ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

รูปแบบและประเภทของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา


รูปแบบและประเภทของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

โดย แม่ชีภฤศญา  นิพิฌม์ชา

  ในการประกาศพุทธธรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงสามารถสร้างความสนใจ ความศรัทธาให้เกิดแก่ผู้ฟังหรือกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายในทุกสถานการณ์ ไม่จำกัดตายตัวเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแม้แต่การสำรวมพระอิริยาบถให้สงบเรียบร้อยงดงาม ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังเช่น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมุ่งไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ มีนักบวชอาชีวกผู้หนึ่งชื่อว่าอุปกะ เดินสวนทางมา เพียงพบเห็นพระพุทธองค์เสด็จดำเนินด้วยพระพุทธลีลามีพระอาการสงบเรียบร้อยไปตามปกติเท่านั้น เขากลับเกิดความประทับใจตรงเข้าไปสนทนาด้วย ภายหลังจากนั้น เขาไปใช้ชีวิตฆราวาสแต่งงานมีครอบครัวแล้วเกิดความเบื่อหน่าย ได้กลับมาขอบวชประพฤติธรรมกับพระพุทธองค์และบรรลุธรรมได้ในที่สุดหรือแม้แต่อุปติสสปริพาชกที่เข้ามาบวชเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในนามอุโฆษเป็นที่รู้จักกันว่า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็เพราะเลื่อมใสในอิริยาบถที่สำรวมเยี่ยงสมณะของพระอัสสชิเถระเป็นจุดเบื้องต้น

  อย่างไรก็ตาม รูปแบบหรือวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นแม้จะมีหลายรูปแบบ แต่เมื่อรวบรวมตามที่ปรากฏโดยส่วนมากแล้ว นับจำนวนได้ ๗ วิธี ด้วยกันดังนี้

  ๑. อุปนิสินนกถา แปลว่า “ถ้อยคำของผู้เข้าไปนั่งใกล้” หมายถึงการนั่งคุยสนทนาอย่างกันเองโดยสอดแทรกหลักธรรมเข้าไปในการสนทนากันนั้น เป็นรูปแบบการเผยแผ่ที่ใช้สำหรับการสนทนาปราศรัยกับบุคคลผู้ไปมาหาสู่ หรือการต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นการพูดคุยกันตามสมควรแก่เหตุการณ์ กาละเทศะและบุคคลผู้ฟัง เพื่อตอบคำซักถาม แนะนำชี้แจง ให้คำปรึกษา เป็นต้น ไม่เป็นแบบแผนพิธี ตรงกับที่ท่านโบราณณาจารย์กล่าวว่า นั่งจับเข่าคุยกัน บรรยากาศเป็นกันเอง โดยไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน ซึ่งนิยมพูดกันว่า เป็นการเทศน์ธรรมาสน์เตี้ย

  ๒. ธัมมีกถา (หรือ ธรรมกถา) แปลว่า “ถ้อยคำที่กล่าวถึงธรรม” หมายถึงการบรรยายหรืออธิบายธรรม เป็นรูปแบบการเผยแผ่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักพระธรรมวินัยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เป็นงานเป็นการ เป็นเรื่องเป็นราว ในปัจจุบัน ได้แก่ การแสดงธรรมการปาฐกถาธรรม การบรรยายธรรม เป็นต้น

  ๓. โอวาทกถา แปลว่า “ถ้อยคำที่กล่าวสอน” หมายถึงการให้คำแนะนำตักเตือนให้ละเว้นชั่วประพฤติดี เป็นรูปแบบการเผยแผ่ที่พระพุทธองค์ทรงประทานเป็นพระพุทธพจน์หรือพระโอวาทสั้นๆ เป็นพระดำรัสตรัสเตือน ทรงสั่งสอนโดยเฉพาะเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความสังวรระวัง ไม่ทำชั่ว ให้ละความชั่ว ให้ทำแต่ความดี และให้รักษาความดีเอาไว้ซึ่งตามปกติจะทรงประทานแก่พุทธบริษัทในโอกาสสำคัญ เช่น พระโอวาทปาติโมกข์ ๓ ที่ทรงแสดงถึงอุดมการณ์ หลักการ วิธีการของพระพุทธศาสนา หรือพระปัจฉิมวาจาอันเป็นโอวาทสุดท้ายเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เอาละ บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”* เป็นต้น

  ๔. อนุสาสนีกถา แปลว่า “ถ้อยคำที่กล่าวสอนให้เห็นจริง” หมายถึงคำกล่าวสอนในลักษณะซ้ำๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า ย้ำเตือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความจำได้ เกิดความชินหูเป็นรูปแบบการเผยแผ่อีกวิธีหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์ทรงนำมาใช้ตรัสพร่ำสอนโดยเฉพาะแก่บรรดาพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิตหรือสหธรรมิก ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรีรวมทั้งนักบวชที่อยู่ใกล้ชิด ดังเช่น ที่ทรงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ ความว่า “อานนท์ เราจักกระหนาบแล้วกระหนาบอีก ใครมีสาระก็ตั้งอยู่ได้ ใครไม่มีสาระก็ต้องออกไป” เป็นต้น เนื้อหาสารธรรมโดยส่วนมาก จะเป็นคำสอนประเภทความไม่ประมาท ความสามัคคี ความเพียรพยายาม สติสัมปชัญญะ ความอดทน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงย้ำเตือนพุทธบริษัทอยู่เนืองๆ

  ๕. ธัมมสากัจฉากถา (หรือเขียนว่า ธรรมสากัจฉากถา) แปลว่า “ถ้อยคำที่สนทนากันในทางธรรม” หมายถึงการสนทนาธรรม เป็นทำนองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บางครั้งมาในรูปแบบคำถาม เพื่อแสวงหาความถูกต้อง หรือปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นรูปแบบการเผยแผ่ที่พระพุทธองค์ทรงใช้บางโอกาสเพื่อทรงรับรองความคิดเห็นของผู้ฟังบ้าง เพิ่มเติมบ้าง ปรับปรุงบ้าง ปฏิเสธบ้าง ตามควรแก่กรณี ปัจจุบันนอกจากจะเรียกว่า การสนทนาธรรมแล้วอาจเรียกว่า การอภิปรายธรรม การเสวนาธรรม โดยผลัดกันพูดผลัดกันฟังอีกด้วย

  ๖. ปุจฉาวิสัชนากถา แปลว่า “ถ้อยคำที่ถาม-ตอบ” หมายถึงรูปแบบการเผยแผ่ที่ขึ้นต้นด้วยการถาม-ตอบ โดยอาจถามนำเพื่อกระตุ้นผู้ฟังให้ตอบเป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจภายหลังจากที่ได้อธิบายธรรมนั้นๆ ให้ฟัง หรือระหว่างที่สนทนาธรรมกันเพื่อกระตุ้นเร้าใจให้ผู้สนทนาเกิดความตื่นตัวอยู่เสมอ เป็นรูปแบบการเผยแผ่ที่พระพุทธองค์ทรงใช้ประกอบกับการแสดงพระธรรมเทศนาอื่นๆ ภายหลังจากที่ตรัสอธิบายความหมายของธรรมนั้นๆ แล้ว เพื่อทดสอบความเข้าใจของผู้ฟัง เช่น เมื่อทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์พระองค์ทรงเริ่มอธิบายว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเป็นอนัตตาโดยลำดับแล้วตรัสย้อนถามว่า “พวกเธอเข้าใจข้อความตามที่กล่าวมาอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?"เมื่อ พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า “ไมเที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ก็ตรัสถามต่อไปว่า “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า” พระปัญจวัคคีย์ทูลตอบว่า “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” จึงตรัสนำให้สรูปถึงความเป็นอนัตตาว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” ดังนี้เป็นต้น

  ๗. ธัมมเทสนากถา (หรือเขียนว่า ธรรมเทศนากถา) แปลว่า “ถ้อยคำที่แสดงธรรม”คือ การเทศน์ หรือการแสดงพระธรรมเทศนานั่นเอง เป็นการแสดงธรรมสั่งสอน ชี้แจงเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เพื่อให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้บริสุทธิ์เป็นรูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นในพระสุตตันปิฎกนอกจากนี้ ในปัจจุบัน ยังมีการจัดแบ่งประเภทของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกหลายประเภท เพื่อให้เห็นภาพชัด ขอนำข้อความที่ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ได้กล่าวไว้ในเอกสาร “เค้าโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” มานำเสนอดังต่อไปนี้ “โดยทั่วไป คำว่า การเผยแผ่ นั้น มักจะเข้าใจกันเสียแต่ว่าเป็นการทำให้ได้ยินได้ฟังโดยเฉพาะ คือการเทศนาสั่งสอน นี้นับว่ายังไม่สมบูรณ์ งานเผยแผ่ทำนองนั้นนับรวมเข้าในองค์ปริยัติล้วนๆ ยังไม่สามารถจับใจคนผู้จะรับได้เต็มเปี่ยม จักต้องขยายออกไปถึง การเผยแผ่ด้วยการปฏิบัติธรรมและปฏิเวธธรรมด้วย จึงจะครบถ้วน ในที่สุดจะได้หลักแห่งการเผยแผ่ที่สมบูรณ์  ดังนี้

   (๑) เผยแผ่ด้วยการให้ได้ยินได้ฟังทุกวิถีทาง (หลักปริยัติธรรม)

    (๒) เผยแผ่ด้วยการทำทำสิ่งที่ดีและทำยากให้เขาดู (หลักปฎิบัติธรรม)

     (๓) เผยแผ่ด้วยการเป็นผู้มีความสุขให้เขาดู (หลักปฎิเวธธรรม)


หมายเลขบันทึก: 530704เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท