้มาก เช่น ศยาม แปลว่า ดำ น้ำเงิน หรือเขียว ก็ได้ สงสัยว่าคนสมัยก่อนคงไม่เน้นเรื่องสีมากเท่าไหร่นัก เท่าที่อ่านวรรณคดีสันสกฤตก็ไม่ค่อยยุ่งกับสีมากนัก

นอกจากนี้คงจะมีสีอื่นๆ อีกบ้าง แต่นึกไม่ออก ค้นไม่เจอ โดยมากจะเป็นศัพท์ผสมจากคำพื้นฐานข้างบนนี้ หรือไม่ก็คำเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ เช่น ปัตรศยาม หมายถึง เขียวใบไม้ คำแบบนี้ค้นยากหน่อย อยู่ๆ จะให้นึกก็นึกไม่ค่อยออก แต่เวลาไปอ่านเรื่อง บางทีเห็นศัพท์แล้วก็เข้าใจว่าหมายถึงสีอะไร พจนานุกรมภาษาสันสกฤตก็ไม่ค่อยได้เก็บคำประสมพวกนี้ไว้.

คำสำคัญ (Tags): #สี#คำเรียกสี
หมายเลขบันทึก: 531839เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2015 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

..... สีทอง คือ สุรรณ .... สุวรรณ แปลว่า ทอง .... มาจากตรงนี้เองนะคะท่านอาจารย์ ...... 

มาเรียนรู้จากบันทึกของอาจารย์ค่ะ

เมื่อคืนอ่านหนังสือเจอคำนี้พอดีเลยค่ะ ..เบญจปฎลเศวตฉัตร

ใช่แล้วครับ พี่เปิ้ล Dr. Ple

ขอบคุณครับ พี่ ณัฐรดา

คุณศรี ฯ เศวต แปลได้ทั้ง ขาว และสีเงิน, ส่วน ศุกฺล แปลว่า สว่าง ปลอด โล่ง หรือ ขาว ก็ได้ ศุกลยชุรเวท มักแปลว่า ยชุรเวทขาว


ครูภาษาไทย แวะมาเติมความรู้ เรื่อง ภาษาสันสกฤต ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

ไม่มีสีม่วง นะคะ สงสัยสีม่วงคงจะเป็นสีผสมที่เกิดขึ้นภายหลัง  :)

ขอบคุณครับ คุณครู อิงจันทร์ 

และคุณหยั่งราก ฝากใบ

เรื่องสีในภาษาสันสกฤตนั้นไม่ค่อยชัดเจนครับ ถ้าไม่มีข้อความอื่นประกอบเผลอๆ จะแปลไม่ถูก

คำศัพท์อาจแบ่งได้แค่สองกลุ่ม คือสีสว่าง กับสีคล้ำ ส่วนจะสีแบบไหนก็สังเกตจากเนื้อหา

สีม่วงบ้างก็ใช้พื้นฐาน เช่น นีล ศฺยาม ปาฏล

คำว่า ปาฏล เป็นชื่อต้นไม้ กล่าวถึงมากในวรรณคดีสันสกฤต แต่หมายถึงสีออกชมพู ม่วง ด้วย

หรือคำประสม เช่น นีลโลหิต (นีล คือ ดำหรือ ม่วง คราม, โลหิต คือสีเลือดนั่นเอง)

น่าทำวิจัยเรื่องนี้ อิๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท