แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างผู้เรียน


แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างผู้เรียน


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


              ประเด็นปัญหาการทะเลาะวิวาทของผู้เรียนในระดับชั้นต่าง ๆ นั้น เป็นปัญหาที่มีอยู่คู่กับการศึกษามาช้านาน  จนอาจจะกล่าวได้ว่า เริ่มมีการศึกษาให้แก่กลุ่มเด็กเมื่อใด  ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการแข่งขัน เพราะความรู้สึกว่าผู้อื่นอยู่เหนือกว่าตนบ้าง  ไม่ถูกสีหน้าชะตาท่าทางบ้าง  หรือจากการถูกสบประมาท  ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น  สถาบันการศึกษา จึงมิได้มีหน้าที่แต่การสั่งสอนพัฒนาด้านความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่ยังจะต้องให้ความสำคัญต่อการระงับเหตุแห่งความขัดแย้งนั้น มิให้ลุกลามไปใหญ่โตอีกด้วย เพราะปัญหาความขัดแย้งนั้น จริงอยู่  แม้จะเป็นเรื่องระหว่างเด็ก ที่ธรรมดาควรจะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หลายกรณีดังที่ปรากฏในข่าวสารต่าง ๆ ก็กลับขยายไป กลายเป็นโศกนาฏกรรมอันน่ารันทด  ทำให้ผู้ใหญ่และสังคมทั่วไปต้องโศกเศร้า เพราะไม่ทันที่จะคิดหาทางควบคุมหรือแก้ไขมาก่อน 


         

          ความขัดแย้งนั้นมีหลายระดับ แต่ความขัดแย้งเบื้องต้น สำหรับเด็กในช่วงวัยแรกเริ่มชีวิตนั้น ส่วนใหญ่เป็นความขัดแย้งระหว่างตัวเด็กผู้นั้นเองกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น  เหตุแห่งความขัดแย้งโดยทั่วไปคือ ฝ่ายหนึ่งมิได้ทำให้เด็กอีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกสมประสงค์ หรือได้ดั่งใจคิด ความขัดแย้งของเด็ก จึงเห็นได้ตั้งแต่ การแย่งของเล่นที่ถูกใจ การทะเลาะกันเพื่อเอาชนะคะคานในด้านความคิด การร้องไห้ หรือส่งเสียง หรือแสดงกิริยาอาการ  อื่นใด ที่แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่าไม่พอใจ และต้องการให้อีกฝ่ายยอมแพ้ เป็นต้น  ที่จริงแล้ว ก่อนที่จะแก้ไข  ความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านั้น  ผู้แก้ไข ซึ่งอาจจะเป็นตัวเด็กคู่ขัดแย้งเองหรือบุคคลที่สาม ซึ่งได้แก่ ครู หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง  จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ความขัดแย้งนั้นคือปัญหา และธรรมดาแล้ว  ปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จำนวนมาก การใช้เพียงแต่เฉพาะกำลัง  เพื่อแสดงความก้าวร้าว หรือข่มขู่อีกฝ่ายให้หวาดกลัวนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด  รังแต่จะทำให้เกิดอารมณ์ที่คุกรุ่น กลายเป็นความก้าวร้าว  และเพิ่ม  พลานุภาพในการทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปอีก  และในที่สุดแล้ว แรงแห่งการทำลายล้างดังกล่าว ก็จะย้อนกลับสู่ผู้ก่อเองด้วยแรงที่เท่ากันหรือแรงกว่า ด้วยเหตุนี้ ผู้เรียนจึงควรที่จะได้เรียนรู้หลักการจัดการ  กับปัญหา และเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อันเป็นทักษะชีวิต ที่สถานศึกษาควรจัดไว้ในหลักสูตรและการเรียนการสอนด้วย 


              สิ่งที่ผู้เรียนพึงทราบ เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งก็คือ ความขัดแย้งจะลดได้ ก็เมื่อตนเองเกิดความสมประสงค์หนึ่ง และตนเองสามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ตนเองขัดแย้งด้วยหนึ่ง  ทั้งสองประการนี้ จึงจะทำให้เกิดภาวะคลี่คลายได้  การสมประสงค์นั้น กระทำได้โดยง่ายหากใช้การบีบบังคับ  (coercion) ไปเสียเลย ด้วยการแสดงภาวะบางอย่างให้อีกฝ่ายขยาดกลัว  หรือหากมิได้เต็มร้อยดังที่ใจปรารถนามุ่งหวังไว้ แต่เป็นการลดในระดับเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับได้ เช่นนี้ย่อมเรียกว่า การประนีประนอม (compromise) ซึ่งก็พอที่จะรักษาความสัมพันธ์ยอมความกันไปได้ หรือหากสามารถที่จะยอมและถอนตัวไปได้จากสภาพขัดแย้งนั้น เช่น เลิกพูด  หยุดเล่นทันที  เปลี่ยนเรื่องสนทนา หรือยุติการอภิปราย เมื่อเห็นว่าเริ่มเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น แนวทางเช่นนี้ อาจเรียกว่า การถอนตัวหรือการเลิกยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้ง  (disengagement) ไปขณะหนึ่ง (Bergin และ Bergin, 2012)  เพื่อให้เกิดภาวะช่องว่าง อันเป็นภาวะเงียบ   ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการครุ่นคิดและนำไปสู่ทางออกบางประการระหว่างคู่ขัดแย้ง อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนนั้น แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลสองคนก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลที่สามเข้าไปดำเนินการห้ามปรามหรือแก้ไขด้วยทักษะต่าง ๆ เพื่อให้คู่ขัดแย้งคลายความขัดแย้งในทันที  หรือเกิดภาวะถอนตัวไปสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมาประนีประนอมกันต่อไป   


              สังคมระดับโรงเรียนนั้น  บุคคลที่สามที่สามารถเข้าไประงับเหตุความขัดแย้งระหว่างผู้เรียนได้ นอกเหนือไปจากครูหรือผู้ใหญ่ก็คือเพื่อน ในกรณีนี้  ครูจำเป็นจะต้องดำเนินการฝึกอบรมและพัฒนานักเรียนส่วนหนึ่งในชั้นหรือในสถานศึกษา  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหน้าที่ในทางปกครองเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เช่น หัวหน้าห้อง หัวหน้าระดับชั้น หัวหน้าคณะ ผู้นำนักเรียน  ฯลฯ ให้มีทักษะในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยเฉพาะ  อย่างยิ่ง การประพฤติตนให้คงไว้ซึ่งความเที่ยงตรง ยุติธรรม จนทำให้สมาชิกในห้องเกิดความเกรงใจ  และรับฟังหากเพื่อนผู้นี้เข้าไประงับเหตุ สิ่งสำคัญคือ ผู้เรียนที่จะต้องทำหน้าที่ดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีใจ  เปิดกว้าง เป็นธรรม และยอมรับฟังความคิดเห็นของคู่กรณีด้วยเหตุและผล ที่สำคัญคือ ไม่ว่าเหตุผลของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร จะต้องไม่ใช้อารมณ์ต่าง ๆ ไปสนับสนุน กระทั่งเกิดความลำเอียงเข้าพวกไปกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปเสีย  ผู้ระงับความขัดแย้งจะต้องสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้อย่างมั่นคง และสามารถที่จะทำให้คู่กรณี ค่อย ๆ ประนีประนอมกัน จนเหลือแต่การใช้เหตุและผล ซึ่งที่สุดแล้ว จะนำไปสู่การยุติการใช้  ความรุนแรงด้วยกิริยา ท่าทางหรือแม้กระทั่งความคิดของทั้งสองฝ่าย 


             ผู้เรียนที่ทำหน้าที่เป็นบุคคลที่สาม จะต้องมีทักษะในการซักถามและโน้มน้าวให้คู่กรณีเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และผลกระทบที่อีกฝ่ายทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจหรือเสียประโยชน์ และชี้ให้เห็นถึงโทษหรือผลที่สุด  หากทั้งสองฝ่ายยังดึงดันที่จะใช้วิธีการแก้ไขด้วยกำลัง หรือการทะเลาะด้วยวาจา เพื่อให้คู่กรณีเห็นให้ชัดว่า ปัญหาที่กำลังถกเถียงหรือขัดแย้งกันอยู่นั้นคืออะไร และควรใช้วิธีการใดในการที่จะแก้ไข เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือไม่เสียประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายไปมากกว่านี้  ซึ่งการสอนให้ผู้เรียนแต่ละคนเกิดทักษะการแก้ไขความขัดแย้งนั้น เกิดขึ้นได้จากการเรียนการสอนในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ในลักษณะที่ให้ผู้เรียนได้มองประเด็นปัญหาแล้วถกเกียงกันโดยใช้เหตุและผลถึงวิธีการแก้ปัญหา อันเป็นลักษณะพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย  เพื่อฝึกให้ผู้เรียนมีใจเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น ไม่โกรธง่าย หรือตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยอารมณ์  และที่สำคัญที่สุด คือ การเสริมสร้างวัฒนธรรมของโรงเรียน โดยครูหรือผู้ใหญ่ที่ผู้เรียนเห็นเป็นตัวแบบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  จะต้องช่วยกันสร้างระบบที่เป็นธรรม อันเป็นระบบของการตัดสินด้วยเหตุและผลในการบริหารจัดการต่าง ๆ รวมถึงจะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาในการทำหน้าที่ของบุคคล  ที่สาม ซึ่งก็ได้แก่เพื่อนนักเรียนที่ทำหน้าที่แทนครู ในการเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่เพื่อน  อันถือเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถเข้าไประงับเหตุได้รวดเร็วมากที่สุด หากปัญหาเกิดขึ้นและ ณ ที่นั้น ไม่อาจหาผู้ใหญ่มาดำเนินการใด ๆ ได้ทัน


              ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้เรียนเกิดขึ้นอยู่เป็นธรรมดา แต่ผู้ใหญ่ที่มองเห็นปัญหานี้จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา และไม่เคยที่จะรับผิดชอบอะไรนั้น ถือว่ามิใช่เรื่องธรรมดา เพราะสิ่งนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังและวงการศึกษาก็ยังขจัดออกไปไม่ได้ เข้าทำนอง “มันก็เรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ไม่เกี่ยว”  ถ้าลงคิดเห็นกันเสียเช่นนี้แล้ว  ระบบการศึกษาก็ไม่จำเป็นจะต้องมีครู มีผู้ใหญ่ เพราะการเรียนรู้เป็นเรื่องของเด็ก ครูหรือผู้ใหญ่อย่างเราท่านก็ไม่น่าจะเกี่ยวด้วย ที่สุดแล้วก็ให้เด็กบริหารจัดการชีวิตพวกเขาไปเองไม่ดีกว่าหรือ  หรือว่าไม่จริง ...

_______________________________________


หมายเลขบันทึก: 527558เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2013 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มีนาคม 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท