การบริหารเพื่อพัฒนาตนเอง (Management for change my life)


ทุกวันนี้นะ เค้าเรียนกันเป็นนักบริหาร ดู ๆ แล้วมันก็แย่เหมือนกันเพราะว่ามันจะไปบริหารคนอื่น แต่ลืมไป “ลืมบริหารตนเอง...”

การพัฒนาตัวเอง...

พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาให้เราพัฒนาเรื่องระเบียบเรื่องวินัยให้กับตัวเองและผู้อื่นนะ

คนเราน่ะ ถ้าไม่มีระเบียบไม่มีวินัยเท่ากับเรามีความรู้ความคิดความเข้าใจ แต่เราไม่มีเครื่องมือไม่มีอุปกรณ์ที่เราจะทำงานปฏิบัติงาน

เรื่องระเบียบวินัยนี้สำคัญมาก ทุกท่านทุกคนต้องมีเพื่อจะได้บริหารชีวิตจิตใจ เพื่อให้เป็นการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ...

ทุกท่านทุกคนเป็นนักบริหาร... บริหารไม่ใช่บริหารใครก็บริหารตัวเราเอง จัดการกับตัวเราเอง

เรื่องการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องของตนเอง เป็นเรื่องเฉพาะตน ถ้าเราไม่ปฏิบัติอย่างนี้เราก็จะไม่มีโอกาสไม่มีเวลาที่จะได้ฝึกตนเอง ปฏิบัติตนเอง

มนุษย์นี้ก็แปลว่าผู้ที่มีจิตใจสูง ฝึกจิตฝึกจิตเพื่อควบคุมตนเอง ปฏิบัติตนเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนสมาทานไว้ในใจเลยนะว่า สิ่งที่เราคิดไม่ได้  เราไม่สมควรที่จะคิด ถ้าคิดแล้วมันก็ต้องเป็นบาปเป็นกรรม หรือสิ่งที่มันถูกต้อง ถ้าเรามันคิดมากเกินก็ต้องชะลอตัวเอง เบรกตัวเอง อย่าเป็นคนคิดมากเกิน

ถ้าเราเป็นคนติดสุข ติดสบาย เป็นคนไม่ช่างสังเกต ไม่ช่างพิจารณาอย่างนี้ก็ไม่ได้ ปัญญาเรามันก็จะไม่เกิด

พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดก่อนทำ คิดก่อนพูด ต้องใคร่ครวญดี ๆ การกระทำของเรามันถึงจะไม่ผิดพลาด พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีระบบมีระเบียบมีวินัยในความคิดอย่างนี้  ไม่ใช่อยากจะคิดอะไรก็คิดไป เป็นคนไม่มีสติ เป็นคนไม่มีเจ้าของ

คนผู้ที่ไม่ใคร่ครวญ ไม่ตรึกตรองย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาด ไม่เป็นผู้ที่รอบคอบ คอยแต่จะเป็นผู้ที่ทำตามคำสั่ง อย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักโต มันต้องเป็นคนรู้จักคิดพิจารณา พัฒนาตัวเองให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป สมกับวัยสมกับอายุ สมกับเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้นำ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนพัฒนาตัวเองทุก ๆ วันนะ เพื่อจะได้ฉลาด จะได้รอบคอบ พยายามทำใจว่าง ๆ ๆ ๆ ๆ ทำใจให้สบาย ๆ ๆ ๆ ๆ ทำใจให้มันสงบ ๆ ๆ ๆ ๆ ปราศจากอคติทั้ง ๔ ประการ ถ้าใจของเราว่าง ถ้าใจของเราบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว ตัวความเห็นแก่ตัวของเราเกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัวของคนอื่นเกิดขึ้นเราจะได้มองเห็นง่าย ความโลภ ความโกรธ  ความหลงที่มันเกิดขึ้นกับเรา เราก็จะมองเห็นง่าย

ความคิดของเรานะ ส่วนใหญ่มันชอบคิดไปทางไม่ค่อยจะดี ทำให้จิตใจของเราตกต่ำ คุณธรรมเศร้าหมอง เป็นเหตุให้จิตใจไม่สบาย จิตใจมีโทษมีเวรมีภัย

พระพุทธเจ้าท่านให้เราบังคับในความคิดเหล่านั้น เบรกตัวเอง หยุดตัวเอง อาศัย  ความอดความทน เปลี่ยนความคิดใหม่ เปลี่ยนอารมณ์ใหม่ มีเรื่องดี ๆ ที่จะคิดตั้งเยอะ

เห็นภัยเห็นโทษในวัฏฏะสงสาร ว่าความคิดเหล่านั้นมันไม่ดีเลย ใช้ไม่ได้ คิดอย่างนี้ไม่ได้

เราต้องหยุดตัวเอง เบรกตัวเอง ถึงแม้มันจะกระอักเลือดพระพุทธเจ้าท่านก็ให้เรา  เบรกตัวเอง เราต้องเบรกตัวเองให้ได้ ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายดีกว่าพ่ายแพ้กิเลส

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราฝืนอย่างนี้ทนอย่างนี้ ฝึกบริหารตนเอง ฝึกบังคับตนเอง เพราะตนเองที่ผ่าน ๆ มามันถือว่าเป็นผู้ที่ใช้ไม่ได้ เป็นผู้ที่ปฏิปทายังไม่มาตรฐาน ยังปฏิบัติตนเองลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่สมควรแก่การเคารพกราบไหว้ของผู้อื่น ยังไม่ควรเป็นผู้ที่รับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่ยังไม่ควรรับการกระทำอัญชลีจากผู้อื่น แม้แต่ตัวเองก็ยังยอมรับในการกระทำของตัวเองไม่ได้

ความอยากความต้องการของเรามันมีมากจริง ๆ มันกดดันเราจริง ๆ มันย้อมจิตย้อมใจเราจริง ๆ รบกวนเราอยู่ตลอดเวลา มันคิดวกวนอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวมันก็จะไหลลงไปทางที่ต่ำตลอด

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่านี้แหละ เป็นหน้าที่เป็นการเป็นงานของเราที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ฝึกตนเอง แก้ไขตัวเอง พัฒนาตนเอง อย่าไปปล่อยโอกาสปล่อยเวลาให้เป็นสงครามที่ยืดเยื้อไม่รู้จักที่จบ นี้คือการเรียนรู้ในชีวิตในภาคปฏิบัติเพื่อจะจัดการความทุกข์ หรือดับทุกข์ให้กับเราได้อย่างแท้จริงนะ

เราอย่ามองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าไม่สำคัญ สิ่งเหล่านี้นี่แหละสำคัญมาก เราจะไปปฏิบัติ  ที่ไหน เราจะไปหาพระนิพพานที่ไหน ตัวนี้แหละคือตัวที่จะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพาน  ถ้าเราไม่แก้ไขตัวนี้ เราจะวิ่งหาพระพุทธเจ้า หาพระอริยเจ้า หาครูบาอาจารย์ท่านก็ช่วยเหลือเราไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพิ่มระเบียบเพิ่มวินัยให้กับตัวเอง  นี่แหละคือการแก้ไขความคิดจิตใจของตัวเอง  

เมื่อเรายังมีความคิดเห็นผิดอย่างนี้ ทุกอย่างมันก็ผิดหมด เป็นคนไม่มองเห็นความสำคัญในข้อวัตรในกิจวัตร ถึงเวลาตื่นก็ไม่ตื่น ถึงเวลาทำการทำงานก็ไม่ทำ  ถ้าเราไม่ทำนั้น เราจะเอาอะไรมาประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าเราไม่มีข้อวัตรปฏิบัติเลย

พระพุทธเจ้าท่านว่าเราเป็นผู้เห็นแก่กิน เห็นแก่นอน เห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่ความสุขความสะดวกสบายแบบเด็ก ๆ หรือว่าแบบผู้ที่ไม่มีปัญญาเสียเลย

ภัยอันตรายมาเตือนเราตลอด ความเจ็บ ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากต่าง ๆ มาเตือนเราแต่เราก็มองไม่เห็น เพราะว่าเราตั้งอยู่ในความประมาท เป็นคนใจอ่อน  ติดสุขติดสบาย ...

นักประพฤตินักปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งนะ หนักแน่นนะ หนักก็เอาเบาก็สู้นะ ไม่กลัวอุปสรรคไม่กลัวปัญหา ไม่มีการหลีกเลี่ยงแก้ตัว ไม่ว่าอะไร  มันจะเกิดเรื่องระเบียบเรื่องวินัยนี้สุดยอดจริง ๆ ๆ ๆ นะ

เราดูตัวอย่างที่ประเทศไหนเขามีระเบียบวินัยดีแล้วก็ทำตามระเบียบวินัย ประเทศนั้นคนเค้าก็มีคุณภาพมีศักยภาพ เค้าก็เก่งกว่าเรา เค้าก็รวยกว่าเรา เค้าก็ฉลาดกว่าเรา เค้าก็มีคุณธรรมกว่าเรา  

ความฉลาดมันช่วยเราไม่ได้นะถ้าเราไม่เอาความฉลาดมาเป็นศีล เป็นวินัย เป็นข้อวัตรปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสกับเราว่า เดี๋ยวนี้เราพาก็เป็นแต่เพียงนักปรัชญา ยังไม่ใช่  นักปฏิบัติ ดีแต่พูด ถือว่ายังเป็นคนหลอกลวง หลอกลวงทั้งตนเองหลอกลวงทั้งผู้อื่น

คนอื่นเค้ามองเห็นเราเป็นคนฉลาด พูดเก่ง ปฏิภาณดี ไหวพริบดี เค้าก็นึกว่าเราเป็นคนสุดยอด แต่ที่ไหนได้ล่ะเป็นคนที่แย่ที่สุด มีแต่ความเห็นแก่ตัว ถ้าเราไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย  ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านถือว่าเราเป็น “โมฆะบุรุษ” เป็นพระเก่งแต่เทศน์  เป็นโยมที่เรียนมากรู้มากพูดมากอวดมากคุยมาก แต่ไม่มีระเบียบไม่มีวินัย ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นบุคคลที่ล้มเหลวในชีวิต ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจใหม่ให้มันดี ๆ ชีวิตนี้จะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตลอดเวลานะ ล้มเหลวซ้ำซากอยู่นั่นแหละ

พระพุทธเจ้าท่านเมตตาเราสั่งสอนเราว่า “ให้เราเป็นบุคคลที่เจ็บแล้วรู้จักจำ”  อย่าเป็นบุคคลที่ล้มเหลวแล้ว ล้มเหลวเล่า เป็นคนไม่มีระเบียบวินัยเลย ขยันก็ทำ ไม่ขยัน  ก็ไม่ทำ อยากอยู่ก็อยู่ อยากไปก็ไป เป็นคนเจ้าอารมณ์อย่างไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า  ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้ แย่มาก ๆ ๆ ๆ

ทุกวันนี้นะ เค้าเรียนเค้าศึกษากันเพื่อเป็นนักบริหาร ดู ๆ แล้วมันก็แย่เหมือนกันเพราะว่ามันจะไปบริหารตั้งแต่คนอื่น แต่ลืมไป “ลืมบริหารตนเอง...” เป็นบุคคลบังคับตัวเองไม่ได้ ไม่มีระเบียบไม่มีวินัย

พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นนักบริหารนะ... เป็นนักบริหารนักวางแผนที่จะแก้ไขตัวเองปรับปรุงตัวเอง หนังสือบอกเรา ครูบาอาจารย์บอกเรา เราก็นำเอาไปประพฤติปฏิบัติ  ให้เกิดสติเกิดปัญญาในภาคปฏิบัติ

การบริหารนี้มันดีมันถูกต้อง แต่จะให้ถูกต้องมันต้องเริ่มจากการบริหารตัวเอง

ทุกคนเริ่มต้นจากเด็ก ๆ เป็นสามเณร เป็นพระผู้น้อย นานไปก็เป็นผู้ใหญ่ ถ้าบวชนาน  ก็เป็นพระผู้ใหญ่ เมื่อเราบริหารตนเองก็ยังไม่ได้เราจะบริหารคนอื่นได้อย่างไร เราก็ไม่ได้รับประโยชน์ คนอื่นก็ไม่ได้รับประโยชน์จากเรา มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พากันล้มเหลวในชีวิต

พระพุทธเจ้าท่านให้พวกที่เป็นพระเป็นเณรให้พากันอดทนนะ ถ้าไม่อดไม่ทนเป็นพระเป็นเณรไม่ได้ เป็นได้ตั้งแต่รูปแบบแต่ว่าหัวจิตหัวใจมันไม่ได้เป็น

ถึงเวลานี้เตรียมบาตร ถึงเวลานี้บิณฑบาต ถึงเวลานี้ทำกิจวัตรต่าง ๆ ถึงเวลานี้กวาดวัด ถึงเวลานี้นั่งสมาธิ ถึงเวลานี้เดินจงกรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเราว่าอย่าให้มีความขาดตกบกพร่อง เว้นเสียจากเจ็บไข้ไม่สบาย

พระพุทธเจ้าท่านให้เราบริหารตัวเองให้อยู่ในระเบียบในวินัย ให้ทุกคนรักระเบียบ  รักวินัย รักศีล รักธรรม รักข้อวัตรข้อปฏิบัติ รักความเหนื่อยยากลำบาก อยากจะเป็น  คนร่ำคนรวยจะเป็นได้อย่างไรเพราะเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน มันก็ไม่เหมาะสมที่จะเป็น  คนรวย จะเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไรขี้เกียจอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าต้องอดต้องทนด้วยความยากลำบาก มันเหนื่อยก็ช่างมัน มันผอมก็ช่างมัน ตัวมันจะดำก็ช่างมัน ท่านให้เน้นไปที่จิตที่ใจ ไม่ให้เน้นเรื่องวัตถุเรื่องความสะดวกสบาย เพราะความสะดวกสบายนั้นมันทำให้พระเณรลุ่มหลง ญาติโยมก็พากันลุ่มหลงนะ พากันทิ้งศีลทิ้งธรรมไปหมด ลืมเนื้อลืมตัว

หัวใจของเรานี้ไม่มีพระไม่มีเณรอยู่ในจิตในใจเลย มีแต่ยักษ์ มีแต่เปรต มีแต่อสุรกายเต็มไปหมด

พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกสอนเราว่าอย่าพากันเลี้ยงยักษ์ เลี้ยงเปรต เลี้ยงอสุรกาย  ไว้ในใจ สมควรแล้วที่จะหยุดเลี้ยงพวกพญามาร เสนามารไว้ในจิตในใจ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกเราว่า ถ้าเราดูใจของเราเองเราจะรู้เลยว่าเปรตอยู่ในใจนี้กี่ตัว มียักษ์อยู่ในใจนี้ก็ตัว มีอสุรกายอยู่ใจนี้กี่ตัว พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่าเราไม่ได้พากัน  ดูใจนะ มีแต่เลี้ยงแต่ขุนให้อ้วน ใหญ่โตมโหฬาร...

พระพุทธเจ้าท่านให้เราบริหารให้เราจัดแจงตนเองนะ อย่าไปบริหารไปจัดแจง  กับคนอื่น เพราะปัญหาต่าง ๆ  ในโลกนี้มันอยู่ในจิตใจของเรา อยู่ในการกระทำของเรา  อยู่ในความเห็นของเรา

ต้องเริ่มต้นที่ศีลที่ระเบียบที่วินัย

ทุกคนอยากมีบารมี อยากเป็นผู้มีบุญมีวาสนา แต่ไม่พากันสร้างบารมี

สร้างบารมีอยู่แต่ว่าเป็นบารมีของพญามาร เสนามาร ลูกหลานของพญามาร

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันเป็นพวกหลงวัตถุ หลงลาภยศสรรเสริญ ไม่ถูกต้อง ผิดทาง ไม่ได้สร้างบารมี ไม่ได้แก้ไขตัวเอง ทานบารมีก็ไม่มี ศีลบารมีก็ไม่มี เนกขัมมะบารมีก็ไม่มี...

พระพุทธเจ้าท่านให้ดูตัวเองนะว่าเรามีบารมีอะไรบ้าง มันมีซักบารมีบ้างหรือเปล่า  ยังติดสุขติดสบายบ้างมั๊ย ยังอยากได้ของ ๆ คนอื่นเค้าบ้างมั๊ย ยังอยากให้คนอื่นเค้าเคารพรักนับถือเราบ้างมั๊ย ให้เราดูที่หัวใจของตนเอง เราจะไม่ได้หลอกตัวเอง ไม่ได้หลอกคนอื่น

เพิ่มความละอายต่อบาปให้กับตัวเองมาก ๆ ขึ้นอีก เพิ่มความเห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏะสงสารให้กับตัวเองมาก ๆ ขึ้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเพราะจิตใจของคนมันด้าน ๆ ๆ ๆ ทำบาปมากเท่าไหร่  ก็ยังไม่รู้ตัว ทำบาปทั้งความคิด คำพูด การกระทำ

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา เราเดินไปไหนก็เห็นแต่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย  ให้น้อมมาหาจิตหาใจของเรา ว่าตัวเราก็จะเป็นอย่างนั้นเป็นบุคคลอย่างนั้นแน่นอน  ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะหลีกหนีไปไม่พ้น

เมื่อมันแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์... พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เราพากันสร้างชีวิตจิตใจให้สงบให้เย็น ให้ตั้งอยู่ในศีลในข้อวัตรปฏิบัติ โดยอาศัยข้อวัตรปฏิบัติที่เรากำลังทำกันอยู่  อย่างนี้แหละ

กิเลสของเราก็น่าดู มันคิดว่าลิดรอนเสรีภาพของมันนะ เพราะโลกส่วนตัวมันมีมากมีเยอะ เพราะว่ามันเป็นเจ้าหัวจิตหัวใจของเรามาแล้วหลายภพหลายชาติ

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่าไปสนใจมันเลย ความอยาก ความชอบ ความไม่ชอบ  มันทำให้เราแย่มานานแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้ทุกท่านทุกคนวางแผนชีวิตของตัวเองนะ ถ้าเราไม่วางแผนชีวิต ไม่จัดการชีวิตของตัวเอง ใครเล่าจะมาจัดการมาวางแผนให้กับเรา

ถ้าเราปฏิบัติให้มันถูกต้องอย่างพระพุทธเจ้าบอกพระพุทธเจ้าสอน มันก็เป็นเรื่องง่ายอยู่แต่เราเป็นคนมานะทิฐิมาก นิสัยไม่ค่อยดี ไม่ค่อยยอมเชื่อฟังพระพุทธเจ้า มันจะเอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งนะ ทิฐิ มานะ อัตตา ตัวตน มันมากจริง ๆ ๆ ๆ ...

 เราจำเป็นต้องหยุดตัวเองให้ได้... เรานี้มันจะใหญ่ไปเท่าไหร่ เดี๋ยวไม่นานเค้าต้องเผาเหมือนโยมแม่อองอยู่แล้ว “ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ ธรรมเหล่านั้น  ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า...”

พระพุทธเจ้าท่านหวังว่าทุก ๆ ท่าน จะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้พากันไปประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะพระตถาคตเจ้าเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น ส่วนการประพฤติปฏิบัติพวกท่านทั้งหลายนั้นต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอาเอง

วันคืนได้ล่วงไป ๆ ท่านทั้งหลายพากันกำลังทำอะไรอยู่...?

สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระวาจามีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า

ให้รีบเร่ง ให้รีบแก้ไข เพราะท่านทั้งหลายที่เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว  ถ้าท่านไม่ปฏิบัติท่านจะไปโทษใคร...

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ประทานให้มาในวันนี้ก็เห็นสมควรแก่เวลา ขอสมมุติยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 522249เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2013 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2013 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท