มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ประวัติครูซัน (สมพงศ์ หมื่นจิต)


ประวัติครูซัน (สมพงศ์ หมื่นจิต)
โดย : BanKruSun.com    เมื่อ : 3/07/2006 05:09 PM<p>ชื่อจริง นายสมพงศ์ หมื่นจิตต์ - ตำแหน่ง อาจารย์ 2 ระดับ 7 กินตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ รร. บ้านไม้กะพง อ. อุ้มผาง จ. ตาก เสียชีวิตเมื่อ 18 มิถุนายน 2544 ณ. โรงพยาบาลตากสินมหาราช จ. ตาก

ครูซัน เกิด 20 ธันวาคม พศ. 2502 ณ. ตำบลหนองบัวเหนือ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก บิดาชื่อ นายสุพจน์ หมื่นจิตต์ มารดาชื่อ นางลำดวน หมื่นจิตต์ การศึกษา ระดับประถมศึกษา รร. ตากสินราชรนุสรณ์ จ.ตาก ระดับมัธยมศึกษา รร. ตากพิทยาคม จ.ตาก ระดับ ปกศ.ต้น วิทยาลัยครูกำแพงเพชร จ. กำแพงเพชร ระดับ พม. (ปกศ.สูง) ศึกษาด้วยตนเอง ระดับปริญญาตรี วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กทม.

ประวัติการรับราชการ - บรรจุเข้ารับราชการครู ณ. รร. บ้านแม่กลองเก่า อ. อุ้มผาง จ. ตาก 1 กุมภาพันธ์ 2522 / พศ. 2522-2529 รับราชการครู รร. บ้านแม่กลองเก่า อ. อุ้มผาง จ. ตาก / พศ. 2530 รับตำแหน่ง ครูใหญ่ ณ. รร. บ้านกะแง่คี อ. อุ้มผาง จ. ตาก / พศ. 2531-2534 รับตำแหน่ง ครูใหญ่ ณ รร. สามัคคีวิทยา อ. อุ้มผาง จ. ตาก / พศ. 2535-2544 (ตำแหน่งสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต) อาจารย์ใหญ่ รร. บ้านไม้กะพง อ. อุ้มผาง จ. ตาก

ชีวิตครอบครับ - ปัจจุบันครูซันมีธิดา 2 คน คนแรกศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร กทม. คนเล็กเรียนชั้น ม. 1 รร. อุ้มผางวิทยาคม อ. อุ้มผาง จ. ตาก </p><p align="center">** บันทึกนี้ี่คัดลอกมาจากบันทึกของครูซัน สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่อครั้งที่ครูซันทำผลงาน ** </p><p> ชีวิตและงาน

เกิดมาเป็นลูกครูประชาบาลเงินเดือนน้อย มีพี่น้องหลายคน แม่เป็นชาวนา ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันทำงานตั้งแต่เล็กๆ อพยพตามพ่อที่ต้องย้ายไปสอนตามโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล กันดาร เกือบสิ้นชีวิตด้วยโรคปอดบวมตั้งแต่เด็กๆ คือเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ ในขณะที่ตามพ่อซึ่งไปสอนหนังสืออยู่ที่ดอยมูเซอ

ก็เกิดอาการจากโรคปอดบวมกำเริบ พ่อต้องแบกขึ้นหลังมาออกจากหมู่บ้านมาหาหมอที่ในเมืองตาก เกือบเอาชีวิตไม่รอดเหมือนกัน พอเริ่มเติบโตขึ้นมาก็มาปักหลักอยู่ที่ตำบลหนองหลวง อ. เมืองตากในปัจจุบัน ช่วยแม่ทำอิฐมอญ ไปอยู่วัดเป็นเด็กวัดบ้าง ทำงานรับจ้างทั่วไปบ้าง งานก่อสร้าง จับกังเอาหมด เรียน ปกศ. ต้นด้วยเงินที่พ่อให้มา 500 บาท นอกจากนั้นก็ทำงานหาทุนเรียนด้วยตัวเองมาตลอด พอจบ ปกศ. ต้น ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อกับเขาเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ ก็ออกมารับจ้างถีบรถสามล้ออยู่เกือบปี จนกระทั่งสุดท้ายสอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นครูได้ ก็เลือกลงที่อุ้มผางเลย ปกติแล้ว อ. อุ้มผางนี่ไม่มีใครอยากไปอยู่

หลายคนถึงขนาดว่าพอรู้ตัวว่าต้องไปอยู่อุ้มผางก็ยอมสละสิทธ์เลย ก็มีหลายต่อหลายคน เพราะสมัยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนี่ อ. อุ้มผางนี่ถือว่าทุรกันดารมาก การเดินทางก็ลำบากต้องเดินทางตัดเข้าเขตประเทศพม่า ไข้ป่าก็แรง แล้วยุคนั้นนี่เรื่องของการแตกแยกทางอุดมการณ์นี่ยังมัอยู่สูงมากที่อุ้มผาง แต่ก็ด้วยวัยหนุ่มแน่น อายุเพิ่งจะประมาณ 20 ปี ก็ไม่สนใจอุปสรรคใดๆ อยู่แล้ว

อุ้มผางเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนี่ ลำบากขนาดไหนก็ลองจินตนาการดู ฝนตกชุกตลอดทั้งปี สัตว์ป่ามากมาย ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ อากาศหนาวเย็นตลอดปี สมัยนั้นการรบพุ่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า ระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกู้ชาติกับกองทัพพม่าก็ยังรุนแรงอยู่ โดยที่สมรภูมิที่แรงที่สุดก็อยู่ติดเขต อ. อุ้มผางนี่แหละ เห็นภาพเด็กที่ขาดแคลนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียนแบบเรียนอะไรต่างๆ นี่ก็ได้แต่ทนดูอยู่ ไม่รู้ว่าชะช่วยเหลือได้อย่างไร เงินเดือนหลังจากส่งไปให้น้องเรียนหนังสือแล้วก็เหลือเดือนละไม่กี่บาท

จนกระทั่งวันเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี น้องๆ ก็เรียนจบกันไปหมดแล้ว ครอบครับก็พออยู่พอกินไม่เดือดร้อนอะไร ปี 2535 จึงได้เริ่มตั้งโครงการชื่อว่า “เพื่อเด็กน้อย” พอการใช้ความรู้ความสามารถทางดนตรีที่พอมีอยู่ ออกตระเวนเล่นดนตรีในลักษณะ “เปิดหมวก” และเข้าไปติดต่อขอเล่นตามร้านอาหารบ้าง และก็ได้บอกวัตถุประสงค์ของการทำงานเพื่อเด็กๆ ตามสถานที่ๆ เข้าไป พร้อมกับขอรับบริจาคเสื้อผ้าบ้าง เครื่องเขียนแบบเรียนบ้าง หรือเงินบ้างตามความสมัครใจของผู้บริจาค เพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงแนว “เพื่อชีวิต” คือก็เล่นทั้งเพลงคนอื่นและเพลงของตัวเองบ้าง โดยจะเน้นเฉพาะเพลงที่เป็นเนื้อหาที่กล่าวถึงเรื่องราวของเด็กนักเรียนในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญเป็นหลัก และเพลงที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติบ้าง เพลงเป็นสื่อที่เข้าถึงจิตใจคนได้ง่ายและรวดเร็ว จึงเริ่มมีคนรู้จักและให้การสนับสนุน โดยชมรมตะกร้อจังหวัดตากมอบเงินสนับสนุนเป็นทุนในการทำเทปชุดแรก ชื่อชุด “เพื่อเด็กน้อย” ก็ผลิตออกมาจำนวน 2000 ม้วน ใช้เวลาจำหน่ายประมาณ 1 ปี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเงินประมาณ 40,000 บาท ก็ได้มอบให้กับสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดตาก เพื่อมอบเป็นทุนให้แก่โรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและกันดารที่สุดใน 8 อำเภอ ภายในจังหวัดตาก โรงเรียนละ 5,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน

จากนั้นเป็นต้นมา บทเพลงจึงถูกถ่ายทอดออกไปสู่สาธารณะเรื่อยๆ และในวงที่กว้างมากขึ้น อำเภออุ้มผางมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเข้าไปเที่ยวมากมายในแต่ละปี จึงได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในหลายกลุ่ม หลายองค์กร ในปีหนึ่งๆ จะมีรถบรรทุกอาหาร เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การศึกษา ฯลฯ ไปสู่อุ้มผางมากขึ้นเป็นลำดับ

จนกระทั่งสามารถกระจายความช่วยเหลือดังกล่าวออกไปได้ทั่วทุกโรงเรียน (ที่ขาดแคลน) ภายในอำเภออุ้มผาง

ผลงานเพลงได้รับการสนับสนุนจากนักฟังเพลงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน จึงได้สร้างงานเพลงต่อมาเป็นลำดับดังนี้

ครูซัน # 1 ชื่อชุด “ครูเพื่อชีวิต”
ครูซัน # 2 ชื่อชุด “แอ่วอุ้มผาง”
ครูซัน # 3 ชื่อชุด “เส้นทางตะวัน”
ครูซัน # 4 ชื่อชุด “ผ้าห่มใจ”
ครูซัน # 5 ชื่อชุด “ซันยิปซี”
ครูซัน # 6 ชื่อชุด “คนดีของแผ่นดิน”
ครูซัน # 7 ชื่อชุด “ดอกไม้แห่งชีวิต”
ครูซัน # 8 ชื่อชุด “ใต้เงาจันทร์”

การทำงานนั้นจะคำนึงถึงเสมอว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ขาดแคลน จรรโลงสังคมให้งดงามน่าอยู่ได้อย่างไร เมื่อมีเวลาวันหยุดหรือปิดเทอม ก็จะเข้าร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มศิลปินในสาขาต่างๆ และเข้าร่วมการแสดงดนตรีเท่าที่โอกาสจะเอื้อำนวย เช่น “โครงการศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก” โดยศิลปินต่างๆ จากหลากหลายสาขา จะรวมตัวกันเข้าไปสัมผัสพื้นที่ใจกลางป่า และนพเสนอเป็นผลงานทางศิลปะ บทเพลง ฯลฯ ตามความถนัดของแต่ละคน และนำผลงานออกแสดงตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้เยาวชนและผู้คนในสังคมมีจิตสำนึกที่ดีงาม ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและช่วยเหลือซึ่งกันและกันต่อๆ ไป </p><p> ประวัติชีวิตและผลงาน

เริ่มรับราชการวันที่ 1 กุทภาพันธ์ 2522 บรรจุเป็นครูน้อย โรงเรียนบ้านแม่กลองเก่า อ. อุ้มผาง จ. ตาก

เดินทางสู่อุ้มผางพร้อมด้วยกีต้าร์เก่าๆ ตัวหนึ่ง ไว้สำหรับดีดเล่นในยามเหงา พบความยากลำบากในการเดินทาง มีรถโดยสารจากอำเภอแม่สอดเพียงวันละ 1 เที่ยว ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงในการเดินทางจากอำเภอแม่สอดถึงอุ้มผาง หากเป็นช่วงฤดูฝน ไม่สามารถใช้รถยนต์ในการเดินทางได้ ต้องเดินเท้าจากอำเภอพบพระสู่อุ้มผาง ใช้เวลา 2 วัน ก็ต้องพักค้างแรมกันในป่า แล้วเส้นทางที่เดินหรือนั่งรถยนต์โดยสารก็เป็นเขตแดนพม่า เพราะตามเขตแดนไทยจากพบพระถึงอุ้มผางนั้นเป็นเทือกเขาถนนธงชัย ดังนั้นการเดินทางที่สะดวกที่สุดคือ เดินทางผ่านเขตแดนพม่า

อำเภออุ้มผางนั้นพื้นที่ตั้งอยู่กลางหุบเขา อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เห็นสภาพที่น่าสงสารของเด็กนักเรียน ที่ต้องสวมเสื้อบางๆ เก่าๆ และขาดๆ ใช้ลูกส้มโอมาทุบจนอ่อนและเตะแทนลูกฟุตบอล จึงได้พาเด็กนักเรียนเข้าป่าไปตัดไม้ไผ่ เพื่อมาทำเป็นขลุ่ยให้เด็กได้เป่าเล่น มีเสียงบ้างไม่มีเสียงบ้าง ก็รู้สึกว่ายังดีกว่าการไล่เตะลูกส้มโอเพียงอย่างเดียว

พศ. 2528 ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการในตำแหน่งวิชาการอำเภอ อยู่บนสำนักงานการประถมศึกษา อ. อุ้มผางเป็นเวลา 1 ปี จึงได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพ วิชาเอกที่เลือกเรียนคือ วิชาการดนตรี จบการศึกษาในปี 2529

พศ. 2530 สมัครสอบครูใหญ่และได้รับการบรรจุเป็นครูใหญ่ครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านกะแง่คี อ. อุ้มผาง

พศ. 2531 ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนสามัคคีวิทยา ซึ่งมีโรงเรียนสาขาอีก 2 สาขาคือ สาขาบ้านแปโดทะ และสาขาบ้านอุ้มผางคี ต้องทำงานหนักเป็น 3 เท่าของโรงเรียนทั่วไป เพราะต้องดูแล 3 โรงเรียนในขณะเดียวกัน และที่สำคัญปัญหาใหญ่ของที่นี่คือการขาดกำลังบุคคลากร โดยเฉพาะที่โรงเรียนสาขาบ้านอุ้มผางคีนั้น ต้องเดินเท้าเข้าไปสอนเกือบ 20 กม.

พศ. 2535 ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านไม้กะพง ฐานะครอบครับในช่วงนี้อยู่ในขั้นพอใช้ได้ พออยู่พอกิน จึงคิดช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนด้วยการขับรถจากอำเภออุ้มผางหลังโรงเรียนเลิกเย็นวันศุกร์ ถึงอำเภอเมืองตากประมาณ 4 ทุ่ม เล่นดนตรีตามร้านอาหาร วันเสาร์จะเล่นเปิดหมวก รับบริจาคเสื้อผ้าบ้าง เครื่องอุปโภคบริโภคบ้าง เครื่องเขียนแบบเรียนบ้าง ฯลฯ วันอาทิตย์ใช้เงินที่หาได้จากการเล่นดนตรีหาซื้อสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอนขึ้นไปอุ้มผาง

ประวัติการทำงานดีเด่นที่ภาคภูมิใจ

• ได้มีโอกาสเล่นดนตรีถวายต่อหน้าพระพักต์สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ถึง 3 ครั้ง
• ได้รับการยกย่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเรื่องเพลงแนะนำการท่องเที่ยวเมืองตาก
• ได้รับเชิญจาก สปช. ให้เป็นวิทยากร จัดทำเพลงให้กับสมัชชาเด็กแห่งชาติ
• ได้รับการเสนอชื่อจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
• ได้รับโล่ห์เกียรติยศเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบันราชภัฏกำแพงเพชร
• ได้รับการประกาศเกียนติคุณจากชมรมผู้สื่อข่าว ในสาขาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในชนบท
• ได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมเป็นศิลปินในโครงการ “ศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก”
• เป็นวิทยากรอบรมดนตรี ศิลป วัฒนธรรม ให้กับนักเรียนใน ศปจ. ตาก
• ได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมในโครงการ “ประชาธิปไตยสัญจร” ในการจัดคอนเสิร์ต “รวมใจดอกไม้บาน”
• จัดตั้งกองทุน “เพื่อเด็กดอย” และเป็นผู้ดำเนินการหาทุนเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน
• มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ทุนละ 500 บาท จำนวน 20 ทุน
• มอบทุนหมุนเวียนโครงการอาหารกลางวัน 8 โรงเรียนๆ ละ 5000 บาท
• มอบเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเขียน แบบเรียนต่างๆ แก่เด็กนักเรียนในอำเภออุ้มผางเป็นจำนวนมาก
ฯลฯ

อนึ่ง นอกเหนือจากทั้ง 8 อัลบั้มดังกล่าวแล้ว ยังมีชุดพิเศษที่จัดทำโดยครูซัน สมัยเมื่อยังมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นการรวมเพลงดังนี้คือ เที่ยวเมืองตาก , ตะวันชีวิต

และหลังจากการสิ้นชีวิตของครูซัน ทางครอบครัวได้จัดทำอัลบั้มพิเศษขึ้นมาอีก 2 อัลบั้มคือ รำลึกครูซัน , ตะวันชีวิต จัดทำเป็นซีดีรวม 2000 แผ่น จำหน่ายแผ่นละ 200 บาท รายได้จากการขายซีดีในชุดนี้ ทางครอบครัวได้มอบให้ “กองทุนเพื่อเด็กดอย” สำนักงานการประถมศึกษา อ. อุ้มผางทั้งหมด

เมื่อครั้งการจัดคอนเสิร์ต รำลึกครูซัน ตะวันชีวิต เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 ณ เวทีใหญ่เทศบาลเมืองตาก และล่าสุดทางครอบครัวได้จัดทำชุดพิเศษขึ้นมาอีก 1 ชุด คือชุด “เที่ยวเมืองตาก 2545” ทั้งเทปและซีดี ตามคำเรียกร้องของแฟนเพลงครูซันที่ได้มีการติดต่อไถ่ถามมาอย่างมาก และรายได้จากการขายเทป ซีดีก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษาของธิดาครูซันทั้ง 2 คน (รวมทั้งอัลบั้มเก่าต่างๆ)</p><p>ที่มา : http://www.bankrusun.com/board/0_view.php?id=1</p><p>หมายเหตุ ด้วยความระลึกถึงความดีที่ครูสร้างอย่างทุ่มเท ผู้จุดประกายวิธีคิดให้ศิษย์ที่ครูสอนด้วยการกระทำของครูเอง...</p><hr width="100%" size="2" /><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 52942เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมประทับใจประวัติครูซันมากครับ 

ขอชักชวนให้ช่วยกันเล่าประวัติ หรือเรื่องราวของคนเล็กคนน้อยที่เป็นคนดี   ออกสู่สังคมไทยครับ    ผมได้เล่าไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/thaikm/ ทุกวันทำการครับ

ช่วยกันเอาข่าวเรื่องราวดีๆ จรรโลงสังคมครับ

วิจารณ์

คนดีที่ทำงานเพื่อคนอื่นในประเทศเราช่างอายุสั้นเหลือเกิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท