KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : ๕๘๗. ถอดประสบการณ์การจัดการความรู้กรมอนามัย



          กรมอนามัยดำเนินการจัดการความรู้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖  ก่อนที่ กพร. จะเข้ามากำหนดให้ทุกหน่วยราชการต้องดำเนินการจัดการความรู้  จนบัดนี้ แม้จะเปลี่ยนผู้บริหารสูงสุดไปหลายคน  แต่ KM ของจริง ก็ยังทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยงาน  เพราะ KM ของจริงย่อมมีคุณค่าจริง  ถือเป็น KM ของหน่วยราชการที่ก่อผลดีน่าชื่นชมที่สุดหน่วยงานหนึ่ง

          คุณค่าดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายที่กรมอนามัยกำหนดไว้ ว่าใช้ KM เพื่อเป้าหมายทำให้ภารกิจหลักของกรมดีขึ้น   ภารกิจหลักของกรมอนามัย คือ “ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี  โดยมีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมสุขภาพ  การจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ  และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี  รวมทั้งการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ  เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน  รวมตลอดถึงสนับสนุนให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีโดยถ้วนหน้า ” 

          ผมคิดว่า เคล็ดลับของความสำเร็จของ KM กรมอนามัย  มาจากการจับประเด็นหลักถูกต้อง  คือใช้ KM ไม่ใช่ทำ KM  และใช้ KM ตอบสนองหน้าที่หลักของหน่วยงาน  แล้วเปิดโอกาสให้หน่วยงานย่อยใช้ความสร้างสรรค์ในการดำเนินการประยุกต์ใช้ KM เอง ไม่สร้างสูตรสำเร็จในการดำเนินการ KM

          นั่นคือ ใช้ KM เพื่อสร้างความตื่นตัวของเจ้าหน้าที่ ในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการทำหน้าที่หลักของตน  ใช้ KM เป็นตัวช่วยให้ตนทำงานได้อย่างฉลาดขึ้น  ไม่ใช่เอา KM มาเป็นภาระ

          การกำหนดเป้าหมายของการใช้ KM ที่ถูกต้อง ในระยะแรก เป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง  โดยกรมอนามัยกำหนดเป้าหมายไว้ ๓ ประการ คือ (๑) ช่วยให้การทำงานดีขึ้น  (๒) ช่วยให้คนทำงานเก่งขึ้น และ (๓) องค์กรเกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

          สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ รับทำงานถอดบทเรียนความสำเร็จของ KM กรมอนามัย  ศึกษาขั้นตอนวิธีการดำเนินการ KM  ช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าความสำเร็จนี้เกิดจากปัจจัยใดบ้าง  เป็นผลงานถอดความรู้ของการดำเนินการ KM ของหน่วยงานระดับกรมที่น่าชื่นชมมาก  เป็น KM ซ้อน KM

          คุณสุรีพันธุ์ เสนานุช ผู้ทำงานชิ้นนี้ให้แก่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่งต้นฉบับรายงานถอดประสบการณ์นี้มาให้ผมอ่าน  และขอให้เขียนข้อคิดเห็นว่า กรมอนามัยควรดำเนินการ KM ของกรมในอนาคตอย่างไร   ผมจึงขอตอบโจทย์นี้ว่า  ให้ดำรงแนวทางที่ถูกต้องที่ใช้ได้ผลมาแล้ว ๑๐ ปีต่อไป  แนวทางที่ถูกต้องนี้ เท่าที่ผมนึกออก มี ๗ ข้อ ได้แก่


๑.  สัมมาทิฐิ ต่อ KM คือ ไม่ทำ KM เพื่อเอาใจหรือปฏิบัติตามหน่วยเหนือหรือหน่วยตรวจสอบเป็นหลัก  แต่นำ KM มารับใช้หน่วยงานของตนเอง  เพื่อช่วยให้ปฏิบัติภารกิจได้ดีขึ้น  คนเก่งขึ้น  และมีความเป็นชุมชนเรียนรู้ในที่ทำงาน  หน่วยงาน/องค์กร พัฒนาเป็น องค์กรเรียนรู้ (Learning Organization)

๒.  มีโครงสร้างการจัดการ KM ที่ถูกต้อง  โดยมีหน่วย KM กลางทำหน้าที่หนุน และอำนวยความสะดวกในการนำ KM ไปใช้งาน  มีทีม “คุณอำนวย” ที่เข้มแข็ง และรักงานอำนวยความสะดวกแก่ผู้อื่นและหน่วยงานอื่นทำงานต่อเนื่อง  และไม่ทำตัวเป็น “คุณอำนาจ”

๓.  ใช้เครื่องมือจัดการความรู้ที่ถูกต้อง คือง่าย สะดวก และได้ผล  ดังที่เขียนไว้ในรายงานนี้แล้ว

๔.  มีการประเมินผลเป็นระยะๆ ตามในรายงาน 

๕.  มีการยกย่องและให้รางวัลแก่ความสำเร็จของงาน

๖.  สัมมาทิฐิอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ทำ KM แบบเส้นตรง จากต้นทางสู่ปลายทาง  แต่ทำเป็นวงจรไม่รู้จบ  ยกระดับผลงาน คุณภาพงาน คุณภาพคน ความเป็นองค์กรเรียนรู้  และระดับความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือ KM เรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น

๗.  คำแนะนำข้อสุดท้าย คือบทบาทของผู้บริหารระดับสูง  ในการเข้าไปทำความเข้าใจ ร่วมตีความผลงานดีเด่นตามเป้าหมายหลักของหน่วยงาน  เพื่อยกระดับผลงานขึ้นสู่นวัตกรรม ผ่านการจัดการความรู้รอบต่อๆ ไป  เท่ากับเน้นบทบาทของฝ่ายบริหารระดับสูง ในการจัดการความรู้นั่นเอง   โดยทำหน้าที่ท้าทายสู่เป้าหมายเชิงนวัตกรรม เอื้ออำนวยความสะดวก ทรัพยากร และร่วมนำความรู้เชิงทฤษฎีเข้าไปร่วมหมุนเกลียวความรู้ ผ่านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ 


          ผมขอขอบคุณ คุณสุรีพันธุ์ เสนานุช ที่ให้โอกาสผมแสดงความเห็นนี้

ผมเคยเขียนเรื่อง ทศปฏิบัติสู่ความเป็นองค์กรเรียนรู้ของหน่วยราชการ ไว้ที่ http://www.kmi.or.th/5_Link/Article_PVicharn/0006_10ThingsToLO_GovSect.html  และเรื่อง ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ ไว้ที่ http://kmi.or.th/5_Link/Article_PVicharn/0007_10DisastersToKM_GovSect.html



วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 521278เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2013 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท