ม.อ.ปัตตานี วิจัยสร้างบ้านรังนหนางแอ่นต้นทุนต่ำ


รองศาสตราจารย์ ดร. เจริญ นาคสรรค์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า นักวิชาการของคณะได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง ชีววิทยาและการออกแบบการสร้างบ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำ โดยได้สร้างอาคารต้นแบบโครงการบริเวณดาดฟ้า อาคาร 51 วิทยาเขตปัตตานี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและค้นคว้าความรู้ทางด้านชีววิทยา และเทคโนโลยีการออกแบบการสร้างบ้านรังนกต้นแบบ ที่มีต้นทุนต่ำ โดยการเลือกใช้วัตถุที่เหมาะสม จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่เดิม และรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ เป็นที่ยอมรับ และเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชคชัย เหลืองธุวปราณีต ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว กล่าวว่า บ้านรังนกนางแอ่นต้นทุนต่ำนี้ ออกแบบโดย อาจารย์ ณัฐพงษ์ บวรเรืองโรจน์ และโดยความร่วมมือของคุณชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ ประธานมูลนิธิชูเกียรติปิติเจริญกิจ จังหวัดปัตตานี ผู้ได้รับการคัดเลือกจาก ศอ.บต. ให้เป็นผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในรอบปี 2552 สาขาจิตบริการสาธารณะ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ให้คำแนะนำเชิงวิชาการ และเปิดโอกาสให้ทีมผู้วิจัยได้เยี่ยมชมบ้านรังนก เพื่อเป็นความรู้และแนวคิด ในการออกแบบและเขียนแบบ

บ้านรังนกต้นแบบนี้ เป็นบ้านโครงเหล็กแบบก่ออิฐมวลเบา ขนาด 5.0 x 13.5 x 5.0 เมตร ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 4 แสนบาทเศษ ภายในประกอบด้วย ห้องรังนก ร่องน้ำ และคานไม้กระดานสำหรับเป็นที่พักอาศัย มีฝ้าเพดานและฉนวนกันความร้อนบริเวณหลังคา ซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อลดความร้อนบริเวณดาดฟ้า อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านอาจต่ำกว่านี้ได้อีกถ้าหากเลือกใช้วัสดุที่ถูกกว่านี้ เช่น บ้านโครงไม้ที่ก่อผนังด้วยดินเหนียว เป็นต้น

ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการก่อสร้าง โดยเน้นถึงความประหยัด และการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การเลือกใช้ คุณภาพของวัสดุที่ดีพอใช้ในงบประมาณที่ไม่แพงจนเกินไป เป็นต้น นอกจากนี้ ในระหว่างการเลี้ยงนั้น จะมีการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านกายภาพ ชีววิทยา และพฤติกรรม อย่างเป็นระบบอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชคชัย เหลืองธุวปราณีต กล่าวว่า บ้านรังนกสร้างเสร็จ เมื่อเดือน เมษายน 2553 และปัจจุบันได้มีนกนางแอ่นเริ่มเข้าทำรังในอาคารต้นแบบของโครงการฯ โดยผู้วิจัย ที่สามารถบันทึกภาพรังนกได้ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 แม้ว่า จะเป็นรังนกที่ไม่สมบูรณ์แบบมากนัก แต่ก็นับว่า เป็นรังนกรังแรกของโครงการฯ ซึ่งทีมวิจัยได้เฝ้าสังเกตมา

                       
คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 527855เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท