ปัญหาด้านวัฒนธรรมของสื่อไทย


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

การเดินทางมาทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของสื่อมวลชนไทยหลายสำนักเมื่อไม่นานมานี้ (โดยเฉพาะทีวีช่องต่างๆ) เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมาของการเดินทางยังอเมริกาเพื่อทำข่าว การเลือกตั้ง  ผมคิดว่า แทบไม่มีอะไรใหม่ไปฝากพี่น้องคนไทยในประเทศไทย ในเชิงของ หนึ่ง คือ ความรู้เกี่ยวกับเลือกตั้งของอเมริกัน(ระบอบอเมริกัน) กับสอง คือ  ความเคลื่อนไหวทางการข่าวของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ หมายถึง “ข่าว” นั่นเอง

  พักหลังนี้ ผมเห็นว่า การเดินทางมาทำข่าว หรือทำอะไรก็ตามของสื่อมวลชนไทยในอเมริกา เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ,ใน 2 กรณี ,คือ  หนึ่ง การเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น  และการอนุมัติวีซ่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว กับสอง คือ ทุนในการทำงานด้านสื่อมีมาก มีความพร้อมมากกว่าแต่ก่อน ที่ค่าเดินทางจะถูกหน่วยงานต้นสังกัดของสื่อมวลชนคิดแล้วคิดอีกว่าเดินทางมาทำข่าวที่อเมริกาจะคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักของนักข่าวหรือเปล่า

  เดี๋ยวนี้ หน่วยงานข่าวต้นสังกัด ไม่ต้องคิดไรมาก คิดเพียงอย่างเดียวว่า จะได้ข่าวและภาพอะไรก็ได้ที่มาจากอเมริกา ในช่วงเหตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดี เช่น ภาพการเข้าคิวของคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  หรือการสัมภาษณ์คนที่ไปใช้สิทธิ์เหล่านั้นว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการแข่งขันของประธานาธิบดีทั้งสองคน สองพรรคการเมือง ที่เหลือนั้น ช่างมัน !! เพราะได้ชื่อว่า เดินทางไปทำข่าวที่อเมริกา เหมือนบริษัท หรือหน่วยงานข่าวอื่นๆในเมืองไทย ซึ่งเป็นคู่แข่งแล้ว

  ขณะที่การสื่อสาร โดยเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ทำให้โลกแคบลง การหาช่องว่าง “เชิงประเด็นข่าว” ย่อมมีความสำคัญมากขึ้น สื่อมวลชนผู้ผลิตข่าว ต้องหาความแตกต่างในการนำเสนอ เพื่อผลทางด้านการบริโภคของผู้บริโภคข่าว ซึ่งโยงถึงผลตอบแทนเชิงธุรกิจของหน่วยงานข่าวอีกด้วย 

  แทนที่เรื่อง “ประเด็นข่าว” จะกลายเป็นเรื่องสำคัญของสื่อ แต่กลับกลายเป็นเรื่องภายนอก คือ “การเดินทางและสถานที่” ที่เป็นสิ่งสำคัญของสื่อ(ไทย)ไป

  เพื่อประโยชน์ในเชิงความเป็นวิชาชีพและมืออาชีพมากขึ้น  ผมคิดว่า สื่อมวลชนไทยควรคำนึงถึงหลัก 2 ประการ ในการไปดีลเรื่องข่าวและข้อมูลในต่างประเทศ คือ

  1.ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี ทั้งในส่วนของตัวผู้สื่อข่าว สำนัก(หน่วย)ข่าว และการจุดปลายหมายทาง หรือประเทศจะไป(เช่น อเมริกา เป็นต้น), การเตรียมตัวที่ดี หมายถึงการศึกษาข้อมูลเชิงลึกส่วนที่จะต้องไปทำข่าวหรือค้นหา รวมถึงการเสาะแสวงหาแหล่งข่าว(ผู้ให้ข่าว) ที่มีความเหมาะสมกับประเด็นข่าว ไม่ใช่การสะเปะสะปะ แสวงหาแหล่งข่าวเอาหน้าคูหาเลือกตั้ง เอาไมค์จ่อปากแบบขอไปที หรือให้ภาพลักษณ์ที่ออกมาเป็นแค่ว่า ได้เดินทางไปเห็นบรรยากาศแล้ว (เช่น กรณีของการเลือกตั้งอเมริกัน ก็คิดว่าได้อยู่รายงานข่าวในบรรยากาศของการเลือกตั้งของอเมริกันแล้ว)  หากที่ถูกแล้วควรนัดหมายแหล่งข่าวไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทำสื่อในปัจจุบัน คือ แหล่งข่าวนั้น ต้องมีความสำคัญต่อประเด็นคำถาม พูดง่ายๆ คือ แหล่งข่าวนั้นต้องมีตำแหน่ง หน้าที่ ที่เหมาะสมในการให้สัมภาษณ์เรื่องนั้น เช่น หากเป็นในเรื่องการเลือกตั้งอเมริกัน อาจต้องสัมภาษณ์ตัวนักการเมืองอเมริกันหรือผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง นักวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้องก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่สำคัญน้อยกว่าตัวนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้-เสียกับการผลเลือกตั้ง

  2.ต้องมีการเตรียมเรื่องประเด็นข่าว หรือประเด็นที่ต้องการจะถาม หรือประเด็นที่อยากรู้, ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญของคนทำสื่อในปัจจุบัน เป็นการแสดงความสามารถเชิงข่าวให้คนบริโภคข่าวได้เห็น จากความหลากหลายของสื่อ และโลกที่แคบลง ,“การลอดช่องโหว่ประเด็นข่าว” เป็นเรื่องความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว เพราะปัจจุบันคนบริโภคข่าวสามารถรับข่าวต่างๆได้จากผู้ผลิตข่าวทั่วโลกโดยไม่จำกัดภาษาและวิธีการนำเสนอ  (เช่น จาก wire service หรือจากอินเตอร์เน็ต) ดังนั้นการทำประเด็นข่าวที่คนอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของคนทำข่าว เช่น กรณีการทำข่าวเลือกตั้งอเมริกัน ที่ส่วนใหญ่สื่ออเมริกันล้วงลึกในรายละเอียดอยู่แล้ว โดยที่สื่อไทยในประเทศเองก็มานำแปลนำเสนออย่างปกติอยู่แล้ว (เป็นเรื่องธรรมดาที่สื่ออเมริกันในประเทศสามารถหาข้อมูลเชิงลึกดีกว่าสื่อไทยที่ไปจากเมืองไทย) แต่หากสื่อไทยที่มาทำข่าวในอเมริกาสามารถหาประเด็นที่แตกต่าง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ(ไทย-อเมริกา) ก็จะทำให้เกิดความแตกต่าง และเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคข่าวที่เมืองไทย ทั้งแสดงให้เห็นถึง “กึ๋น”หรือความสามารถของนักข่าวและบรรณาธิการข่าว ขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว การรับข่าวสารจากอเมริกา ไม่จำเป็นถึงกับต้องส่งนักข่าวมาอเมริกา เพราะมีสื่ออเมริกันประเภทต่างๆกระจายออกไปทั่วโลกอยู่แล้ว ,การส่งนักข่าวมายังอเมริกา น่าที่จะได้ข้อมูลเชิงลึก โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมากกว่าประเด็นอื่น ที่เป็นเรื่องพื้นๆ และสำนักข่าวอเมริกันนำเสนออยู่แล้ว

  ต้องไม่ลืมดังนี้ว่า

  1.คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักประเทศไทย เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยที่ว่า คนอเมริกันรู้จักประเทศไทย  , อเมริกันรู้จักไต้หวันมากกว่าไทยและชอบคิดว่า ไต้หวันกับไทยแลนด์ เป็นประเดียวกัน

  2.พื้นที่การนำเสนอข่าวต่างประเทศในอเมริกามีน้อยหรือแทบไม่มี ยกเว้นกรณีเหตุการณ์ใหญ่ๆสำคัญๆเท่านั้น  จึงได้รับการนำเสนอโดยสื่ออเมริกัน โดยเฉพาะสื่อทีวี

  ดังนั้นก็จะได้คำตอบดังนี้ว่า

  1.ความคุ้มค่าของการเดินทางมาทำข่าว(หรือสารคดีเชิงความรู้)ในอเมริกาอยู่ที่การสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือจากแหล่งข้อมูลที่ตรงกับจุดประสงค์ของการมาทำข่าว ไม่ใช่ได้ข่าวจากแหล่งข่าวใดหรือประชาชนคนใดก็ได้ แต่ต้องเป็นแหล่งข่าวที่รู้เรื่องเมืองไทย หรือมีอำนาจเกี่ยวข้องกับประเด็นข่าวนั้นเช่น รัฐมนตรี นักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้อง

  2.ความคุ้มค่าของการทำข่าวอยู่ที่การป้อนประเด็นคำถามต่อแหล่งข่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยมากกว่าที่จะถามเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆทั่วไป หลายปีที่ผ่านมาตลอดถึงปัจจุบันทำเนียบขาวมีผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ประจำการอยู่ที่นั่น เพื่อรอตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศแต่ละประเทศ เช่น ผู้สื่อข่าวอินเดีย อาจตั้งคำถามต่อประธานาธิบดีโอบามาเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันเกี่ยวข้องกับอินเดีย แคชเมียร์และปากีสถาน เป็นต้น ซึ่งหากเป็นผู้สื่อข่าวของไทย ก็อาจถามเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลอเมริกันต่อไทยและต่ออาเซียนในกรณีความมั่นคงในภูมิภาค

  หากสามารถทำได้ดังนี้ การเดินทางมาทำข่าวในอเมริกาจะได้ชื่อว่า ไม่เป็นการกระทำเพื่อโชว์ออฟ แต่เพียงอย่างเดียว หากยังได้ประโยชน์ถึงประเทศชาติ ประชาชนอีกด้วย

  หลายสำนักข่าวสำคัญๆ ของเอเชีย เช่น CCTV(จีน) ,NHK(ญี่ปุ่น) หรือแม้กระทั่ง News Asia(สิงคโปร์) ถึงกับใช้ผู้สื่อข่าวในท้องถิ่นมากกว่าที่จะส่งนักข่าวมาจากประเทศที่เป็นเจ้าของทีวีเหล่านี้

  เพราะเขารู้ว่า ส่งนักข่าวมาก็ไม่คุ้มค่ากับการเดินทาง เพราะนักข่าวที่ฝังตัวอยู่ในท้องถิ่นนั้นมีประสบการณ์ในการติดต่อกับแหล่งข่าวมากกว่า นักข่าวต่างถิ่น , บ้างก็ใช้ผู้ประสานงานข่าว(news coordinator)ท้องถิ่น เพื่อประสานให้นักข่าวจากต่างถิ่นได้เข้าสัมภาษณ์แบบถึงตัว

  ไม่ใช่อยู่ดีๆ เดินทางมาทำข่าวอเมริกาแล้วจะได้ข่าวและข้อมูลเชิงลึกง่ายๆ

เหมือน การโชว์ออฟแบบผักชีโรยหน้า ของสื่อไทยจำนวนไม่น้อยที่กระทำเมื่อคราวการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันที่ผ่านมา


หมายเลขบันทึก: 521984เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2013 06:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2013 06:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท