ข้อคิดจากคนมอซอ : “จงอย่าอายเรียนรู้ จงอย่าอยู่อย่างผู้เชี่ยวชาญ”


แม้จะไม่มีบทพิสูจน์อะไรรับรองในหลักการดังกล่าว แต่การยึดเป็นแนวทางก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะจากการได้ยึดเป็นแนวทางในการทำงานของตนก็ทำให้รู้ว่ามันมีประโยชน์ต่อเราไม่น้อยเช่นเดียวกัน หลักการทำงานที่ดีคือ “ไม่อายที่จะเรียนรู้ และอยู่อย่างผู้ต้องขวนขวาย”

             หลังจากที่ไอ้โจรร้ายที่เราเรียกมันว่า “หน้าที่” ได้ทำการปล้นเวลาจากเราไป ทำให้ไม่มีเวลาเป็นส่วนตัว และมันทำให้เราห่างจากการเขียนในโกทูโนว์นี้ไปเป็นเวลานานพอสมควร วันนี้ผู้รักษาเวลาส่วนตัวของเราที่ชื่อว่า “ปิดเทอม” ได้ทำการทวงคืนเวลาจากเจ้าโจรร้ายได้สำเร็จ เราจึงได้ย้อนกลับสู่โกทูโนว์อีกครั้ง

             การหยุดเขียน “นานๆ” ในโกทูโนว์ ซึ่งหมายรวมไปถึงการหยุดอ่านด้วย มันมีผลร้ายส่งไปถึงความคิดของเราด้วย จะคิดจะขีดจะเขียนอะไรก็เจอแต่ทางตันไปหมด กล่าวคือคิดอะไรไม่ออก บอกอะไรไม่ถูกเช่นกัน

             ด้วยเหตุที่โจร “หน้าที่” ได้แย่งเวลาไปกักขังอยู่กับมันเป็นเวลานานมากพอสมควร เราก็ได้เรียนรู้หลักในการอยู่กับมัน โดยหลักการนี้ไม่ใช่หลักการที่ยืนยันได้ถึงข้อเท็จจริง หรือมีผลการพิสูจน์ด้วยงานวิจัยรองรับ แต่มันรับทราบโดยหัวใจของเราเองว่า “มันสบายใจดี”

              หลักการที่ข้าพเจ้าพูดถึง ผมพยายามที่จะสรุปเป็นข้อความสูตรสำเร็จรูป (ราวกับบะหมี่) ว่า “จงอย่าอายการเรียนรู้ จงอย่าอยู่อย่างผู้เชียวชาญ”

               “จงอย่าอายการเรียนรู้” หมายความว่า ความรู้มีสาระสำคัญที่แปลกใหม่เสมอ แม้บางครั้งเราอาจจะมองว่าเรานี่แหละคือคนที่เชียวชาญที่สุดในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะเป็นคนที่โง่ที่สุดเลยก็เป็นได้ เพราะในบางเรื่องแม้จะเป็นเรื่องที่เราเข้าใจดีแล้ว ศึกษามามากแล้วก็ใช่ว่าจะทั้งหมด ความรู้มันเปลี่ยนแปลงได้ เช่นดาวเคราะห์ที่เราว่ามันมี ๙ ดวง ปัจจุบันความเชื่อนี้ก็เปลี่ยนไป การที่เราพูดคุยหรือศึกษาไปเรื่อยๆ กลับทำให้เราพบว่ามีความรู้ใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้เกิดขึ้นเสมอ ผู้เขียนเคยมีโอกาสรวมเวทีสัมมนาต่าง ๆ คำถามที่ถูกถาม คือ “จะคิดหัวข้อวิจัยอย่างไร เพราะเรื่องอะไรๆ เขาก็ทำกันหมดแล้ว” หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ นักวิจัยคงตกงานกันพอดี กรณีดังกล่าวผมว่า “การทำตัวไม่รู้” ในเรื่องนั้นในระดับดีที่สุดแล้ว อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนในสิ่งที่เราคิดว่ารู้ใหม่ การกลับไปทบทวนใหม่ในครั้งนี้อาจทำให้เราได้รับความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะความรู้มันเป็นพลวัต ไม่หยุดนิ่ง แต่มันพัฒนาหรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอด การเป็นคนอายการเรียนรู้ (การทำตัวว่ารู้แล้ว)จึงถือเป็นการปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้ของตน

                 ส่วน “จงอย่าอยู่อย่างผู้เชี่ยวชาญ” หมายถึง การเลิกล้มแนวความคิดที่ว่าตนคือที่หนึ่งไม่แพ้ใครในเรื่องนั้นๆ ทำไมผู้เขียนจึงกล่าวเช่นนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ฉายความรู้ความสามารถออกมา แต่ให้ใช้เพื่อการทำงานไม่ใช้เพื่อการโอ้อวด เพราะ ประการที่ ๑ การอยู่อย่างผู้เชี่ยวชาญ เป็นการก้าวเดินไปสู่การดูถูกผู้อื่น หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยในวงสนทนาเป็นกลุ่มก้อน เราพยายามถามเรื่องที่เป็นพื้นฐานบางเรื่อง แต่สังเกตถึงสีหน้าและแววตาของสมาชิกในวงสนทนา ที่สะท้อนความรู้สึกออกมา(เรื่องแค่นี้มึงก็ถาม เรื่องแค่นี้มึงก็ไม่รู้บ่) ซึ่งบางครั้งในความเป็นจริงการถามอาจจะไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้ และเขาอาจจะรู้มากกว่าด้วย เพียงแต่เขาจะไม่อายที่จะเรียนรู้ในเรื่องเก่าๆ พื้นๆ เพื่อเป็นการทบทวนหรืออาจเพื่อศึกษามุมมองของคนอื่น เพื่อเก็บไปเพิ่มพูนเป็นความรู้แก่ตน เพราะต่างคนต่างมุมมอง ฉะนั้นหากเราทำเป็นผู้รู้และไม่อยากไปสนใจเรื่องนั้นๆ ก็อาจจะทำให้เราพลาดไปดูถูกคนที่รู้มากกว่าเราก็เป็นได้ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดเราจึงต้องทำตัวเป็นผู้รู้น้อยและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ

                  ประการที่ ๒ คนเราเมื่อมองว่าตนเองรู้แล้วมักจะละเลยหรือมองข้ามเรื่องนั้นๆ ไป ผมเคยเสนองานในบางเรื่องและได้รับเสียงสะท้อนกลับมาว่าเรื่องนี้รู้จนแตกฉานแล้วจะศึกษาไปทำไมอีก ทำไมไม่ศึกษาเรื่องอื่นๆ ตรงนี้คำตอบคงต้องย้อนกลับไปตอนต้นที่ว่า “อย่าอายการเรียนรู้” เพราะแม้จะเป็นเรื่องเดิมแต่มันอาจพบมุมมองหรือองค์ความรู้ใหม่ก็เป็นได้ เช่นงานวิจัยที่เราอ้างเสมอว่า “คนทำเยอะแล้วเรื่องนี้ แต่ถามว่าคุณหยิบมันขึ้นมาอ่านจริงๆ จังๆครบทุกเล่มที่เขาศึกษาหรือยัง” ฉะนั้นการคิดว่าตนเองเชี่ยวชาญแล้วอาจจะทำให้ตนมองข้ามและพลาดความรู้ใหม่ๆ และอาจทำให้คุณโง่ที่สุดในเรื่องนั้นๆ ได้เพราะไม่ได้เพิ่มเติมหรือเพิ่มพูนเพียงเพราะคิดว่าตนเองรู้แล้ว

                  แม้จะไม่มีบทพิสูจน์อะไรรับรองในหลักการดังกล่าว แต่การยึดเป็นแนวทางก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะจากการได้ยึดเป็นแนวทางในการทำงานของตนก็ทำให้รู้ว่ามันมีประโยชน์ต่อเราไม่น้อยเช่นเดียวกัน หลักการทำงานที่ดีคือ “ไม่อายที่จะเรียนรู้ และอยู่อย่างผู้ต้องขวนขวาย” จะเป็นประโยชน์
หมายเลขบันทึก: 530523เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2013 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2013 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล...
ศรัทธาต่อตัวเอง -เชื่อมั่นต่อคนรอบข้าง...

....

และที่จริงแล้ว การเรียนรู้ต้องไม่หยุดนิ่งครับ  ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง มีพลวัตของมันเอง  ไม่สำเร็จรูป -

ชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท