ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

ใบงานวิชาวิสุทธิมรรค


วิชาวิสุทธิมรรค

ประจำวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕

โดย พระมหาเอกกวิน ปิยวณฺโณ เลขที่ ๒

คณะศาสนาและปรัชญา สาขาพุทธศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช

**************************************************************************

๑. ประวัติความสำคัญและผลงานที่โดดเด่นของพระพุทธโฆษาจารย์

  เมื่อปี (พุทธศาสนายุกาล) นับแต่กาลปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าล่วงแล้ว๙๕๖ พรรษา พระราชาทรงพระนามว่ามหานามได้ครองราชย์ในลังกาทวีป ได้ยินมาว่าในสมัยนั้น มีพราหมณมาณพผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง  ในที่ใกล้โพธิมณฑ์ (ที่ตรัสรู้)  ในมัธยมประเทศชมพูทวีป๑  มาณพนั้นเชี่ยวชาญในศิลปะทั้งปวงจบไตรเพท  ท่องเที่ยวไปตลอดคามนิคมชนบทราชธานีทั้งหลายในชมพูทวีป  สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตอยู่ในที่ใดๆ ก็ไปทำสากัจฉาในที่นั้น ๆ  บัณฑิตอื่นๆ  ไม่อาจกล่าวแก้ปัญหาที่มาณพนั้นถามได้แต่มาณพนั้นแก้ปัญหาที่บัณฑิตอื่น ๆ ถามได้  มาณพนั้นครองทั้งสกลชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ จนมาถึงวิหารแห่งหนึ่ง (อาศัยพักอยู่ในบริเวณวิหารนั้น)

  ก็ในวิหารนั้นมีภิกษุอยู่หลายร้อยรูป ท่านพระเรวตะ สังฆเถระของภิกษุเหล่านั้น เป็นพระมหาขีณาสพได้ปฏิสัมภิทา  (สามารถ)  ย่ำยีปรวาท  (คือข่มคำโต้ฝ่ายอื่น)  ได้ ครั้งนั้นตอนกลางคืน พราหมณมาณพบริวรรตปาตัญชลีมนต์ให้มีบทอันสมบูรณ์  และเป็นปริมณฑล พระเถระในคัณฐิฐาน  (คือข้อที่เป็นปมยุ่งเข้าใจยาก) ทั้งหลายในคัมภีร์ไตรเพท ทั้งคัมภีร์อิติหาสเป็นคัมภีร์ที่ ๕ ซึ่งตนเองมองไม่เห็นนัยเลยทั้งอาจารย์ของตนก็ไม่เห็นมาแล้วด้วย  อันพระเถระนั้น  โดยปกติก็เป็นผู้จบไตรเพทอยู่แล้ว  ซ้ำบัดนี้มาได้ปฏิสัมภิทาเข้าอีกเล่า  เหตุนั้นความหนักในการแก้ปัญหาเหล่านั้นจึงหามีแก่ท่านไม่  เพราะฉะนั้น  ท่านจึงแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ในทันที  แล้วกล่าวกะพราหมณ์ว่า  "พราหมณ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าถูกท่านถามามากแล้ว  ทีนี้จะถามปัญหาท่านสักข้อหนึ่ง  ท่านจักแก้ปัญหาของข้าพเจ้าหรือไม่"  พราหมณ์รับจะแก้  นิมนต์ให้ถาม  พระเถรจึงถามปัญหาในคัมภีร์ จิตตยมกนี้ว่า  "ยสฺส  จิตฺต  อุปฺปชฺชติ  น  นิรุชฺฌติ  ตสฺส  จิตฺต  นิรุชฺฌิสฺสติ
น อุปฺปชฺชิสฺสติ ยสฺส วา ปน จิตฺต นิรุชฺฌิสฺสติ น  อุปฺปชฺชิสฺสติ  ตสฺส  จิตฺต  อุปฺปชฺชติ น  นิรุชฺฌติ

  จิตของบุคคลใดเกิดอยู่ยังไม่ดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับจักไม่เกิดหรือ  ก็หรือว่า  จิตของบุคคลใดจักดับจักไม่เกิด  จิตของบุคคลนั้น  เกิดอยู่ยังไม่ดับหรือ" พระเถระฟังเสียงพราหมณ์สาธยายมนต์  ก็ทราบว่าพราหมณ์ผู้นี้มีปัญญามาก  คิดว่าทรมาน  (คือข่มและชักจูงให้มานับถือพระศาสนา) ได้จะเป็นการดี  จึงเรียกพราหมณ์นั้นมา  ถามเปรยขึ้นว่า  "พราหมณ์  ใครหนอ  ร้องเป็นเสียงลา"  พราหมณ์ถามว่า  "บรรพชิตผู้เจริญ  ท่านรู้เสียงร้องของพวกลาหรือ"  พระเถระรับว่ารู้  พราหมณ์นั้นจึงถามเป็นต้น  พราหมณมาณพไม่อาจจำ (ข้อปัญหา)  ได้  ไม่ว่าบนหรือล่างจึงเรียนถามว่า  "บรรพชิตผู้เจริญ  นี่ชื่ออะไร"  พระเถระบอกว่า  "นี่
ชื่อพุทธมนต์  พราหมณ์"  พราหมณ์ถามว่า  "ท่านผู้เจริญ  ให้มนต์นี้แก่ข้าพเจ้าบ้างได้หรือไม่"  พระเถระบอกว่า  "พราหมณ์ เราให้แก่ผู้ที่ถือเพศบรรพชาอย่างที่เราถือ  จึงจะได้"  พราหมณมาณพจึงขอบรรพชาเพื่อต้องการมนต์  พระเถระให้พราหมณมาณพบรรพชาอุปสมบทแล้ว  ให้เรียนพระไตรปิฎกพุทธวจนะ  ภิกษุรูปนั้น  (ต่อมา)ก็ได้เป็นผู้ปรากฏในโลกโดยนามว่า  "พระพุทธโฆสะ" พระพุทธโฆสะนั้นเมื่ออยู่ในวิหารนั้น  ได้แต่งปกรณ์ชื่อญาโณทัยไว้ในวิหารแล้ว  เริ่มจะแต่งอรรถกถาพระอภิธรรมสังคณี  และอรรถกถาฉบับน้อยชื่ออัฏฐาสาลินี  พระเถระเห็นเช่นนั้นจึงกล่าวแนะนำว่า "ดูกรอาวุโสพุทธโฆสะ  ในชมพูทวีปนี้มีแต่พระโตรปิฎกบาลีเท่านั้นอรรถกถาของพระไตรปิฎกนั้น และเถรวาท  หามีไม่  แต่อรรถกถาในภาษาสีหลอันขึ้นสู่สังคีติทั้ง ๓ หน ที่พระเถระทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นทำไว้ พระมหินทร์ตรวจดูกถามรรค (ลาดเลาแห่งคำที่กล่าวไว้)  แล้ว  (รวบรวมมา)  แต่งไว้ด้วยภาษาสีหล  ยังเป็นไป  (คือยังใช้กัน)  อยู่ในสีหลทวีปแม้นเธอไปที่สีหลทวีปนั้น ตรวจดูให้ทั่วแล้วปริวรรตมาในภาษามคธเสียได้  (คือแปลเปลี่ยนเป็นภาษามคธเสีย) อรรถกถานั้นก็จักนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้แก่โลกทั้งปวง"  เมื่อพระเถระแนะนำอย่างนั้นท่านพุทธโฆสะก็เกิดปีติโสมนัส  กราบลาพระอุปัชฌายะและภิกษุสงฆ์เดินทางไปถึงท่าเรือโดยลำดับ  ขึ้นเรือไปพบพระพุทธทัตตเถระสวนทางมาที่กลางมหาสมุทร  ได้พูดจาปราศัยกันแล้ว  เดินทางต่อไปจนถึงท่ากรุงลังกา  ในกาลนั้น  พระเจ้ามหานามครองราชย์ในลังกาทวีปท่านพระพุทธโฆสะไปพบภิกษุสงฆ์ในมหาวิหารกรุงอนุราธบุรีแล้ว  จึงไปสู่สำนักพระสังฆปาลเถระ๑ ที่มหาปธานฆระ๒ ได้ฟัง (ทราบความ) อรรถกถาภาษาสีหลและเถรวาททั้งปวงแล้ว  ก็ตัดสิน  (ปลงใจเชื่อ)ว่าเป็นพระพุทธาธิบายขององค์พระธรรมสามิศร์  จึงไม่สู่ที่ประชุมสงฆ์ในวิหารนั้น  ขอหนังสือคัมภีร์เพื่อทำอรรถพระไตรปิฎกเพื่อทดสอบสมรรถภาพของท่าน  ภิกษุสงฆ์จึงให้คาถา ๒ บท๑ แล้วกล่าวว่า  "ท่านจวงแสดงความสามารถในคาถา  ๒ บทนี้  เราทั้งหลายได้เห็นความสามรถของท่านแล้ว  จะมอบหนังสือคัมภีร์ให้ทั้งหมด"  ท่านพุทธโฆสะดูบาลีพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระไตรปิฎกนั้นแล้ว ได้รวบรวมแต่งปกรณ์ชื่อวิสุทธิมรรคขึ้น

  ครานั้น  เทวดาจะประกาศความมีฝีมือของท่านให้ปรากฏไปในมหาชน  จึงแสร้งบันดาลหนังสือคัมภีร์ฉบับ  (ที่ท่านเขียนเสร็จแล้ว) นั้นให้อันตรธานไปเสีย  ท่านจึงเขียนขึ้นใหม่อีกจบหนึ่ง  เทวดาก็บันดาลให้อันตรธานไปอีกเล่า  ท่านก็เขียนขึ้นอีกครั้นที่ ๓  (พอเสร็จแล้ว)  เทวดาก็นำหนังสือ  ๒  จบนั้นมาถวายคืนให้ในขณะนั้น  จึงเกิดเป็นหนังสือ  (วิสุทธิมรรค) ๓ จบขึ้นในครั้งนั้น๒ ท่านพุทธโฆสะหอบหนังสือทั้ง ๓  จบไปมอบแด่ภิกษุสงฆ์  ภิกษุสงฆ์ให้อ่านหนังสือทั้ง ๓  จบด้วยกัน  ความผิดเพี้ยนในหนังสือ ๓  จบนั้น  โดยคัณฐะ ก็ดี  โดยอักขระก็ดี  โดยบทก็ดี  โดยพยัญชนะก็ดี  โดยอรรถก็ดี  โดยเกณฑ์ก่อนหลังก็ดี  โดยวาทะทั้งหลายมีเถรวาทเป็นต้นก็ดีโดยพระบาลีทั้งหลายก็ดี  มิได้มีเลย  ได้ยินว่า  เมื่อคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้ง ๓ อันท่านพระพุทธโฆสะทำเสร็จอย่างนั้น  เทวดาทั้งหลายได้พากันทำสาธุการ๑  สมัยนั้นภิกษุหลายพันชุมนุมกันอยู่ในมหาวิหาร เห็นการมหัศจรรย์นั้นแล้ว  ต่างก็ชื่นชมให้สาธุการ  บอกป่าวกันเซ็งแซ่ไปว่า  "นี่พระโพธิสัตว์เมตไตรยมา  (เกิด)  ไม่ต้องสงสัย" ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดิน  ได้ทรงสดับข่าวนั้น  ก็พร้อมด้วยราชบริพารเสด็จออกจากพระนครไปยังมหาวิหาร  ทรงมนัสการพระสงฆ์แล้ว  ทรงนมัสการท่านพุทธโฆสะ  นิมนต์รับภิกษา ณ  เรือนหลวงเป็นประจำจนกว่าการแต่งคัมภีร์พระธรรมจะเสด็จท่านรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

  ภิกษุสงฆ์เห็นความสามารถของท่านแล้ว  จึงมอบหนังสือพระไตรปิฎกบาลี กับทั้งหนังสืออรรถกถาสีหลให้ท่าน  ท่านรับเอาหนังสือคัมภีร์ทั้งหมดไปพักอยู่ที่ปราสาท  (คือเรือน ๒ ชั้น ?)  หลังหนึ่งมีชื่อว่า  ปธานฆระ  ทางเบื้องทักษิณแห่งมหาวิหาร  ปริวรรคอรรถกถาสีหลทั้งหมด  ทำเป็นอรรถกถาพระไตรปิฎกในภาษามคธอันเป็นมูลภาษา  (คือภาษาเดิม) ก็อรรถกถาสีหลนั้นมี ๓ ภาค  คือ  มหาอรรถกถา ๑  ปัจจริยอรรถกถา ๑ กุรุนทีอรรถกถา๑

  อรรถกถาที่ได้ขึ้นสู่มหาสังคีติ  พระมหินทร์นำมาแต่งไว้ในภาษาสีหล  ชื่อว่า  มหาอรรถกถา เรือนแพมีอยู่หลังหนึ่งมีชื่อในภาษาสีหลว่าปัจจริยะ  อรรถกถาที่การภิกษุนั่งประชุมกันทำที่เรือนแพนั้น  ชื่อ  ปัจจริยอรรถกถา มีวิหารแห่งหนึ่งชื่อ  กุรุนทีเวฬุวิหาร  อรรถกถาที่การภิกษุนั่งประชุมกันทำในวิหารนั้น  ชื่อกุรุนทีอรรถกถา วาทะที่พระเถระปางก่อนมีพระเถริกาจารย์ เป็นต้น ถือเอานัยพระบาลีแต่งไว้  ชื่อเถรวาท

   ชั้นแรก  ท่านพุทธโฆสะปริวรรตกุรุนทีอรรถกถาจากภาษาสีหลทำอรรถกถาพระวินัยปิฎก  ชื่อสมันตปาสาทิกา  ในภาษามคธแล้ว ต่อนั้น  ในพระสุตตันตปิฎก  ปริวรรตมหาอรรถกถาจากภาษีหลตั้งเป็นอรรถกถาทีฆนิกาย  ชื่อสุมังคลวิลาสีนี  เป็นอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อปปัญจสูทนี เป็นอรรถกถาสังยุนิกาย  ชื่อสารัตถปกาสินี  และเป็นอรรถกถาอังคุตรนิกาย  ชื่อมโนรถปูรณี  ต่อนั้น  ในพระอภิธรรมปิฎกปริวรรตปัจจริยอรรถกถาจากภาษาสีหล  ตั้งเป็นอรรถกถาปกรณ์ธัมมสังคณี  ชื่ออรรถสาลีนี  ในภาษามคธ  เป็นอรรถกถาปกรณ์วิภังค์  ชื่อสัมโมหวิโนทนี  และเป็นอรรถกถา ๕ ปกรณ์  ชื่อปรมัตถทีปนี ท่านพุทธโฆสะ  ได้ทำอรรถกถาสีหลทั้งหมดให้เป็นอรรถกถาพระไตรปิฎก  ในภาษามคธอันเป็นมูลภาษาดังกล่าวมาฉะนี้  อรรถกถา  นั้นแล  ได้นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวประเทศอื่นทั้งปวง  (สืบมา) เมื่อการปริวรรตอรรถกถาพระไตรปิฎกสำเร็จลง  ก็ได้เกิดแผ่นดินไหว  (เป็นอัศจรรย์)*  อรรถกถาพระไตรปิฎกที่ท่านทำดังกล่าวมานี้ปีหนึ่งทีเดียวจึงเสร็จ ครั้นเสร็จแล้ว  ท่านพุทธโฆสะปรารถนาจะได้ไหว้พระมหาโพธิ  จึงกราบลาภิกษุสงฆ์กลับไปชมพูทวีปนั้นแล

  เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระพุทธพจน์โดยเคารพ ประกอบด้วยอุตสาหะอย่างยิ่ง จนแตกฉานทั้งในพระไตรปิฏกและอรรถกถา ได้แต่งปกรณ์ชื่อญาโณทัยขึ้นคัมภีร์หนึ่ง และกำลังปรารถจะแต่งอรรถกถาพระอภิธรรมชื่ออรรถกถาสาลินี และอรรถกถาปลีกย่อยอื่นๆท่านเรวัตตะผู้เป็นอุปฌายะจึงแนะนำว่า เมื่อจะแต่งอรรถกถาเหล่านี้ ก็ควรเดินทางไปเกาะลังกา เพราะเวลานั้นอินเดียมีแต่บาลีพระไตรปิฏกทั้งสิ้น ส่วนอรรถกถาทั้งหลายมีอยู่ ณ เกาะลังกาเป็นภาษาสิงหลซึ่งพระเถระมีพระสารีบุตร(ชาวลังกามิใช่พระสารีบุตร อัครสาวก) และพระมหินเทเถระได้กระทำไว้
  พระพุทธโฆสะจึงเดินทางไปลังกาทาง เรือ และได้แปลอรรถกถาต่างๆ เป็นอันมากจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ ได้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรคในขณะที่อยู่ลังกานั่นเอง  ท่านได้เลือกเฟ้นพระพุทธพจน์ที่เหมาะสมยิ่งคือ มีใจความรวมเอาหลักสำคัญของพระพุทธศาสนาไว้ทั้งหมด ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา แล้วนำมาขยายเพราะเหตุที่ท่านแตกฉานในพระพุทธพจน์และอรรถกถาจึงสามารถขยาย ความได้ดีเยี่ยมอรรถกถาที่มีอยู่ในลังกาเวลานั้นคือ มหาอรรถกถา อรรถกถาปัจจรียะ และอรรถกถากุรุนทีพระพุทธโฆสะแปลอรรถกถากุรุนทีจากสิงหล เป็นมคธแล้วรจนาคัมภีร์สมันตัปปสาทิกา อันเป็นอรรถกถาพระวินัยปิฏกต่อจากนั้นจึงแปลมหาอรรถกถา แล้วรจนาอรรถกถาพระสุตตันตปิฏก คือ


อรรถกถา ฑีฆนิกาย  ชื่อ สุมังคลวิลาสินี
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย ชื่อ ปปัญจสูทนี
อรรถกถา สังยุตตนิกาย ชื่อ สารัตถปกาสินี
อรรถกถา อังคุตรนิกาย ชื่อ มโนรถปูรณี


  แล้ว จึงแปลอรรถกถาปัจจรียะ แล้วรจนาอรรถกถาแห่งพระอภิธรรมให้ชื่อว่า อัฏฐสาลินี และวิภังคปกรณ์ ชื่อ สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาแห่งปกรณ์ทั้ง ๕ ชื่อ ปรมัตถทีปนี เสร็จแล้วจึงได้กลับอินเดีย นำตำราต่างๆที่ท่านแต่งไว้กลับไปเป็นประโยชน์แก่กุลบุตรชาวอินเดียเป็นอัน มากนอกจากนี้ ท่านยังได้รจนาคัมภีร์อื่นๆอีก เช่น อรรถกถาธรรมบท เป็นต้น รวมความว่าคัมภีร์ต่างๆ ที่ใช้ศึกษาอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ เป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์เป็นส่วนใหญ่ เป็นการยากที่จะหาพระมหาเถระอื่นใดเทียบได้ สำหรับตำราภาษาไทยที่พระสงฆ์ใช้ศึกษาอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผลงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

  ๒. วิสุทธิมรรคในพระบาลี มาจากคำว่า วิสุทธิ และ คำว่า มรรค คำว่า วิสุทธิ แปลว่า บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นความหมายหรือเป็นไวพจน์ของพระนิพพาน ส่วนคำว่า มรรค แปลว่า วิธีการปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ หนทางหรืออุบาย เมื่อรวมคำสองคำนี้เข้าด้วยกันได้ความหมายว่า วิธีปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ หนทางหรืออุบายการปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพานหรือวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งแนวทางหรือวิธีการนั้นในคัมภีรวิสุทธิมรรคจำแนกไว้เป็น ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิและปัญญา

  อย่างไรก็ตาม วิสุทธิมรรคในพระบาลีนอกจากในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้ ในบางคราวพุทธองค์ทรงแสดงในความหมายต่างดังนี้

  ๑.  เป็นวิปัสสนาเพียงอย่างเดียว ดังที่ตรัสว่า เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อนั้น เขาย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ นั่นทางแห่งวิสุทธิ์

  ๒. ทรงแสดงวิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ ปัญญาและฌาน ดังที่ตรัสว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญาไม่ได้ ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแลอยู่ใกล้พระนิพพาน

  ๓. ทรงแสดงวิสุทธิมรรคว่า เป็นธรรม ๕ ประการ เช่นตรัสไว้ว่า มัจจะทั้งหลายหมดจดได้ด้วยธรรม ๕ ประการนี้ คือ กรรม วิชา ธรรม ศีลและอุดมชีวิต ไม่ใช่ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์

  ๔. ทรงแสดงวิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ศีล เหมือนที่ตรัสว่า ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีปัญญามีความเพียรอันปรารภแล้ว มีตนอันส่งไปแล้วในกาลทุกเมื่อ ย่อมข้ามโอฆะอันยากที่จะข้ามได้

  ๕. ทรงแสดงวิสุทธิมรรคว่า เป็นโพธิปักขิยธรรม เหมือนที่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายทางที่ไปอันเอกนี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อวิสุทธิแห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน นี้คืออะไร คือสติปัฏฐาน ๔

๓. ลักษณะเด่นของคัมภีร์วิสุทธิมรรคมีอธิบายดังจะพรรณนาต่อไปนี้

  ๑. อรรถกถาทั้งหลายในสมัยอนุราชปุระ ถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้เป็นหลักในการเขียนอรรถกถา และคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลีประโยค ปธ.๘ และวิชาการแปลมคธเป็นไทยประโยค ปธ.๙ ด้วย นับว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของพระพุทธโฆสะ ทำให้พุทธชนรุ่นหลังได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในพระพุทธศาสนา

  ๒.เป็นคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นหลักคำสอนของพระพุทธองค์โดยภาพรวมได้อย่างแจ่มชัดแม้กระทั่งนักปราชญ์ฝั่งตะวันตกคือ Dr. B.C.Law ศึกษาค้นคว้าแล้วถึงกับได้กล่าวยกย่องไว้ในหนังสือ Buddhaghosa  โดยให้ทัศนะว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ภาพรวมที่แสดงถึงระบบแห่งพระพุทธศาสนาทั้งหมด มิได้เพิ่มอะไรให้แก่ตัวคัมภีร์พระไตรปิฎก แต่มุ่งหมายในการจัดสารบาญของพระไตรปิฎกให้เป็นระบบระเบียบ

  ๓. เป็นคัมภีร์ชั้นสูงทีให้ความหมายในเชิงอภิปรัชญาด้วยดังที่ Spence Hardy เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Buddhism กล่าวว่างานชิ้นนี้เสนอเนื้อหาส่วนที่เป็นคำสอนและอภิปรัชญาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ทั้งหลักฐานและความถูกต้อง

  ๔. เป็นคัมภีร์ที่ให้ความรู้ในขั้นปรมัตถธรรมสามารถปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งพุทธศาสนาได้อย่างแท้จริงแม้ในปัจจุบันหลักการปฏฺบัติวิปัสสนากรรมฐานคณะสงฆ์เถรวาทก็นิยมนำมาเป็นหลักในการเจริญวิปัสสนาซึ่งในเรื่องนี้พระธรรมปิฎกท่านก็ได้กล่าวยกย่องไว้โดย (สากัจฉา วิมุตติมรรค,๒๑ ก.ย.๓๘) มีความเห็นว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรค ให้ความรู้ที่เป็นฐานเพื่อก้าวลงสู่มหาสมุทรแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา มีจุดยืนที่การนำเสนอภาคปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน

  ๔. ลักษณะของศีลในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า สีลนะ คือความเป็นมูลรากนั้นเป็นลักษณะของศีล หมายถึงความประพฤติเรียบร้อยทางกายกรรมวจีกรรมและการสำรวมในมโนกรรม หรือการที่กายใจมีความประพฤติชอบมีความสำรวมจนสามารถยังกุศลกรรมให้ประดิษฐานในใจได้กล่าวคือการที่คนสามารถเข้าถึงคุณธรรมต่างๆหรือสามารถน้อมนำคุณธรรมต่างๆมาปฏิบัติได้จริงเรียกว่าเป็นลักษณะของศีล

  อานิสงส์ของศีลในคัมภีร์วิสุทธิมรรคจำแนกไว้เป็น ๔ จำพวก ดังนี้

  จำพวกที่ ๑ ศีลมีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นผลดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็แลศีลแลเป็นกุศล มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นผล มีความไม่ต้องเดือดร้อนใจเป็นอานิสงส์

  จำพวกที่ ๒ อานิสงส์ของศีลมี ๕ ประการ ได้แก่

  ๑. ย่อมได้ประสบกองโภคะใหญ่ เพราะเหตุความไม่ประมาท

  ๒. กิตติศัพท์ชื่อเสียงย่อมฟุ้งกระจายไป

  ๓. จะเข้าไปสู่ท่ามกลางประชุมชนได้อย่างองอาจกล้าหาญไม่เก้อเขิน

  ๔. ไม่หลงทำกาลกิริยา

  ๕. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

  จำพวกที่ ๓ อานิสงส์ของศีลมีความเป็นที่รักที่ชอบใจเป็นเบื้องต้นและมีความสิ้นอาสวะเป็นที่สุด

  จำพวกที่ ๔ อานิสงส์ของศีลมี ๘ ประการ ได้แก่

  ๑. ย่อมชำระมลทินของสรรพสัตว์ได้

  ๒. มีความเย็นระงับความเร่าร้อนให้แก่สรรพสัตว์ได้

  ๓. มีกลิ่นที่ขจรกระจายไปได้ในทุกที่ (หมายถึงกลิ่นความดี)

  ๔. เป็นบันไดขึ้นสู่สวรรค์

  ๕. เป็นประตูสู่พระนิพพาน

  ๖. มีความงดงามกว่าเครื่องประดับทั้งปวง

  ๗. ย่อมกำจัดภัยมีอัตตานุวาทภัยเป็นต้นได้

  ๘. ย่อมยังชื่อเสียงและความเริงร่าให้เกิด

  โทษของการทุศีลในคัมภีร์วิสุทธิมรรค

  ๑. ย่อมเสื่อมจากโภคทรัพย์ เพราะความประมาท

  ๒. เสื่อมเสียชื่อเสียง

  ๓. เคอะเขิน ไม่สง่างาม ไม่มีความกล้าในการเข้าสมาคมกับบัณฑิต

  ๔. เป็นผู้หลงทำกาละ

  ๕. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาตและนรก

  โทษของความทุศีลอีกอย่างหนึ่ง มี ๑๕ ประการ ดังนี้

  ๑. ย่อมไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

  ๒. เป็นผู้ที่เพื่อนสพรหมจารีไม่พึงพร่ำสอน

  ๓. ต้องทุกข์ใจในคำติเตียน

  ๔. ต้องร้อนใจในคำสรรเสริญ

  ๕. ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง

  ๖. เป็นผู้มีสัมผัสหยาบเพราะนำอบายทุกข์มาสู่ผู้ที่เอาเยี่ยงตน

  ๘. เป็นผู้มีราคาถูก เพราะทำความไม่มีผลมากแก่ทายกผู้ที่ตนรับไทยธรรม

  ๙. เป็นผู้ชำระให้บริสุทธิ์ได้ยาก

  ๑๐. เป็นผู้คลาดจากประโยชน์ทั้งสอง

  ๑๑. เป็นผู้หวาดกลัวเป็นนิตย์

  ๑๒. เป็นผู้ที่ใครๆไม่ควรอยู่ร่วมด้วย

  ๑๓. เป็นผู้ไม่ควรแก่การบูชา

  ๑๔. เป็นอภัพบุคคลในการบรรลุธรรม

  ๑๕. เป็นผู้ไร้ความหวังในพระสัทธรรม

  ๕. อธิบายศัพท์

  ๑. ปริยันตปริสุทธิศีล  หมายถึง ศีลมีที่สุด มี ๕ ประเภท ได้แก่

  ๑. ศีลมีลาภเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ละเมิดศีลเพราะลาภเป็นเหตุ

  ๒. ศีลมียศเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ทุศีลเพราะเหตุแห่งยศถาบรรดาศักดิ์

  ๓. ศีลมีญาติเป็นที่สุด หมายถึงผู้ที่ทุศีลเพราะญาติเป็นสำคัญ

  ๔. ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุด ได้แก่ผู้ที่ละเมิดสิกขาบทด้วยความกังวลในอวัยวะ

  ๕. ศีลมีชีวิตเป็นที่สุด ได้แก่ ผู้ที่ยอมทำลายศีลเพราะความรักในชีวิต

  ๒. อปรามัฏฐศีล หมายถึง ศีลที่ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิจับ ได้แก่ ศีลอันสัมปยุตด้วยมรรคของพระเสขะทั้งหลาย กล่าวคือ ศีลของพระเสขบุคคล ๗ จำพวก

  ๓. ทายัชชบริโภค หมายถึง หมายถึงการบริโภคจตุปัจจัยของทายกโดยความที่ตนเป็นผู้มีคุณธรรมเหมาะสมกับความเป็นสมณะเป็นเชื้อสายของพระพุทธเจ้า กล่าวโดยสรุป คือการบริโภคปัจจัยของพระเสขะบุคคล ๗ จำพวก

  ๔. สังวรสุทธิ หมายถึง ความหมดจดด้วยความสังวรคือสำรวม กล่าวคือ อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ ๖ เรียกว่าเป็น สังวรสุทธิ เพราะหมดจดด้วยการสำรวมโดยการตั้งมโนปณิธานว่า เราจักไม่ทำอย่างนี้อีก

  ๕. สัลลปนา หมายถึงการพูดเอาใจทายกทายิกา ได้แก่การพูดโดยแสดงการอ่อนน้อมต่อทายกทายิกาเพราะเกรงว่าทายกทายิกาจะไม่รัก ซึ่งเป็นกิริยาที่จัดอยู่ใน กุหนา คือการหลอกลวง

  ๖. อุนนหนา หมายถึง การพูดผูกมัดทายกายิกา เช่น พูดว่า เมื่อปีก่อนโยมถวายผ้าป่าตั้งหมื่นปีนี้ไม่ถวายหรือ ซึ่งเป็นการบีบบังคับให้ทายกทายิกาต้องถวายโดยความไม่เต็มใจ

  ๗. อารักขโคจร หมายถึง การสำรวมระวังของภิกษุผู้เข้าไปสู่บ้าน ไม่วอกแวกสอดส่ายจนทำให้ไม่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้พบเห็น กล่าวคือให้มีสติเป็นเครื่องกำกับอยู่ตลอดเวลาซึ่งพระฎีกาจารย์ได้อธิบายไว้ว่า สตินั่นเองเป็นอารักษ์

  ๘. อุปนิพัทธโคจร หมายถึง สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนาและธรรมานุปัสสนา ซึ่งเป็นกิจอันภิกษุควรเจริญเป็นนิตย์

  ๙. ปณีตศีล หมายถึง ศีลที่บุคคลประพฤติด้วยอิทธิบาทธรรมมีฉันทะเป็นต้นอย่างประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล อีกความหมายหนึ่ง คือ ศีลที่บุคคลสมาทานอาศัยอริยภาวะด้วยความคิดว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีเราควรทำ อีกอย่างหนึ่ง โลกุตตรศีลจัดเป็นปณีตศีล และศีลที่ประพฤติด้วยความประสงค์จะหลุดพ้นก็จัดเป็นปณีตศีล

  ๑๐. ปริกถา หมายถึง การพูดจาหว่านล้อม คือการพูดล้อมไปล้อมมาจนทายกทายกต้องถวายให้ในที่สุด เช่น พูดว่า กุฏิของอาตมาเล็กไปนะคุณโยม หรือรถของพระอาจารย์คันนี้มันเก่าไปแล้ว เป็นต้น  


หมายเลขบันทึก: 530700เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นาง มาลินีเวียงสมุทร

ชอบมากค่ะสาธุขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท