ดาราไทยไปอเมริกา


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ในช่วงหลายปีติดต่อกันมา ที่ผมเห็นและได้ข่าวบรรดาดาราและนักร้องจากเมืองไทย ต่างพากันเดินทางมายังอเมริกากันเป็นว่าเล่น แม้แต่ในสื่อที่เมืองไทยก็มักปรากฏเป็นข่าวในคอลัมน์ซุบซิบอยู่บ่อยๆ  จนกระทั่งการรับรู้ในเรื่องนี้ของผมกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป เพราะข่าวการเดินทางมาเปิดการแสดงที่อเมริกาของพวกดารานักร้องเหล่านี้ออออก มาอยู่เรื่อยๆ 

เมื่อช่วงก่อนๆ ผมไปดูพวกเขาเปิดการแสดงบ้าง แต่ตอนหลังเมื่อมีบ่อยมาบ่อยครั้งมากเข้า ก็เลยกลายเป็นความซ้ำซากจำเจไป ส่วนดารานักร้องรุ่นใหม่ แม้จะมาเปิดการแสดง แต่ผมเป็นคนที่อาจเรียกได้ว่า ตกรุ่นไปแล้วคนหนึ่ง  เหมือนคนที่อยู่อเมริกามานานๆ ทำให้ช่วงเวลาการติดตามเรื่องราวในวงการบันเทิง หรือผลงานของศิลปินต่างๆในเมืองไทยขาดหายไป

คนไทยที่อยู่อเมริกานานมากๆ หลายคน โดยเฉพาะคนที่อยู่อเมริกานานเกิน 20 ปีขึ้นไป นับว่าช่วงแห่งประวัติศาตร์ของชีวิตในเมืองไทย ได้ขาดหายไปจริงๆอย่างค่อนข้างยาวนานทีเดียว

ทำไม ผมต้องพูดแบบแยกส่วนว่า ต้องเป็นคนไทยที่อยู่อเมริกานานเกินกว่า 20 ปี?

ก็เพราะว่า จากตอนนี้ย้อนเวลาไปในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบการสื่อสารระหว่างไทยกับอเมริกานั้น สะดวกรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายถูกมากขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต ซึ่งมีส่วนในการย่อโลกให้แคบลงอย่างมาก ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของไทยในอเมริกาได้เท่าๆ และพร้อมๆ กับคนไทยที่เมืองไทย หรืออาจรับรู้ได้มากเสียด้วยซ้ำ

เหมือนกับที่หลายคนรู้ว่า โลกในปัจจุบันแคบมากเพียงใด โดยเฉพาะพวกที่ต้องทำธุรกิจข้ามชาติ เดี๋ยวนี้เมืองใหญ่ๆในโลกล้วนผูกติดไว้ด้วนเครือข่ายเดียวกันเกือบทั้งหมด นั่นคือ ระบบและเครือข่ายการสื่อสาร

ผมรู้ว่าพวกดารา นักร้องมากันบ่อย บ้างมาแค่โชว์ตัว บ้างมาขายผลิตภัณฑ์ของเจ้าตัวเอง  แต่ส่วนใหญ่อย่างที่รู้กันว่า งานหลักของดารานักร้อง คือ การแสดง หลายเมืองใหญ่ที่คนไทย คนลาว และคนเขมรอยู่กันจำนวนมาก พวกเขาเปิดการแสดง เพื่อหาเงิน มีบ้างที่เป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล

แต่ต้องบอกตามตรงว่า ผมไม่ค่อยรู้จักดารานักร้องเมืองไทย  เพียงนิยมขวัญใจสมัยเก่าของผม เหมือนรุ่นลุง รุ่นป้า  รุ่นอา หรือรุ่นปู่ ย่า นิยมหรือมีดารานักร้องขวัญใจของตัวเองในอดีตกันแทบทุกคน

อย่างที่ผมว่า คนที่อยู่อเมริกานาน ส่วนหนึ่งเวลาที่เมืองไทยได้ขาดหายไป ทำให้เหลือความทรงจำในระยะที่อยู่ที่เมืองไทย  ผมเห็นหลายคนนิยมศิลปินรุ่นพ่อ รุ่นแม่  ศิลปินเหล่านี้มาอเมริกาเมื่อไหร่ต้องไปเชียร์หรือไปฟังกันแทบทุกครั้ง เรียกว่า เป็นขาโจ๋แอนตีก (Antique) หรือขาโจ๋รุ่นเดอะ ในอเมริกานี่ ผมว่ามีขาโจ๋ประเภทนี้มากที่สุด อาจมากกว่า ขาโจ๋วัยรุ่นเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุว่า ขาโจ๋รุ่นเดอะ ยังมีเพลงหรือการแสดงของแต่ละศิลปินฝังอยู่ในหัว ไม่เปลี่ยน

ขณะที่โจ๋รุ่นใหม่ หากฟังเพลงประเภทวัยรุ่น ก็ต้องเป็นขาโจ๋ที่มาจากเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ ให้ขาโจ๋ที่เกิดหรือโตที่อเมริกาฟังเพลงวัยรุ่นไทย คงหาได้ไม่มากนัก อาจมีบ้างเหมือนกันหากพ่อแม่เปิดเพลงไทยให้พวกเขาฟังตั้งแต่อายุยังน้อย แต่จะมีสักกี่ครอบครัว หรือกี่คนทำอย่างนั้น และจะทำไปเพื่ออะไร?

ดาราหรือนักร้องที่เดินทางมาโชว์หรือเปิดการแสดงที่อเมริกามีหลายประเภท ไล่ตั้งแต่รุ่นขวัญใจคุณป้า  อย่างคุณป้าสวลี (ผกาพันธ์) ป้ารวงทอง(ทองลั่นทม) ป้าดาวใจ(ไพจิตร) ลุงสุเทพ(วงศ์กำแหง) ลุงชรินทร์ (นันทนาคร)  ฯลฯ ขวัญใจวัยรุ่น ซึ่งผมอาจไม่รู้จักมากนัก  ขวัญใจคอลูกทุ่งก็มากันหลายคน อย่างพี่ พี่เป้า สายัณห์ (สัญญา) พี่เสรี (รุ่งสว่าง)  พี่ก็อต จักรพันธ์  (อาบครบุรี) พี่สุนารี(ราชสีมา) พี่ยิ่งยง ยอดบัวงาม ฯลฯ ตลอดถึงหมอลำหรือแนวเพลงอิสาน พี่ไมค์(ภิรมย์พร) พี่ศิริพร (อำไพพงษ์)  พี่บานเย็น(รากแก่น) ฯลฯ ซึ่งจากบรรดาทุกประเภทที่เอ่ยถึงดารานักร้องประเภทหลังขายดีมากที่สุด ในอเมริกาเองยังมี “วัฒนธรรมม่วนซื่น” อยู่มาก

 ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือนักร้อง เมื่อมาอเมริกา ก็ต้องโชว์ หรือร้องเพลงเสมอ ส่วนใหญ่งานแสดงจะจัดขึ้นตามร้านอาหารไทย ในเมืองใหญ่ที่คนไทย คนลาวอาศัยอยู่มาก อย่าง แอล.เอ. ซานดิเอโก ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ค  ฮูสตัน ดัลลัส  แทมปา กระทั่งเมืองคาสิโน อย่างลาสเวกัส 

ที่จะจัดการแสดงตามฮอลล์ (Hall) นั้นมีน้อยมาก เป็นเพราะ เมื่อเทียบกับชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติอื่นที่อาศัยอยู่ในอเมริกาแล้วคนไทย คนลาว ยังมีจำนวนไม่มาก  ไม่คุ้มกับค่าเช่าสถานที่  ดังนั้น ร้านอาหารไทยหรือบางครั้งวัดไทย เหมาะสมที่สุด

ที่ลาสเวกัส ความจริงเป็นเมืองที่มีสถานที่จัดงานการแสดงหรืองานสังสรรค์ประเภทต่างๆได้ ดีที่สุด เพราะสถานที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบ่อน สามารถจุคนได้เป็นจำนวนมาก และเป็นที่ที่มีการบริการพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้วในตัว อย่างไรก็ตามการจัดคอนเสิร์ต ในบ่อนและโรงแรมขนาดใหญ่อย่างเอ็มจีเอ็ม แกรนด์ คนจัดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเหมือนกัน  ว่าจะคุ้มหรือไม่

บ่อนอย่างเอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส  เคยมีค่ายเพลงใหญ่จากเมืองไทย เจรจากับคนไทยบางกลุ่มในอเมริกาขอเลือกเอ็มจีเอ็มแกรนด์ ซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 5,000 ห้อง เป็นสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตของนักร้องดังมากคนหนึ่งจากเมืองไทย  ปรากฏว่า กลุ่มคนไทยในอเมริกากลุ่มนี้ ถึงกับออกอาการเซ็งเมื่อได้ยินเงื่อนไขขอใช้สถานที่จัดงานคอนเสิร์ต การใช้บ่อนเอ็มจีเอ็มแกรนด์จัดงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยากก็ตรงที่มีเงินจ่ายค่าเช่าสถานที่จัดงานที่ เรียกว่า MGM Grand Arena  หรือไม่  และคำถามก็คือ จะมีคนไทยกี่คนในอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับนักร้องคนนี้มากถึงขนาดเตรียม ซื้อตั๋วล่วงหน้า เดินทางหรือบินมาดูคอนเสิร์ตนักร้องไทยที่ลาสเวกัส

คนไทยยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับชนเชื้อชาติเอเชียนจากประเทศอื่น อย่างเช่น เวียดนาม ฟิลิปินส์ จีน เกาหลี แม้กระทั่งลาว อย่างคนจีน อย่างคนเวียดนาม มีการจัดงานปาร์ตี้ หรือคอนเสิร์ตใหญ่ๆที่โรงแรมชั้นหนึ่งของลาสเวกัสอยู่บ่อยมากแทบทุกปี

ขณะเดียวกัน ที่ลาสเวกัส มีนักแสดงและ นักร้องจากจีน ทั้งจากฮ่องกง ไต้หวัน เดินทางมาเปิดคอนเสิร์ต กันมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ อย่างตรุษจีนหรือช่วงเทศกาลคริสต์มาส ก่อนปีใหม่ของทุกปี

การที่นักร้องจากประเทศเหล่านี้เดินทางมาเปิดการแสดงที่อเมริกา ในโรงแรมหรือฮอลล์ใหญ่ได้ คนจัดต้องมีความพร้อม  และคิดว่าจัดงานแล้วไม่เข้าเนื้อขาดทุน เงินรายได้มากไหน ก็ต้องมาจากผู้ชม ซึ่งเป็นแฟน ของดารา นักร้องคนนั้น

ขนาดความเล็กของชุมชนไทย ทำให้การเปิดการแสดงของศิลปิน ดารา นักร้องไทยไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ที่บางทีพูดกันว่า การจัดงานการกุศล หรือคอนเสิร์ต ประสบผลสำเร็จ คนไปดูกันเป็นจำนวนมากนั้นความเป็นจริงแล้ว เป็นเพราะสถานที่จัดงาน(ร้านอาหาร) แคบเล็กนิดเดียว คนดูเข้าไปไม่มากเท่าไรก็เต็มแล้ว

มีความพยายามของบรรดาคนไทยในอเมริกาเหมือนกัน ที่จะจัดงานคอนเสิร์ตให้ดูเป็นโปรฯ เป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ การจัดกิจกรรมด้านบันเทิงหรือด้านใดก็ตามในอเมริกา  ต้องเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งกล่าวสำหรับอเมริกาเองเต็มไปด้วยกฎระเบียบต่างๆมากมาย

ที่สำคัญหากคนดูน้อยกว่าที่คาดกัน การจัดงานและคนจัดงานก็เจ๊งในที่สุด ดังนั้น การจัดงานโชว์ ดารานักร้องไทยในอเมริกาส่วนใหญ่ จึงยังเป็นสไตล์ “มวยวัด”

ผมกำลังเล่าถึงวิธีการ และรูปแบบการจัดงานคอนเสิร์ต หรืองานปาร์ตี้ ของชุมชนไทยในอเมริกา ที่มีดารานักร้องจากเมืองไทยเดินทางไปโชว์หรือเปิดการแสดงว่า ทำกันอย่างไร มีเงื่อน และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมทั้งภาพที่เห็น แตกต่างจากภาพคนไทยที่เมืองไทยเห็นอย่างไร

  เนื่องจากตลอดที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้เกิดแฟชั่นเดินทางไปโชว์ตัวของนักร้อง และดาราไทย ในต่างแดน โดยเฉพาะในอเมริกา ดินแดนที่มีคนไทยไกลบ้านอาศัยอยู่มากที่สุด

  “คนจัดงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวของเจ้าของร้านอาหารไทย(ในอเมริกา)เอง มักโปรโมทหรือ โฆษณากับชุมชนไทย ก่อนที่ศิลปินจากเมืองไทยจะมาเปิดทำการแสดงล่วงหน้าราว 2-3 เดือน เพื่อให้คนในชุมชนได้รู้ อาจลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาไทย ไม่ก็ทำเป็นใบปลิว หรือโปสเตอร์ ออกติดแปะตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย ตลาดไทย ตลาดลาว  วัดไทย วัดลาว  หรืออาจร่อนใบปลิวไปตามสมาคม ชมรมต่างๆที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ ให้ผู้คนได้รับรู้มากที่สุด

หลังจากนั้นก็เป็นปฏิบัติการขายตั๋ว ซึ่งอาจขายเป็นรายบุคคล หรือเป็นโต๊ะๆไปก็ได้แล้วแต่ความสะดวก เพราะบางทีมีแพคเกจ รายการอาหาร หรือเครื่องดื่มรวมอยู่ในตั๋วด้วย

คนจัดงานบางคนแถมอาหารให้คนดูในเมนูบางรายการ  รวมราคาทั้งหมดไว้ในตั๋วค่าเข้าชม แต่ไปขายเครื่องดื่มในร้านแทน เพราะในงานอย่างนี้ส่วนใหญ่  เครื่องดื่ม พวกไวน์ เบียร์ เหล้า ขายดีมากกว่าอย่างอื่น

ส่วนราคาค่าเข้าชม ผมคิดว่า ส่วนใหญ่คนจัดเก็บค่าเข้าไม่แพง ยิ่งคนจัดเป็นเจ้าของร้านอาหารด้วยแล้ว ราคาตั๋วค่าเข้าก็ยิ่งถูกลง เพราะเจ้าของหวังผลในเรื่องการขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่แล้ว

แต่หากสถานที่จัดงานอยู่ข้างนอกและคนจัดต้องเช่าราคาตั๋วก็อาจสูงขึ้นมา หน่อย คนจัดคอนเสิร์ตแนวนี้ในอเมริกา ถ้าไม่แน่จริงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมากกว่าแบบแรกที่จัดในร้าน อาหาร โดยเหตุที่การลงทุนสูงกว่า

ส่วนนักร้องหรือดารา ที่มาปรากฏตัว ในงานก็อย่าเพิ่งไปคิดว่า จะเหมือนเมืองไทยครับ

ให้นึกถึงภาพเวทีเล็กๆ เตี้ยๆ ที่อยู่ด้านหน้าโต๊ะอาหาร เว้นที่ว่างทำเป็นฟลอร์สำหรับเต้นรำไว้เล็กน้อย หรือที่แย่ไปกว่านั้น บางร้านอาจไม่มีเวทีแบบนี้ เป็นแค่เพียงฟลอร์อย่างเดียว ศิลปินกับคนดู  และคนเต้น อยู่ในระดับเดียวกัน  ขึ้นกับการให้ความสำคัญกับนักร้องของคนจัดหรือคนจัดคิดว่างานของเขาต้องใช้ ศักยภาพในการจัดเพื่อเรียกคนดูมากเท่าใด หากต้องการให้เกิดศักยภาพมาก ก็ต้องลงทุนเตรียมการมากขึ้นเท่านั้น

ขนาดความใหญ่เล็กของงานบันเทิงที่จัดยังขึ้นอยู่กับ ความตั้งใจหรือวัตถุประสงค์ของศิลปินที่มาอเมริกาเพราะศิลปินจากเมืองไทยบาง คน เพียงต้องการมาเที่ยว หรือทำธุระส่วนตัวที่อเมริกาเท่านั้น  ไม่ได้ต้องการมาเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แต่ในเมื่อไหนๆก็ได้ชื่อว่าเดินทางมายังอเมริกาแล้ว ได้อเมริกันดอลลาร์ เป็นพ็อคเก็ตมันนี กลับไปเมืองไทยบ้างก็ไม่เลว 

ทั้งนี้ก็ขึ้นกับสายสัมพันธ์ของคนจัดเองกับศิลปินคนนั้นๆ ว่าต่อเชื่อมกันแบบไหน และตกลงกันอย่างไร เพราะศิลปินบางคน แค่ได้ยินชื่อก็ขายได้แล้ว  ยิ่งหากคนจัดเป็นเจ้าของร้านอาหารเองด้วยแล้วก็ยิ่งดีในแง่การโปรโมทร้านไป ในตัวด้วย

แต่ภาพที่เห็นกันมากในอเมริกาสำหรับการจัดงานคอนเสิร์ตศิลปินจากเมืองไทย ทั้งที่มาเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ก็คือ ศิลปินส่วนใหญ่จะร้องเพลงแบบคาราโอเกะ โดยไม่ต้องใช้วงดนตรีแบ็คอัพ บางงานนักร้องมาร้องโชว์ไม่กี่เพลงก็จบแล้ว สาเหตุของเรื่องนี้ ก็เป็นที่ทราบกันดี การใช้วงแบ็คอัพ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมากจากการจ้างวงดนตรี  ยิ่งหากจัดในร้านอาหารไทยด้วยแล้ว สถานที่บางแห่งอาจคับแคบจนไม่สามารถตั้งวงแสดงได้เลย

ในเรื่องการจัดงานแสดงคอนเสิร์ตนี้ มีหลายครั้งเหมือนกันที่คนจัดทางอเมริกา โฆษณาไปเสร็จสรรพ ปรากฏว่า ศิลปินจากเมืองไทยที่เชิญมาแสดง มาไม่ได้เฉย เพราะทางสถานทูตอเมริกันที่เมืองไทยไม่ออกวีซ่าให้  ซึ่งบางครั้งหากงานที่จัด มีศิลปินเพียงคนเดียว คนจัดงานก็ต้องถึงกับคืนตั๋วที่ขายออกไปล่วงหน้าให้กับคืนซื้อก็มี

แต่หากศิลปินที่เชิญมาแสดงมีหลายคน โชคดีเกิดมีบางคนสามารถหลุดจากสถานกงกุลอเมริกันที่กรุงเทพมาทำการแสดงใน อเมริกาได้ ก็อาจช่วยคนจัดไม่ให้สิ้นชีพก่อนงานปาร์ตี้ หรือคอนเสิร์ต(แล้วแต่จะเรียก) จะเริ่มขึ้น

เคยมีศิลปินเพื่อชีวิตวงดังวงหนึ่งเดินทางจะมาเปิดการแสดงทัวร์คอนเสิร์ต เพื่อการกุศล(อิสานเขียว)ในอเมริกา เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ติดอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่แอล.เอ. ไม่สามารถเข้าประเทศได้ ต้องกลับไปเมืองไทย แล้วกลับเข้ามาใหม่ นี่ก็ทำให้แผนงานการแสดงที่วางไว้ต้องล้มเลิก และเป็นโรคเลื่อนไปโดยปริยาย

  เมื่ออ่านข่าวจากสื่อที่เมืองไทยในหลายครั้ง เกี่ยวกับการเดินทางมาเปิดคอนเสิร์ตของเหล่าดารา นักร้องหรือศิลปินเหล่านี้  คล้ายกับเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ก็มิปาน ทั้งเมื่อยิ่งประกาศชื่อร้าน ที่ผมเคยผ่านหรือเคยไปกินข้าวมาแล้วด้วย

ที่แท้บางครั้งก็เป็นร้านอาหารไทยที่มีเก้าอี้แค่ราวๆ 50 ที่นั่งเท่านั้น

แล้วคำว่า ไปเปิดการแสดงหรือคอนเสิร์ตที่อเมริกา ฟังดูเป็นทางการเสียเต็มประดา แต่แท้จริงแล้ว ส่วนใหญ่เกือบร้อยทั้งร้อย ไปกันในนามส่วนตัว ศิลปินบางคนยื่นขอวีซ่าประเภทวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ใช่วีซ่าธุรกิจ ที่เรียกกันว่าวีซ่า บี (B- visa) เลย

เพราะจริงๆแล้ว หากไปอเมริกาเพื่อเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการ การเดินทางต้องใช้วีซ่าธุรกิจ และต้องบอกกับกงสุลอเมริกันก่อนเดินทางว่า การเดินทางนั้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร

ยิ่งไปกว่านั้น หากไปเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการ นักร้องหรือศิลปิน รวมทั้งคนจัดเหล่านั้น ต้องมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีเงินได้จากการแสดงนั้นให้กับหน่วยงานสรรพากร อเมริกันหรือ IRS ตามกฎหมาย ซึ่งจริงๆแล้วส่วนใหญ่ ได้ทำตามขั้นตอน กฎหมายอเมริกันหรือไม่?

 หมายเหตุ : ตัดต่อจากบทความเรื่องเดียวกันจำนวน 2 ตอน ของ พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน


หมายเลขบันทึก: 521608เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 07:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท