วิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต (1)


หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ คือ ต้องรู้จัก “ค่าของเงิน” และสร้างเงินขึ้นมาจากการลงทุน แล้วผมก็นำนักศึกษาไปรู้จัก “ผู้ประกอบการ” ในอุดมคติท่านหนึ่งซึ่งผมประทับใจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน เขาคือ “มะกะโท”

วิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต (1)

          ผมมีโอกาสเข้าไปสอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิ.ย. 48 ที่ผ่านมา สอนมาถึงสัปดาห์นี้ 3 ครั้งแล้วครับ วิชาที่สอนเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาปี 3 และ 4 คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาสัตว์ศาสตร์ จำนวน 28 คน ชื่อวิชา วิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต โดยเน้นหนักการสร้างความรู้, ความเข้าใจในระบบธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทางเลือกในการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ให้กับนักศึกษา

          Blog ชิ้นนี้เป็นภารกิจส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวิชานี้ครับ ผมได้พูดคุยกับนักศึกษาว่า เราจะเปิดช่องทางเพื่อสร้างกระบวนการ Knowledge Sharing ทางอินเตอร์เน็ทให้การเรียนการสอนของเราเปิดกว้างสู่สังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น ในกลุ่มของเราก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง สังคมภายนอกก็เข้ามาร่วมแชร์ไอเดียได้ ทำให้ความรู้ภายในห้องเรียนเกิดการ อบ-รม-บ่ม-เพาะ พร้อมที่จะนำไปปลูกให้เจริญงอกงามในโอกาสต่อ ๆ ไป

          วันพุธที่ 8 มิ.ย. 48 เป็นการพบปะกันครั้งแรก หลังจากแนะนำตัวกันพอสังเขป (ผมมีความเชื่อว่า ใครก็แล้วแต่พูดถึงตัวเองนานเกินกว่า 5 นาที ผมจะเรียกเขาว่า “คนขี้โม้” เพราะฉะนั้นจึงแนะนำตัวกันพอสังเขปก็พอ) ผมก็เริ่มเข้าสู่บทเรียน โดยใช้สื่อ PowerPoint วิเคราะห์กราฟให้นักศึกษาเห็นกันชัด ๆ ว่า ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) ของ จ.ชุมพร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 330,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 460,000 คน ทำงานแบบที่เราเรียกว่า “รับจ้าง” เป็นข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, ลูกจ้างทั้งของภาครัฐและเอกชน ประมาณ 21% เท่านั้น และแนวโน้มในอนาคตคาดว่า จะไม่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจาก นโยบายการลดอัตรากำลังคนในภาครัฐ และการขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีการจ้างแรงงานมาก ๆ ยังมองไม่เห็น ดังนั้น นักศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมกับการมายืนอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ 79% ที่ประกอบอาชีพในลักษณะที่เราเรียกว่า เป็น “ผู้ประกอบการ”  ทำสวนยาง-สวนปาล์ม-สวนผลไม้, ค้าขาย, จับปลา, ให้บริการในด้านต่าง ๆ ฯลฯ

          หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบการ คือ ต้องรู้จัก “ค่าของเงิน” และสร้างเงินขึ้นมาจากการลงทุน แล้วผมก็นำนักศึกษาไปรู้จัก “ผู้ประกอบการ” ในอุดมคติท่านหนึ่งซึ่งผมประทับใจมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน เขาคือ “มะกะโท” นึกออกไหมครับ ตัวเอกคนหนึ่งในพงศาวดารมอญเรื่อง “ราชาธิราช” ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงจะพอจำได้ว่า มะกะโทเคยประกอบวีรกรรมเล็ก ๆ จากการเจอเศษเงิน แล้วนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผักกาดด้วยวิธีพิเศษ ผมขยายความให้นักศึกษามองลึกลงไปในแง่ของการลงทุน และคิดต่อไปว่า มะกะโทจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตอะไรบ้าง สนุกสนานทีเดียวครับ แล้วเราก็พบความจริงว่า มะกะโทส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรในประเทศไทยลืมคิดค่าแรงของตัวเอง เรื่องนี้ผมนำมาประยุกต์ด้วยตัวเองครับ ประกาศได้เลยว่า เป็น original นำไปใช้ต่อได้เลยครับ

          หลังจากนั้น ผมก็เริ่มให้นักศึกษาได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับรูปแบบของบัญชีรับ-จ่าย เอามาวางประกบซ้อนอยู่บนบัญชีงบดุล ซึ่งแสดงสินทรัพย์-หนี้สิน ไม่ได้สอนเทคนิคเกี่ยวกับการจดบันทึกทางบัญชีเลยครับเพราะยังไม่ถึงเวลา แต่สอนความเข้าใจในการไหลเวียนของเงิน และขยายขอบเขตไปถึงเรื่องที่ไม่ใช่เงิน ผมคิดว่า Model นี้มีความเหมาะสมและนำเข้าสู่การสร้างความเข้าใจทั้งในมิติของการทำงานหาเงิน, การใช้ชีวิต ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

          การสอนในครั้งแรกซึ่งใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ยังมีเนื้อหาอย่างอื่นที่เราได้พูดคุยกัน แต่ไม่ได้นำมา Highlight ในที่นี้เพราะเดี๋ยวจะมากเกินไปครับ และทุกครั้งที่สอนผมจะเปลี่ยนห้องเรียนเป็น Workshop เล็ก ๆ ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยครั้งนี้ตั้งคำถามกับทุกคนว่า “เมื่อพิจารณาจากสภาวะของตัวท่านเองในปัจจุบัน ท่านมีความมุ่งหวังอยากจะให้สิ่งใดเกิดขึ้นกับตัวท่าน ขอให้ตอบมาสัก 3 ข้อ เรียงตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย

          คำตอบจากกลุ่มนักศึกษามีหลากหลายไปตามพื้นฐานความคิด และประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนจะมีความกังวลเรื่อง การมีงานทำ, การหารายได้เลี้ยงชีวิตครอบครัว บางคำตอบก็แสดงถึงความมุ่งหวังที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ซึ่งเราจะเรียกว่า วิสัยทัศน์ ก็คงจะได้ แต่ก็จะต้องขัดเกลาให้มีความแหลมคมเป็นจริงเป็นจังมากกว่านี้ บางคำตอบอ่านแล้วสะเทือนใจครับ เช่น อยากหาเงินเลี้ยงแม่, อยากมีครอบครัวที่อบอุ่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้สะท้อนความจริงในชีวิตของนักศึกษาได้ระดับหนึ่ง ผมก็ได้สรุปให้เห็นว่า ความมุ่งหวังทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ แบบโชคช่วย ชีวิตต้องมีการผลักดัน พัฒนาตนเองให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความรู้ความสามารถโดยยืนอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจความจริง.

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 527เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2005 03:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
 อาจารย์เข้ามาครั้งแรกจริงๆๆแล้วทำให้หนูทึ่งมาก อาจารย์ให้คิดแบบมะกะโททำให้สามารถคิดได้กว้างขึ้นมากยิ่งทำให้มองภาพธุรกิจได้มากขึ้น
15-ก.ค.-2005    ทุกอย่างก็ดีค่ะรูปก็สวยมีแต่คนน่ารัก

วันแรกที่ได้เรียนรู้สึกชอบและทึ่งมาก เพราะอาจารย์ทำสื่อนำเสนอเรื่อง รายรับ-รายจ่าย-สินทรัพย์-หนี้สิ้น ออกมาเข้าใจได้ง่าย และอาจารย์อธิบายได้เข้าใจทะลุปรุโปร่งดีค่ะ ไม่คิดว่าเรื่องเกี่ยวกับบริหารจะเข้าใจง่ายไม่หน้าเบื่อ เพราะโดยส่วนตัวแล้วจะเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ค่อยเข้าใจเลยทำให้ไม่ค่อยชอบที่จะเรียน แต่ได้เรียนกับอาจารย์แล้วชอบค่ะ และก็ชอบที่อาจารย์ตั้งใจที่จะสอนพวกเราด้วย แถมเป็นการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ไม่จำเ้จอยู่กับตำรา ได้ให้เราพัฒนาสมองด้วยการคิดเองด้วย

สวัสดีค่ะ หนูไม่ทราบว่าใช่ครั้งแรกที่อาจารย์ได้แนะนำให้ลองทำบัญชีรายรับ รายจ่ายดู (ถ้าไม่ใช่ก็ต้องขอโทษอาจารย์ด้วย) คือว่าหลังจากที่เรียนหนูลองทำบัญชีดูแล้วแต่ว่าบัญชีที่หนูทำจะลงข้อมูลแต่เฉพาะรายจ่ายเท่านนั้น ตอนที่ทำก็รู้สึกดีน่ะค่ะ แต่ว่าบางรายการก็ไม่สมควรจ่าออกไป(คิดอย่างนั้น)บางวันรายจ่ายของหนูเกินงบประมาณไปมาก หนูอากทราบว่าควรจะทำวิธีไหนที่จะสามารถลดรายจ่ายได้บ้าง(เพราะหลังจากที่กลับไปดูค่าใช้จ่ายแล้วก็ไม่สามารถลดรายจ่ายได้เลย) อาจารย์พอจะมีเคล็ดลับอะไรที่จะช่วยหรือมีกิจกรรมให้ทำดีๆบ้างไหมค่ะ 
ครับอาจารย์คิดได้ไงครับกับการเอาชีวิตประจำวันมาตีความเป็น รายรับ รายจ่าย สินทรัพย์และหนี้สิน  โห  อาจารย์สุดยอดครับ    ปรบมือให้อาจารย์หน่อย  3 4

ตั้งแต่ครั้งแรกที่เรียนรู้สึกชอบมาก  ตั้งแต่เรื่องมะำกะโท ที่อาจารย์หยิบมาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการใช้เงิืน  และ  คำสี่คำที่เป็นหัวใจของการใช้จ่ายเงิน  คำว่า ราย รับ  รายจ่าย  สินทร้พย์  หนี้สิน  แล้วเมื่อนำมาปรับใช้กับตัวเองผลที่ได้คือทำให้รู้แล้วว่าในแต่ละวันเงินที่เราใช้จ่ายหมดไปกับสิ่งไหนบ้าง  เมื่อรู้แล้วตอนนี้ก็เริ่มมีสติกับการใช้จ่ายเงินมากขึ้น  ซึ่งเมื่อก่อนจะซึ้ออะไรก็ซื้อ  เงินเก็บไม่ค่อยมีแต่ตอนนี้การใช้จ่ายต้องคิดมากขึ้น ทำให้เริ่มมีเงินเก็บบ้างในแต่ละอาทิตย์  ทำให้ตัวเราเองมีแผนการใช้จ่ายเงินที่เป็นระบบมากขึ้นคะ

สวัสดีค่ะ......อาจารย์

หนูรู้สึกดีใจมากๆๆเลยนะค่ะที่ได้มาเรียนกับอาจารย์ อาจารย์เป็นคนคุยเก่ง มีความรู้ ความสามารถในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆให้กับพวกหนู ให้มีเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจ โดยยกตัวอย่างสิ่งต่างๆที่เข้าใจได้ง่ายและให้เราได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อทำให้เราเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น เพราะเรื่องธุรกิจนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเรายังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่มาก ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายถึงสิ่งต่างๆให้เราเข้าใจถึงระบบหรือวิธีการคิดทำธุรกิจเพราะอาจารย์ก็เป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำธุรกิจมา ผ่านสิ่งต่างๆมาก่อน จึงได้แนะนำว่าเราควรมีการรับมืออย่างไรเมื่อถึงจุดที่แย่ที่สุด และเราควรจะดำเนินธุรกิจอย่างไรเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อที่ภายในอนาคตเราจะได้นำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจของเราเองได้ ............

             หนูรู้สึกประทับใจอาจารย์มากค่ะ ในการเตรียมการเรียนการสอนมาให้พวกเรา ก็อยากขอบคุณอาจารย์มากๆนะค่ะที่ได้กรุณามาช่วยทำการสอนให้จนมีครั้งหนึ่งที่อาจารย์รีบมาจากที่ประชุมโดยไม่ได้ทานข้าวมา ยังไงก็ทานข้าวมาก่อนเถอะนะค่ะ หนูเป็นห่วงค่ะ^^

 ขอสารภาพตามตรงว่าครั้งแรกไม่ได้เข้าคะ แต่ชอบคำและความหมายของ "อบ รม บ่ม เพาะ" มากๆคะ (ได้ใจจริงๆ)
  สวัสดีครับพี่ไอศูรย์  และนักศึกษา  ตอนนี้รู้สึกทึ่งและดีใจครับที่นักศึกษาสนใจที่จะเรียนเรื่องวิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต  ครั้งแรกตั้งใจว่าจะจัดให้เฉพาะนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย  เพราะจะได้เตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ  แต่เท่าที่สอบถามและได้อ่านก็พบว่านักศึกษาชั้นปีที่ 3 ก็มีความสุขและสนุกกับการเรียนและกิจกรรม   เลยคิดว่าควรจะพัฒนาวิชานี้ให้เป็นวิชาเลือกเสรีของนักศึกษาในวิทยาเขตชุมพร  เพราะปัจจุบันเป็นวิชาเรื่องเฉพาะทางสัตวศาสตร์อยู่  รบกวนนักศึกษาช่วยบอกหน่อยนะครับว่า วิชาวิสาหกิจเพื่อพัฒนาบัณฑิต (อาจชื่อวิชาอื่นก็ได้)  ควรจะมีการเรียนการสอนอะไรบ้าง  และจำนวนหน่วยกิตจะเป็นเท่าไร  ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ  เผื่อว่ารุ่นน้องและสาขาอื่นๆ  จะได้มีโอกาสได้เรียนบ้าง  รบกวนพี่ไอศูรย์ด้วยนะครับ  จะได้รีบพัฒนาให้ทันในภาคการศึกษา 2/2548
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท