บัตรเลือกตั้งอเมริกัน: การลงทุนประชาธิปไตย (ใบเดียว) ที่คุ้มค่า



พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ 

ผมเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในระบบการโหวตแบบอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นการโหวต (หรือการลงคะแนน) ในการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นและการเลือกตั้งในระดับชาติก็ตาม นั่นคือ การใช้บัตรเลือกตั้งให้เป็นประโยชน์สูงสุด ตามกติกาสัญญาประชาคม หรือกติกาประชาธิไตยที่อาศัยเสียงข้างมากเป็นปทัฏฐานการเมืองการปกครอง

"บัตรเลือกตั้ง" ที่หมายถึง Ballot ของกกต.อเมริกัน (Federal Election Commission -FEC) หรือก็คือบัตรเลือกตั้งสำหรับลงคะแนน (voting) ของคนอเมริกัน มี 2 รูปแบบ คือ บัตรเลือกตั้งประเภทแรก สำหรับการลงคะแนนล่วงหน้า ที่ถูกส่งออกไปล่วงหน้าให้คนที่อยู่ต่างถิ่นหรือต่างประเทศได้มีโอกาสใช้ สิทธิเลือกตั้ง (absentee ballot) โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องส่ง (ไปรษณีย์) บัตรที่ลงคะแนนแล้วกลับคืนสู่หน่วยงานการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละเขต (county) ก่อนวันเลือกตั้ง กับบัตรเลือกตั้งประเภทที่สอง สำหรับลงคะแนนในวันเลือกตั้ง เช่น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา (6 พ.ย. 2555) ซึ่งเป็นวันที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิลงคะแนน 

ความพิเศษของบัตรเลือกตั้งแบบอเมริกันมีอยู่ 3 ประการ คือ

1.บัตรเลือกตั้งใบเดียว สามารถใช้เพื่อการเลือกตั้งในระดับและประเภทต่างๆ ทีเดียวพร้อมกัน ดังกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่ผ่านมา ในบัตรเลือกประธานาธิบดี (ซึ่งถูกจัดลำดับให้ประชาชนอเมริกันเลือกในข้อที่ 1) นั้น มีการเลือกตั้งประเภทอื่นๆ ได้แก่ การเลือกตั้งผู้แทนฯ(สส.-house of representative) และวุฒิสมาชิก (สว.- senator) ทั้งในระดับท้องถิ่น (รัฐ) และระดับชาติ รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ อย่างเช่น ผู้พิพากษา เป็นต้น รวมอยู่ด้วย ซึ่งความพิเศษที่ว่านี้ นอกจากจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่การจัดการเลือกตั้งไม่เกิดความซ้ำซ้อนหลายครั้ง เหมือนบางประเทศแล้ว ยังเป็นผลดีต่อการวางระบบการเลือกตั้งและนโยบายพรรค การเมืองให้เป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งในส่วนกลางและในส่วนท้องถิ่น, หมายถึงว่า ประชาชนมีโอกาสในการพิจารณาผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของพรรคการ เมืองต่างๆ หรือลงในนามอิสระ (independent) ได้ทีเดียวพร้อมกันไป อย่างสอดคล้องกันในครั้งเดียว  

2. ในบัตรเลือกตั้ง มีการตั้งประเด็น (เรื่อง) สำคัญๆ ที่ต้องการทำประชามติเอาไว้ด้วย เป็นทั้งประเด็นในระดับชาติและประเด็นในระดับท้องถิ่น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้โอกาสเดียวกันนี้โหวตแสดงความเห็นในประเด็น เหล่านี้ เท่ากับทำให้กลไกประชาธิปไตยมีโอกาสขยับขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ โดยที่รัฐหรือหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไม่เสียโอกาส หรือใช้โอกาสในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อแสวงหาประชามติในเรื่องต่างๆ เพื่อนำเอามติดังกล่าวไปใช้ในการออกกฎหมายหรือระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ, สามารถหักล้างกระแสที่ว่า รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกันเองโดยปราศจากการหารือกับประชาชน หรือปราศจากการอิงมติมหาชน (ไม่เหมือนกับในบางประเทศ ที่รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักอ้างมติมหาชนอยู่เสมอ โดยปราศจากการใช้เครื่องมือหรือกลไกด้านประชาธิปไตยที่สำคัญ คือ การทำประชามติ) ขณะเดียวกัน วิธีการที่ว่านี้สามารถประหยัดงบประมาณในการทำประชาพิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ได้อย่างมหาศาล ผู้บริหารภาครัฐ หรือภาคนิติบัญญัติ(รัฐสภา) ไม่สามารถมีข้ออ้างด้วยการพูดลอยๆได้อีกต่อไปว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตนเองพรรคของตัวเองมากน้อยเพียงใด เพราะมีหลักฐานที่เป็นตัวเลขการลงประชามติที่แน่นอนและชัดเจนยืนยันอยู่แล้ว

3.การออกแบบบัตรเลือกตั้ง เพื่อใช้สำหรับเครื่องอิเลคทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการตรวจผลการ เลือกตั้งโดยเครื่องอิเลคทรอนิกส์เป็นการป้องกันการทุจริตหรือโกงการเลือก ตั้งได้อีกส่วนหนึ่ง โดยที่ระบบการตรวจสอบผลการเลือกตั้งเชื่อมจากระบบของ ท้องถิ่น ไปถึงระบบในระดับรัฐ และท้ายที่สุด คือระดับส่วนกลาง(ประเทศ) ทำให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาน่าเชื่อถือว่า เป็นไปโดยสุจริต มากกว่าการตรวจนับคะแนนโดย (มือ) คน ซึ่งโอกาสในการทุจริตมีมากกว่าการตรวจนับด้วยเครื่องอิเลคทรอนิกส์ 

อเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่โหวตล่วงหน้า กับกลุ่มที่โหวตในวันเลือกตั้งใหญ่ จึงได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการใช้สิทธิทางการเมืองเลือกตัวแทนหรือ เลือกผู้นำ และใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการออกกฎกติกา (กฎหมาย) ต่างๆ ที่สำคัญต่อคนอเมริกันในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ 

นอกเหนือไปจากการที่เรื่องที่ว่านี้แล้ว ยังส่งผลไปถึงการรณรงค์ในประเด็นต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ทั้งองค์กรเอกชนและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการ เมืองและงานด้านสิทธิต่างๆ

เช่น การทำงานของศูนย์กฎหมายเอเซียนแปซิฟิกอเมริกัน(Asian Pacific American Legal Center – APALC) สมาชิกของ The Asian American Center for Advancing Justice ที่ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai Community Development Center – Thai CDC) และองค์กรท้องถิ่นจากชุมชนต่างๆ จัดทำโครงการ “Your Vote Matters! 2012” โดย โครงการดังกล่าวถูกจัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนอเมริกันเชื้อสายเอเซีย คนพื้นเมืองฮาวาย และชาวหมู่เกาะแปซิฟิกที่อาศัยอยู่ในลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) ใด้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมทั้งให้การสนับสนุน “Proposition 30”

“Prop 30” เป็น ร่างกฎหมายที่จะเพิ่มจำนวนงบประมาณสำหรับการศึกษาเพื่อป้องกันมิให้มีการตัด งบประมาณโรงเรียนและงบรัฐบาล หรือเพิ่มค่าเทอมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือ กระตุ้นให้พลเมืองออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพร้อมเพรียงกันในวันเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้

โครงการ “Your Vote Matters! 2012” เกิด ขึ้นได้โดยองค์กรท้องถิ่น 13 องค์กรจากชุมชนต่างๆ และองค์กรเยาวชนในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ที่เป็นตัวแทนคนอเมริกันเชื้อสายเอเซีย ทั้งหมด 9 กลุ่ม ได้แก่ เขมร จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี คนพื้นเมืองฮาวายและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก เอเซียนตอนใต้ ไทย และเวียดนาม

Stewart Kwoh ผู้อำนวยการศูนย์ APALC เห็นว่า จากผลการสำรวจประชากร (Census) ปี 2010 ชุมชนเอเชียนเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตเร็วมากที่สุดใน รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 แต่ แม้ว่าคนเอเซียน-อเมริกันมีจำนวนมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดใน รัฐแคลิฟอร์เนีย และใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากขึ้นกว่าที่เคย แต่เสียงของเอเชียน-อเมริกันก็ยังคงไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควรในคูหา เลือกตั้ง  

ความพยายามของ APALC ในขณะนี้ คือทำการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชน ของ ออก มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อที่ประชาชนจะได้รับทราบว่าตนเองกำลังลงคะแนนเสียง เพื่ออะไร และจะมีผลต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และสังคมอย่างไร

APALC ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 ให้บริการมากประชาชนกว่า 15,000 คนในทุกๆปี โดยผ่านช่วยเหลือโดยตรง การฟ้องร้องที่มีผลกระทบกับส่วนรวม การเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย การพัฒนาความเป็นผู้นำและการสร้างประสิทธิภาพ โดย APALC มุ่งเน้นไปยังสมาชิกผู้ด้อยโอกาสของกลุ่มชุมชนเอเชี่ยนอเมริกัน (AA) ชาวพื้นเมืองฮาวายและชาวเกาะแปซิฟิก (NHPI) ขณะเดียวกันก็สร้างให้เสียงของชนกลุ่มน้อยในอเมริกามีความเข้มแข็ง ตามสิทธิพลเมืองและความยุติธรรมในสังคม

และนี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยในอเมริกา !


หมายเลขบันทึก: 521600เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2013 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท