อธิบายหลักการสอนด้วยภาษากวี (ตอนที่ ๑)




อธิบายหลักการสอนด้วยภาษากวี  (ตอนที่ ๑)

  เรามาลองเอาพยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัว มาตั้งไว้ แล้วใส่หลักการสอนตามแนวคิดการปฏิรูปการเรียนรู้ลงไป ในพยัญชนะแต่ละตัว ให้เป็นบทร้อยกรอง  จะพบว่า ได้รสชาติอีกแบบหนึ่ง ได้ทบทวนแนวคิดหลักการสอนใหม่เป็นของเราเอง  ...บางทีเราก็ได้คำตอบว่า  ทำอย่างไรเด็กจึงจะเรียนรู้ได้ดี ลองเขียนอธิบายเป็นภาษากวีดูครับ.... แล้วนี่คือผลงานที่ผมลองเขียน....

ตอนที่ ๑  ก-ข-ฃ-ค-ฅ-ฆ-ง-จ-ฉ-ช-ซ-ฌ-ญ-ฎ-ฏ-ฐ-ฑ-ฒ-ณ-ด-ต-ถ

ก.... กัลยาณมิตร 

ครูคือผู้  ใกล้ชิด  สนิทแนบ        เป็นต้นแบบ  ผู้เรียน  เสมอหน้า

ปฏิบัติ  ต่อศิษย์  จิตเมตตา                    เสมือนว่า มิ่งมิตร ศิษย์อุ่นใจ

ครูเป็นที่ ปรึกษา หาเหตุผล                    พร้อมทำตน เป็นแบบอย่าง ที่ดีได้

ทั้งชี้นำ ถูกทาง ทุกอย่างไป                   เรียนอย่างได้ บรรยากาศ ฉลาดดี

ข... ไขวิธีคิดในชีวิตจริง

สร้างนิสัย ปกติ วิธีคิด                      เรียนคณิต ด้วยการคิด ที่หลากหลาย

ใช้ปัญหา พาคิด ที่ท้าทาย               มีความหมาย ใช้ใน ชีวิตจริง

สิ่งใกล้ตัว ทั่วไป ในชีวิต                   นำมาคิด คำนวณ ถ้วนทุกสิ่ง

แฝงทักษะ ตรรกะ ใช้อ้างอิง              ไม่หยุดนิ่ง ความคิด ทุกทิศทาง

ฃ...  (ฃวด)ขวดหลากทรง

เปรียบผู้เรียน  เช่นขวด หลากทรวดทรง    เทน้ำลง อย่างไร ให้เป็นผล

ขวดบางใบ รับได้ ยากเหลือทน                บางใบล้น รับได้ เหลือคณา

เด็กรับรู้ ตัวป้อน ต่างระดับ                         ควรกำชับ วิธี ที่ศึกษา

ต่างคนต่าง รับรู้ ด้วยปัญญา                       สาดวิชา ไร้ผล คนต่างกัน

ค... คิดได้ คิดเป็น

อยากเห็นศิษย์ คิดได้ และคิดเป็น             จะต้องเน้น ซ้ำทวน ควรส่งเสริม

สื่อข้อมูล ถามกระตุ้น เพื่อต่อเติม              ให้ริเริ่ม คิดกว้าง และคิดไกล

นำเสนอ ปัญหา น่าเกี่ยวข้อง                      ให้ทดลอง วิเคราะห์ พอเหมาะได้

ใช้เทคนิค คำถาม ที่เร้าใจ                         ประยุกต์ใช้ แก้ปัญหา สาระพัน

ฅ... (ฅน)คนเสมอภาค

 อันสิทธิ ความเป็นคน นั้นเทียมเท่า            ยึดถือเอา ผู้เรียนนั้น สำคัญยิ่ง

ให้เมตตา รักใคร่ ไม่เอนอิง                         รับความจริง ความต่าง ระหว่างคน

กระตุ้นเร้า เอาจุดเด่น ที่เขามี                      คอยแนะชี้ ให้เสร็จ สำเร็จผล

เห็นคุณค่า สิ่งดี มีในตน                              ภูมิใจล้น มิเสียที ที่เกิดมา

ฆ...ฆราวาสธรรมสำหรับครู

คุณธรรม จรรยา มาประยุกต์                        งานเชิงรุก ในหน้าที่ สี่สถาน

คือศรัทธา วิชาชีพ เร่งรีบงาน                       จิตเบิกบาน มั่นคง ในกมล

ทำการใด ไม่หวั่น อุปสรรค                         ให้ความรัก เมตตาธรรม สัมฤทธิผล

เสียสละ ทุ่มเท เพื่อศิษย์ตน                        วิญญูชน ยอมรับ และศรัทธา

ง...โครงงาน

กระบวนการ ค้นคว้า หาคำตอบ                      ให้รู้รอบ ลึกซึ้ง พึงส่งเสริม

เด็กได้คิด วางแผน เป็นประเดิม                     ได้ริเริ่ม  ค้นคว้า   หาความจริง

ข้อสงสัย ในการเรียน คือปัญหา                      เด็กควรกล้า ประลอง ทุกผองสิ่ง

หาเหตุผล ตำรา มาอ้างอิง                              ชำนาญยิ่ง โครงงาน การวิจัย

จ...จำเพื่อการเรียนรู้

อันความจำ  เป็นพื้นฐาน การเรียนรู้                  คนทุกผู้ ใช้การจำ นำสู่ผล

เก็บข้อมูล สำคัญไว้ อยู่ในตน                         ช่วยให้ย่น เวลา หาข้อมูล

ฝึกเทคนิค การจำ ครูทำได้                              ประยุกต์ใช้ ความจำ มิเสื่อมสูญ

การใดใช้ การจำ มาเพิ่มพูน                             จะเกื้อกูล การคิด ที่แยบยล

ฉ...เฉพาะด้านที่สันทัด

ความถนัด เฉพาะ ที่เหมาะเหม็ง                      ควรเพ่งเล็ง จุดดี ที่มองเห็น

เลือกวิธี ให้เหมาะ เพราะจำเป็น                        ในประเด็น ที่ถนัด สันทัดงาน

ควรเปิดใจ ให้แสดง ความสามารถ                     ความฉลาด แสดงออก อย่างฉะฉาน

วิธีเรียน เปลี่ยนไป ตามอาการ                            สอดคล้องด้าน ที่ถนัด ของผู้เรียน

ช...คำชม

คำพูดดี มีพลัง เชิงสร้างสรรค์                              ช่วยผลักดัน แรงใจ ให้ฮึกเหิม

เหมือนโอสถ รดใจ เป็นประเดิม                           ช่วยสร้างเสริม ความสัมพันธ์ ฉันท์ศิษย์-ครู

เด็กทุกคน ต้องการ ด้านยอมรับ                            ได้สดับ แลกเปลี่ยน การเรียนรู้

พลังใจ ได้จาก คำเชิดชู                                        การเรียนรู้ อบอุ่น สนิทใจ

ซ...ซ่อมเสริม

การซ่อมเสริม ที่แท้ คือแก้ไข                            ผู้เรียนได้ เร่งรัด จัดพื้นฐาน

เรียนรู้ได้ เต็มที่ ตามต้องการ                             ประสบการณ์ เพิ่มเติม จากเดิมมา

ครูต้องใช้ เมตตาธรรม ค้ำจุนช่วย                       เอื้ออำนวย การเรียน ทุกท่วงท่า

เลือกประยุกต์ รูปแบบ ตามวิชา                           เสริมปัญญา อย่างลึกซึ้ง พึ่งพากัน

ฌ...อัชฌาสัย

การเรียนรู้ เกิดได้ ในทุกเมื่อ                              โอกาสเอื้อ หากสนใจ ใคร่เรียนรู้

ในชีวิต ประจำวัน นั่นคือครู                                 ผลขึ้นอยู่ วินัย ใฝ่การเรียน

อิสระ การเรียนรู้ ดูเป็นสุข                                   ดีกว่าขลุก เคร่งเครียด ไม่แปรเปลี่ยน

เรียนตามใจ อยากรู้ ดูแนบเนียน                          ความพากเพียร เกิดได้ ตามใจเรา

ญ...ผู้ใหญ่คือแบบอย่าง

หากสอนใคร โดยมิได้ ปฏิบัติ                              เป็นอาบัติ สอนไป ก็ไร้ผล

เพียงแบบอย่าง สร้างมิได้ ก็อับจน                       การสอนคน ตัวอย่างดี  ก็มีชัย

บุคลิก ลักษณะ ควรฉะฉาน                                 จิตเบิกบาน อารมณ์ดี ยิ้มแจ่มใส

จริยาวัตร ดีงาม พร้อมกายใจ                                เอาใจใส่ ดุจมิตรแท้ แก่นักเรียน

ฎ...ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ

ทฤษฎี มีไว้ ให้ทดสอบ                                       หาคำตอบ ในระบอบ การศึกษา

ประยุกต์ใช้ ให้ถูก กาลเวลา                                ช่วยนำพา การเรียนรู้ สู่บุคคล

ทฤษฎี นำวิถี สู่การสอน                                      ทุกขั้นตอน ควรปรับ รับรองผล

จิตวิทยา นำมาใช้ ให้เหมาะคน                             ทุกเหล่าชน ยอมรับ กับหลักการ

ฏ...ปฏิสัมพันธ์

ความผูกพัน ใกล้ชิด สนิทแนบ                              เป็นรูปแบบ การเรียนรู้ ครูยุคใหม่

ช่วยเสริมแรง เสริมพลัง   ความตั้งใจ                      เด็กวางใจ อบอุ่น ทั้งคุ้นเคย

 เด็กมั่นใจ ในตัวครู ผู้สนิท                                     เกิดกล้าคิด แสดงออก ไม่เฉื่อยเฉย

พึ่งครูได้ ทุ่มเทใจ ให้หมดเลย                                กล้าเปิดเผย ความจริงใจ ไร้เคลือบแคลง

ฐ...ฐานแห่งการเรียนรู้

อันบุคคล จะเรียนได้ อย่างใจคิด                             ควรพินิจ ฐานการเรียน ให้พร้อมก่อน

การสังเกต บันทึก ต้องแน่นอน                                ทุกขั้นตอน บูรณาการ งานวิจัย

ฝึกการฟัง ตั้งคำถาม อย่างฉลาด                              อ้างนักปราชญ์ ผู้รู้ วินิจฉัย

มีตัวอย่าง อ้างอิง อย่างมั่นใจ                                   เรียบเรียงได้ เป็นรายงาน ผ่านขั้นตอน

ฑ...บัณฑิตผู้รอบรู้

ความรู้ดี สอนดี นี่ครูแท้                              รู้เผยแพร่ วิชา ในสาขา

รู้ถึงแก่น แน่นหนัก หลักวิชา                        จิตวิทยา รู้ทัน ไม่หวั่นใจ

รู้ผู้เรียน ลึกซึ้ง ถึงประวัติ                              รู้เจนจัด ประยุกต์สู่ ชีวิตได้

รู้สื่อสาร แหล่งเรียนรู้ สื่อทางไกล                 รู้ฉับไว สมบัณฑิต ของสังคม

ฒ...พัฒนาเด็กอย่างสมดุล

ในฐานะ มนุษย์ สุดประเสริฐ                         ควรเป็นเลิศ ความรู้ ดูเหมาะสม

คุณธรรม มั่นไว้ ในอารมณ์                           ในสังคม อยู่ได้ สง่างาม

เปิดโอกาส ให้รู้จัก ฉลาดคิด                         ฝึกฝนจิต ให้ลึกล้ำ ในคำถาม

รู้พินิจ คิดใน สิ่งที่ดีงาม                                ประพฤติตาม ครรลอง ของสังคม

ณ ...ณ บรรยากาศแห่งปัญญา

การเล่าเรียน แม้นหนัก สักปานใด                   เพียงมีใจ เรียนสนุก ก็สุขสันต์

กิจกรรม เน้นผู้เรียน เป็นสำคัญ                        ยอมรับกัน ความแตกต่าง ของบุคคล

บรรยากาศ ผ่อนคลาย อิสระ                            เพียรลดละ อัตตา หาเหตุผล

ผู้เรียนทำ สำเร็จด้วย กำลังตน                          เด็กทุกคน ร่วมแรง ไม่แข่งกัน

ด...ดนตรีชี้สุนทรียภาพ

อันดนตรี มีคุณค่า ภาษาศิลป์                            เสริมสร้างจิน-ตนาการ ผ่านสุ้มเสียง

นาฏศิลป์ เรียนรู้ เป็นคู่เคียง                               มาร้อยเรียง เป็นบทเพลง ครื้นเครงใจ

รสนิยม ทางดนตรี นี้สำคัญ                               จิตสร้างสรรค์ ผ่องผุด พิสุทธิ์ใส

คิดพันอย่าง  สร้างสรรค์  อย่างมั่นใจ                  ผู้เรียนซึ้ง  ตรึงใจ  ในดนตรี

ต....ต่อยอด เติมเต็ม

บทบาทครู ผู้ให้ คำปรึกษา                                ต้องค้นคว้า หาข้อมูล มาส่งเสริม

อภิปราย ขยายความ ช่วยต่อเติม                        พร้อมเริ่มต้น จุดประกาย บรรยายนำ

ให้ข้อคิด วางแนวทาง สร้างทางเลือก                รู้หมดเปลือก อ้างได้ ไม่ถลำ

คอยต่อยอด เติมเต็ม เข้มคมคำ                         เด็กจดจำ ทำงานตรง ไม่หลงทาง

ถ...ถามให้คิด

คำถามดี ชี้นำ ทางความคิด                                ได้พินิจ ก่อนตอบ ชอบหนักหนา

ทั้งยั่วยุ ท้าทาย  บรรยายมา                               ใช้ปัญญา วิเคราะห์ เจาะประเด็น

แล้วค่อยฝึก เทคนิค ใช้คำถาม                            ไม่ผลีผลาม ถามให้คิด สิ่งที่เห็น

ฝึกสังเคราะห์ ประเมินค่า ถ้าจำเป็น                       ความเยือกเย็น ฝึกไป ให้ชำนาญ


อักษรไทยทั้ง ๔๔ ตัว สระ ๒๑ รูป ๓๒ เสียง รวมทั้งวรรณยุกต์ ๔ รูป ทำให้ภาษาไทยออกเสียงได้ครบถ้วน ทั้งระดับเสียงสูงต่ำ สำเนียง สำนวน เป็นเอกลักษณ์ ยากที่ภาษาของชาติใดในโลกจะเสมอเหมือน

แนวคิดการปฏิรูปการเรียนรู้ ได้สรุปรวบรวมไว้ในเนื้อกลอนแล้ว ตั้งแต่บท ก-ฮ

ท่านที่เบื่อการอ่านร้อยแก้ววิชาการยาวๆ  ก็ลองอ่านแบบร้อยกรองวิชาการแบบสั้นๆ ดู

บางที อาจเกิดความรู้สึกที่ดีๆ ต่อการศึกษาของประเทศเราบ้าง

หากการศึกษาไม่ปฏิรูป  เด็กๆ(อนาคตประเทศไทย)ไม่ได้รับการปฏิรูป  อะไรจะเกิดขึ้น???


หมายเลขบันทึก: 522128เขียนเมื่อ 12 มีนาคม 2013 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท