การรับกลิ่นและรสของผึ้ง


การรับกลิ่นและรสของผึ้ง

   เมื่อคราวที่แล้วเราได้ทราบแล้วว่าผึ้งรับภาพได้อย่างไร  คราวนี้เรามาดูกันสิว่าผึ้งรับกลิ่นและรสอย่างไร   

          การรับกลิ่น (Smell)  หนวดเป็นอวัยวะรับกลิ่นและเป็นอวัยวะรับความรู้สึกสัมผัสที่สำคัญที่สุดของผึ้ง  ส่วนของหนวดที่มีเซลล์รับความรู้สึกอยู่อย่างหนาแน่นในบริเวณที่เรียกว่าเส้นหนวด (flagellum)  เช่น  ในผึ้งตัวผู้สามารถรับกลิ่นเฟอโรโมนจากผึ้งนางพญาได้ดีที่สุด  แม้ว่านางพญาจะบินอย่างรวดเร็วในอากาศเพราะผึ้งตัวผู้มีเซลล์รับกลิ่นอยู่บนหนวดถึง 30,000 เซลล์  ในขณะที่ผึ้งงานมีเพียง 5,000 เซลล์  และผึ้งนางพญามี 3,000 เซลล์       

       ผึ้งงานใช้หนวดดมกลิ่นอาหารคือ  เกสรและน้ำหวานจากดอกไม้  นอกนั้นยังใช้ดมกลิ่นเฟอโรโมนของผึ้งนางพญาและกลิ่นของสมาชิกประจำรังคือ  นาซานอฟเฟอโรโมนเพื่อจดจำพรรคพวกในรัง  ดังนั้นพฤติกรรมต่างๆ ของผึ้งเป็นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับสารเคมีและการรับกลิ่น       

       การรับรส (taste)  ผึ้งมีอวัยวะที่สามารถรับรสและกลิ่นได้ใกล้เคียงกันเพราะกลิ่นเป็นสารเคมีที่ระเหยได้  แต่รสเกิดจากสารเคมีที่อยู่ในสภาพของเหลวและของแข็ง  อวัยวะรับรสพบได้หลายแห่งด้วยกันคือ  ที่เซลล์รับรสบนหนวด  ปากและทาร์ไซของขาคู่หน้า  ดังนั้นผึ้งจึงสามารถบอกความหวานมากและน้อยจากน้ำหวานในดอกไม้ได้  นอกจากนั้นผึ้งยังรู้รสเค็ม  เปรี้ยวและรสขมได้ด้วย      

        การทดสอบของ  ดร.ฟอนฟริช  พบว่าผึ้งชอบและเลือกความหวานของน้ำหวานที่พอเหมาะเท่านั้นถ้ามีโอกาสเลือกจะไปตอมน้ำหวานที่มีความหวานประมาณ 0.5 โมลาร์  มากกว่าน้ำหวานที่มีความเข้มข้นถึง 2 โมลาร์  หรือน้ำหวานที่มีความหวานน้อยกว่า 0.5 โมลาร์  ผึ้งมีความสามารถค่อนข้างสูงในการชิมรสหวาน  ผึ้งไม่ชอบรสเค็มจัด  ดังนั้นถ้าใส่เกลือ (Nacl)  ลงไปในน้ำหวานมากกว่า 0.015 โมลาร์ ผึ้งจะเปลี่ยนไปกินน้ำหวานที่ไม่มีรสเค็มทันที      

       ดร.ฟอนฟริช  สรุปว่าผึ้งรับรสเค็มได้น้อยกว่าคนมาก  เช่นเดียวกับรสเปรี้ยวซึ่งผึ้งไม่ชอบเช่นกัน  แต่ผึ้งสามารถทนต่อรสขมได้มากกว่าคนเพราะผึ้งสามารถชิมรสของน้ำหวานที่มีควินิน  และน้ำตาลที่มีชื่อการค้าว่า ออคโตซาน  ซึ่งคนไม่สามารถทนทานต่อรสขมขนาดนี้ได้      

       ด้วยเหตุนี้  น้ำผึ้งบางชนิดจึงมีรสขมเพราะผึ้งไปหาน้ำหวานมาจากดอกไม้ที่มีรสขมเจือปน  เนื่องจากน้ำหวานของพืช  เช่น  จากดอกมันสำปะหลัง  น้ำผึ้งแท้จะไม่มีรสเปรี้ยวนอกจากน้ำผึ้งบูด  เพราะไม่สะอาดมีจุลินทรีย์เจือปนทำให้น้ำผึ้งบูดและเสียได้       ในประเทศไทย  พบว่าผึ้งหลวงและผึ้งโพรงชอบตอมเกลือหรือน้ำที่มีรสเค็มอยู่บ่อยๆ  อาจจะเป็นความต้องการแร่ธาตุบางชนิดในผึ้งสองชนิดไม่เหมือนกับผึ้งพันธุ์  พบว่าการย้ายผึ้งพันธุ์  ถ้ามีการฉีดน้ำเกลือ 50%  ให้ผึ้งปรากฏว่าจะช่วยลดความร้อนและทำให้ผึ้งสงบลง  สามารถย้ายผึ้งได้อย่างปลอดภัยในเวลากลางวันที่มีอากาศร้อน  แม้ในขณะที่มีการให้น้ำหวานในฤดูฝนถ้าใส่เกลือ 5-10%  จะช่วยให้ผึ้งมีความกระตือรือร้นมากขึ้น      

       ความสามารถของผึ้งในการรับรสจากน้ำหวานที่มีคุณภาพดีมีความหวานพอเหมาะในดอกไม้ชนิดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำนี้เอง  เป็นคำอธิบายว่าทำไมบางครั้งนักเลี้ยงผึ้งได้ขนผึ้งไปเก็บน้ำหวานจากดอกลิ้นจี่แล้วผึ้งไม่ตอมดอกลิ้นจี่เลย  แต่กลับไปเก็บน้ำหวานจากดอกหญ้าบ้าง  ดอกสตอเบอรี่บ้าง  ดอกมะนาวบ้าง  ทั้งนี้เพราะแม้ว่าผึ้งจะชอบดูดน้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆ ที่บานพร้อมกัน  แต่ผึ้งจะเลือกดอกไม้ที่ชอบมากที่สุดก่อน  โดยเฉพาะที่มีความหวานพอเหมาะสามารถเก็บมาบ่มทำน้ำผึ้งได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานมากในการระเหยน้ำออกไปในขณะทำน้ำผึ้ง

หมายเลขบันทึก: 52217เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2006 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท