มุมมองต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในไทย


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

ต้องถือว่าภายหลังเหตุการณ์ล้อมปราบของทหาร ในเหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ภายใต้การนำของประธาน คือ นางอมรา พงศาพิชญ์ ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ในฐานะของผู้นำองค์กร อิสระสำคัญเฉกเช่นหน่วยงานนี้

  ในอเมริกา ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ถึงกับมีหน่วยงานด้านนี้ ทั้งในองค์กรการปกครองระดับท้องถิ่นหลายๆระดับและการปกครองระดับรัฐบาลกลาง หรือระดับประเทศ

  วัฒนธรรมอเมริกันเองก็ถือหลัก สิทธิมนุษยนชนว่าสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งโดยตัวกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญและระบบวัฒนธรรมของอเมริกันเอง

  ความจริงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยคนปัจจุบัน ก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงจากอเมริกา ดังนั้นไม่มากก็น้อย น่าจะเป็นเหตุทำให้น่าเชื่อได้ว่า ย่อมต้องได้รับการซึมซับ เรื่องราวเชิงความรู้และเชิงวัฒนธรรม ค่านิยมด้านสิทธิมนุษยนชนของอเมริกันมาก่อนอย่างแน่นอน

  ซึ่งว่าไปแล้วเรื่องราวพวกนี้ เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้ ในฐานะของการเป็นมนุษย์ที่เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ทั้งเป็นเรื่องที่เป็นสากล  คือ เหมือนกันหมดทั่วโลก

  ผมเชื่อว่า เมืองไทยเองตระหนักถึงเรื่องนี้ว่ามีความสำคัญ จนเกิดเป็นคณะกรรมการสิทธิฯมาตั้งแต่ปี 2544 พร้อมกับข้อกำหนดเรื่องอำนาจหน้าที่

  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบฯใหญ่ครั้งล่าสุด คนไทยหลายๆคน คงไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯในเมืองไทยนั้นมีอยู่  รวมถึงบทบาทหน้าที่ว่ามีอย่างไรบ้าง

  แหละเป็นเหตุให้ที่ผ่านมา ทั้งสื่อและประชาชนมีคำถามมากมายต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระแห่งชาติชุดนี้

เหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปหรือองค์กรประชาชนที่เดือดร้อนเกี่ยวกับการถูก เบียดเบียนเรื่องสิทธิ์ ไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯได้

  หน้าที่บางประการของคณกรรมการสิทธิฯ เช่น ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็น ภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการ กระทำดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการ

  หน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้เป็นต้น

  มองอย่างพื้นๆแล้ว นอกเหนือไปจากการสลายการชุมนุมในกรุงเทพจนเห็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายเป็น จำนวนมากซึ่งเห็นชัดเจนประการหนึ่งแล้ว ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยนชนด้านอื่นๆในเมืองไทยมีหลายรูปแบบที่มองไม่ ใคร่เห็นกัน แต่มีอยู่ และไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการสิทธิฯได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะรับผิดชอบตาม กฎหมายหรือไม่ หรือมองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปในสังคมไทย?

  ความจริงเรื่องสิทธิพวกนี้ ก็จัดเข้าในหมวด “ความอยุติธรรม”ที่เกิดขึ้นในสังคม

  ตัวอย่างที่เห็นในประเด็นการรับสมัครคนเข้าทำงานในเมืองไทย โดยแบ่งแยกและถือเกณฑ์ตาม “เพศและอายุ” ที่กฎหมายสิทธิ์เข้าไปคุ้มครองไม่ถึง เข้าใจว่าไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นไปในแง่เศรษฐกิจด้วยซ้ำ

  ข้อจำกัดเรื่อง“เพศและวัย” ในการทำงานที่เห็นกันมากที่สุดในเมืองไทย เช่น การที่ผู้มีอายุเกิน 35 หรือ 40 ปีขึ้นไป ถูกปฏิเสธในการรับเข้าทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งนี่ก็คือ การแบ่งแยกหรือ Discrimination อีกอย่างที่มีการละเมิดจนเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นความ “อยุติธรรม”อย่างหนึ่งในสังคม

   ในอเมริกา เพื่อนคนไทยที่ลาสเวกัส ของผมคนหนึ่ง โดนเรียกตัวไปทำงานที่สำนักงานเอฟบีไอ หลังจากที่เขาผ่านการสอบสัมภาษณ์ ที่วอชิงตันดีซี ในขณะที่เขามีอายุในตอนนั้น 55 ปี

  นักศึกษาอเมริกันจำนวนมาก ในหลากหลายสาชาวิชา กว่าจะเรียนจบปริญาตรี หรือหลักสูตรต่างๆ อายุก็ปาไปค่อนครึ่งชีวิต อย่างเช่น มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งเรียนจบเอาตอนที่เขามีอายุ เลย 45 ปี แล้ว รวมทั้งอเมริกันอีกหลายคน ที่อาศัยความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ โดยวัยไม่ถูกทำให้กลายเป็นข้อจำกัด ตราบเท่าที่ร่างกาย และจิตใจของพวกเขายังสามารถทำงานตามลักษณะของงานได้ที่กำหนดให้ทำได้

   นี่คือตัวอย่างแค่ ความเท่าเทียมกันเรื่องวัย ที่ให้ภาพที่แตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างชัดเจน

  หากเป็นเมืองไทยอาจมีคำพูดที่ได้ยินกันจนชินว่า “ คุณแก่เกินไป(ที่จะทำงาน)ซะแล้ว”

  คณะกรรมการสิทธิฯอาจไม่ได้ยินคำพูดพวกนี้ก็ได้ หรือได้ยิน แต่ก็ชินหูไปเสียแล้ว

  ความจริง ประเด็นใหญ่ใจความ กลับไม่ใช่เรื่องค่าจ้างที่มากหรือน้อย(ตามวัยและประสบการณ์)แต่อย่างใด หากประเด็นที่ถูกหมดเม็ดซ่อนเร้นเอาไว้ ก็คือ การแบ่งแยกในเรื่องวัย ซึ่งหมายถึง คนสูงวัย ไม่จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องการค่าจ้างที่สูงด้วยเสมอ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน กับความต้องการทำงาน หรือความต้องการเพื่อให้มีงานทำ

  ทั้งยังเท่ากับเป็น “การประเมินค่าความสำเร็จของคนในเชิงเดี่ยว” ที่หมายถึง การประเมินค่าจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมเชิงวัตถุ + วัย (+ เพศ +….)  โดยขาดองค์ประกอบอย่างอื่นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกัน ได้อย่างสันติ

  ขณะเดียวกันการแบ่งแยกเรื่องวัยหรืออายุ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นวัยที่มีอายุมากเท่านั้น ผู้ที่อยู่อายุน้อย อาจถูกกีดกันจากสังคมหรือองค์กรงานได้เช่นกัน

  แม้กระทั่งการทำธุรกรรมกับธนาคารและสถาบันการเงินในเมืองไทย ข้อจำกัดในเรื่องอายุก็ถูกหยิบยกขึ้นมา จากบรรดาธนาคารทั้งหลายเช่นกัน เช่น การประเมินและการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ ที่หลักเกณฑ์เรื่องอายุของลูกค้าถูกนำมาใช้ร่วมกับหลักเกณฑ์การอนุมัติสิน เชื่อหรือธุรกรรมทั่วไปอย่างอื่น

  ในเมื่อการรับคนเข้าทำงาน หรือการติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ มีเงื่อนไขในเรื่องความมากน้อยของอายุ และรายละเอียดการแบ่งแยกที่เป็นข้อจำกัดหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ใยจะไปพูดถึงการส่งเสริมเรื่องราวด้านอื่นๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวไกลออกไปจากที่เป็นอยู่ได้เล่า 

เพราะหากเป็นในประเทศพัฒนาแล้ว นี่คือ หลักพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ที่ถูกนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

อีกเรื่องที่อยากเสริมกับประเด็นข้างต้น อาจไม่เกี่ยวโยงกันโดยตรง คือ เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนอเมริกันคนหนึ่งไปเยือนเมืองไทย เขาเพียงต้องการแลกเงินกับธนาคารแห่งหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เคาน์เตอร์ขอถ่ายเอกสารหนังสือเดิน ทาง(พาสปอร์ต)ซึ่งถือเป็นเอกสารส่วนตัวสำคัญยิ่ง แม้ว่าเขาจะให้ยินยอมแสดงหนังสือเดินทางให้เจ้าหน้าที่ธนาคารดูแล้วก็ตาม จนเกิดการโต้เถียงขึ้น

เป็นเรื่องที่มีผลพอสมควรกับหลักปฏิบัติที่เป็นสากลที่เกี่ยวข้องกับ เอกสารสำคัญ และเชื่อมไปถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น ในด้านความปลอดภัย การฉ้อฉลในองค์กร หรือแม้ในด้านเศรษฐกิจเอง(ดังมีการท่องเที่ยว เป็นอาทิ)  

ไม่รู้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใส่ใจกับเรื่องทำนองนี้กันหรือไม่?

แต่อย่างน้อยคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ย่อมจะรู้ว่า ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับ(แค่)สิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยอยู่อีกหลายเรื่อง


หมายเลขบันทึก: 521604เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท