สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 10: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ตอนที่ 1


     ด้วยลักษณะ รูปแบบ การปกครอง ที่หละหลวม และ การ คมนาคม ที่ห่างไกล จากศูนย์กลางการปกครอง บริเวณชายแดนภาคใต้จึงยากแก่การ ควบคุมจากเมืองหลวง อีกทั้ง ผู้คน ก็มีความ แตกต่างกัน ในทาง วัฒนธรรม ด้านภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดังนั้นเมื่อใดที่ สถานการณ์ เปิดโอกาส บรรดา ดินแดนเหล่านี้ ก็จะหาทางแยกตัวออกเป็น อิสระหรือไม่ ก็หันเห ไปอยู่ ในความปกครองของผู้ที่ เข้มแข็งกว่า 

     ปัตตานีในยุคนี้ต้องผจญกับเหตุการณ์ทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ การคุกขามของตะวันตก และการมักเป็นขบถของกลุ่มเจ้านายที่ครองในหัวเมืองทางภาคใต้ ในตอนนี้ผมต้องการที่จะบอกให้ผู้อ่านเห็นว่ารัชกาลที่ 5 นั้นต้องทำพระองค์อย่างไรจึงจะรักษาตนเองให้รอดพ้นจากการคุกขามทั้งจากตะวันตกและการเป็นขบถของเจ้านายที่ครองอำนาจในหัวเมืองทางภาคใต้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำเป็นต้องสถาปนาอำนาจในเมืองทางใต้ไว้ให้ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ที่เรียกว่าราชาตินิยมขึ้น วันนี้ผมจะพูดเรื่องดังกล่าวไปตามลำดับ กล่าวคือ 1.การเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส 2. การเมืองในปัตตานี และ3. การสร้างอุดมการณ์ราชาชาตินิยม

1.การเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส

       ในระยะเวลาก่อน พ.ศ.2443 รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเริ่มเข้ามามีอำนาจ ทางแหลมมลายู ก็ยอมรับ สิทธิของไทย ดังปรากฏ ในสนธิสัญญา ระหว่างไทยและอังกฤษหลายฉบับ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ.2369 ปฏิญญาลับ พ.ศ.2440 และข้อตกลง ปักปันเขตแดน พ.ศ.2442 อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ได้เกิดการโต้แย้งขึ้น ในบรรดาข้าราชการอังกฤษ ในมลายู และข้าราชการอังกฤษ ที่กรุงลอนดอน เกี่ยวกับสิทธิของไทย เหนือดินแดนมลายูอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะ กระทรวงอาณานิคม ของอังกฤษ มีนโยบายจะขยายอำนาจของตน ทางแถบนั้น ในระยะระหว่าง พ.ศ.2404-2423 ได้เกิดกรณีพิพาท ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ เรื่องมลายูหลายครั้ง ที่รุนแรงมาก ก็เช่นกรณีเรือรบอังกฤษ ระดมยิงตรังกานู เรื่องวิวาท กรณีเขตแดนเประและรามันห์ และเรื่องการปราบผู้ร้ายข้ามแดน พวกกบฏในปะหัง หนีเข้ามากลันตัน ตรังกานู อังกฤษส่งกำลังเข้ามาปราบ ถึงในเขตไทย แต่เหตุการณ์ต่างๆ สงบลงได้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอน ต้องการคบไทยเป็นมิตร จึงไม่ต้องการละเมิด สิทธิของไทยในมลายู แต่ไทยตระหนักดีว่า สิทธิของไทย เหนือมลายู ยังไม่มีหลักประกันที่แน่นอน 
          การเจรจาทางการทูต ระหว่างไทยกับอังกฤษ อันเป็นผลให้ไทย ต้องสูญเสียดินแดนมลายู 3 รัฐทางใต้ อันดับแก่
ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตาม นายแพชยิต ซึ่งเป็นผู้แทนอังกฤษ ก็ยังมิได้สิ้นความพยายาม และพากเพียรเจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ดินแดนเพิ่มขึ้น มีหลายครั้งที่การเจรจาถึงขั้นแรง จนเกือบจะต้องยุติการเจรจาทั้งหมด นายแพชยิต พยายามเจรจากับสโตรเบล ผู้แทนจากอเมริกา อย่างไม่เป็นทางการว่า รัฐบาลอังกฤษ ต้องการดินแดนปัตตานี ยะลา สตูล และปะลิสด้วย เพราะเห็นแก่มนุษยธรรม ของประชาชน ในดินแดนนั้น แต่สโตรเบล ได้ตอบโต้ด้วยปฏิกิริยา ที่มึนตึงมาก เช่นกล่าวว่า
           "ถ้าท่านต้องการดินแดน เหนือไปจากนี้ ก็ขอให้เลิกการเจรจาทั้งหมด ข้าพเจ้าเอง มีความยุ่งยากใจมากพอแล้ว ในการทูลเรื่องเมืองไทรบุรีต่อพระเจ้าอยู่หัว และข้าพเจ้าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวมากไปกว่านี้" 
           สำหรับสตูลและปัตตานีนั้น สโตรเบลชี้แจงว่ามีคนไทยอยู่ในสตูลมาก และไม่อาจจะแยกสตูลออกจากดินแดนไทยได้ ส่วนปัตตานีนั้นไม่อยู่ในประเด็นเลย เพราะคนไทยคงไม่ยอมแน่นอน 
             ในการเจรจาระยะต่อมา สโตรเบลแสดงทีท่ายินยอมให้ฝ่ายอังกฤษมากขึ้น เช่น ยอมยกเมืองปะลิสเพิ่มให้อีกหนึ่งเมือง สร้างความประหลาดใจ ให้แก่แพชยิตมาก สำหรับการยกเมืองปะลิส ให้อังกฤษนี้ ยังหาหลักฐาน ที่แน่นอนไม่ได้ว่า เป็นเพราะเหตุใด อาจจะพอสันนิษฐานได้ว่าสโตรเบลเห็นว่าไทย ไม่มีผลประโยชน์อะไรในปะลิสอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าพิจารณาถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ปะลิสเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีแน่นอน
        ไทยปฏิเสธเรื่องปัตตานีและยะลา ไปอย่างไม่มีเยื่อใยแล้ว แพชยิตก็หันไปเรียกร้องขอดินแดนอื่นอีก คือ ขอผนวกเมืองรามันห์ตอนใต้และเกาะลังกาวี แต่ยังยอมให้ไทยได้เกาะตะรุเตา และเกาะเล็กเกาะน้อยทางตะวันตกของลังกาวีไว้

        ฝ่ายไทยคงต้องการให้เรื่องสร้างทางรถไฟเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว เพราะต้องการจะควบคุมปัตตานี ยะลา และนราธิวาสให้เด็ดขาด  จึงเสนอให้ราห์มันและเกาะลังกาวีแก่อังกฤษ โดยมีเงื่อนไขว่า อังกฤษจะต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะกู้สร้างทางรถไฟ จากอัตราร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 3.75
       เมื่อประสบปัญหานี้ ทางฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ กลับมีความเห็นแตกแยกออกเป็นสองพวกพวกแรกมีเซอร์ จอห์น แอนเดอร์สัน ข้าหลวงใหญ่ประจำสิงคโปร์ เป็นหัวหน้า พวกนี้เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง กับข้อเสนอของไทย เพราะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ย ที่ลดลงร้อยละ 1 ส่วน 4 คุ้มค่ากับดินแดนราห์มัน และเกาะลังกาวี ที่อังกฤษจะได้ แต่เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แอนเดอร์สัน ขอระแงะ ซึ่งอยู่ติดกับกลันตันเพิ่มขึ้น แต่ฝ่ายนายแพชยิต กลับคัดค้านข้อเสนอนี้อย่างรุนแรง แพชยิตมองไม่เห็นว่า ดินแดนที่ไทยเสนอให้เพิ่มนี้ จะไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร กับเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟ เพราะเป็นปัญหาคนละประเด็น เขากลับเห็นว่า อังกฤษเสียสละให้ไทยหลายเรื่องแล้ว เช่น เรื่องการที่จะยอมให้คนในบังคับอังกฤษ มาขึ้นศาลไทยแทนศาลกงสุล และการที่อังกฤษ ยอมให้ไทย มีอำนาจสิทธิ์ขาด เหนือเส้นทางรถไฟ ฉะนั้น อังกฤษควรจะได้ราห์มัน และเกาะลังกาวีเพิ่มขึ้นเฉยๆ โดยไม่ต้องเสียอะไรเป็นการตอบแทนดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างทางรถไฟจะต้องคงไว้ในอัตราร้อยละ 4 เช่นเดิม แต่ให้ระงับข้อเรียกร้องขอระแงะ เพราะอาจจะทำให้ไทย ไม่พอใจและยุติการเจรจาได้
           รัฐบาลไทยยอมตกลง ตามข้อเสนอของแพชยิต ยกลังกาวีและราห์มันตอนใต้ให้อังกฤษ อาจจะเป็นไปได้ว่า รัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า ข้อยินยอมต่างๆ ของอังกฤษนั้น คุ้มค่าต่อการตกลงกันโดยสันติ เป็นต้นว่า การยอมรับให้คนในบังคับอังกฤษทั่วประเทศไทย มาขึ้นตรงต่อศาลไทย การสร้างทางรถไฟทางใต้ จากเพชรบุรีลงไปจนจดชายแดนมลายู และที่สำคัญที่สุดคือ การเลิกสัญญาลับระหว่างไทย - อังกฤษ พ.ศ.2440 เพราะตามสัญญานี้ ไทยยอมให้อังกฤษ มีสิทธิ์เหนือดินแดนทางใต้ จากตำบลบางตะพานลงไป จดสุดแหลมมลายู ซึ่งถ้าพิจารณา ในเชิงปฏิบัติ ไทยได้สูญเสียดินแดนทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440  ฉะนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม 2451 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศของไทย และนายราฟ แพชยิต ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า
1. รัฐบาลไทย ยอมยกสิทธิทางการปกครอง และการบังคับบัญชาเหนือดินแดนรับมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียง ให้แก่อังกฤษ
2. การโอนดินแดนบริเวณนี้ จะจัดให้สำเร็จภายใน 30 วัน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันกันแล้ว
3. จัดตั้งคณะกรรมการ ทั้งฝ่ายอังกฤษและไทยภายในระยะ 6 เดือน นับแต่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบัน เพื่อทำการปักปันเขตแดนกัน นอกจากนี้ คนในบังคับไทย ที่เคยอยู่อาศัยในดินแดนดังกล่าวแล้ว ถ้าต้องการเป็นคนไทยต่อไป ต้องย้ายกลับไปอยู่ในเขตไทยภายในเวลา 6 เดือน และอังกฤษยอมรับว่า บุคคลเหล่านั้น ยังมีสิทธิเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ในดินแดนเหล่านั้นอยู่ หนังสืออนุญาตต่างๆ ที่ทางรัฐบาลไทยออกให้ไว้ก่อนวันเซ็นสัญญา อังกฤษก็ยังคงยอมรับิทธิอันนั้นต่อไป
4. รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าหนี้สินที่รัฐต่างๆ นั้น มีอยู่ต่อรัฐบาลไทย รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจะชดใช้ให้แทน
5. อำนาจศาลต่างประเทศฝ่ายไทย ตามข้อ 8ของหนังสือสัญญาปี ค.ศ.1883 (พ.ศ. 2426) จะยังคงใช้อยู่กับคนในบังคับอังกฤษ ที่เป็นชาวเอเชีย และจดทะเบียน ก่อนวันลงนามในสัญญา คือ คนเหล่านี้จะย้ายขึ้นศาลไทย มีตุลาการแล้วแต่ไทยจะแต่งตั้ง แต่ในเวลาพิจารณาคดี กงสุลอังกฤษต้องไปนั่งฟังอยู่ด้วย และในกรณี ที่คนในบังคับอังกฤษ เป็นจำเลย กงสุลอาจพิจารณา มีสิทธิถอนคดีได้ ส่วนคนในบังคับอื่นที่จดทะเบียน หลังวันลงนามในสัญญา จะอยู่ในอำนาจศาลไทย คนในบังคับเหล่านี้ จะเปลี่ยนไปใช้ศาลไทยทั้งหมด อย่างเต็มที่ เมื่อไทยมีประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา กฎหมายลักษณะแพ่งและการพาณิชย์ กฎหมายลักษณะวิธีพิจารณาคดี และกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญจัดตั้งศาล
6. คนในบังคับอังกฤษ จะได้กรรมสิทธิ์ เหมือนคนพื้นเมือง เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ต้องเสียภาษีอากรต่างๆ เหมือนคนไทย เว้นแต่ไม่ต้องการเป็นทหาร นอกจากนั้น ไทยยังทำสัญญาปักปันเขตแดน และสัญญาเรื่องอำนาจทางการศาล แยกเป็นพิเศษด้วย
            ในสัญญาฉบับนี้ มีภาคผนวก ว่าด้วยการเลิกปฏิญญาลับ ค.ศ.1897 (พ.ศ. 2440) และว่าด้วยการสร้างทางรถไฟสายใต้ โดยที่รัฐบาลอังกฤษให้เงินกู้ ในการก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขว่า กรมรถไฟใต้ ในความควบคุมของชาวอังกฤษ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
            หลังการลงนาม แพชยิต เขียนไปรายงานเซอร์ เอ็ดเวิด เกรย์ (Sir Edward Grey) รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายรัฐสภาที่ลอนดอนว่า
             "ดินแดนที่เราได้ครั้งนี้ มีอาณาเขตกว้างขวาง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและประชากร เป็นดินแดนที่มีคุณค่า มากกว่ารัฐเขมร ที่ไทยเพิ่งยกให้แก่ฝรั่งเศส ในเร็วๆ นี้" และอีกตอนหนึ่ง
           "บัดนี้ อาณาเขตของอังกฤษ ติดต่อกับสตูลทางตะวันตก อำเภอสายบุรีทางตะวันออก และเรากำลังสร้างทางรถไฟขึ้นไปทางเหนือรัฐมลายู แน่นอนเหลือเกินว่า หัวเมืองชายแดนไทย ซึ่งประกอบด้วยปัตตานี และระแงะ จะค่อยๆ ตกอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ และอังกฤษ จะเข้าไปมีผลประโยชน์ ทางการค้าได้อย่างง่ายดาย"
               การยกดินแดนมลายู ให้แก่อังกฤษนี้ ทางไทยไม่ได้แจ้งให้สุลต่าน เจ้าของรัฐเหล่านั้นทราบเลย ทำให้สุลต่านโกรธเคืองมาก ปรากฏว่า สุลต่านไทรบุรี เคยปรารภกับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำรัฐไทรบุรีว่า "ไทยมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกลูกหนี้ให้ใคร" และในตอนหนึ่ง ได้ปรารภว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลุกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อ ซึ่งมี่พันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้" อันที่จริง ระหว่างที่ไทย และอังกฤษ กำลังเจรจาปรึกษาเงื่อนไข สนธิสัญญาอยู่นั้น รัฐไทรบุรีได้ทราบข่าวมา แต่ไม่ชัดเจน จึงได้ส่งจดหมาย มาถามข้อเท็จจริง จากรัฐบาลไทยอีกทีหนึ่ง แต่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงสนพระทัยว่าจะทรงตอบเช่นไร
           สุลต่านกลันตัน และสุลต่านตรังกานู ต่างมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกัน คือคัดค้านการกระทำของไทย สุลต่านกลันตันส่งผู้แทนเข้ามาเจรจาที่กรุงเทพฯ และสุลต่านตรังกานู รีบยืนยันความจงรักภักดีของตนต่อเมืองไทย ด้วยการส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏว่าไทยชี้แจงว่าอย่างไรเช่นกัน
            นอกเหนือจากปฏิกิริยาดังกล่าวของสุลต่านแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สนธิสัญญา พ.ศ.๒๔๕๑ ได้เสริมสร้างให้สัมพันธภาพ ระหว่างไทยกับอังกฤษ กระชับแน่นแฟ้นขึ้น ประเทศไทยรอดพ้นจากอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้า เป็นโอกาสให้คงอยู่รอดมาจนบัดนี้

เดี๋ยวมาต่อเรื่องการเมืองในปัตตานีกันนะครับ

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้.http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


หมายเลขบันทึก: 531647เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2013 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท