เกียรติยศที่ได้มา เพียงจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน



เกียรติยศที่ได้มา  เพียงจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากทัศนะที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง...โรงเรียนในเมืองย่อมดีกว่าโรงเรียนในชนบทเป็นเหตุจูงใจให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนในเมืองที่มีชื่อเสียง ด้วยภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งสถาบัน แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสักเท่าใดก็ตาม 

เปิดเทอมใหม่ทุกปี โรงเรียนดังจะต้องแอ่นหลังรับนักเรียนนอกเขตบริการจนล้น ทั้งที่รู้ปัญหาดีว่า ห้องเรียนที่มีเด็ก 40ถึง50คนนั้น เกินอัตรามาตรฐานครูต่อนักเรียนเป็น 2 เท่า การเรียนการสอนจึงต้องปรับตามสภาพความแออัด  จึงเป็นไปได้ยากที่ “ครูผู้สอน”จะสามารถควบคุมห้องเรียนได้  หรือสร้างบรรยากาศในการเรียนให้สนุก หรือจัดกิจกรรมที่สนองธรรมชาติความแตกต่างของผู้เรียนรายบุคคลตามหลักการปฏิรูปการเรียนรู้ได้  สุดท้ายนักเรียนก็ต้องพึ่งการเรียนในกลุ่มสาระพิเศษ คือเรียนเสริมหรือกวดวิชาเพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดตนเองให้ทันเพื่อนๆ ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการแข่งขันมากกว่าการช่วยเหลือพึ่งพากัน ซึ่งไม่ใช่หลักการปฏิรูปการเรียนรู้  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เด็กๆในโรงเรียนเหล่านี้จะมีระดับความรู้ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ระดับ..ยอดเยี่ยมถึงระดับ..ยอดแย่หากสังเกตผลการสอบระดับชาติ (O-NET)ให้ดีก็จะพบว่า แท้ที่จริง คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นโรงเรียนยอดนิยม”ที่สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตามมาตรฐานที่ต้องการ

 ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาซึ่งหลักคิดในการพัฒนาโรงเรียนดีให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนดัง ทุกท้องถิ่นควรมีโรงเรียนดีประจำตำบล หรือที่เรียกว่าใหม่ว่า “โรงเรียนดี ศรีตำบล” เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการตัดสินใจของผู้ปกครองในการส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนดีใกล้บ้าน รับประกันคุณภาพด้วยมาตรฐานผู้เรียนที่เน้น “คุณธรรมนำวิชาการ” เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มุ่งพัฒนาให้ “โรงเรียนดี ศรีตำบล” เป็นต้นแบบโรงเรียนคุณภาพแก่โรงเรียนใกล้เคียง หรือเป็นศูนย์การเรียนรวมของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนเหลือน้อยในอนาคตอันใกล้

โรงเรียนที่มีคุณสมบัติรับการพิจารณาคัดเลือกเป็น “โรงเรียนดี ศรีตำบล” ต้องเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านอาคาร บริเวณที่รองรับการขยายตัวในอนาคต  มีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพ ตั้งอยู่ศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ในท้องถิ่นระดับตำบล ผู้บริหารเป็นผู้นำการพัฒนาและครูมีความพร้อมสูง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะช่วยเหลือดูแลโรงเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นมา มีโรงเรียนได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปแล้ว 3 รุ่น ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 6,545 โรงเรียน แต่ละรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนงบประมาณดำเนินการพัฒนาโรงเรียนอย่างเพียงพอที่จะปรับปรุงพื้นที่สภาพแวดล้อม ห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน สื่อเทคโนโลยีได้ตามความต้องการ พร้อมกับพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินโครงการร่วมกับพระสังฆาธิการ มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชมรมพุทธศาสตร์สากล จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติธรรมบุคลากรในโรงเรียนดี ศรีตำบล ทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อปรับแนวคิดการพัฒนากิจกรรมสร้างคุณธรรมนักเรียนด้วยหลักของศีลห้า อันเป็นวัตรปฏิบัติปกติของ “คนดี” หรือคนที่บอกตนเองว่า “เป็นพุทธศาสนิกชน

การประเมินเพื่อพัฒนาและรับรองต้นแบบ “โรงเรียนดี ศรีตำบล” ทั่วประเทศในรอบแรกเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม2556 โดยคณะกรรมการประเมิน 172  ชุดๆละเขตพื้นที่การศึกษา กรรมการแต่ละชุดประกอบด้วยฝ่ายพระสังฆาธิการ ฝ่ายตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และฝ่ายตัวแทนภาคเอกชนที่เป็นครูอาสาและครูแกนนำโครงการ อย่างน้อยคณะละ 8 คน ในกระบวนการประเมิน ให้โรงเรียนประเมินตนเองและพัฒนามาตรฐานตามตัวบ่งชี้ ก่อนที่คณะกรรมการประเมินจากภาคี 3 ฝ่าย จะประเมินเพื่อพัฒนาและรับรองเป็นลำดับต่อมาด้วยตัวบ่งชี้ 4 ด้านๆละ 7 ตัวชี้วัดๆละ 6 ข้อย่อย ครอบคลุมด้านปัจจัยการพัฒนา ด้านกระบวนการที่เน้นวิชาการและคุณธรรม  และด้านผลผลิตที่สะท้อนจากการยอมรับในชื่อเสียงของโรงเรียน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียนมีพฤติกรรมบ่งบอกถึงความใฝ่รู้ ใฝ่ดี รักความสะอาด ร่าเริงแจ่มใส มีจิตอาสา รู้ทันความเปลี่ยนแปลง  กำหนดเกณฑ์ประเมินผ่านรายด้าน 4 ใน 6 รายข้อย่อย และ 5 ใน 7 รายด้าน โรงเรียนที่ผ่านการประเมินรับรองเป็นต้นแบบ “โรงเรียนดี ศรีตำบล” ผู้บริหารโรงเรียนจะได้รับมอบโล่เชิดชูเกียรติ โรงเรียนได้รับป้ายรับรองต้นแบบ โรงเรียนที่ผ่านแบบมีเงื่อนไข จะต้องพัฒนาตนเองในตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านให้เรียบร้อยในภาคเรียนถัดไป และโรงเรียนที่ประเมินไม่ผ่านก็จะต้องรับการประเมินใหม่ในรอบต่อไป

กรณีตัวอย่าง จากผลการประเมิน 13 โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินโดยไม่มีเงื่อนไข จำนวน 4 โรงเรียน นอกนั้นผ่านแบบมีเงื่อนไข ผลการประเมินในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็น “จุดเปลี่ยน” ในมิติที่แตกต่างกันไปตามบริบท เช่น โรงเรียนอนุบาลเทพสถิต อ. เทพสถิต มีสถิตินักเรียนมาเข้าเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.62  ในรอบ 3 ปีการศึกษา โรงเรียนบ้านสะพานยาว อ.เทพสถิต พลิกสภาพจากโรงเรียนยอดแย่เป็นโรงเรียนยอดเยี่ยมด้วยภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียนและความร่วมมือจากชุมชน   โรงเรียนบ้านโคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว นักเรียนครองตนด้วยศีลห้า มีวินัย ใฝ่รู้ ใฝ่ดี เป็นปกติวิสัย จากการ “ใส่ใจของผู้บริหารและคณะครู”  โรงเรียนรังงามวิทยา อ.เนินสง่า นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และจัดกิจกรรมพัฒนาคุณนิสัยอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ส่วนที่เป็น “จุดร่วม” ของทุกโรงเรียนก็คือ การฝึกคุณนิสัยนักเรียนให้รักความสะอาด ห้องน้ำห้องส้วมทุกโรงเรียนมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างได้มาตรฐาน น่าใช้  และนักเรียนช่วยกันดูแลรักษาด้วยจิตอาสา อันเป็นผลจากพัฒนาผ่านกิจกรรม 5 ชีวิต ผ่านกิจกรรมชีวิตจริง 6 มิติ ที่สะท้อนถึงจิตใจ ปฏิบัติจนเป็นนิสัยและแสดงออกมาทั้งทางกาย วาจา ใจ ซึ่งจำเป็นมากในชีวิตท่ามกลางสังคมแวดล้อมที่บูชาวัตถุนิยม ผู้คนมีศีลธรรมถดถอย เช่นทุกวันนี้

ตามนัยของการประเมินเพื่อพัฒนา โรงเรียนที่ผ่านการประเมิน จะต้องคิดวางแผน พัฒนาต่อยอด แสวงหาการมีส่วนร่วมของบ้าน วัด โรงเรียน ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่คิดทำเฉพาะกิจเพื่อรองรับการประเมินเท่านั้น อย่าลืมว่าศักดิ์ศรีของ “โรงเรียนดี ศรีตำบล” อยู่ที่เนื้อแท้ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติที่เน้น“คุณธรรมนำวิชาการ” การประเมินผ่านคือ เกียรติยศโรงเรียนที่ดีที่สุดของตำบล แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“””””””””’’’’””””””””””””””””””””””””””””””””””””””””


หมายเลขบันทึก: 521993เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2013 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท